ข้ามไปเนื้อหา

โลเรนโซ กีแบร์ตี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลอเร็นโซ กิเบอร์ติ)
โลเรนโซ กีแบร์ตี บน "ประตูสวรรค์" (Gates of Paradise) ที่หอศีลจุ่มซานจิโอวานนี (Battistero di San Giovanni) ที่ฟลอเรนซ์
งานของโลเรนโซ กีแบร์ตี ที่ชนะการประกวดเมื่อปี ค.ศ. 1401 ซึ่งยังเป็นฉากแบบยุคกลาง แต่รูปนี้ไม่มีบน "ประตูสวรรค์" เมื่อสร้าง
"ประตูสวรรค์" ประตูที่เห็นในปัจจุบันเป็นประตูที่ทำเลียนแบบของจริง
พระเจ้าสร้างอาดัมและอีฟบานภาพจาก "ประตูสวรรค์"

โลเรนโซ กีแบร์ตี (อิตาลี: Lorenzo Ghiberti; ชื่อเมื่อแรกเกิด: Lorenzo di Bartolo; ค.ศ. 1378 - 1 ธันวาคม ค.ศ. 1455) เป็นประติมากรสมัยศิลปะเรอแนซ็องส์ตอนต้นคนสำคัญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีความเชี่ยวชาญทางประติมากรรม งานโลหะ และจิตรกรรมฝาผนัง

ชีวิต

[แก้]

โลเรนโซ กีแบร์ตี เกิดที่ฟลอเรนซ์ บิดาชื่อบาร์โตลุชโช กีแบร์ตี ศิลปินและช่างทองผู้เป็นผู้ฝึกโลเรนโซในงานแขนงเดียวกัน เมื่อเรียนสำเร็จกีแบร์ตีก็ไปทำงานกับบาร์โตลุชโช เด มีเกเล (Bartoluccio de Michele) ซึ่งเป็นที่ฝึกงานของฟีลิปโป บรูเนลเลสกี เมื่อกาฬโรคระบาดในยุโรปมาถึงฟลอเรนซ์ราว ค.ศ. 1400 กีแบร์ตีก็ย้ายไปแคว้นโรมัญญา และไปช่วยเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่ปราสาทของการ์โล ที่ 1 แห่งมาลาเตสตาจนเสร็จ

กีแบร์ตีมามึชื่อเสียงเมื่อชนะการประกวดออกแบบประตูสัมฤทธิ์สำหรับหอศีลจุ่มซานจิโอวานนี (Battistero di San Giovanni) สำหรับมหาวิหารฟลอเรนซ์เมื่อปี ค.ศ. 1401 บรูเนลเลสชีได้เป็นที่สอง ตามแผนเดิมบนบานประตูจะเป็นฉากเรื่องราวจากพันธสัญญาเดิม ซึ่งบานตัวอย่างเป็นฉาก "เอบราฮัม สังเวยไอซัก" (Sacrifice of Isaac) แต่เมื่อถึงเวลาสร้างจริงเปลี่ยนมาเป็นฉากจากพันธสัญญาใหม่แทนที่

ในการสร้างประตู กีแบร์ตีต้องสร้างเวิร์กชอปใหม่ และฝึกศิลปินหลายคนให้เป็นผู้ช่วยเช่น โดนาเตลโล, มาโซลีโน ดา ปานีกาเล, มีเกลอซโซ, ปาโอโล อุชเชลโล และอันโตนีโอ ปอลลายูโอโล (Antonio Pollaiuolo) กีแบร์ตีใช้วิธีหล่อที่เรียกว่า "cire perdue" หรือ "lost-wax casting" ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันในสมัยโรมัน ซึ่งทำให้เวิร์คชอพของกีแบร์ตีเป็นที่นิยมของศิลปินรุ่นหนุ่ม

เมื่อหล่อเสร็จ 28 แผ่น กีแบร์ตีก็ได้รับการต่อสัญญาให้สร้างชุดที่สองสำหรับอีกประตูหนึ่งแต่ครั้งนี้เป็นฉากจากพันธสัญญาเดิม แทนที่จะเป็น 28 ฉากกีแบร์ตีทำเป็นฉากสี่เหลี่ยมสิบฉากคนละลักษณะจากแบบเดิมที่ทำมา ชุดที่สองมีลักษณะเป็นธรรมชาติมากกว่า และเริ่มมีการใช้ทัศนียภาพที่ทำให้ดูมีความลึกขึ้น และเป็นการแสดงภาพแบบ "เลิศลอย" (idealization) มากกว่าเดิม มีเกลันเจโลเรียกประตูนี้ว่า "ประตูสวรรค์" (Gates of Paradise) "ประตูนรก " (Gates of Hell) โดยโอกุสต์ รอแด็ง ได้รับอิทธิพลจาก "ประตูสวรรค์" ของกีแบร์ตี

หลังจากนั้นกีแบร์ตีก็ได้รับสัญญาให้ทำอนุสาวรีย์สัมฤทธิ์ปิดทองสำหรับซุ้มภายในชาเปลออร์ซานมีเกเล (Orsanmichele) ที่ฟลอเรนซ์ รูปหนึ่งเป็นนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ สำหรับสมาคมพ่อค้าขนแกะ อีกรูปหนึ่งเป็นนักบุญแม็ทธิวอีแวนเจลลิส สำหรับสมาคมนายธนาคารและนักบุญสตีเฟน สำหรับสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนแกะ

นอกจากจะเป็นศิลปินแล้วกีแบร์ตียังเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ชอบสะสมศิลปะคลาสสิก กีแบร์ตีมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ปรัชญามนุษยนิยม งานเขียนของกีแบร์ตีที่ไม่เสร็จชื่อ "Commentarii" เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าของศิลปะเรอแนซ็องส์รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของกีแบร์ตีเอง และเป็นเอกสารที่สำคัญฉบับหนึ่งที่จอร์โจ วาซารี ใช้ในการเขียนหนังสือ "ชีวิตจิตรกร, ประติมากร, และสถาปนิกผู้ดีเด่น" (Le Vite)

กีแบร์ตีเสียชีวิตที่ฟลอเรนซ์เมื่ออายุ 77 ปี

"ความคิดเห็น"

[แก้]

"ความคิดเห็น" หรือ "I Commentari" หรือ "The Commentaries" เป็นหนังสือสามเล่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศิลปะโบราณ กีแบร์ตีย้ำความเห็นของวิทรูเวียสว่าศิลปินจำเป็นต้องมีพื้นฐานทางปัญญาในการสร้างงานศิลปะ และกล่าวต่อไปว่าศิลปินต้องมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติและการฝึกอย่างเป็นทางการ และอ้างอิงไปถึงงานวาดและการเขียนแบบทัศนียภาพว่าเป็นพื้นฐานของงานจิตรกรรมและประติมากรรม

เล่มที่สองกีแบร์ตีบรรยายจอตโต ดี บอนโดเนและพูดถึง "ยุคกลาง" ซึ่งรวมการเขียนชีวประวัติศิลปะโดยการบรรยายลักษณะของศิลปะแทนที่จะเป็นเพียงเรื่องเล่า กีแบร์ตีให้รายละเอียดของศิลปินระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อนักประวัติศาสตร์เพราะมีคำบรรยายของศิลปะที่ไม่มีหลักฐานใดใดก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นยังรวมชีวประวัติของตัวกีแบร์ตีเอง ซึ่งถือกันว่าเป็นอัตชีวประวัติเล่มแรกที่เขียนโดยศิลปินเอง

เล่มที่สามกีแบร์ตีพยายามวางทฤษฎีสำหรับศิลปะที่เน้นการมองเห็น (optical) รวมทั้งการใช้ reticle ในการช่วยศิลปินสร้างรูปคน

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โลเรนโซ กีแบร์ตี วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ "ประตูสวรรค์" (พันธสัญญาเดิม) วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประตูด้านเหนือ (พันธสัญญาใหม่)

สมุดภาพ

[แก้]