ยัง หาญทะเล
ยัง หาญทะเล |
---|
ยัง หาญทะเล เป็นนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงในยุคมวยคาดเชือก เขาเป็นลูกศิษย์ และเป็นทหารคนสำคัญของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นอกจากนี้ ยัง หาญทะเล ยังเป็นเพื่อนร่วมวงการกับทับ จำเกาะ ผู้เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ซึ่งยัง หาญทะเล เคยประลองฝีมือกับนักมวยจีน และทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตายไปสองราย[3]
ประวัติ
[แก้]ยัง หาญทะเล เป็นชาวโคราช ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเหมสมาหาร ต่อมา เขาได้เดินทางไปชกมวยที่กรุงเทพพร้อมกับหมื่นชงัดเชิงชก, ทับ จำเกาะ, ตู้ ไทยประเสริฐ และพูน ศักดา[1]
ยัง หาญทะเล เป็นเพื่อนของทับ จำเกาะ ซึ่งเป็นนักมวยไทยคาดเชือกร่วมวงการ ที่ได้รับการอุปการะจากกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ไปฝึกมวยที่วังเปรมประชากรจนมีชื่อเสียงเช่นเดียวกัน[1]
ครั้งหนึ่ง เมื่อทับ จำเกาะ เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมของตน ได้มีการเรียกร้องให้ยัง หาญทะเล แข่งมวยไทย โดยพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดีได้ทำการปรึกษากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเพื่อนที่เป็นพ่อค้าในสังกัดกรมท่าซ้าย กระทั่งยัง หาญทะเล มีโอกาสประลองมวยกับจอมยุทธชาวจีน นามว่า จิ๊ฉ่าง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนักมวยจีนชาวฮ่องกงที่มีฝีมือเก่งกาจ (บางแห่งกล่าวว่าเขาเป็นชาวจีนกวางตุ้งในประเทศไทย) โดยเป็นครูมวยจีนอยู่แถวสำเพ็ง ซึ่งทั้งคู่แข่งขันกันใน วันมังกรสู้เสือ โดยในการแข่งขันครั้งนี้ มีวงปี่กลองของหมื่นสมัครเสียงประจิต ทำหน้าที่บรรเลงดนตรี[4] และยัง หาญทะเล เป็นฝ่ายชนะ
ส่วนการแข่งขันระหว่าง ยัง หาญทะเล กับนิยม ทองชิตร ที่กระทรวงธรรมการ (หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ที่ได้จัดขึ้น ผลปรากฏว่ายัง หาญทะเล เป็นฝ่ายแพ้ นอกจากนี้ เขายังเคยแข่งกับนักมวยจีน ชื่อ ไล่ หู ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ. 2465[5]
อนึ่ง มีตำนานกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ได้นำผ้าเจียดจากอาจารย์ศุข วัดมะขามเฒ่า มาแจกให้แก่ทหารเรือ และทรงให้ทำการทดลองอาคมในการลงไปแหวกว่ายน้ำทะเลท่ามกลางฝูงปลาฉลาม แต่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง ยกเว้นยัง หาญทะเล ที่รับอาสาทดลอง เขากระโดดจากเรือลงสู่ทะเล และสามารถยืนบนผิวน้ำทะเลท่ามกลางฝูงปลาฉลาม ได้โดยมิได้รับอันตรายใด ๆ ท่ามกลางสายตาของเหล่าทหารเรือมาแล้วครั้งหนึ่ง[6]
สิ่งสืบทอด
[แก้]ท่าคุมมวยของยัง หาญทะเล เป็นหนึ่งในท่าคุมมวยยุคคาดเชือกที่ได้รับการกล่าวขานสืบมา โดยครั้งหนึ่งอาจารย์เขตร ศรียาภัย ผู้เป็นปรมาจารย์มวยไทย ได้กล่าวถึงท่าคุมมวยที่มีชื่อเสียงของยัง หาญทะเล เมื่อครั้งที่แข่งกับฮกหลิม ทวีสิทธิ์ ว่า ใช้สองแขนไขว้ถึงระดับยอดคาง เลื่อนลงคุมลิ้นปี่และราวอก ย่อเข่าแล้วเขย่งปลายเท้าขึ้นลงตามแบบฉบับของมวยนครราชสีมา[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ครูมวยโคราช ที่สำคัญในสมัยรุ่งเรือง [ลิงก์เสีย]
- ↑ สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 165-166
- ↑ เจนจบ ยิ่งสุมล. (ตุลาคม 2553). ๑๓๐ ปี ไม่มีวันตาย พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. สำนักพิมพ์ DK พับลิชิ่ง. ISBN 978-616-7327-07-5. หน้า 88
- ↑ สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 91
- ↑ เมื่อสวนกุหลาบจัดมวย
- ↑ เจนจบ ยิ่งสุมล. (ตุลาคม 2553). ๑๓๐ ปี ไม่มีวันตาย พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. สำนักพิมพ์ DK พับลิชิ่ง. ISBN 978-616-7327-07-5. หน้า 87-90
- ↑ สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 105, 107
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ปริทัศน์มวยไทย ตอน ยัง หาญทะเล ปะทะ จี๊ฉ่าง วันมังกรสู้เสือ
- เรื่องของครูยัง หาญทะเล หนึ่งในทหารเสือเสด็จเตี่ย[ลิงก์เสีย]
- ยัง หาญทะเล ปะทะ จิ๊ฉ่าง วันมังกรสู้เสือ ตอนที่ 1[ลิงก์เสีย]
- ยัง หาญทะเล ปะทะ จิ๊ฉ่าง วันมังกรสู้เสือ ตอนที่ 2[ลิงก์เสีย]
- ครูมวยโคราช ที่สำคัญในสมัยรุ่งเรือง[ลิงก์เสีย]
- ทุ่มทับจับหักในมวยคาดเชือก