ยามาโมโตะ ยาเอะ
ยามาโมโตะ ยาเอะ 山本 八重 | |
---|---|
ภาพวาดของยาเอะ | |
เกิด | 1 ธันวาคม ค.ศ. 1845 ไอซุ จังหวัดมุตสึ ญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 14 มิถุนายน ค.ศ. 1932 เกียวโต ญี่ปุ่น | (86 ปี)
ชื่ออื่น | นีจิมะ ยาเอะ (新島八重) |
อาชีพ | พยาบาล |
ยามาโมโตะ ยาเอะ (ญี่ปุ่น: 山本 八重; โรมาจิ: Yamamoto Yae, 1 ธันวาคม ค.ศ. 1845 - 14 มิถุนายน ค.ศ. 1932) หรือชื่อหลังแต่งงานคือ นีจิมะ ยาเอะ (ญี่ปุ่น: 新島 八重; โรมาจิ: Niijima Yae) เป็นสตรีที่มีช่วงชีวิตอยู่ในปลายยุคเอโดะหรือบากูมัตสึ จนถึงยุคเมจิ ชื่อของเธอบางครั้งยังถูกเรียกเป็น ยาเอโกะ (八重子) ด้วย
ยาเอะ เกิดเมื่อค.ศ. 1845 ที่ไอซุ (จังหวัดฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน) เป็นธิดาของซะมุไรยามาโมโตะ คมปาจิ (ญี่ปุ่น: 山本 権八; โรมาจิ: Yamamoto Konpachi) ผู้มีอาชีพเป็นครูสอนการยิงปืนอยู่ในไอซุ ตระกูลยามาโมโตะนี้อ้างการสืบเชื้อสายจากยามาโมโตะ คันซูเกะ (ญี่ปุ่น: 山本勘助; โรมาจิ: Yamamoto Kansuke)[1] ทหารเอกคนสนิทของทาเกดะ ชิงเง็ง ยาเอะมีพี่ชายคือ ยามาโมโตะ คากูมะ (ญี่ปุ่น: 山本 覚馬; โรมาจิ: Yamamoto Kakuma) ในช่วงวัยเยาว์เธอมีความสนใจในการใช้อาวุธปืนซึ่งผิดแปลกไปจากสตรีในยุคสมัยเดียวกัน ต่อมาคากูมะผู้เป็นพี่ชายเดินทางไปศึกษาวิทยาการตะวันตกที่เมืองเอโดะ ได้แนะนำให้นางยาเอะรู้จักกับคาวาซากิ โชโนซูเกะ (ญี่ปุ่น: 川崎尚之助; โรมาจิ: Kawasaki Shōnosuke) ซึ่งเธอได้สมรสกับโชโนซูเกะเมื่อปี 1865
ในช่วงสงครามโบชิง (戊辰戦争) หลังจากที่เข้ายึดนครเอโดะได้แล้ว ทัพฝ่ายพระจักรพรรดิได้รุกคืบขึ้นมาทางเหนือ เข้าโจมตีเมืองไอซุอันเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายสนับสนุนโชกุน เกิดเป็นยุทธการไอซุ (会津戦争) ขึ้นในปี 1868 ยาเอะได้ตัดสินใจปลงผมแต่งตัวเป็นชายถือปืนเข้าร่วมรบในการปกป้องปราสาทไอซุวากามัตสึ (会津若松城) ในยุทธการครั้งนี้เมืองไอซุถูกทัพฝ่ายพระจักรพรรดิเข้ายึดครองในที่สุด คมปาจิบิดาของนางยาเอะเสียชีวิตในที่รบ และนายโชโนซูเกะผู้เป็นสามีถูกจับเป็นเชลยศึก
หลังจากสงครามแล้วยาเอะได้เดินทางไปยังเมืองเกียวโต เพื่อเยี่ยมและดูแลพี่ชายนายคากูมะซึ่งถูกกุมตัวในฐานะเชลยศึกอยู่ นางยาเอะได้พบกับนายนีจิมะ โจ (ญี่ปุ่น: 新島 襄; โรมาจิ: Niijima Jō หรือ Joseph Hardy Neesima) มิชชันนารีชาวญี่ปุ่น นางยาเอะเข้ารีตคริสต์ศาสนาและสมรสใหม่กับนีจิมะเมื่อค.ศ. 1876 ยาเอะได้ร่วมกับนายนีจิมะผู้เป็นสามีในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยโดชิชะ (同志社大学)
นายนีจิมะผู้เป็นสามีคนที่สองเสียชีวิตลงเมื่อค.ศ. 1890 หลังจากนั้นยาเอะได้ผันตนเองมาสู่ด้านการพยาบาลและเข้าทำงานในสภากาชาดญี่ปุ่น (日本赤十字社) ในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (日清戦争) นางยาเอะได้เข้าทำงานที่เมืองฮิโรชิมะในฐานะนางพยาบาลช่วยเหลือทหารญี่ปุ่นที่ได้รับบาดเจ็บในสงคราม ด้วยคุณงามความชอบทำให้นางยาเอะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ (宝冠章) จากสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิเมื่อค.ศ. 1896 ในค.ศ. 1904 นางยาเอะได้เข้าช่วยเหลือทหารบาดเจ็บอีกครั้งในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
ยาเอะถึงแก่กรรมในปี 1932 ด้วยอายุ 86 ปี ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Suzuki, Yukiko (1998), 闇はわれを阻まず-山本覚馬伝, Tokyo: Shogakukan, ISBN 978-4093792158