ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธการที่แอตแลนตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการแอตแลนตา
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองอเมริกัน

ภาพวาด Battle of Atlanta วาดโดยเคิร์ซและแอลลิสัน
ในปี ค.ศ. 1888
วันที่22 กรกฎาคม, ค.ศ. 1864
สถานที่
ผล สหรัฐชนะศึก
คู่สงคราม
สหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา สมาพันธรัฐอเมริกา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สหรัฐอเมริกาวิลเลียม ที. เชอร์แมน
สหรัฐอเมริกาเจมส์ บี. แมคเฟอร์สัน
จอห์น บี. ฮู้ด
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
แผนกการสงครามลุ่มแม่น้ำมิซซิสซิปปี (Military Division of Mississippi) กองทัพเทนเนซซี
ความสูญเสีย
3,641 นาย 8,499 นาย

ยุทธการแอตแลนตา คือหนึ่งในการรบในยุทธนาการแอตแลนตา ซึ่งรบกันในระหว่างสงครามกลางเมืองของชาวอเมริกัน ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) ณ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย แม้ว่าชื่อการรบจะสื่อถึงการรบขั้นเด็ดขาด, แต่ศึกครั้งนี้รบกันในช่วงครึ่งทางของยุทธนาการทั้งหมด และเมืองแอตแลนตาจะยังไม่ถูกยึดไปอีก 6 สัปดาห์

ในขณะนั้น, พลตรีวิลเลียม ทีคัมเซห์ เชอร์แมน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพของฝ่ายสหรัฐในภาคตะวันตก ส่วนกองทัพหลักของสหรัฐในการรบนี้คือกองทัพเทนเนซซี, ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พลตรีเจมส์ บี. แมคเฟอร์สัน เขาคือหนึ่งในบรรดาผู้บังคับบัญชาที่เชอร์แมนและแกรนท์ชื่นชอบ เนื่องจากเขาเป็นนายพลหัวรุนแรงและสั่งการได้อย่างรวดเร็ว (ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พบได้น้อยในบรรดานายพลฝ่ายสหรัฐ) โดยเหล่าทหารที่สิบห้า (XV) นั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.ต. จอห์น เอ. โลแกน, และเหล่าทหารที่สิบหก (XVI) อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.ต. แฟรงค์ พี. แบลร์ จูเนียร์

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายตรงข้ามคือกองทัพสหพันธรัฐแห่งเทนเนซซี ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกจอห์น เบลล์ ฮู้ด และเหล่าทหารของพลโทวิลเลียม เจ. ฮาร์ดีย์ เป็นผู้นำการโจมตี

อารัมภบท

[แก้]

ก่อนหน้าที่ศึกครั้งนี้จะเกิดขึ้นหลายเดือน นายพลฝ่ายสหพันธรัฐ โจเซฟ อี. จอห์นสตัน จะเป็นผู้นำทำการโจมตีแล้วถอยทัพทุกครั้งเมื่อปะทะกับกองกำลังที่เหนือกว่าของเชอร์แมน เป็นแนวยาวขนานกับทางรถไฟ ตั้งแต่เมืองแชททานูกา รัฐเทนเน็ซซี ไปจนถึงเมืองมาริเอ็ตตา รัฐจอร์เจีย, ซึ่งการโจมตีแต่ละครั้งจะมีลักษณะเดียวกันตลอด ลักษณะคือ: จอห์นสตันจะวางทัพของเขาอยู่ในตำแหน่งตั้งรับ, ส่วนเชอร์แมนก็จะเคลื่อนทัพของเขาเข้ามาโอบล้อมแนวป้องกันของกองทัพสหพันธรัฐ, และจอห์นสตันก็จะทำการถอยทัพก่อนที่กองทัพของเชอร์แมนจะโอบล้อมสำเร็จ แต่ในที่สุดกองทัพทั้งสองก็เข้าปะทะกันเต็มรูปแบบในศึกแห่งภูเขาเคนนีซอว์, ซึ่งการกระทำของจอห์นสตันดังกล่าว ทำให้คณะผู้นำของฝ่ายสหพันธรัฐกังวล และคลางแคลงความสมัครใจในการสู้รบกับกองทัพสหรัฐของจอห์นสตัน แม้จะรู้ว่าโอกาสที่จอห์นสตันจะรบชนะกองทัพของเชอร์แมนนั้นมีอยู่น้อยมากก็ตามที เป็นเหตุให้จอห์นสตันผู้ที่กำลังเตรียมการรบในศึกแห่งบึงพีชทรี ถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) และให้ฮูดเข้าไปเป็นผู้บังคับบัญชาแทน ซึ่งทันทีที่ฮูดเข้ามาสั่งการแล้ว เขาก็สั่งให้กองทัพของเขาเร่งเข้าปะทะกับกองทัพของเชอร์แมนที่ตั้งทัพอยู่ที่บึงพีชทรีในทันที, แต่การโจมตีไม่เป็นผลและทำให้ทหารในกองทัพของเขาบาดเจ็บและเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

