ยวง นิตโย
ยอแซฟ ยวง นิตโย | |
---|---|
ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2513 – พ.ศ. 2516 | |
ก่อนหน้า | เกลาดิอุส บาเยต์ |
ถัดไป | รอเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล |
ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2508 – พ.ศ. 2515 | |
ก่อนหน้า | หลุยส์ โชแรง |
ถัดไป | ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 จังหวัดปทุมธานี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 (90 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
เชื้อชาติ | ไทย |
ศาสนา | คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก |
บุพการี |
|
พระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง นิตโย[1] (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 — 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541) บาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวปทุมธานี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย เช่น ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย[2] อัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]พระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง นิตโย มีนามเดิมว่า เคียมสูน นิตโย เป็นบุตรของนาย (ธอมัส) ฟุ้งและนาง (อันนา) กิมกี่ นิตโย เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ราวปี พ.ศ. 2456 ย้ายมาอยู่เป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ต่อมาเข้าศึกษาที่เซมินารีบางนกแขวก จนจบการศึกษา จึงถูกส่งไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปอนตีฟีเชียอูร์บานีอานา กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อเรียนจบก็ได้รับศีลอนุกรมขั้นบาทหลวงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2478 โดยมีบิชอปเกรโกริโอ ปีเอโตร อากาจาเนียน (ภายหลังได้เป็นพระคาร์ดินัลบิชอปแห่งอัลบาโน)
หลังจากบวชได้กลับมาปฏิบัติศาสนกิจที่มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้ช่วยอธิการโบสถ์นักบุญเปโตร สามพราน (2479) ผู้ช่วยอธิการโบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก (2480) อธิการโบสถ์นักบุญเปโตร สามพราน (2485-90) เลขานุการของมุขนายกหลุยส์ โชแรง (2491-4) อธิการเซมินารีพระหฤทัย ศรีราชา (2496-506) ตามลำดับ
พระคุณเจ้าหลุยส์ โชแรง มุขนายกผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังกรุงเทพฯ ป่วยหนัก สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 จึงมีประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2506[3] แต่งตั้งมงซีญอร์เคียมสูน นิตโย เป็นมุขนายกรองผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังกรุงเทพฯ และมุขนายกเกียรตินามแห่งออบบา การอภิเษกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2506 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 และบิชอปจากประเทศอื่น ๆ อีก 14 องค์ เป็นผู้อภิเษก จากนั้นจึงเดินทางกลับมาปฏิบัติศาสนกิจที่มิสซังกรุงเทพฯ ต่อ จนกระทั่งพระคุณเจ้าโชแรงถึงแก่กรรมในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2508 ท่านจึงสืบตำแหน่งประมุขมิสซังต่อทันที
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2508[3] สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงสถาปนามิสซังต่าง ๆ ในประเทศไทยขึ้นเป็นมุขมณฑล โดยมิสซังกรุงเทพฯ และมิสซังท่าแร่-หนองแสง ได้มีสถานะเป็นอัครมุขมณฑล ทำให้ประมุขมิสซังทั้งสอง คือ พระคุณเจ้ายอแซฟ เคียมสูน นิตโย และพระคุณเจ้ามีคาเอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ (ประมุขมิสซังท่าแร่) ได้รับแต่งตั้ง (appointment) เป็นอัครมุขนายกชาวไทยสององค์แรก แต่พระคุณเจ้าเคียมสูนที่ได้เข้ารับตำแหน่ง (installation) ก่อนคือในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2509[4]
เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ พระคุณเจ้ายวงจึงขอลาออกจากตำแหน่งประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ และได้รับอนุมัติในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงดำรงตำแหน่งอัครมุขนายกกิตติคุณมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ นับแต่นั้นมาจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 มีพิธีปลงศพเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม จากนั้นจึงฝังศพไว้ที่อุโมงค์ใต้อาสนวิหารอัสสัมชัญ
ผลงาน
[แก้]ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซัง พระคุณเจ้ายวงได้สร้างคุณูปการไว้มากมายแก่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ท่านสนับสนุนการสร้างโบสถ์โรมันคาทอลิกขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่น ที่หนองจอก รังสิต หนองหิน บางแค สามพรานสะพานใหม่ ตลิ่งชัน
นอกจากนี้พระคุณเจ้ายวงยังแปลหนังสือต่างประเทศเป็นภาษาไทยอีกหลายเล่ม โดยใช้นามปากกาว่า “ผู้หว่าน” เช่น คำอธิบายคำสอนคาทอลิก เตรียมเผชิญความตาย รำพึงจิตภาวนาจำลองแบบพระคริสต์ อาหารทิพย์ประจำวัน เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระอัครสังฆราช ยอแซฟ ยวง นิตโย, มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 25 กันยายน 2555
- ↑ Bishops’ Conference of Thailand, เรียกข้อมูลวันที่ 25 กันยายน 2555
- ↑ 3.0 3.1 Archbishop Joseph Khiamsun Nittayo. The Hierarchy of the Catholic Church. เรียกข้อมูลวันที่ 25 ก.ย. พ.ศ. 2555.
- ↑ ชีวประวัติพระอัครสังฆราช ยอแซฟ เคียมสูน นิตโย[ลิงก์เสีย], มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 25 ก.ย. พ.ศ. 2555
ก่อนหน้า | ยวง นิตโย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เกลาดิอุส บาเยต์ | ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2513 — พ.ศ. 2516) |
รอเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล | ||
หลุยส์ โชแรง | ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2508 — พ.ศ. 2515) |
ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู |