ยุทธการที่ซูโจว
ยุทธการที่ซูโจว | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง | |||||||
![]() | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
![]() สาธารณรัฐจีน |
![]() | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() | ||||||
กำลัง | |||||||
600,000 ใน 64 กองพล | 240,000 ใน 8 กองพล | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
100,000 | 30,000 |
ยุทธการที่ซูโจว เป็นการรบระหว่างสาธารณรัฐจีนกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง หลังจากที่ญี่ปุ่นยึดเมืองนานกิงได้ก็เริ่มโจมตีเมืองซูโจวต่อ ในเดือนมีนาคม 1938 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองมณฑลซานตงทั้งหมด ทหารสาธารณรัฐจีน 64 กองพล 600,000 นายรวมพลที่ชายฝั่งทางทิศใต้ในมณฑลเจียงซูทันทีเพื่อโจมตีตอบโต้การรุกรานของญี่ปุ่น
เบื้องหลัง
[แก้]เนื้อหาส่วนนี้เข้าข่ายว่าอาจละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่น โปรดช่วยกันตรวจสอบลิขสิทธิ์ หากคุณเป็นผู้เขียนต้นฉบับเดิมและต้องการเผยแพร่ในวิกิพีเดีย ให้เขียนคำอธิบายในหน้าอภิปรายแล้วนำป้ายนี้ออกได้ กรุณาศึกษาวิธีเขียนไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ หากคุณทราบว่าเนื้อหาส่วนนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ลบเนื้อหาดังกล่าวออก |
การรบที่เถิงเซียน
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/9d/%E6%97%A5%E5%86%9B%E8%BF%9B%E6%94%BB%E5%AE%9D%E5%B1%B1%E5%9F%8E.jpg/220px-%E6%97%A5%E5%86%9B%E8%BF%9B%E6%94%BB%E5%AE%9D%E5%B1%B1%E5%9F%8E.jpg)
วันที่ 14 - 18 มีนาคม ค.ศ. 1938 หลังจากผ่านสองสัปดาห์ที่คอยสอดแนมอย่างระมัดระวังและรวบรวมข่าวกรองโดยใช้หน่วยลาดตระเวนขนาดเล็ก พลเอกอิทากาคิ เซอิจิโระเปิดฉากบุกในวันที่ 14 มีนาคม 1938 กองพลที่ 10 แห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมีกำลังพลประกอบด้วยทหารราบ 10,000 นาย ปืนใหญ่ 20 กระบอก รถถังขนาดกลางและขนาดเล็ก 20 คัน และเครื่องบิน 20 ลำ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นปะทะกับกองพลที่ 125 และ 127 ของกองทัพคณะชาติจีนใกล้เถิงเซียน กองพลที่ 125 และ 127 พึ่งเคลื่อนกำลังพลจากมณฑลเสฉวนทำให้มีกำลังพลน้อยและอ่อนล้าแต่ก็สู้กันอย่างห้าวหาญ วันที่ 15 กองทัพญี่ปุ่นใช้ข้อได้เปรียบเรื่องการเคลื่อนที่โจมตีทหารจีนหลายด้านทำให้กำลังสำรองที่ล่าถอยของจีนเกือบหมด พลเอกอาวุโสหลี่ซงเหรินบัญชาการจากไท่เอ๋อซวงทางตะวันออกเฉียงใต้รีบส่งกำลังเสริมไปเถิงเซียน วันที่ 15 มีนาคมทหารเกือบ 2,000 นายจากกองพลที่ 122 และกองพลน้อยที่ 364 ป้องกันเถิงเซียน ถึงแม้ว่าผู้บัญชาการภาคสนามเกณฑ์ตำรวจท้องถิ่นและอาสาสมัครแต่ก็ยังไม่เกิน 3,000 นาย ความหวังเดียวของพวกเขาคือกองทัพที่ 85 พลเอกหวางหมิงซางผู้บัญชาการที่เถิงเซียนบอกทหารใต้บังคับบัญชาว่าการตั้งรับนี้ใช้เวลาสี่ชั่วโมงกว่าที่กำลังเสริมจะมาถึงและทหารของเขาก็สาบานว่าจะทำให้ดีที่สุด นายพลหวางหมิงซางสั่งปิดประตูเมืองทิศเหนือและทิศใต้ เสบียงและยุทโธปกรณ์ทั้งหมดเอาเข้ามาในเมืองเตรียมตัวสำหรับการปิดล้อม
