ริตสึเรียว
ริตสึเรียว (ญี่ปุ่น: 律令) เป็นระบบกฎหมายโบราณของญี่ปุ่นซึ่งอิงปรัชญาลัทธิขงจื๊อและนิตินิยมแบบจีน ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา เรียกว่า "ริตสึ" (律) และประมวลกฎหมายปกครอง เรียกว่า "เรียว" (令)
ปลายยุคอาซูกะ (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง ค.ศ. 710) และยุคนาระ (ค.ศ. 710–794) ราชสำนักเคียวโตะพยายามจะจำลองระบบการเมืองที่เข้มงวดแบบจีนจากราชวงศ์ถังมาโดยการตราและบังคับใช้ประมวลกฎหมายริตสึเรียวหลายชุด การปฏิรูปไทกะเมื่อ ค.ศ. 645 เป็นสัญญาณแรก ๆ ของการทำให้ระบบริตสึเรียวนี้เกิดผล[1] รัฐแบบริตสึเรียวผลิตข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีการเก็บบันทึกไว้อย่างดีในช่วงหลายร้อยปี แต่ครั้นเวลาผ่านไป จนในยุคเฮอัง (ค.ศ. 794–1185) สถาบันแบบรึตสึเรียวได้กลายเป็นระบบการเมืองและวัฒนธรรมที่ไร้เสียงสะท้อน (feedback) อีกต่อไป[2] ประมวลกฎหมายแบบริตสึเรียวฉบับสุดท้าย คือ โยโรริตสึเรียว ซึ่งเมื่อมีการปฏิรูปเมจิเมื่อ ค.ศ. 1868 ก็ยังใช้บังคับอยู่
กฎหมายริตสึเรียวชุดหลัก ๆ ได้แก่[3]
- โอมิเรียว (近江令) ฉบับ ค.ศ. 669 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายปกครอง 22 เล่ม แต่ที่มาที่ไปนั้นยังถกเถียงกันอยู่
- อาซูกะคิโยมิฮาระเรียว (飛鳥浄御原令) ฉบับ ค.ศ. 689 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายปกครอง 22 เล่ม
- ไทโฮริตสึเรียว (大宝律令) ฉบับ ค.ศ. 701 แต่บางแหล่งก็ว่า ค.ศ. 702 มีอิทธิพลมาก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายปกครอง 11 เล่ม และประมวลกฎหมายอาญา 6 เล่ม
- โยโรริตสึเรียว (養老律令) ตราขึ้นใน ค.ศ. 757 แต่บางแหล่งก็ว่า ค.ศ. 752 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายปกครอง 10 เล่ม และประมวลกฎหมายอาญา 10 เล่ม เป็นการนำไทโฮริตสึเรียวมาตรวจชำระใหม่
ความสำเร็จหลัก ๆ
[แก้]การปกครอง
[แก้]ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีการริเริ่มระบบโคกูงุงริ (国郡里制) ซึ่งให้แบ่งประเทศออกเป็นเขตปกครองต่าง ๆ คือ
- กูนิ (国) แบ่งออกเป็น กุง หรือโคริ
- กุง หรือโคริ (郡) แบ่งออกเป็น ริ หรือซาโตะ ราว 2–20 แห่ง
- ริ หรือซาโตะ (里) ประกอบด้วยบ้านเรือน 50 หลังคาเรือน
ครั้น ค.ศ. 715 มีการนำระบบโกริ (郷里制) มาใช้ ทำให้เกิดการแบ่งเขตดังนี้
- กูนิ แบ่งออกเป็น กุง หรือโคริ
- กุง หรือโคริ แบ่งออกเป็น โก ราว 2–20 แห่ง
- โก (郷) ประกอบด้วยบ้านเรือน 50 หลังคาเรือน และแบ่งออกเป็น ริ หรือซาโตะ
- ริ หรือซาโตะ มักประกอบด้วยบ้านเรือนราว 10–25 หลังคาเรือน
ระบบนี้ล้มเลิกไปใน ค.ศ. 740
การรวมศูนย์อำนาจ
[แก้]ระบบริตสึเรียวกำหนดให้มีรัฐบาลกลาง มีจักรพรรดิเป็นประมุข และมีหน่วยงานสองส่วน คือ
- จิงงิกัง (神祇官) รับผิดชอบด้านศาสนจักร
- ไดโจกัง (太政官) รับผิดชอบด้านอาณาจักร แบ่งออกเป็นกระทรวง 8 กระทรวง
การจัดตั้งตำแหน่งราชการ
[แก้]มีการใช้ระบบลำดับตำแหน่งราชการที่เรียกว่า "คัง" (官) หรือ "คันโชกุ" (官職) ซึ่งแบ่งตำแหน่งราชการออกเป็น 30 ขั้น เรียกว่า "อิ" (位) หรือ "อิไก" (位階) โดยวางระเบียบเคร่งครัดว่า ตำแหน่งใดควรมีขั้นใด การจัดขั้นนี้โดยมากแล้วอิงความดีความชอบ ไม่เกี่ยวกับการสืบตระกูล บุตรหลานของข้าราชการชั้นสูงบางทีก็มีขั้นต่ำ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่อยู้ในกฎหมายของราชวงศ์ถัง แต่ระบบริตสึเรียวของญี่ปุ่นไม่อิงการสืบตระกูล
