ข้ามไปเนื้อหา

ทุนนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลัทธิทุนนิยม)
"พีระมิดระบบทุนนิยม" ถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ในปี ค.ศ. 1911 แสดงชนชั้นปกครองอยู่สูงสุด รองลงมาคือพระ ทหาร ผู้ประกอบการนายทุน และเกษตรกรอยู่ต่ำที่สุด

ทุนนิยม (อังกฤษ: capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งเจ้าของเอกชนเป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรมและวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาด[1][2] คุณลักษณะสำคัญของทุนนิยม ได้แก่ การสะสมทุน ตลาดแข่งขันและค่าจ้างแรงงาน[3] ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยทั่วไปภาคีในปฏิสัมพันธ์กำหนดราคาที่มีการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ สินค้าและบริการ[4]

ระดับการแข่งขัน บทบาทการแทรกแซงและจัดระเบียบ ตลอดจนขอบเขตของหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของแตกต่างกันไปตามทุนนิยมแต่ละแบบ[5] นักเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักประวัติศาสตร์ได้ยึดมุมมองการวิเคราะห์ทุนนิยมแตกต่างกันและยอมรับทุนนิยมหลายแบบในทางปฏิบัติ แบบของทุนนิยมรวมถึงทุนนิยมปล่อยให้ทำไป ทุนนิยมแบบสวัสดิการและทุนนิยมโดยรัฐ โดยแต่ละแบบเน้นระดับการพึ่งพาตลาด หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของและการรวมนโยบายทางสังคมแตกต่างกัน การที่แต่ละตลาดมีความเป็นอิสระมากเพียงไร ตลอดจนกฎนิยามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลมีขอบเขตเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของการเมืองและนโยบาย หลายรัฐใช้ระบบที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบบผสมทุนนิยม ซึ่งหมายความถึงการผสมระหว่างส่วนที่มีการวางแผนจากส่วนกลางและขับเคลื่อนโดยตลาด[6]

ทุนนิยมมีอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองหลายระบอบ ในหลายเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม หลังระบบฟิวดัลเสื่อมลง ทุนนิยมได้กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจหลักในโลกตะวันตก ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทุนนิยมได้เอาชนะการท้าทายจากเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางและปัจจุบันเป็นระบบเด่นทั่วโลก[7][8] โดยมีเศรษฐกิจแบบผสมเป็นรูปแบบหลักในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก

มุมมองทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เน้นส่วนหนึ่งที่เฉพาะของทุนนิยมในนิยามที่ให้ความสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์ปล่อยให้ทำไปและเสรีนิยมเน้นระดับซึ่งรัฐบาลไม่ควบคุมตลาดและความสำคัญของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน[9][10] นักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกใหม่และนักมหเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เน้นความจำเป็นที่ต้องมีการกำกับของรัฐบาลเพื่อป้องกันการผูกขาดและเพื่อลดผลกระทบของวัฏจักรรุ่งเรืองและตกต่ำ (boom and bust)[11] นักเศรษฐศาสตร์แบบมากซ์เน้นบทบาทของการสะสมทุน การแสวงหาประโยชน์และค่าจ้างแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนใหญ่เน้นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเช่นกัน นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ของอำนาจ ค่าจ้างแรงงาน ชนชั้นและเอกลักษณ์ของทุนนิยมในฐานะการสร้างประวัติศาสตร์[6]

ประวัติ

[แก้]

ทฤษฎีเกี่ยวกับทุนนิยมถูกพัฒนาขึ้นในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18, 19 และ 20 ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมและลัทธิจักรวรรดินิยมของยุโรป (เช่น แอดัม สมิท, ริคาร์โด, มาร์กซ), ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression (เช่น เคนส์), และสงครามเย็น (เช่น ฮาเย็ค, ฟรีดแมน) นักทฤษฎีเหล่านี้กล่าวว่าทุนนิยมคือระบบที่ให้คุณค่ากับการที่ราคาถูกตัดสินในตลาดเสรี นั่นคือโดยการค้าที่เป็นผลมาจากการตกลงด้วยความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ความคิดเชิงตลาด จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัญญาที่ชัดเจนและบังคับได้ตามกฎหมาย ทฤษฎีเหล่านี้โดยทั่วไปจะพยายามอธิบายว่า ทำไมทุนนิยมระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ที่สำคัญเช่น สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะสามารถทำการได้แบบ "นิติบุคคล" (หรือบรรษัท) ในการซื้อและขายสินทรัพย์ และที่ดิน, แรงงาน, เงินตรา ในตลาดเสรี (ดู การค้า), และสามารถวางใจได้ว่ารัฐจะสามารถบังคับให้เกิดการเคารพสิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคล แทนที่จะต้องพึ่งการคุ้มครองแบบศักดินา

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Capitalism" เก็บถาวร 2016-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Oxford Dictionaries. "capitalism. an economic and political system in which a country’s trade and industry are controlled by private owners for profit, rather than by the state." Retrieved 4 January 2013.
  2. Chris Jenks. Core Sociological Dichotomies. "Capitalism, as a mode of production, is an economic system of manufacture and exchange which is geared toward the production and sale of commodities within a market for profit, where the manufacture of commodities consists of the use of the formally free labor of workers in exchange for a wage to create commodities in which the manufacturer extracts surplus value from the labor of the workers in terms of the difference between the wages paid to the worker and the value of the commodity produced by him/her to generate that profit." London, England, UK; Thousand Oaks, California, USA; New Delhi, India: SAGE. p. 383.
  3. Heilbroner, Robert L. "capitalism." Durlauf, Steven N.and Lawrence E. Blume, eds., The New Palgrave Dictionary of Economics. 2nd ed. (Palgrave Macmillan, 2008) doi:10.1057/9780230226203.0198
  4. http://www.merriam-webster.com/dictionary/capitalism "an economic system characterized by private or corporate ownership of capital goods, by investments that are determined by private decision, and by prices, production, and the distribution of goods that are determined mainly by competition in a free market"
  5. Macmillan Dictionary of Modern Economics, 3rd Ed., 1986, p. 54.
  6. 6.0 6.1 Stilwell, Frank. "Political Economy: the Contest of Economic Ideas." First Edition. Oxford University Press. Melbourne, Australia. 2002.
  7. Capitalism. Encyclopædia Britannica. 2006.
  8. James Fulcher, Capitalism, A Very Short Introduction, "In one respect there can, however, be little doubt that capitalism has gone global and that is in the elimination of alternative systems." p. 99, Oxford University Press, 2004, ISBN 978-0-19-280218-7.
  9. Tucker, Irvin B. (1997). Macroeconomics for Today. p. 553.
  10. Case, Karl E. (2004). Principles of Macroeconomics. Prentice Hall.
  11. Fulcher, James (2004). Capitalism A Very Short Introduction. Oxford University Press. p. 41.