เช้าวันที่ 16 มีนาคม ญี่ปุ่นเริ่มการโจมตี กองกำลังตะวันออกฝ่าแนวป้องกันบางเบาที่หลงซาน ปู้หยางซาน และเฟิงเจียเหอ มุ่งหน้าสู่เถิงเซียน เวลา 08.00 น.ปืนใหญ่ภูเขา 12 กระบอกวางกำลังระดมยิงเมือง ต่อมาเวลาสั้นๆเครื่องบินเริ่มยิงกราดด้วยเช่นกัน หลังจากที่ลูกกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงเข้าเมืองว่าสามพันนัดในเวลา 10.00 น.ทุกสิ่งเงียบสงัดแต่การบุกเริ่มต้นขึ้นเวลา 10.30 น.เมื่อญี่ปุ่นระดมยิงปืนใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ทำลายกำแพงอย่างรวดเร็ว ทหารญี่ปุ่น 60 นายเข้าไปในช่องกำแพงโดยมีปืนกลเบาและหนักยิงคุ้มกัน แต่ถูกหมวดปาระเบิดของทหารจีนซู่มโจมตีทำให้สูญเสียทหารเกือบทั้งหมด การโจมตีอีกสามครั้งก็เกิดขึ้นอีกในสองชั่วโมงต่อมา แต่ทหารแต่ละระลอกที่เข้าไปก็ถูกทำลายในลักษณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายซึ่งเป็นช่วงสงบการปะทะ ทหารจีนยึดกระสอบเกลือจากร้านค้าท้องถิ่นอุดช่องว่างของผนังแทนถุงทราย
เวลา 14.00 น.ญี่ปุ่นระดมยิงปืนใหญ่ใส่กำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง กำแพงเมืองนี้ก็พังทลายเหมือนคราวที่แล้ว จากนั้นทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไปโดยมีปืนกลยิงคุ้มกัน ทหารสามระลอกรวม 14 หมวดถูกโจมตีจนล่าถอยออกมาและมีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เวลา 17.00 น.ญี่ปุ่นโจมตีประตูเมืองตะวันออกด้วยปืนใหญ่ 30 กระบอกโดยมีเครื่องบิน 10 ลำยิงสนับสนุน ทหารญี่ปุ่นปรับแผนการบุกใหม่จากความผิดพลาดครั้งก่อน ระลอกโจมตีประกอบด้วยทหาร 120 คนแบ่งเป็นหลายกลุ่มทิ้งระยะห่างระหว่างกัน 100 เมตร ระลอกแรกถูกหยุดยั้งด้วยกระสุนปืนและระเบิดอย่างรวดเร็วแต่พวกเขาก็ถ่วงเวลานานพอที่ระลอกที่สองมาสมทบเข้าประตูเมืองที่พัง ภายในประตูเมืองทหารจีนหมวดที่ 11 ไม่สามารถใช้ระเบิดป้องกันทหารญี่ปุ่นได้เพราะระยะโจมตีสั้นเกินไป จึงเตรียมดาบปลายปืนเพื่อต่อสู้ระยะประชิด พวกเขาสังหารผู้โจมตีจนเหลือแค่เพียง 20 นายเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่และทุกคนได้รับบาดเจ็บ เมื่อแลเห็นทหารญี่ปุ่นระลอกที่สาม ทหารจีนทั้ง 20 นายก็ล่าถอยไป เมื่อพลบค่ำญี่ปุ่นพยายามยึดประตู แต่จีนยึดประตูกลับคืนได้อีกครั้งในเวลา 20.00 น. ตลอดทั้งคืนทหารจีนจากกองพันที่ 370 และ 372 ประมาณ 1,000 นายแอบเข้าไปในเมืองเพื่อเสริมกำลังป้องกัน
เช้าวันที่ 17 มีนาคม ญี่ปุ่นประกาศว่าความพยายามเสริมกำลังป้องกันของจีนล้มเหลว