ขั้นสูงสุด คือ ขั้น 1 เรียกว่า "อิจิอิ" (一位) ไล่ลงมาจนถึงขั้น 8 เรียก "ฮะจิอิ" (八位) เป็นขั้นของข้าราชสำนัก มีเอกสิทธิ์หลายประการ ถัดลงจากนี้ไปเป็นขั้นที่เรียกว่า "โซอิ" (初位) มีสิทธิเพียงบางอย่าง[4]
ขั้นสูงสุดหกขั้นแรก ถือกันว่า เป็นอภิสิทธิชนอย่างแท้จริง (true aristocracy) ซึ่งเรียกว่า "คิ" (貴) แบ่งออกเป็นชั้นผู้ใหญ่ เรียก "โช" (正) และชั้นผู้น้อย เรียก "จุ" (従)[5] เช่น ขั้น 3 ชั้นผู้ใหญ่ เรียกว่า "โชซันมิ" (正三位) หรือขั้น 2 ชั้นผู้น้อย เรียก "จูนิอิ" (従二位) ขั้นที่ถัดลงมาจากขั้น 3 ยังแบ่งออกเป็นลำดับสูง เรียกว่า "โจ" และลำดับล่าง เรียกว่า "เกะ" (下) เช่น ขั้น 4 ชั้นผู้น้อย ลำดับล่าง เรียก "จูชิอิโนะเกะ" (従四位下) หรือขั้น 6 ชั้นผู้ใหญ่ ลำดับสูง เรียก "โชโระกูอิโนะโจ" (正六位上) การเลื่อนขั้นมักเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยตามระบบราชการ และในช่วงแรกที่ใช้ระบบริตสึเรียวนี้ จะไม่มีการเลื่อนจนถึงขั้น 6 เว้นเป็นกรณีพิเศษ จึงทำให้เกิดเส้นแบ่งเป็นกลุ่มอภิสิทธิชน (ขั้น 5 ขึ้นไป) เรียกว่า "คิโซกุ" (貴族) กับกลุ่มชั้นล่าง (ขั้น 6 ลงมา) เรียกว่า "จิเงะ" (地下)[4]
เมื่อได้เลื่อนขั้น รายได้ในรูปแบบข้าวที่เรียกเก็บจากกูนิต่าง ๆ มีหน่วยวัดเป็นโคกุ (石, 1 โคกุ = ประมาณ 150 กิโลกรัม) ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งไปด้วย ข้าราชการขั้น 6 จะได้ข้าวราว 22 โคกุต่อปี แต่ขั้น 5 อาจได้ถึง 225 โคกุต่อปี ส่วนขั้น 3 อาจได้มากถึง 6,957 โคกุต่อปี[4]
นอกจากนี้ ยังมีระบบทำสำมะโนประชากร เรียกว่า "โคเซกิ" (戸籍) ปรับปรุงทุกหกปี และมีการทำรายงานภาษีรายปี เรียกว่า "เคโจ" (計帳) ทั้งมีการตั้งระบบภาษีโดยอิงรายงานเคโจนี้ เรียกว่า "โซโยโจ" (租庸調) เพื่อเรียกเก็บภาษีเป็นข้าว หรือธัญพืช รวมถึงผลิตผลอื่น ๆ จากท้องถิ่น (เช่น ฝ้าย, เกลือ, เยื่อกระดาษ ฯลฯ) ส่งเข้าสู่เมืองหลวง
ระบบริตสึเรียวยังให้มีการเกณฑ์แรงงานในระดับกูนิ โดยอาศัยคำสั่งของผู้ปกครองกูนิที่เรียกว่า "โคกูชิ" (国司) ส่วนในเมืองหลวง ก็มีการเกณฑ์แรงงาน และเกณฑ์ทหาร แต่สามารถส่งส่วยแทนแรงงานได้
กฎหมายอาญา
[แก้]มีการใช้ระบบกฎหมายอาญาที่วางโทษไว้ห้าระดับ เรียกว่า "โกเก" (五刑) คือ
- เฆี่ยน เรียกว่า "ชิ" (笞) เป็นการเฆี่ยนตีที่สะโพก 10, 20, 30, 40, หรือ 50 ที แล้วแต่ผิดหนักผิดเบา
- เฆี่ยนต่อหน้าธารกำนัล เรียกว่า "โจ" (杖) เป็นการเฆี่ยนตีทีสะโพก 60, 70, 80, 90, หรือ 100 ที ในที่สาธารณะ แล้วแต่ผิดหนักผิดเบา โดยใช้อุปกรณ์เฆี่ยนที่หนักกว่ากรณีชิ
- จำคุก เรียกว่า "ซุ" (徒) มีกำหนด 1, 1.5, 2, 2.5, หรือ 3 ปี แล้วแต่ผิดหนักผิดเบา
- เนรเทศ เรียกว่า "รุ" (流) แบ่งเป็น เนรเทศใกล้ เรียกว่า "คนรุ" (近流), เนรเทศกึ่งทางไกล เรียกว่า "ชูรุ" (中流), และเนรเทศไกล เรียกว่า "อนรุ" (遠流) แล้วแต่ผิดหนักผิดเบา
- ประหาร เรียกว่า "ชิ" (死) แบ่งเป็น แขวนคอ เรียกว่า "โค" (絞) และตัดหัว เรียกว่า "ซัง" (斬) แล้วแต่ผิดหนักผิดเบา
ด้านอาญา ยังมีการกำหนดความผิดอาญาหนักแปดประการ เรียกว่า "ฮาจิเงียกุ" (八虐) ซึ่งจะเว้นโทษมิได้ เรื่องนี้ได้ต้นแบบมาจากฉือเอ้อ (十惡; "สิบชั่ว") ในกฎหมายของราชวงศ์ถัง แต่เอาความผิดสองประการ คือ การสร้างความแตกแยกในครอบครัว และการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ครอบครัว (เช่น การคบชู้สู่ชาย, เพศสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้อง ฯลฯ) ออก จึงเหลือแปดประการ
