ยามซากุระร่วงโรย
ยามซากุระร่วงโรย เบียวโซะกุ โกะ เซ็นชิเมโตะรุ | |
ใบประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย | |
秒速5センチメートル | |
---|---|
แนว | นาฏกรรม, วีรคติ, บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์, เสี้ยวชีวิต |
ภาพยนตร์อนิเมะ | |
กำกับโดย | มาโกโตะ ชิงไก |
อำนวยการสร้างโดย | มาโกโตะ ชิงไก |
เขียนบทโดย | มาโกโตะ ชิงไก |
ดนตรีโดย | เท็มมง (Tenmon) |
สตูดิโอ | คอมิกซ์เวฟ (CoMix Wave) |
ความยาว | 65 นาที |
นวนิยาย | |
เขียนโดย | มาโกโตะ ชิงไก |
สำนักพิมพ์ | มีเดียแฟกเทอร์ (Media Factor) 19 พฤศจิกายน 2550 เอ บุ๊ค บาย เอจี กรุ๊ป[2] 25 มีนาคม 2554[3] |
มังงะ | |
เขียนโดย | มาโกโตะ ชิงไก |
วาดภาพโดย | เซเกะ ยุกิโกะ (Seike Yukiko) |
สำนักพิมพ์ | โคดันชะ (Kodansha) สยามอินเตอร์คอมิกส์ |
นิตยสาร | แอฟเทอร์นูน (Afternoon) |
กลุ่มเป้าหมาย | เซเน็ง |
วางจำหน่ายตั้งแต่ | มิถุนายน 2553 – กรกฎาคม 2554 |
จำนวนเล่ม | 2 เล่มจบ 2 เล่มจบ |
ยามซากุระร่วงโรย[1] (ญี่ปุ่น: 秒速5センチメートル: アチェインオブショートストリーズアバウトゼアディスタンス; โรมาจิ: Byōsoku Go Senchimētoru: a chein obu shōto sutorīzu abauto zea disutansu; อังกฤษ: 5 Centimeters Per Second: a chain of short stories about their distance) เป็นอนิเมะซึ่งมาโกโตะ ชิงไก กำกับและอำนวยการผลิต และเท็มมง (Tenmon) ประพันธ์เพลงประกอบ
เนื้อหาว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งกับคนรักในวัยเด็กที่ต้องห่างกัน แต่แม้เวลาผ่านไปนานเท่าไร ชายหนุ่มยังฝังตัวอยู่กับคำมั่นสัญญาว่าจะครองคู่กันเมื่อโตขึ้น ขณะที่หญิงสาวละทิ้งมัน เพราะเห็นว่าเป็นความผูกพันของเด็ก และวิวาห์กับชายคนใหม่ ซึ่งเป็นตอนจบแนวที่ไม่ปรากฏมาก่อนในงานของชิงไก เพราะเปิดให้ตีความได้หลายหลาก[4]
อนิเมะเรื่องนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550[5] โดยแบ่งเป็นสามบทต่อเนื่องกัน คือ เสี้ยวดอกซากุระ (桜花抄), นักบินอวกาศ (コスモナウト; Cosmonaut) และ ห้าเซนติเมตรต่อวินาที (秒速5センチメートル; 5 Centimeters per Second) ทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่า
บทแรกนั้นเผยแพร่ให้ชมแบบเสียเงินผ่านเว็บไซต์ ยาฮู! ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2550[6] จากนั้น จึงออกฉายทั้งฉบับเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ปีเดียวกัน ณ โรงภาพยนตร์ซินามาไรซ์ (Cinema Rise) แขวงชิบุยะ กรุงโตเกียว[7] และขายแบบดีวีดีตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ปีนั้น ต่อมา จึงขายแบบนิยายเป็นเล่ม ใช้ชื่อเดียวกับอนิเมะ[8] แล้วทำเป็นมังงะ วาดภาพโดย เซเกะ ยุกิโกะ (Seike Yukiko) ลงพิมพ์ในนิตยสาร แอฟเทอร์นูน (Afternoon) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนจบในเดือนมิถุนายน ปีต่อมา[9]
อนิเมะเรื่องนี้ประสบความสำเร็จดีทั้งในบ้านเกิดเมืองนอนและต่างบ้านต่างเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพสดใสมลังเมลืองชวนเพ้อฝันนั้น ยังให้ชิงไกได้รับการเชิดชูว่า จะเป็นเจ้าพ่อวงการอนิเมะคนต่อไปถัดจากฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyasaki)[10]
เนื้อเรื่อง
[แก้]เรื่องราวเกิดในประเทศญี่ปุ่น ต้นพุทธทศวรรษที่ 2530 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (ต้นพุทธทศวรรษที่ 2550) โดยหัวใจของเรื่องนั้นอยู่ที่เด็กหนุ่มชื่อ ทะกะกิ โทโนะ ทั้งนี้ พึงทราบด้วยว่า เรื่องราวในบทแรกเกิดขึ้นแต่ครั้งที่โทรศัพท์มือถือและไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ยังไม่แพร่หลาย
บทที่หนึ่ง: เสี้ยวดอกซากุระ
[แก้]ที่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ทะกะกิ โทะโนะ กลายเป็นเพื่อนของ อะกะริ ชิโนะฮะระ ไม่ช้าหลังเธอย้ายมาที่นี่ เด็กทั้งสองเติบโตด้วยกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เพราะสนใจและมีทัศนคติและบุคลิกลักษณะเหมือนกัน เป็นต้นว่า มักขลุกอยู่ในห้องสมุดด้วยกันมากกว่าออกไปเล่นกลางแจ้ง เพราะแพ้อากาศเหมือนกัน กับทั้งมีทะกะกิคนเดียวที่คอยปกป้องอะกะริในยามที่เธอถูกเพื่อนแกล้ง ดังนั้น ความผูกพันอันแน่นแฟ้นระหว่างคนทั้งคู่จึงทวีเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองเรียกขานกันด้วยชื่อตัวเปล่า ๆ ขณะที่คนทั่วไป แม้รักกันดูดดื่มเพียงไร จะถือธรรมเนียมเรียกกันโดยมีคำว่า "คุณ" (様) ด้วย ข้อเท็จจริงนี้ไม่ปรากฏในพากย์ภาษาต่างประเทศ ครั้งนั้น ทะกะกิและอะกะริสัญญากันว่า จะอยู่ชมดูซากุระด้วยกันตลอดไป โดยอะกะริบอกเขาว่า "ซากุระกลีบหนึ่ง ๆ ร่วงหล่นด้วยความเร็วห้าเซนติเมตรต่อวินาที"
เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนต้น อะกะริย้ายไปเรียนต่อที่อำเภออิวะฟุเนะ จังหวัดโทะชิงิ ตามบิดามารดาที่ย้ายไปทำงานที่นั้น แต่เธอและเขายังติดต่อกันเรื่อยมาด้วยจดหมาย ครั้นทะกะกิทราบว่า ตนจำต้องย้ายรกรากไปเกาะทาเนงะชิมะ จังหวัดคะโงะชิมะ เขาก็ตัดสินใจเดินทางไปพบอะกะริด้วยตนเอง เพราะจากนี้ไปอาจอยู่ห่างไกลกันอย่างยิ่งถึงขนาดที่ไปมาหาสู่กันลำบาก เขาเขียนจดหมายฉบับหนึ่งว่าด้วยความในใจของเขาเตรียมไว้ให้อะกะริ แต่มันปลิวหายไประหว่างนั่งรถไฟชิงกันเซ็งไปหาเธอ นอกจากนี้ พายุหิมะที่ลงหนักยังทำให้ขบวนรถไฟล่าช้าหลายชั่วโมง
เมื่อพบกันแล้ว ทะกะกิและอะกะริโผเข้ากอดกันด้วยความคิดถึง และจุมพิตกันเป็นครั้งแรกใต้ต้นซากุระที่ร่วงโรยเหลือเพียงกิ่ง แล้วพากันไปหลบหิมะในเพิงข้างเคียง ทั้งคู่พูดคุยกันทั้งคืน แล้วผล็อยหลับไปในผ้าห่มผืนเดียวกัน รุ่งเช้าจึงจากกัน และสัญญากันว่าจะเขียนจดหมายหากันอีกเรื่อยไป เมื่อรถไฟเคลื่อน ใจของทะกะกิร้าวรานเพราะจดหมายลับสูญไปข้างต้น ส่วนอะกะริเองก้มมองจดหมายที่ตนเตรียมไว้ให้ทะกะกิเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้
บทที่สอง: นักบินอวกาศ
[แก้]บัดนี้ ทะกะกิเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เกาะทะเนะงะชิมะ ในจังหวัดคะโงะชิมะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อวกาศทะเนะงะชิมะด้วย ณ ที่นั้น เด็กสาวคนหนึ่งชื่อ คะนะเอะ ซุมิดะ เพื่อนร่วมชั้นของทะกะกิ หลงรักเขาตั้งแต่แรกพบ แต่ไม่กล้าสารภาพความรู้สึกของตนให้เขาทราบ จึงพยายามใช้เวลาอยู่ร่วมกันเขาให้มากที่สุด อาทิ ดักรอเขาเมื่อโรงเรียนเลิกเพื่อจะได้กลับบ้านด้วยกัน กระนั้น ดูประหนึ่งว่า ทะกะกิไม่ใส่ใจความรู้สึกของเธอ และปฏิบัติต่อเธอฉันเพื่อนที่ดีเท่านั้น
คะนะเอะสังเกตเห็นว่า ทะกะกิมักเขียนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หาใครบางคนเสมอ หรือไม่ก็มักเหม่อลอยไปในเวิ้งฟ้าราวค้นหาใครบางคนซึ่งอยู่ไกลออกไป ต่อมาในเรื่องปรากฏว่า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นเขาเขียนหาอะกะริ แต่ไม่ได้ส่ง เพียงแต่บันทึกเก็บไว้กับตนเท่านั้น ทั้งเขายังเฝ้าฝันหาอะกะริไม่รู้หน่ายด้วย แม้อะกะริมิได้เขียนจดหมายหาเขานานแล้ว ในที่สุด แม้คะนะเอะรักเขามากเพียงไร แต่เธอก็ปลงใจได้ว่า เขากำลังมองหาบางสิ่งบางอย่างซึ่งเหลือวิสัยที่เธอจะเป็นหรือจะให้เขาได้ และเลิกล้มความตั้งใจจะสารภาพรักต่อเขา
บทที่สาม: ห้าเซนติเมตรต่อวินาที
[แก้]ในปี 2551 ทะกะกิเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่ม และเป็นนักเขียนโปรแกรมอยู่ในกรุงโตเกียว ณ ที่ทำงานของทะกะกิ มีหญิงสาวคนหนึ่งหลงรักเขา แต่ก็ตัดใจเมื่อพบว่า แม้วันเวลาผ่านพ้นมานานเพียงไร ทะกะกิยังใฝ่ฝันถึงอะกะริไม่เสื่อมคลาย ทะกะกิคิดจมอยู่กับความคิดถึงอะกะริจนไม่เป็นอันกินอันนอนเรื่อยมา ที่สุดก็ลาออกจากงานประจำ และเดินย่ำไปบนถนนหนทางพร้อมหัวใจที่ซังกะตาย เวลานั้นเอง อะกะริเตรียมวิวาห์กับชายอื่น เธอค้นทรัพย์สมบัติเก่า ๆ และพบจดหมายที่เธอไม่ได้ให้ทะกะกิ (ในบทแรก) ทะกะกิและอะกะริหวนรำพันถึงวัยเด็กที่สัญญากันว่าจะอยู่ชมดูซากุระด้วยกันตลอดไป และนึกถึงการพบกันครั้งสุดท้ายท่ามกลางหิมะ โดยทะกะกิยังรอทำตามสัญญานั้นเสมอ ส่วนอะกะริเห็นว่าเป็นคำมั่นสัญญาของเด็ก ๆ
ต่อมา ทะกะกิและอะกะริสวนกันที่ตลิ่งทางรถไฟในกรุงโตเกียว และเฉลียวใจขึ้น ทั้งคู่หยุดอยู่ตรงข้ามกันโดยมีรถไฟเคลื่อนคั่น และเริ่มมองหันกลับมา แต่รถไฟบังสายตาทั้งสอง ทะกะกิรอจนรถไฟพ้นไป แต่พบว่าหญิงสาวคนเมื่อครู่เดินจากไปแล้ว เขาพึงระลึกได้ว่า เธอไม่ได้รอเขาอีกแล้ว ทะกะกิยิ้มด้วยความโล่งใจ และเดินต่อไป
ตัวละคร
[แก้]- ทะกะกิ โทโนะ (遠野 貴樹) - เป็นตัวละคนหลักของเรื่อง ต้องย้ายบ้านบ่อยเพราะบิดามารดาเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย เขาและอะกะริเป็นเพื่อนรู้ใจกันตั้งแต่เด็กจนมัธยมศึกษาตอนต้น แต่เมื่ออะกะริต้องโยกย้ายถิ่น ทั้งคู่ก็ลงเอยด้วยการเข้าศึกษาต่อยังสถาบันต่างกัน อนึ่ง ในบทที่สองปรากฏว่า ทะกะกิเป็นสมาชิกชมรมยิงธนูที่โรงเรียน และมีฝีมือดีด้วย
- อะกะริ ชิโนะฮะระ 篠原 明里) - เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของทะกะกิ และรักกับทะกะกิเมื่อทั้งคู่ยังเป็นเด็กด้วยกันอยู่ด้วย เธอและครอบครัวย้ายรกรากบ่อยครั้งเช่นเดียวกับทะกะกิ โดยเมื่อจบมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบครัวให้เธอย้ายจากกรุงโตเกียวไปจังหวัดโทะชิงิพร้อมกัน แต่เธอขออาศัยกับป้าที่กรุงโตเกียว เพื่อจะได้อยู่กับทะกะกิต่อไป แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย เมื่อย้ายบ้านแล้ว เธอกับทะกะกิเขียนจดหมายหากันอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็เลิกราไป
- คะนะเอะ ซุมิดะ (澄田 花苗) - เป็นเพื่อนร่วมห้องของทะกะกิเมื่อทะกะกิย้ายไปเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่จังหวัดคะโงะชิมะ เธอหลงรักทะกะกิแต่มิอาจบอกความในใจให้เขาทราบ เธอชอบเล่นโต้คลื่น และขี่รถกะเทย (moped) มาโรงเรียน พี่สาวของเธอเป็นครูที่โรงเรียนเดียวกัน และตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เธอก็ยังค้นไม่พบว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรหลังเรียนจบ เพียงตั้งความหวังไว้ว่าจะสารภาพรักต่อทะกะกิให้ได้ ซึ่งเธอล้มเลิกเป้าหมายนี้ไปตอนท้ายเรื่อง
นักพากย์
[แก้]ตัวละคร | พากย์ญี่ปุ่น | พากย์อังกฤษ | พากย์ไทย | |
---|---|---|---|---|
ฉบับเอดีวีฟิล์ม (2550) | ฉบับบันดะอิฯ (2554) | |||
ทะกะกิ โทโนะ | เค็นจิ มิซุฮะชิ (Kenji Mizuhashi) | เดวิด มาแทร็งกา (David Matranga) | จอห์นนี ยัง บอสช์ (Johnny Yong Bosch) | ภัทรวุฒิ สมุทรนาวี |
อะกะริ ชิโนะฮะระ | บทที่หนึ่ง: โยะชิมิ คนโด (Yoshimi Kondō), บทที่สาม: อะยะกะ โอะโนะอุเอ (Ayaka Onouei) |
ฮิลารี แฮ็ก (Hilary Haag) | บทที่หนึ่ง: เอรีกา ไวน์สไตน์ (Erika Weinstein), บทที่สาม: ทารา แพล็ต (Tara Platt) |
วิภาดา จตุยศพร |
คะนะเอะ ซุมิดะ | ซะโตะมิ ฮะนะมุระ (Satomi Hanamura) | เซเรนา วาร์กีซ (Serena Varghese) |
คีรา บักแลนด์ (Kira Buckland) | อรุณี นันทิวาส |
การผลิต
[แก้]มาโกโตะ ชิงไก กล่าวว่า อนิเมะเรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องก่อน ๆ ของเขา เพราะจะไร้เรื่องราวจินตนิมิต (fantasy) หรือบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (science fiction) โดยสิ้นเชิง แต่มุ่งนำเสนอโลกจริงด้วยมุมมองต่าง ๆ ด้วยภาพมนุษย์มากหน้าหลายตาต้องดิ้นรนในชีวิต และมีปัจจัยหลายหลากคอยเปลี่ยนผันทัศนคติของเขาเหล่านั้น อาทิ เวลา, ระยะทาง, คนรอบข้าง และความรัก[11]
ชื่ออนิเมะในภาษาแม่ที่แปลว่า "ห้าเซนติเมตรต่อวินาที" นั้น มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ซากุระกลีบหนึ่ง ๆ ร่วงหล่นด้วยความเร็วห้าเซนติเมตรต่อหนึ่งวินาที อันเป็นถ้อยคำที่ตัวนางบอกแก่ตัวพระเมื่อยังเยาว์วัยอยู่ด้วยกัน ชิงไกใช้กลีบซากุระเป็นเครื่องอุปมาถึงมนุษย์ เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความเอื่อยเฉื่อยของชีวิต และเป็นเครื่องชี้ว่า ผู้คนพบเจอกัน ผูกสัมพันธ์กัน และค่อย ๆ ห่างเหินกันไปตามทางของตนได้ฉันใด[11]
ในการสร้างอนิเมะเรื่องนี้ ชิงไกร่วมทำงานกับศิลปินแอนิเมชันของเขาอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกด้วย[12]
รายชื่อตอน
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เพลงประกอบอนิเมะ
[แก้]ยามซากุระร่วงโรย: เพลงประกอบอนิเมะ | |
---|---|
ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย | |
วางตลาด | 2550 |
บันทึกเสียง | 2550 |
ค่ายเพลง | คอมิกซ์เวฟ (CoMix Wave) |
เท็มมง (Tenmon) ผู้ประพันธ์เพลงให้งานของมาโกโตะ ชิงไก เสมอมา รับหน้าที่แต่งเพลงประกอบอนิเมะ ยามซากุระร่วงโรย นี้
เขานำเพลง "วันมอร์ไทม์, วันมอร์แชนซ์" (One More Time, One More Chance) ของ ยะมะซะกิ มะซะโยะชิ (Yamazaki Masayoshi) ซึ่งวางแผงในปี 2540 มาแต่งเป็นเพลงบรรเลงสิบเอ็ดเพลงเพื่อใช้สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ เพลงทั้งสิบเอ็ดใช้เปียโนนำ และออกจำหน่ายเป็นอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะ ส่วน "วันมอร์ไทม์, วันมอร์แชนซ์" นั้น ใช้ปิดอนิเมะ และค่ายนะยุตะเวฟเรเคิดส์ (Nayutawave Records) ทำเป็นซิงเกิลวางแผงอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550[13]
ลำดับ | ชื่อเพลง | ศิลปิน | ยาว |
---|---|---|---|
1. | "โอกะโช ('เสี้ยวดอกซากุระ') (桜花抄; 'Cherry Blossom Extracts')" | เท็มมง | 4:51 |
2. | "โอะโมะอิเดะวะโทกุโนะฮิบิ ('ความทรงจำอันเลือนลางเกี่ยวกับวันเหล่านั้น') (想い出は遠くの日々; 'Distant Memories of Those Days')" | ” | 1:41 |
3. | "โชโซ ('สุดจะอดกลั้น') (焦燥; 'Impatience')" | ” | 1:71 |
4. | "ยุกิโนะเอะกิ ('สถานีหลบหิมะ') (雪の駅; 'Snow Station')" | ” | 3:79 |
5. | "คิส ('จูบ') (Kiss)" | ” | 3:13 |
6. | "คะนะเอะโนะคิโมะชิ ('ความรู้สึกของคะนะเอะ') (力ナエの気持ち; 'Kanae's Feelings')" | ” | 1:47 |
7. | "ยุเมะ ('ฝัน') (夢; 'Dream')" | ” | 1:40 |
8. | "โซะระโทะอุมิโนะชิ ('ลำนำแห่งเวิ้งฟ้าและท้องทะเล') (空と海の詩; 'Poetry of Sky and Sea')" | ” | 2:00 |
9. | "โทะโดะกะนะอิคิโมะชิ ('ความรู้สึกที่มิอาจเข้าถึงได้') (届かない気持ち; 'Feelings Which Cannot Be Reached')" | ” | 1:41 |
10. | "เอนด์ธีม (เพลงปิด) (End Theme)" | ” | 2:52 |
11. | "วันมอร์ไทม์, วันมอร์แชนซ์ (ฉบับเปียโน) (One More Time, One More Chance (Piano Ver.))" | ” | 5:00 |
ความยาวทั้งหมด: | 28:17 |
การตอบรับ
[แก้]อนิเมะเรื่องนี้ได้รางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ณ งานประกาศผลรางวัลเอเชียแปซิฟิกสกรีน (Asia Pacific Screen Awards) ปี 2550[14] และรางวัลชนะเลิศแลนเซียแพลทินัม (Lancia Platinum) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันหรือเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ณ เทศกาลภาพยนตร์อนาคต (Future Film Festival) เมื่อปี 2551[15]
ครั้นออกขายแล้ว ดีวีดีฉบับจำกัดของภาพยนตร์นี้อยู่อันดับที่สามตามผังโทะฮัง (Tohan charts) ระหว่างวันที่ 18-24 กรกฎาคม 2550 ส่วนดีวีดีฉบับธรรมดานั้นติดอับดับเจ็ด[16] นอกจากนี้ แบบบลูเรย์ยังได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับที่สี่ในบ้านเกิดเมืองนอนตลอดปี 2551 ด้วย[17]
รอนนี เชบ (Ronnie Scheib) จากนิตยสารวาไรอีที (Variety) ชื่นชม มาโกโตะ ชิงไก ผู้สร้างอนิเมะนี้ ว่า[10]
"ชิงไกได้รับการสดุดีว่าเป็นมิยะซะกิหมายเลขสอง เขานำเสนอโลกจินตนาการชวนฝันใฝ่ แล้วไปด้วยรายละเอียดอันกว้างขวาง และอารมณ์อันลึกซึ้ง อุปมาดังเขาบรรลุอรหัตแห่งวงการอนิเมะ หรือจะว่าถึงชั้นสูงกว่านั้นแล้วก็ได้ ชิงไกบันดาลให้พลวัตอนิเมะเสมอมีชีวิตจริงตามธรรมชาติ โดยนำหลักการสร้างภาพลักษณ์งามสดใสกลับมาใช้ ขยายรายละเอียดในฉากหลัง และบางครั้งตั้งใจสร้างให้ตัวละครมีส่วนขาดเหลือ เพื่อสะท้อนสันดานของตัวละครเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ"
เว็บไซต์ เมเนีย.คอม (Mania.com) ให้ ยามซากุระร่วงโรย เป็นอะมิเมะยอดเยี่ยมซึ่งมิใช่งานของฮะยะโอะ มิยะซะกิ[18] มาร์ก ชิลลิง (Mark Schilling) จาก เดอะเจแปนไทมส์ (The Japan Times) ว่า เขาดีกว่ามิยะซะกิ "ตรงที่สามารถถลกม่านกำบังแห่งวันเวลา เพื่อยังให้ปรากฏซึ่งความงามอันน่าขมขื่นและไม่จีรังที่เราส่วนใหญ่รับรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ในโมงยามพิเศษเท่านั้น"[19]
แบมบู ดง (Bamboo Dong) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ว่า เพลงเปียโนที่เท็มมงแต่งให้อนิเมะเรื่องนี้นั้น "เลิศเลอจนใจหวิว" ("heartbreakingly gorgeous") เพราะ "ยังให้ภาพยนตร์มีสรรพคุณชวนฝัน" ดงยังกล่าวว่า อนิเมะเรื่องดังกล่าว "มิใช่จะผลิตมาเพื่อบอกคุณว่า ตัวละครนี้เป็นเช่นไร ตัวละครนั้นรู้สึกฉันใด อนิเมะเรื่องนี้มิได้ตั้งอยู่บนเค้าเรื่องอย่างเคร่งครัด แต่ดำเนินอยู่ระหว่างปฏิสัมพันธ์ในฉาก กับภาพภูมิประเทศเดียวดายอันปรากฏขึ้นอย่างได้จังหวะ ทุกสิ่งล้วนแจ่มชัดดังคืนและวัน"[20]
ส่วนเธรอน มาร์ติน (Theron Martin) จากเครือข่ายเดียวกัน ว่า อนิเมะเรื่องนี้เป็น "ผลงานซึ่งใช้เสียงประกอบเก่ง โดยเฉพาะเสียงยิงธนูในบทที่ 2"[4] เขากล่าวด้วยว่า[4]
"เมื่อมองแยกส่วนกันแล้ว แต่ละบทให้ 'บรรณพิลาส' (vignette) ดีเยี่ยมในจุดเล็กจุดน้อย ขณะที่ในภาพรวม บททั้งหลายเหล่านี้แสดงภาพผืนใหญ่เกี่ยวกับพัฒนาการแห่งชีวิตและความรัก ตอนจบของเรื่องเปิดให้ตีความได้หลายแง่ จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ของชิงไกแตกต่างไปจากชิ้นอื่น ๆ ทั้งจะเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ และยังให้บางคนที่นิยมชมชอบผลงานของเขาผิดหวังอย่างไม่ต้องสงสัย บางคนอาจรู้สึกว่าอนิเมะเรื่องนี้จบแบบยังไม่ได้ตอบโจทย์สักข้อ แต่ถ้าพิเคราะห์ถ้อยบรรยายบางส่วนในบทที่สองดู ลองพินิจดูว่าบทนั้นจบเช่นไร และว่าสรรพสิ่งลงตัวกันได้อย่างไร ก็จะพบแสงสว่างว่า ที่จริงแล้วการตอบโจทย์นั้นมิใช่ประเด็นเลย อนึ่ง แม้ [ตัวละครใน] เรื่อง เสียงเพรียกจากดวงดาว (Voices of a Distant Star) พยายามคงความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ ส่วนในเรื่อง เหนือเมฆา...ที่แห่งสัญญาของเรา (The Place Promised in Our Early Days) ก็พยายามสานความสัมพันธ์กันใหม่ก็ตาม แต่ใน ยามซากุระร่วงโรย นี้เป็นความมุมานะจะก้าวเดินต่อไป ให้ความสัมพันธ์ในอดีตเป็นเบื้องหลัง ทิ้งวันวานไว้อย่างนั้น หาลู่ทางชื่นชีวันในปัจจุบัน ยิ่งกว่าจมปลักอยู่กับสิ่งที่พ้นมือไปแล้วตลอดกาล ฉะนั้น ในแง่นี้ ยามซากุระร่วงโรย จึงชื่อว่าเป็นงานของชิงไกที่นำเสนอความเป็นผู้ใหญ่และมีเงื่อนมีปมมากที่สุดในยามนี้"
อย่างไรก็ดี คริส เบเวอริดจ์ (Chris Beveridge) จาก เมเนีย.คอม ว่าอนิเมะเรื่องนี้แย่ตรงที่ใช้ชื่อไม่ตรงกับเรื่องเสียทีเดียว กับทั้ง "เวลาถึงจุดสำคัญ ๆ ของเรื่องแล้ว มักมีอัตราบิตต่ำขึ้น ๆ ทุกที ทำให้รู้สึกว่าภาพไม่ชัดและตะปุ่มตะป่ำมากไปหน่อย ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้สีสุกสกาวเยอะ สีพวกนี้รบกวนภาพเป็นอันมาก ทั้งยังชวนให้อารมณ์บิดเบือนไปพอ ๆ กับชื่อของภาพยนตร์เองด้วย"[21]
เรื่องอื้อฉาว
[แก้]ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กรมประชาสัมพันธ์แห่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับบริษัทหลันไห่เทคโนโลยี (Lanhai Technology) ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันทางโทรทัศน์ เรื่อง ซินหลิงจือชวง (จีน: 心靈之窗; พินอิน: xīn líng zhī chuāng; อังกฤษ: Spirit's Window) ความยาวเกือบหนึ่งชั่วโมง แล้วนำออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐบาลจีน โดยระบุว่า "รายการนี้ผลิตเพื่อเยาวชนจีน และเป็นแอนิเมชันสำหรับจะยกระดับศีลธรรมแห่งจิตใจ และปลูกฝังทัศนคติการใช้ชีวิตแบบใฝ่สูง"[22]
เพราะภาพอันสวยงามที่นำเสนอ ภาพยนตร์ดังกล่าวจึงได้รับความนิยมภายในประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้รับรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปีนั้นด้วย[22] อย่างไรก็ดี มีผู้สังเกตอย่างรวดเร็วเช่นกันว่า ภาพยนตร์นี้คัดลอกภาพจาก ยามซากุระร่วงโรย มาเป็นอันมาก แล้วตัดต่อแบบลวก ๆ เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์จีน ก่อนจะแพร่หลายไปที่อื่น[22] ซึ่งทั้งรัฐบาลจีนและบริษัทหลันไห่เทคโนโลยีบอกปัดไม่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้[22]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ทีไอจีเอ (1 เมษายน 2554). "Scoop of Tiga: ยามซากุระร่วงโรย". สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2554.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ร้านนายอินทร์ (ม.ป.ป.). (fF2OTk9yzAEkAAAANTc0Nzk0ODUtMjRkOS00ODU2LWI3ZDMtNGRmY2RhZWU2OGQwPMKch_DxNL6YXdlpDVAvf09limo1) S (ykq15c45ucpzd345vbn2p455))/ProductDetail.aspx?sku=BK116557236504301&AspxAutoDetectCookieSupport=1 "PRODUCT'S DETAIL: ยามซากุระร่วงโรย". สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2554.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ Animagonline.com (ม.ป.ป.). "ยามซากุระร่วงโรย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-02. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2554.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ 4.0 4.1 4.2 Martin, Theron (March 31, 2008). "5 Centimeters Per Second DVD". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ "第20回「完成?」 - 「秒速5センチメートル」公式ブログ - Yahoo!ブログ". Blogs.yahoo.co.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-29. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
- ↑ "Yahoo! JAPAN - 秒速5センチメートル". 5cm.yahoo.co.jp. 2007-07-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-24. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
- ↑ "Yahoo! JAPAN - 秒速5センチメートル". 5cm.yahoo.co.jp. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
- ↑ 5 Centimeters Per Second (Japanese)
- ↑ "5 Centimeters Per Second Gets Manga Adaptation". Anime News Network. 2010-05-24. สืบค้นเมื่อ 2011-04-26.
- ↑ 10.0 10.1 Scheib, Ronnie (March 6, 2008). "Five Centimeters Per Second". Variety. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ 11.0 11.1 "Director's notes" (ภาษาญี่ปุ่น). Yahoo Japan. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-17. สืบค้นเมื่อ 16 July 2006.
- ↑ Green, Scott. "AICN Anime - Latest From Anime Auteur Makoto Shinkai Picked Up For North America". Ain't It Cool News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ "One more time, one more chance 『秒速5センチメートル』Special Edition 山崎まさよしのプロフィールならオリコン芸能人事典-ORICON STYLE" (ภาษาญี่ปุ่น). Oricon. สืบค้นเมื่อ 2010-07-25.
- ↑ "5 Centimeters Wins at Asia Pacific Screen Awards". Anime News Network. November 13, 2007. สืบค้นเมื่อ March 25, 2008.
- ↑ "5cm per Second Wins at Italy's Future Film Festival". Anime News Network. January 23, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ "Japanese Animation DVD Ranking, July 18–July 24". Anime News Network. July 25, 2007. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ "Amazon Japan Posts 2008's Top-10 DVDs, CDs, Toys". Anime News Network. December 3, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ Beveridge, Chris (October 19, 2009). "10 Great Anime That Are Not Miyazaki". Mania.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-20. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ Schilling, Mark (March 30, 2007). "A budding talent's delicate vision". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ Dong, Bamboo (March 31, 2008). "Shelf Life - Spirits Dream Inside". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ Beveridge, Chris (May 26, 2008). "Five Centimeters Per Second". Mania.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 "Chinese TV Animation Accused of Copying 5cm per Second (Updated)". Anime News Network. February 2, 2009. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- (ญี่ปุ่น) เว็บไซต์ทางการ เก็บถาวร 2007-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (ญี่ปุ่น) บล็อกทางการ เก็บถาวร 2019-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (อังกฤษ) ยามซากุระร่วงโรย ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- (อังกฤษ) ยามซากุระร่วงโรย (อนิเมะ) ที่เครือข่ายข่าวอนิเมะ
- (อังกฤษ) เปรียบเทียบ ซินหลิงจือชวง แอนิเมชันของรัฐบาลจีน กับ ยามซากุระร่วงโรย