พ.อ. ฮู้ด ที่มีกำลังทหารที่น้อยกว่าศัตรูของเขามาก กำลังเผชิญกับปัญหาสองปัญหา ประการแรกคือ เขาจำเป็นต้องป้องกันเมืองแอตแลนตา ที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟและการอุตสาหกรรมที่สำคัญมากสำหรับฝ่ายสหพันธรัฐ ประการที่สองคือ กองทัพของเขานั้นมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับกองทัพขนาดใหญ่ที่นายพลเชอร์แมนมี เขาจึงตัดสินใจที่จะถอนกำลังของเขากลับเข้าไปในเมือง เพื่อล่อทหารฝ่ายสหรัฐให้รุกคืบเข้ามา ในขณะเดียวกัน กองทัพของแมคเฟอร์สันก็กำลังเดินทางจากเมืองดีคาเทอร์ รัฐจอร์เจีย มายังฝั่งตะวันออกของเมืองแอตแลนตา

การรบ

[แก้]
รั้วระเนียดและรั้วลวดหนาม (cheval-de-frise) ถูกสร้างไว้หน้าคฤหาสน์พอตเตอร์, เมืองแอตแลนตา, รัฐจอร์เจีย, ค.ศ. 1864

ขณะที่กองทัพของแมคเฟอร์สันกำลังเดินทางมา ฮู้ดก็สั่งการให้เหล่าทหารของนายพลฮาร์ดีย์เดินทัพตระเวนอยู่ใกล้ๆ กับแนวทัพปีกซ้ายของกองทัพฝ่ายสหรัฐ, ให้กองทหารม้าของ พ.ต. โจเซฟ วีลเลอร์ ตระเวนอยู่ใกล้กับเส้นทางการขนส่งเสบียงของเชอร์แมน และให้เหล่าทหารของ พ.ต. เบนจามิน ชีทแฮม เข้าปะทะกับแนวหน้าของฝ่ายสหรัฐ กระบวนรบดังกล่าวเคยถูกใช้มาก่อนโดยโธมัส เจ. แจ็คสัน และเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว อย่างไรก็ตาม, ฮาร์ดีย์ใช้เวลามากกว่าที่ฮู้ดคาดไว้ในการเคลื่อนทัพเข้าประจำตำแหน่ง, และในขณะเดียวกันนายพลแมคเฟอร์สันก็วิเคราะห์จุดที่เสี่ยงต่อการโจมตีได้อย่างแม่นยำ (แนวทัพปีกซ้าย), และได้ส่งเหล่าทหารที่สิบหก, และกองหนุนเข้าไปช่วยเสริมตรงจุดนั้น กองกำลังของฮาร์ดีย์พบกับกองกำลังนี้, และทำให้การรบเริ่มต้นขึ้น แม้ว่าการโจมตีของฝ่ายสหพันธรัฐจะถูกต่อต้านจนต้องถอยทัพไป แต่แนวทัพปีกซ้ายของฝ่ายสหรัฐก็เริ่มทำการถอยทัพ ในการโจมตีของสหพันธรัฐครั้งนี้ นายพลแมคเฟอร์สันที่ขี่ม้าไปยังแนวหน้าเพื่อสังเกตการรบถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารราบฝ่ายสหพันธรัฐ

แนวรบหลักของฝ่ายสหพันธรัฐในการรบในขณะนี้มีลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L) โดยการโจมตีของฮาร์ดีย์นั้นเป็นขีดล่างของแอลและการโจมตีในแนวหน้าของชีทแฮมนั้นเป็นขีดตั้งของตัวแอล การโจมตีของฮาร์ดีย์ถูกต้านจนต้องถอนกำลังออกมา เมื่อเหล่าทหารที่สิบหกของสหรัฐจัดขบวนรบใหม่และตรึงแนวรบได้แล้ว ในขณะเดียวกัน ทหารของนายพลชีทแฮมตีแนวรบของสหรัฐได้สำเร็จ แต่นายพลเชอร์แมนตั้งปืนใหญ่ 20 กระบอกใกล้กับศูนย์บัญชาการของเขาเองแล้วสั่งให้กองปืนใหญ่เหล่านั้นระดมยิงใส่กองกำลังของฝ่ายสหพันธรัฐ, เพื่อให้เหล่าทหารที่สิบห้าของนายพลโลแกนจัดกระบวนรบใหม่และโจมตีตอบโต้กำลังทหารของฝ่ายสหพันธรัฐจนแตกพ่ายไป ฝ่ายสหรัฐเสียทหารไปจากการรบครั้งนี้ 3,641 นาย ส่วนฝ่ายสหพันธรัฐเสียทหารไป 8,499 นายซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียกำลังทหารอย่างมากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับกองทัพสหพันธรัฐที่มีกำลังทหารน้อยอยู่แล้ว