วรรณะ
[แก้]ระบบริตสึเรียวให้แบ่งประชาชนออกเป็นสองวรรณะ คือ เรียวมิง" (良民) กับเซ็นมิง (賤民) แต่ละวรรณะต้องใช้เสื้อผ้าที่มีสีตามวรรณะ
เรียวมิงแบ่งออกเป็นสี่วรรณะย่อย และเซ็นมิงแบ่งออกเป็นห้าวรรณะย่อย กลุ่มเซ็นมิงนี้แทบเทียบเท่าทาส
พัฒนาการของการใช้ริตสึเรียว
[แก้]มีการปรับปรุงริตสึเรียวอยู่เป็นระยะ ๆ เช่น เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูก ก็มีการตรากฎหมายใน ค.ศ. 723 อนุญาตให้ถือครองที่ดินที่เพาะปลูกได้เป็นช่วงเวลาต่อเนื่องกันสามรุ่นคน เรียกว่า "กฎหมายซันเซอิสชิง" (三世一身の法) แต่ ค.ศ. 743 ก็ออกกฎหมายให้ถือครองได้ไม่จำกัดเวลา เรียกว่า "กฎหมายคนเด็งเอเน็งชิไซ" (墾田永年私財法) ซึ่งทำให้เกิดที่ดินมากมายอยู่ในเงื้อมมือเอกชน นำไปสู่การสร้างจวนที่เรียกว่า "โชเอ็ง" (荘園)
ส่วนการใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการถือครองที่ดินตามวรรณะแบบเคร่งครัดก็เริ่มผ่อนคลายลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8–9[6] แต่ก็มีความพยายามจะคงระบบนี้ไว้ในช่วงจักรพรรดิคัมมุ โดยขยายเวลาจัดสรรที่ดินแต่ละคราวออกไปเป็น 12 ปี ส่วนในต้นยุคเฮอัง แทบจะไม่ได้ใช้ระบบนี้เลย การจัดสรรที่ดินครั้งสุดท้ายมีขึ้นในช่วง ค.ศ. 902–903
ระบบวรรณะเองก็ไม่ค่อยใช้เคร่งครัด เรียวมิงบางคนก็สมรสกับเซ็นมิงเพื่อเลี่ยงภาษี ส่วนเซ็นมิงก็ยอมสมรสด้วยเพื่อที่บุตรคลอดออกมาจะได้วรรณะเรียวมิง พอสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 หรือเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 10 ระบบวรรณะนี้นับว่าสิ้นเนื้อหาสาระในทางปฏิบัติอีก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Asakawa, Kan'ichi. (1903). The Early Institutional Life of Japan: A Study in the Reform of 645, p. 324 n.3.
- ↑ Mesheryakov, Alexander. (2003). "On the Quantity of Written Data Produced by the Ritsuryō State" เก็บถาวร 2011-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Japan Review, 15:187–199.
- ↑ Asakawa, p. 13.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Borgen, Robert (1994). Sugawara no Michizane and the Early Heian Court. University of Hawaii Press. pp. 13–14. ISBN 0-8248-1590-4.
- ↑ The initial ranks were subdivided into "greater" (大 dai) and "lesser" (少 shō) ranks.
- ↑ D., Totman, Conrad (2000-01-01). A history of Japan. Blackwell Publishers. p. 100. ISBN 1557860769. OCLC 41967280.
บรรณานุกรม
[แก้]- Asakawa, Kan'ichi. (1903). The Early Institutional Life of Japan. Tokyo: Shueisha. OCLC 4427686; see online, multi-formatted, full-text book at openlibrary.org
- Titsingh, Isaac. (1834). Nihon Odai Ichiran; ou, Annales des empereurs du Japon. Paris: Royal Asiatic Society, Oriental Translation Fund of Great Britain and Ireland. OCLC 5850691
- Sansom, George (1958). A History of Japan to 1334. Stanford: Stanford University Press. ISBN 0-8047-0523-2
- Haley, John Owen. Authority Without Power: Law and the Japanese Paradox (Oxford, 1994), ISBN 0-19-509257-0