ข้ามไปเนื้อหา

มินะทอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มิโนทอร์)
มิโนทอร์
รูปสลักครึ่งตัวของมิโนทอร์ (National Archaeological Museum of Athens)
กลุ่มสัตว์ในปกรณัม
ผู้ให้กำเนิดวัวครีตกับพาซีฟาอี
เทพปกรณัมกรีก
ภูมิภาคครีต
มิโนทอร์บนหม้อดินเผาสมัยกรีก ราว 515 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ในเทพปกรณัมกรีก มิโนทอร์ (อังกฤษ: Minotaur) เป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีศีรษะเป็นโค มีกายเป็นคน[1] หรือที่โอวิด (Ovid) กวีโรมัน พรรณนาว่า "กึ่งคนกึ่งโค"[2] มิโนทอร์พำนักอยู่ในวงกตซึ่งเป็นหมู่อาคารมีทางเดินคดเคี้ยว ณ กลางเกาะครีต[3] และเป็นผลงานที่สถาปนิกเดดาลัส (Daedalus) กับอีคารัส (Icarus) บุตร ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นตามพระราชโองการพระเจ้าไมนอส (Minos) แห่งเกาะครีต ภายหลัง มิโนทอร์ถูกธีซีอุส (Theseus) วีรบุรุษชาวเอเธนส์ ประหารในวงกตนั้นเอง

คำ "มิโนทอร์" ในภาษาอังกฤษมาจากคำ "Μῑνώταυρος" (Mīnṓtauros,) ในภาษากรีกโบราณ แปลว่า โคแห่งพระเจ้าไมนอส โดยในภาษาอังกฤษนั้น คำ "มิโนทอร์" เป็นทั้งวิสามานยนามใช้เรียกสิ่งมีชีวิตตามตำนานข้างต้น และเป็นสามานยนามใช้เรียกสิ่งมีชีวิตกึ่งโคกึ่งคนตัวอื่น ๆ โดยทั่วไป ส่วนชาวครีตเองเรียกสัตว์นี้ด้วยวิสามานยนามว่า "แอสเตเรียน (Asterion)[4] ซึ่งเป็นนามของปู่มิโนทอร์ (พระบิดาบุญธรรมของพระเจ้าไมนอส) เช่นกัน[5]

ประวัติ

[แก้]

กำเนิด

[แก้]
วิศวกรเดดาลัสถวายโคจำลองให้นางพาซีฟาอีใช้ร่วมประเวณีกับโคเผือก

เมื่อเสวยราชย์ในเกาะครีตแล้ว พระเจ้าไมนอสต้องทรงแย่งชิงอำนาจการปกครองกับพระเชษฐาและพระอนุชาเนือง ๆ จึงทรงวอนขอให้โพไซดอน (Poseidon) ประทานโคเผือกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเทพยดาสนับสนุนพระองค์ แล้วพระเจ้าไมนอสจะได้ทรงสังหารโคนั้นเซ่นสรวงโพไซดอนต่อไป แต่เมื่อได้ทรงรับโคนั้นมาแล้ว ทรงเห็นแก่ความงดงามผ่าเผยของโค จึงหักพระทัยฆ่าโคไม่ลง และเก็บรักษาโคนั้นไว้ แล้วประหารโคเผือกตัวอื่นสังเวยแทน โพไซดอนเมื่อทราบก็โกรธ สั่งแอโฟรไดที (Aphrodite) กามเทวี บันดาลให้พาซีฟาอี (Pasiphaë) ชายาพระเจ้าไมนอส หลงรักโคเผือกดังกล่าวอย่างรุนแรง

นางพาซีฟาอีมีเสาวนีย์ให้เดดาลัสแกะสลักโคไม้ขึ้นตัวหนึ่ง ภายในเป็นช่องโปร่ง ภายนอกเอาหนังโคคลุมไว้ ตกแต่งดังโคจริง แล้วนางไต่เข้าไปในช่องเพื่อสวมโคไม้นั้น แล้วให้โคเผือกมาสมจรด้วยเรื่อยมาจนตั้งครรภ์ และให้กำเนิดอสุรกายมินะทอร์ นางเลี้ยงดูบุตรเป็นอย่างดี แต่ครั้นมินะทอร์เติบใหญ่ ก็เริ่มสำแดงวิสัยเดรัจฉาน จับข้าราชบริพารกินเป็นเครื่องยังชีพ ขณะที่พระเจ้าไมนอสทรงปริวิตกอยู่นั้น ปุโรหิตเมืองเดลไฟ (Delphi) ทูลแนะนำว่า ให้ขังโคมินะทอร์ไว้ในวงกต จึงมีพระบัญชาให้เดดาลัสสร้างขึ้นไว้ริมพระตำหนักในตำบลนอสซอส (Knossos)

งานเขียนทั่วไปในทางวรรณกรรมและกามวิสัยมุ่งพรรณนาการร่วมประเพณีระหว่างนางพาซีฟาอีและโคเผือกโดยอาศัยโคไม้ มีกวีนิพนธ์เรื่อง เอพิสตูลีเฮโรอิดัม (Epistulae Heroidum) ของโอวิด เพียงเรื่องเดียวที่ระบุไว้เป็นอื่น โดยพรรณนาเหตุการณ์นี้ไว้อย่างสั้น ๆ ในตอนที่ธิดาองค์หนึ่งของนางพาซีฟาอีพร่ำบ่นถึงมารดาที่หลงรักโคเผือกอยู่ฝ่ายเดียวว่า "โคนั้นจำแลงเป็นเทวา พาซีฟาอีมารดาข้าตกอยู่ในบ่วงกามแห่งโคนั้น จึงนำมามาซึ่งเสียงก่นด่าและความหนักใจ"[6][7]

รูปลักษณ์

[แก้]
มินะทอร์แบบหัวและกายอย่างคนอยู่บนตัวโค ขณะถูกธีเซียสประหาร

ศิลปะสมัยคลาสสิกมักแสดงรูปมินะทอร์เป็นมนุษย์เพศผู้มีศีรษะเป็นโคและมีหางโค ตามที่ซอฟาคลีส (Sophocles) นักละครชาวกรีก ประพันธ์ไว้ในงานเรื่อง ทราคีนีอี (Trachiniae) ว่า ผีเสื้อน้ำแอคีโลอัส (Achelous) เคยกล่าวไว้ในคราวเกี้ยวนางดีอาไนรา (Deianira) ว่า มินะทอร์หัวเป็นโคกายเป็นคน

ตั้งแต่สมัยคลาสสิกจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา การพรรณนาเกี่ยวกับวงกตมักเอามินะทอร์เป็นที่ตั้ง[8] งานเขียนของโอวิดเกี่ยวกับมินะทอร์ แม้มิได้ให้รายละเอียดมากมายว่า กายมินะทอร์ส่วนใดเป็นคนส่วนใดเป็นโค แต่ก็แพร่หลายที่สุดในช่วงมัชฌิมยุค ส่วนงานเขียนในสมัยถัด ๆ มากลับนิยมกันใหม่ว่า มินะทอร์มีหัวและกายดั่งคนอยู่บนตัวโค ทำนองเดียวกับเซนทอร์ (centaur)[9] ความนิยมอย่างหลังนี้ปรากฏมาจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และปัจจุบันยังพบอยู่บ้าง เช่น ในผลงานที่สตีล แซวิจ (Steele Savage) วาดประกอบหนังสือเรื่อง มิโธโลจี (Mythology) ของอีดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton) เมื่อ ค.ศ. 1942

ตาย

[แก้]
ธีเซียสผู้ล้มมินะทอร์ (Theseus victor of the Minotaur) ภาพสีน้ำมันของชาลส์-เอดูอาร์ เชส (Charles-Édouard Chaise) ราว ค.ศ. 1791

หลังจากมินะทอร์ถูกขังไว้ในวงกตแล้ว พระเจ้าไมนอสทรงเกิดหมางพระทัยกับกรุงเอเธนส์ เนื่องจากแอนโดรเจียส (Androgeus) พระโอรส ถูกชาวเอเธนส์ฆ่าตายกลางงานแข่งขันกีฬาแพแนเธเนีย (Panathenaic Games) เพราะชาวเอเธนส์ไม่ชอบใจที่แอนโดรเจียสชนะ อีกเรื่องว่า พระเจ้าอีเจียส (Aegeus) แห่งกรุงเอเธนส์ทรงบัญชาให้โคเผือกตัวข้างต้นไปสังหารแอนโดรเจียสกลางนครแมราธอน (Marathon) แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใด พระเจ้าไมนอสได้เสด็จยกพยุหโยธาไปเอากรุงเอเธนส์เพื่อทรงแก้แค้นในการสูญเสียพระโอรสเป็นผลสำเร็จ และคาทัลลัส (Catullus) บรรยายไว้ในงานเขียนเรื่องกำเนิดมินะทอร์ ว่า กรุงเอเธนส์ "ถูกพิบัติภัยร้ายแรงบังคับให้ใช้ค่าปฏิกรรมในการคร่าชีวิตแอนโดรเจียส" โดยพระเจ้าอีเจียสต้องทรงชำระค่าปฏิกรรมนั้นด้วยการส่ง "ชายหนุ่มและหญิงโสดพร้อมกันไปเป็นภักษาหาร" ของมินะทอร์[10] ในการนี้ พระเจ้าไมนอสทรงกำหนดให้จับสลากเลือกชายเจ็ดคนหญิงเจ็ดคนส่งมาทุก ๆ เจ็ดปีหรือเก้าปี (บางแห่งว่าทุกปี)[11] เพื่อมาให้มินะทอร์บริโภคถึงในวงกต

ในคราวที่จะต้องส่งคนไปเป็นครั้งที่สามนั้น ธีเซียส พระโอรสพระเจ้าอีเจียส อาสาไปฆ่ามินะทอร์ถวาย โดยให้คำมั่นว่า ถ้ากิจสำเร็จจะล่องเรือกลับมาโดยชักใบสีขาว หาไม่แล้วจะใช้ใบเรือสีดำอย่างเดิม ครั้นไปถึงเกาะครีต แอรีแอดนี (Ariadne) กับฟีดรา (Phaedra) ธิดาพระเจ้าไมนอส เกิดปฏิพัทธ์ธีเซียสด้วยกันทั้งคู่ นางแอรีแอดนีซึ่งเป็นคนพี่จึงเสด็จมาแนะวิธีรอดพ้นจากกลไกลวงกตให้แก่ธีเซียส โดยในบางเรื่องว่า นางมอบด้ายให้เขาผูกบานประตูไว้เมื่อเข้าไปในวงกต แล้วสาวด้ายทิ้งไว้ตามทางที่เดินไป เมื่อประหารมินะทอร์โดยใช้กระบี่ของพระเจ้าอีเจียสตัดศีรษะแล้ว เขาจึงหาทางกลับออกมาได้ โดยนำพาชายหญิงคนอื่น ๆ ที่เข้าไปพร้อมกันในคราวนั้นออกมาด้วย เมื่อกลับกรุงเอเธนส์ ธีเซียสทิ้งนางแอรีแอดนีไว้บนเกาะแน็กซอส (Naxos) แล้วเอานางฟีดราเป็นภริยาเพียงหนึ่งเดียว แต่ลืมเปลี่ยนใบเรือจากสีดำเป็นสีขาว ขณะนั้น พระเจ้าอีเจียสประทับอยู่บนแหลมซูเนียน (Sounion) ทอดพระเนตรเห็นใบเรือดำ เข้าพระทัยว่า พระโอรสถูกฆ่าด้วยเงื้อมมืออสุรกายมินะทอร์เสียแล้ว ก็โทมนัสคร่ำครวญ กระโจนจากแหลมนั้นลงสู่ท้องน้ำเบื้องล่างปลิดพระชนม์พระองค์เอง ทะเลนั้นจึงขนานนามว่า อีเจียน[12] เป็นเหตุให้ธีเซียสได้ราชสมบัติต่อมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Minotaur" at dictionary.reference.com
  2. semibovemque virum semivirumque bovem, according to Ovid, Ars Amatoria 2.24, one of the three lines that his friends would have deleted from his work, and one of the three that he, selecting independently, would preserve at all cost, in the apocryphal anecdote told by Albinovanus Pedo. (noted by J. S. Rusten, "Ovid, Empedocles and the Minotaur" The American Journal of Philology 103.3 (Autumn 1982, pp. 332-333) p. 332.
  3. Labyrinth patterns as painted or inscribed do not have dead ends like a maze; instead, a single path winds to the center, where, with a single turn, the alternate path leads out again. See Kern, Through the Labyrinth, Prestel, 2000, Chapter 1, and Doob, The Idea of the Labyrinth, Cornell University Press, 1990, Chapter 2.
  4. Pausanias, Description of Greece 2. 31. 1
  5. The Hesiodic Catalogue of Women fr. 140, says of Zeus' establishment of Europa in Crete: "...he made her live with Asterion the king of the Cretans. There she conceived and bore three sons, Minos, Sarpedon and Rhadamanthys."
  6. Walter Burkert notes the fragment of Euripides' The Cretans (C. Austin's frs. 78-82) as the "authoritative version" for the Hellenes.
  7. See R.F. Willetts, Cretan Cults and Festivals (London, 1962); Pasiphaë's union with the bull has been recognized as a mystical union for over a century: F. B. Jevons ("Report on Greek Mythology" Folklore 2.2 [June 1891:220-241] p. 226) notes of Europa and Pasiphaë, "The kernel of both myths is the union of the moon-spirit (in human shape) with a bull; both myths, then, have to do with a sacred marriage."
  8. Several examples are shown in Kern, Through the Labyrinth, Prestel, 2000.
  9. Examples include illustrations 204, 237, 238, and 371 in Kern. op. cit.
  10. Carmen 64.
  11. Servius on Aeneid, 6. 14: singulis quibusque annis "every one year". The annual period is given by J. E. Zimmerman, Dictionary of Classical Mythology, Harper & Row, 1964, article "Androgeus"; and H. J. Rose, A Handbook of Greek Mythology, Dutton, 1959, p. 265. Zimmerman cites Virgil, Apollodorus, and Pausanias. The nine-year period appears in Plutarch and Ovid.
  12. Plutarch, Theseus, 15—19; Diodorus Siculus i. I6, iv. 61; Bibliotheke iii. 1,15

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มินะทอร์