ผลจากการรบ

[แก้]

แม้ว่าศึกแห่งแอตแลนตานี้ จะเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับสำหรับกองทัพสมาพันธรัฐของฮูด แต่พวกเขายังคงรักษาเมืองไว้ได้ หลังจากศึกนี้เชอร์แมนได้เริ่มทำการปิดล้อมเมืองแอตแลนตา, ระดมยิงใส่สิ่งก่อสร้างของพลเรือนและบรรดาพลเรือนเองในเมือง และดักปล้นสดมภ์ที่เส้นทางฝั่งตะวันตกของเมือง เพื่อตัดเส้นทางการขนส่งเสบียงจากเมืองเมคอน, รัฐจอร์เจีย ในที่สุด ในวันที่ 31 สิงหาคม ณ เมืองโจนส์โบโรห์ รัฐจอร์เจีย กองทัพของเชอร์แมนสามารถยึดทางรถไฟมาจากเมืองเมคอนได้สำเร็จ ฮูดถอนทหารของเขาออกจากเมืองแอตแลนตาในวันต่อมา พร้อมกับทำลายคลังเสบียง เพื่อป้องกันไม่ให้เสบียงดังกล่าวตกไปอยู่ในการครอบครองของฝ่ายสหรัฐ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน เชอร์แมนเดินทางเข้าไปในเมือง และส่งสาส์นโทรเลขไปยังเมืองวอชิงตันแจ้งว่า "แอตแลนตาเป็นของเราแล้ว และเป็นชัยชนะอย่างใสสะอาด" เขาสั่งการให้เผาเมืองในเวลาต่อมา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน

การล่มสลายของเมืองแอตแลนตา ถือเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการขยายผลทางการเมือง เนื่องจากในปี ค.ศ. 1864 เป็นสมัยเลือกตั้ง, และผู้สมัครคืออดีตพลเอกจอร์จ แมคเคลแลน กับประธานาธิบดีลิงคอล์น สงครามนี้ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบนักในฝ่ายเหนือ (สหรัฐ) และนโยบายหาเสียงของแมคเคลแลน คือการให้คำมั่นสัญญาว่า จะเจรจาสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสหพันธรัฐ ซึ่งถ้าการสงบศึกครั้งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่สงครามกลางเมืองจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การยึดเมืองแอตแลนตา และการที่ฮูดเผาทำลายยุทโธปกรณ์และเสบียงสงครามของฝ่ายตนไปเป็นจำนวนมากเมื่อกองทัพของเขาถอยทัพ ถูกนำเสนออย่างละเอียดโดยหนังสือพิมพ์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเพิ่มขวัญกำลังใจของทหารและพลเรือนของฝ่ายเหนือเป็นอย่างมาก ทำให้ลิงคอล์นได้รับเลือกตั้งให้ป็นประธานาธิบดีอีกครั้งอย่างฉิวเฉียด ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 56 ต่อ 44

สนามรบในขณะนี้คือแหล่งที่พักอาศัยในเมืองและพื้นที่การค้า และมีอนุสาวรีย์อยู่หลายแห่งในเมืองแอตแลนตาเพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์ของศึกครั้งนี้ รวมถึงอนุสรณ์ที่สวนอินแมน (en:Inman Park) ลายเส้นรูปตัวแอล (L) ที่อยู่ระหว่างถนนมอร์แลนด์จากลิตเติ้ล ไฟฟ์ พอยท์นส์ (en:Little Five Points) และถนนระหว่างรัฐสายที่ 20 เส้นทางเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตกซึ่งเป็นจุดที่ฮาร์ดีย์ทำการโจมตี และหอแสดงภาพรอบทิศแห่งแอตแลนตา (en:Atlanta Cyclorama) ซึ่งแสดงภาพวาดและเป็นพิพิธภัณฑ์ของศึกนี้

อ้างอิง

[แก้]

หมายเหตุ: เอกสารที่กำลังจะกล่าวถึงมีรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด