รูเมน
รูเมน หรือ กระเพาะผ้าขี้ริ้ว เป็นกระเพาะอาหารลำดับแรกของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ทางเดินอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีลักษณะต่างจากสัตว์กินพืชอื่นๆ คือ ส่วนกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 4 ส่วน บางครั้งจึงเรียกสัตว์จำพวกนี้ว่า สัตว์สี่กระเพาะ โดยเรียงตามลำดับดังนี้ รูเมน (rumen) เรติคิวลัม (reticulum) โอมาซัม (omasum) และ อะโบมาซัม (abomasum)
ลักษณะโครงสร้าง
[แก้]รูเมน เป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความจุประมาณ 80% ของความจุกระเพาะทั้งหมด เป็นที่พักและหมักอาหารพวกที่มีเส้นใยสูง เช่น หญ้า ฟางข้าว เป็นต้น ตัวกระเพาะแบ่งออกเป็นหลายตอน ผิวด้านนอกของกระเพาะรูเมน ถูกแบ่งออกโดยร่องลึกเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดเจน คือ ส่วนบน และส่วนล่าง
นอกจากนี้มีร่องที่แบ่งผนังด้านนอกออกเป็นส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง ส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ทำหน้าที่บีบและขยายตัวทำให้เกิดการไหลเวียนของอาหารที่อยู่ในกระเพาะ ผนังด้านในของกระเพาะรูเมนจะประกอบด้วย papillae คือส่วนที่มีลักษณะคล้ายนิ้วยื่นออกมาจำนวนมาก อวัยวะส่วนนี้จะกระจายอยู่ทั่วไปในกระเพาะรูเมน ทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่ผิวเพื่อการย่อยอาหาร การเคลื่อนบีบตัวของกระเพาะผนังด้านใน จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ โดย pillars ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ[1]
ตำแหน่ง
[แก้]รูเมน อยู่ติดกับผนังด้านซ้ายของช่องท้อง [1] และติดต่อกับส่วนของเรติคิวลัม
หน้าที่
[แก้]รูเมน มีหน้าที่รับอาหารจากการผ่านขบวนการเคี้ยว ที่มีอาหารในรูปของแข็ง และปนกับน้ำลายปริมาณมาก ( ในน้ำลายจะเป็นแหล่งไนโตรเจน คือ ยูเรีย และมิวโคโปรตีน มีฟอสฟอรัสและโซเดียม ซึ่งจุลินทรีย์จะนำไปใช้ และน้ำลายทำหน้าที่รักษาระดับความเป็นกรดด่าง ( pH ) ในรูเมน และกระเพาะอื่นๆ ) อาหารจะถูกแยก ส่วนบนจะเป็นอาหารในรูปของแข็ง ส่วนล่างเป็นรูปของเหลวและอาหารแข็งที่ย่อยมีขนาดเล็กแล้ว โดยการหดตัวของผนังรูเมน อาหารชิ้นใหญ่จะถูกดันให้อยู่ด้านบนส่วนหน้า เมื่อสัตว์ต้องการเคี้ยวเอื้อง กระเพาะส่วนเรติคิวลัมและรูเมน จะหดตัวมีแรงดันอาหารขยอกออกมาที่ปาก อาหารก้อนที่ถูกนำมาเคี้ยวเอื้องเรียกว่า Bolus มีจุลินทรีย์ติดมาเป็นจำนวนมาก เมื่อเคี้ยวเอื้องแล้วจะกลืนกลับไปที่รูเมน ทำการคลุกเคล้าใหม่อาหารขนาดใหญ่ก็ขยอกออกมาเคี้ยวเอื้อง อาหารขนาดเล็กก็ส่งไปยังเรติคิวลัม ส่วนที่เป็นแก๊สก็เรอออกมา ส่วนที่เป็นสารละลายจะถูกดูดซึมผ่านผนังของรูเมน เข้าสู่กระแสเลือดโดยทันที[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 กระเพาะรูเมน
- ↑ "กระบวนการย่อยอาหารของสัตว์กระเพาะรวม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-27. สืบค้นเมื่อ 2012-09-29.