เวลา 06.00 น.ของวันที่ 17 มีนาคม ญี่ปุ่นเริ่มระดมยิงปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศเปลี่ยนเมืองให้เป็นกองซากปรักหักพัง ทหารญี่ปุ่นโจมตีประตูตะวันออกและช่องกำแพงที่มุมกำแพงตะวันออกเฉียงใต้ ประตูเมืองตะวันออกเป็นจุดที่ทหารจีนป้องกันแน่นหนา แต่การโจมตีประตูเมืองตะวันออกของญี่ปุ่นมียานเกราะสนับสนุนจึงเป็นเรื่องยากที่จะหยุดยั้ง หลังจากใช้ระเบิดทำลายยานเกราะได้สองคัน ทหารหนึ่งกองร้อยรั้งการโจมตีไว้จนคนสุดท้ายก่อนที่ญี่ปุ่นเข้ามาในเมือง ผู้บัญชาการกองพันออกคำสั่งให้กองร้อยอื่นๆที่ตั้งเป็นกำลังเสริมเข้าโจมตีทหารญี่ปุ่น สังหารทหารญี่ปุ่นที่เข้าเมือง 50 นาย แต่ก็ต้องสูญเสียกำลังพลถึง 140 นาย เช่น ผู้บังคับการกองร้อยจางฉวนซินและรองผู้บังคับการกองร้อยเหอจีคัง เวลา 15.00 น.ปืนใหญ่และอากาศยานโจมตีที่ประตูเมืองทิศใต้ ต่อมาเวลา 15.30 น.ทหารญี่ปุ่นวิ่งเข้าประจัญบานอย่างรวดเร็วทำให้แนวป้องกันจีนอ่อนกำลังลง เวลา 17.00 น.ประตูเมืองตะวันตกและใต้ถูกญี่ปุ่นยึด ที่ประตูเมืองทิศตะวันออกตอนนี้เหลือทหารจีน 300 นาย ทุกคนได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้และไม่สามารถรักษาแนวป้องกันได้อีกแล้ว จึงอัตวินิบาตกรรมหมู่ด้วยระเบิด เมื่อพระอาทิตย์ตกดินทหารจีนใช้ความมืดอำพรางตัวถอนกำลังออกจากเมืองไปซูโจวทางทิศใต้
หลังจากรุ่งเช้าวันที่ 18 มีนาคม ทหารจีนประมาณ 600 นายยังคงอยู่ในเถิงเซียน เครื่องบิน 10 ลำของกองทัพอากาศจีนมาถึงขัดขวางการโจมตีทางอากาศตอนเช้า ยิงเครื่องบินดำทิ้งระเบิดตกสองลำและเครื่องบินสอดแนมตกหนึ่งลำ แต่ก็สายเกินไปที่จะพลิกสถานการณ์ เมื่อทหารญี่ปุ่นยึดเถิงเซียน ทหารจีนเสียชีวิต 3,000 ถึง 4,000 นายรวมทั้งนายพลหวางหมิงซานเสียชีวิตในหน้าที่ในวันที่ 15 มีนาคม กองทัพญี่ปุ่นสูญเสียทหาร 2,000 นายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เมืองไม่ได้ถูกทำลายโดยสูญเปล่าเพราะทหารจีนฝ่ายตั้งรับได้รับคำสั่งตั้งรับเป็นเวลาสี่ชั่วโมงแต่สามารถชะลอการเดินทัพของญี่ปุ่นถึงสี่วันถือเป็นความสำเร็จ
หลังจากยุทธการซูโจว นายพลหลี่ซงเหรินกล่าวว่า"ผลของชัยชนะที่ไท่เอ๋อซวงเกิดจากการเสียสละที่เถิงเซียน" เพราะการเสียสละที่เถิงเซียนถ่วงเวลาให้กองทัพคณะชาติจีนรวบรวมกำลังที่ไท่เอ๋อซวงเพื่อตั้งรับการรุกรานของญี่ปุ่น
การรบที่ไท่เอ๋อซวง
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/f5/1938_terauchi_hisaichi.jpg/220px-1938_terauchi_hisaichi.jpg)
วันที่ 22 มีนาคม - 15 เมษายน ค.ศ. 1938 กองตั้งรับที่เถิงเซียนซื้อเวลาให้กองทัพคณะชาติ พลเอกอาวุโสหลี่ซงเหรินและพลเอกอาวุโสไป๋ชงซีรวบรวมกำลังพลที่เมืองไท่เอ๋อซวงห่างจากซูโจวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 50 กิโลเมตร สมรภูมิเถิงเซียนทำให้จีนนำกำลังจากซูเฉิง, มณฑลเหอหนานโดยจัดกำลังเสร็จสมบูรณ์ระหว่างการต่อสู้พร้อมทั้งเดินทางมายังซูโจวและไท่เอ๋อซวงระหว่างวันที่ 18 และ 21 มีนาคม กองทัพคณะชาติเลือกไท่เอ๋อซวงเป็นที่มั่นตั้งรับเพราะมีเส้นทางตัดผ่านระหว่างทางหลวง,ทางรถไฟและคลองเดินเรือ ขนาดเมืองวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ 1 กิโลเมตรและจากทิศตะวันตกถึงตะวันออก 2 กิโลเมตรจึงมีขนาดพื้นที่น้อยกว่า 1 ตารางกิโลเมตร อาคารก่ออิฐมากมายแข็งแรงพอจะทนต่ออำนาจการยิงเบาๆและกำแพงเตี้ยรอบๆเมืองขัดขวางการเคลื่อนที่ของข้าศึก ทำให้ไท่เอ๋อซวงเหมาะเป็นที่มั่นตั้งรับแห่งต่อไปของจีน ชาวบ้านกว่า 3,000 ครัวเรือนอาศัยอยู่ในเมืองเวลานั้นแม้ว่าจะมีบางครัวเรือนอพยพก่อนที่ญี่ปุ่นบุก
หลังจากยึดเถิงเซียนและหลินเชิงทางตอนเหนือวันที่ 18 มีนาคม กองพลที่ 10 ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเร่งมุ่งหน้าลงใต้โดยไม่รอกองพลที่ 5 ที่เสริมปีกซ้ายให้แข็งแรงขึ้น วันที่ 20 มีนาคมแนวรบด้านตะวันตกของกองพลที่ 10 ยึดหานซวง แต่เมื่อทหารญี่ปุ่นพยายามข้ามคลองก็ถูกทหารจีนโจมตีขับไล่และตรึงกำลังที่แนวนั้น ขณะนี้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาแนวรบด้านตะวันออกที่ยึดเพียงแค่ยี่เซียน จากยี่เซียนญี่ปุ่นมีสองทางเลือกคือมุ่งหน้าเป็นทางตรงไปยังซูโจวโดยลัดข้ามภูมิประเทศภูเขาหรืออ้อมตามภูมิประเทศที่ราบซึ่งเหมาะสมต่อหน่วยยานยนต์ ญี่ปุ่นเลือกข้อหลังเพื่อใช้เส้นทางผ่านไท่เอ๋อซวง
ญี่ปุ่นมีคำสั่งในเวลานั้นว่า 1.กองทหารราบเบาป้องกันหานซวงโดยมีปืนใหญ่สนับสนุนบางส่วน จึงยับยั้งการบุกแนวรบด้านตะวันตกชั่วคราว 2.กำลังสำคัญระดมพลที่หลินเชิงทำหน้าที่เป็นกำลังสำรองในการบุกยี่โจว 3.กำลังสำคัญที่สองระดมที่ยี่เซียนทำหน้าที่เป็นกำลังสำรองในการบุกไท่เอ๋อซวง 4.กองบัญชาการกองพลที่ 10 ตั้งที่บริเวณเจ้าซวง-ยี่เซียน เมื่อกองพลน้อยที่ 91 และ 93 กองพลที่ 31 ของกองทัพคณะชาติจีนมาถึงไท่เอ๋อซวงและเสริมการป้องกัน กรมทหารราบที่ 186 กองพลน้อยที่ 93 รักษาการณ์ใจกลางเมืองและกรมทหารที่ 185 อยู่ในหมู่บ้านเป่ยโหลวและนานโหลวทางทิศเหนือ กรมทหารที่ 181 กองพลน้อยที่ 91 เสริมแนวป้องกันที่สถานีรถไฟทางทิศเหนือของเมือง กรมทหารที่ 182 ลาดตระเวนแถวตลิ่งทางตอนใต้ของคลอง
วันที่ 22 มีนาคมทหารญี่ปุ่นละทิ้งยี่เซียนเพื่อโจมตีไท่เอ๋อซวง พลโทถังเอนโบนำทหารจีนโจมตีก่อกวนขบวนแถวทหารญี่ปุ่นตลอดทาง เวลา 09.00 น.ในวันที่ 23 มีนาคมกองรักษาการณ์ภายนอกของจีนตรวจพบทหารราบ,ทหารปืนใหญ่,รถถังเบาและยานเกราะของทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเป็นแนวหน้า ทหารจีนสู้ตอบโต้แต่ทหารญี่ปุ่นบุกโดยมีปืนใหญ่รถถังยิงสนับสนุนกวาดล้างกองรักษาการณ์จนสิ้น หมู่บ้านเป่ยโหลวถูกทำลายหลังจากนั้น ในวันเดียวกันนายพลหลี่จงเหรินจัดกำลังให้อยู่สังกัดหมู่กองทัพที่ 2 ของพลเอกซุนเหลียนจงผู้ซึ่งพากองพลที่ 27 กองทัพที่ 42 ไปไท่เอ๋อซวง นายพลซุนเหลียนจงตั้งกองบัญชาการหมู่กองทัพห่างจากไท่เอ๋อซวงทางทิศใต้ 5 กิโลเมตรซึ่งใกล้กว่าตามที่ระเบียบกองทัพจีนกำหนดไว้ที่ 20 กิโลเมตรเพราะเขารู้สึกถึงการปะทะที่จะเกิดขึ้น วันที่ 23 มีนาคมกองพลที่ 27 ของจีนมาถึงเพื่อสนับสนุนปีกขวาของกองทัพในไท่เอ๋อซวง
ญี่ปุ่นปรับแผนเพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมของจีนโดยลดกำลังโจมตียี่โจวเพื่อเสริมกำลังให้กำลังสำรองสำหรับการโจมตีไท่เอ๋อซวง
วันที่ 24 มีนาคมประธานาธิบดีเจียงไคเช็กแห่งสาธารณรัฐจีนเยี่ยมตรวจซูโจวด้วยตนเอง เขาพบกับพลเอกอาวุโสไป๋ชงชีและพลเอกหลินเว่ยซูผู้บัญชาการมณฑลทหารที่ห้าก่อนจากไป เช้าวันเดียวกันกองทัพญี่ปุ่นโจมตีหลิวเจียหูและหยวนชาง ทั้งสองที่ห่างจากไท่เอ๋อซวง 4 กิโลเมตร กรมทหารที่ 85 ของกองทัพคณะชาติโจมตีตอบโต้จากนานโหลว ยึดหลิวเจียหูคืนจากญี่ปุ่นและญี่ปุ่นก็ไม่สามารถยึดหลิวเจียหูคืนได้
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 มีนาคมทหารญี่ปุ่นกลุ่มอิ่นมาถึงไท่เอ๋อซวง ปะทะกันที่สถานีรถไฟทิศเหนือและกำแพงเมืองทิศเหนือ ปืนใหญ่ญี่ปุ่นระดมยิงจนกำแพงเกิดช่องว่างและให้ทหารราบบุกระลอกแล้วระลอกเล่าแม้ว่าต้องสูญเสียกำลังพลจำนวนมากไม่ต่างจากเถิงเซียน หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน นายพลซุนเหลียนจงและนายพลไบ๋ชงซีเข้าเมืองตรวจสอบความเรียบร้อยของทหารขณะที่ปืนใหญ่ญี่ปุ่นระดมยิงอย่างต่อเนื่อง พวกเขาตัดสินใจย้ายปืนใหญ่และยานเกราะเข้ามาในเมือง
เช้าตรู่วันที่ 25 มีนาคม ทหารจีนเริ่มการโจมตีแต่เพราะผลสำเร็จยังห่างไกลจึงมีคำสั่งยุติการโจมตีเพื่อไม่ให้ทหารเสียขวัญ เวลา 10.00 น.กองทัพญี่ปุ่นได้รับกำลังเสริมสนับสนุนจึงเริ่มการเข้าตี ทหารกองพลที่ 31 ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเดินทัพเข้าสู่ไท่เอ๋อซวง กรมทหารที่ 185 ของกองทัพสาธารณรัฐจีนซุ่มโจมตีกำลังรอบๆเส้นทางลำเลียงอาวุธและเสบียงจากด้านหลังแนวรบและบังเอิญพบที่ตั้งปืนใหญ่ ทหารจีนกระจายโจมตีที่ตั้งปืนใหญ่ด้วยปืนไรเฟิลและดาบ ญี่ปุ่นแยกทหารราบ 1,000 นายและรถถังเบา 20 คันจากกำลังเข้าตีเพื่อจัดการกับการโจมตีที่ไม่คาดคิดทำให้ทหารจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะไม่มีปืนต่อต้านรถถัง ญี่ปุ่นบุกต่อไปจนสามารถยึดหลิวเจียหูและเจ้าซวงคืนได้ในเช้าวันนั้น
เวลาบ่าย กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารที่ 7 และกองร้อยที่ 1 กรมทหารที่ 10 ของกองทัพสาธารณรัฐจีนมาถึงไท่เอ๋อซวงพร้อมกับปืนใหญ่ 75 มิลลิเมตร 10 กระบอกและปืนใหญ่ 150 มิลลิเมตรผลิตจากเยอรมนี 2 กระบอก สองชั่วโมงต่อมาเกิดสงครามปืนใหญ่ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ในไท่เอ๋อซวงสถานีรถไฟทางทิศเหนือกลายเป็นซากปรักหักพังเพราะอำนาจการยิงของญี่ปุ่นและจีนเสียปืนใหญ่ 1 กระบอกและรถลากจูงปืน 1 คัน
เวลา 16.00 น.ทหารญี่ปุ่น 600 นายโจมตีทางตอนเหนือของไท่เอ๋อซวง ข่มขวัญทหารจีนที่พยายามรบหน่วงเวลาไม่ให้ทหารญี่ปุ่นเข้าประชิดเมือง เวลา 17.00 น.หน่วยโจมตีญี่ปุ่นแทรกซึมเข้ามาในเมืองแต่ทหารจีนขับไล่หลังพระอาทิตย์ตกดิน
เช้าวันที่ 26 มีนาคม กองพันที่ 80 กองพลที่ 27 ของกองทัพสาธารณรัฐจีนเข้ามาในพื้นที่และส่งกองลาดตระเวนขนาดเล็กสอดแนมหลังแนวรบญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเสริมกำลังรบสร้างแรงกดดันทหารจีน คืนนั้นจีนลากปืนใหญ่เยอรมันขนาด 37 มิลลิเมตรเข้าไปในเมือง
เวลา 05.30 น.ของวันที่ 27 มีนาคม ญี่ปุ่นยิงปืนใหญ่โจมตีซ้ำที่กำแพงทิศเหนือ ทหารจีนกองพันที่ 3 กองพลที่ 181 สละชีพต่อสู้จนคนสุดท้ายก่อนที่ทหารญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้าเมือง ทหารจีนกองพันที่ 2 กรมทหารที่ 186 ตั้งรับที่ศาลเจ้าชิงเสิ่น ทหารจีนตรึงกำลังไว้แต่ต้องสูญเสียกำลังเป็นจำนวนมากเมื่อเผชิญหน้ากับญี่ปุ่น ผู้บัญชาการจีนพยายามบรรเทาสถานการณ์ตึงเครียดในไท่เอ๋อซวงโดยส่งทหารเข้าตีหลิวเจียหูและซานลี่ซวง สามารถยึดได้ทั้งสองเมืองในเวลา 11.00 น.ทำให้ญี่ปุ่นถอนทหาร 500 นายและยานเกราะ 11 คันออกจากไท่เอ๋อซวง ทหารจีนทิ้งที่มั่นตั้งรับที่หลิวเจียหูและล่อญี่ปุ่นไปทางประตูเมืองตะวันตกของไท่เอ๋อซวงที่ซึ่งมีปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรซ่อนอยู่ พลทหารปืนใหญ่รอจนกว่ารถถังและยานเกราะข้าศึกเข้าใกล้ระยะยิงซึ่งใช้ความอดทนอย่างมากทำให้ยานเกราะและรถถังเบาข้าศึกหกคันไม่สามารถใช้การได้ ทหารจีนกองพลที่ 31 วิ่งออกมาไล่ล่าทหารญี่ปุ่น ยานพาหนะญี่ปุ่นหกคันที่ถูกยิงจนใช้ไม่ได้ทหารจีนใช้ระเบิดทำลายเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นกู้ซากนำกลับไปใช้อีก ใกล้หมดวันที่ 27 มีนาคมทหารญี่ปุ่นตรึงกำลังบนพื้นที่เล็กๆใกล้ประตูเมืองทิศเหนือและต่อสู้กับทหารจีนที่ตั้งรับที่ศาลเจ้าชิงเสิ่นอย่างรุนแรง
ก่อนรุ่งสางของเช้าวันที่ 28 มีนาคม ทหารจีนสู้กับทหารญี่ปุ่นอย่างสิ้นหวังเพื่อขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกไปก่อนที่กำลังเสริมจะมา ทหารญี่ปุ่นต้องรับมือการโจมตีพลีชีพของทหารจีนกองพันที่ 9 กรมทหารที่ 186 ซึ่งทหารจีนทั้งหมดถูกสังหารจนหมดสิ้น ช่วงเวลาหนึ่งหลังจากเวลา 05.00 กองพลที่ 27 และกองพลน้อยอิสระยังคงดำเนินกลยุทธ์ต่อไปโดยตีฉาบฉวยที่มั่นญี่ปุ่นในเมืองใกล้เคียง ยึดเจ้าซวงได้ในเวลา 07.30 น.และล้อมหลิวเจียหูจนถึง 14.00 น. ขณะเดียวกันเวลา 07.00 น.กำลังเสริมทหารญี่ปุ่นมาถึงประตูเมืองทิศเหนือ นำปืนกลหนักและยานเกราะกับรถถังเบาอีก 12 คันตามมาด้วย การโจมตีกำแพงทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออย่างรุนแรงเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน โดยตอนนี้มีทหารจีนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากดังนั้นกำลังสำรองถูกเกณฑ์เข้าหน่วยรบทั้งหมด
วันที่ 28 มีนาคมจีนเริ่มดำเนินการเข้าตีตอบโต้ครั้งสำคัญ โดยตีโอบกองทัพญี่ปุ่นและตัดขาดการสื่อสาร นายพลซุนเหลียนจงเลื่อนยศนายทหารหลายคนในสมรภูมิเพื่อกระตุ้นขวัญกำลังใจทหาร และในเวลาเดียวกันก็ลดยศนายทหารอย่างน้อยหนึ่งคนและประหารชีวิตผู้บัญชาการกองพลน้อยสำหรับการกระทำที่ขี้ขลาดเพื่อเป็นเยี่ยงอย่าง เมื่อแลเห็นว่าสถานการณ์น่าสิ้นหวังญี่ปุ่นจึงส่งกองพลที่ 10 เป็นกำลังเสริมเข้าตีไท่เอ๋อซวง
วันที่ 30 มีนาคมเป็นครั้งแรกที่มีเครื่องบินกองทัพอากาศจีนปรากฏขึ้น ทหารญี่ปุ่นไม่ทันมองว่าเป็นเครื่องบินข้าศึก รีบโบกธงอาทิตย์อุทัยก่อนที่จะสังเกตเห็นตราสัญลักษณ์จีนคณะชาติบนตัวเครื่องบินขับไล่ทั้ง 9 ลำ เครื่องบิน I-15 ผลิตที่โซเวียตระดมยิงกองทัพญี่ปุ่นพร้อมกับทหารจีนโจมตีจากเมือง สามารถทำลายยานพาหนะได้ถึง 11 คัน ต่อมาวันที่ 30 มีนาคมเครื่องบินทิ้งระเบิดแนวระดับจีนทิ้งระเบิด 22 ลูกใส่ที่มั่นกองทัพญี่ปุ่นที่ยี่เซียน ช่วงบ่ายญี่ปุ่นโจมตีมุมกำแพงตะวันตกเฉียงเหนือโดยมีเครื่องบินดำทิ้งระเบิด 12 ลำโจมตีสนับสนุน การเข้าตีของญี่ปุ่นควบคุมซีกตะวันตกของเมืองก่อนที่จีนจะสามารถหยุดยั้งสถานการณ์นี้ได้
วันท่ 31 มีนาคมทั้งสองฝ่ายดำเนินกลยุทธ์คล้ายกัน กองพลที่ 27 ของจีนโจมตีหลิวเจียหูและเมืองอื่นๆที่อยู่รอบๆเพื่อดึงความสนใจกองทัพญี่ปุ่นให้คลาดจากไท่เอ๋อซวงหรือตีโอบกองกำลังเข้าตี ทหารญี่ปุ่นตอบโต้โดยใช้รถถัง ปืนใหญ่จีนยิงรถถังอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้รถถังเบาของญี่ปุ่นเสียสามคัน แต่อำนาจการยิงอาวุธญี่ปุ่นเหนือกว่าจีนถึงกระนั้นทหารจีนก็ยังคงตรึงกำลังอยู่ ขณะเดียวกันที่ไท่เอ๋อซวงปืนใหญ่ญี่ปุ่นยิงกำแพงเมืองทิศเหนือถล่ม เปิดช่องว่างกว้าง 30 เมตรทำให้ทหารญี่ปุ่นเข้าตีได้เป็นจำนวนมาก กลายเป็นสงครามตึกต่อตึก เวลา 19.00 น.นายพลซุนเหลียนจงตัดสินใจดึงทหารกรมทหารที่ 175 กองพลที่ 30 เข้าไท่เอ๋อซวงเพื่อเสริมแนวป้องกันที่เบาบาง เวลา 20.00 น.ทหารญ๊ปุ่น 500 นายโจมตีมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง แต่กรมทหารที่ 175 มาถึงทันเวลาจึงป้องกันไม่ให้ทหารญี่ปุ่นติดต่อกับหน่วยอื่นแต่ก็เกิดความสูญเสียจำนวนมาก
วันที่ 1 เมษายน การต่อสู้นอกเมืองเงียบลงบ้างแล้ว แต่การปะทะตามท้องถนนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในไท่เอ๋อซวง คืนนั้นกำลังกองโจรของจีนโจมตีตำบลส่งยุทธภัณฑ์ทางอากาศของญี่ปุ่นที่เส้าจวงโดยส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงจึงเกิดการไหม้
เวลา 02.00 น.ของวันที่ 2 เมษายน กองพันที่ 2 กรมทหารที่ 157 กองพลน้อยที่ 79 กองพลที่ 27 ใช้ความมืดอำพรางลอบโจมตีที่มั่นทหารญี่ปุ่นในไท่เอ๋อซวง พวกเขาโห่ร้องก่อนเข้าประจัญบาน ทำลายขวัญกำลังใจทหารญี่ปุ่นและผลักดันทหารญี่ปุ่นถอยออกจากประตูตะวันออก เวลาเดียวกันจีนใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มอาคารที่ญี่ปุ่นยึดตามด้วยการเข้าตีของทหารราบ วันนั้นทหารจีนล้มเหลวในการขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกจากเมือง แต่ก็สามารถสกัดกั้นการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่น
วันที่ 3 เมษายนการรบครั้งใหญ่เกิดขึ้นทางทิศตะวันออกของเมือง ซึ่งปืนใหญ่ญี่ปุ่นสังหารทหารจีนหลายร้อยนาย กำลังรบของจีนลดลงเรื่อยๆ นายพลซุนเหลียนจงขอร้องให้นายพลหลี่ซงเหรินถอนกำลังออกจากเมืองแต่นายพลหลี่ปฏิเสธ เพราะเขาไม่อยากสร้างสถานการณ์ทำลายขวัญกำลังใจทหาร เขาออกคำสั่งให้ทหารสู้ต่อไปจนคนสุดท้ายและสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างทหารของเขาจนถึงที่สุด
เวลา 21.00 น.ทหารจีนประจัญบานพลีชีพด้วยปืนไรเฟิลและดาบโดยมีปืนใหญ่ยิงสนับสนุน ซึ่งแตกต่างจากการพลีชีพครั้งก่อนเพราะสามารถทำลายที่มั่นตั้งรับของญี่ปุ่นและผลักดันแนวรบญี่ปุ่นออกไป ทหารญี่ปุ่นนอกเมืองจัดกำลังอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าเมืองเสริมกำลังทหาร การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกตรวจพบและถูกทหารจีนโจมตีสกัดกั้น
วันที่ 5 เมษายนทหารมณฑลทหารที่ 1 มาถึงซูโจว ส่งเสริมขวัญกำลังใจทหารอย่างมาก เมื่อเข้ากลางคืน ทหารใหม่โจมตีบริเวณที่มั่นญี่ปุ่น โดยกองแรกมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง กองที่สองมุ่งหน้าไปตี้ชื่อเฉียวและหลิวเจียหู กองที่สามมุ่งหน้าไปหงชานและหลานหลิง และกองหลักมุ่งหน้าเข้าไท่เอ๋อซวง เวลา 16.30 น.ญี่ปุ่นถอนทัพออกจากไท่เอ๋อซวง ญี่ปุ่นถอนกำลังอย่างรีบร้อนจนต้องเผาเครื่องกระสุนและยุทโธปกรณ์หนัก ทำให้จีนยึดและซ่อมแซมยานเกราะบางคันนำกลับมาใช้ใหม่ วันที่ 7 เมษายนนายพลหลี่ซงเหรินเห็นญี่ปุ่นถอนตัวอย่างไร้ระเบียบจึงส่งกำลังไล่ตามมุ่งหน้าไปหลิวเจียหูและเผิงเจียโหลว ในวันที่ 8 และ 9 เมษายนญี่ปุ่นต่อสู้ชะลอภารกิจขณะมุ่งหน้าขึ้นเหนือโดยได้เปรียบภูมิประเทศกว่าทหารจีนที่ตามมา ประธานาธิบดีเจียงไคเช็กไม่สบอารมณ์ออกคำสั่งต้องชนะทหารญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ภายในสองวัน แต่ผู้แทนประจำมณฑลเจียงไคเช็กในซูโจวเห็นด้วยกับผู้บัญชาการท้องถิ่นทำในสิ่งตรงกันข้ามโดยไล่ล่าทหารญี่ปุ่นอย่างสบายๆเพื่อให้ทหารจีนได้พัก แม้ว่าการตัดสินใจของทหารจีนทั้งๆที่มีแลกกับโอกาสจัดการหมู่กองทัพญี่ปุ่นกองสำคัญยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่จีนมีชัยชนะเหนือญี่ปุ่นที่ไท่เอ๋อซวงโดยไม่ต้องสงสัย
การเสียเมืองซูโจว
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/9c/The_Far_East-_Singapore%2C_Malaya_and_Hong_Kong_1939-1945_KF199.jpg/220px-The_Far_East-_Singapore%2C_Malaya_and_Hong_Kong_1939-1945_KF199.jpg)
หลังจากพ่ายแพ้ที่ไท่เอ๋อซวง ญี่ปุ่นตั้งใจล้อมซูโจวซึ่งมีทหารจีนประจำการ 600,000 นาย กองทัพบกญี่ปุ่นต้องทุ่มทรัพยากรมากขึ้นเพื่อขัดขวางการระดมพลครั้งใหญ่จีนก่อนถูกโจมตีกลับโดยกองทัพที่ใหญ่กว่าซึ่งนั่นอาจทำให้กองทัพญี่ปุ่นกู่ไม่กลับ กองทัพภาคเหนือจีนของญี่ปุ่น 4 กองพลสนับสนุนโดยกองพลน้อยจากกองทัพคันโตโจมตีจากทางทิศเหนือ ขณะที่กองกำลังเคลื่อนที่เร็วจีนกลางของญี่ปุ่น 3 กองพลและกองพันยานเกราะ 2 กองพันโจมตีซูโจวจากทางตะวันตก กองพันรถถังที่ 5 สนับสนุนทหารราบที่มาจากทางรถไฟทางตอนใต้ จีนต้องเผชิญกับอานุภาพการโจมตีที่รุนแรงแม้ว่าจำนวนกำลังพลจะเหนือกว่า เจียงไคเช็กตัดสินใจละทิ้งซูโจวเพื่อรักษากำลังพล กองกำลังขนาดเล็กของญี่ปุ่นไม่สามารถล้อมซูโจวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทหารจีนส่วนใหญ่หนีไปทางตะวันตกหรือหายเข้าไปในชนบททำสงครามแบบกองโจร
เมื่อยุทธการซูโจวจบลง กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นสูญเสียกำลังพลประมาณ 30,000 นาย สูญเสียปืนกลหนัก 931 กระบอก,ปืนใหญ่ขนาดต่างๆ 120 กระบอก,ยานเกราะและรถถัง 30 คัน กองทัพสาธารณรัฐจีนสูญเสียกำลังพลประมาณ 100,000 นาย ถึงแม้ว่ากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดซูโจวโดยสูญเสียกำลังน้อยกว่าจีน แต่ชัยชนะของญี่ปุ่นในซูโจวก็มีข้อบกพร่องอย่างใหญ่หลวงที่ปิดล้อมเมืองได้ไร้ประสิทธิภาพและไม่สามารถจัดการกองทัพจีนที่รวมพลที่นั่น