มาตรฐานดาว
มาตรฐานดาว (อังกฤษ: essential dignity) หมายถึง ความมีกำลังหรือความอ่อนแอของดาวเคราะห์ในแต่ละราศีซึ่งใช้ในการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ มาตรฐานดาวที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีได้แก่ เกษตร (domicile) ปรเกษตร (detriment) อุจจ์ (exaltation) และ นีจจ์ (fall)[ม 1] นอกจากนี้อาจจะมีอุจจาวิลาส อุจจาภิมุข ราชาโชค เทวีโชค มหาจักร จุลจักร จตุสดัย ฯลฯ ตามแต่จะได้กำหนดไว้ในตำรา
ในวิชาโหราศาสตร์ไทย นอกจากดาวเคราะห์สามารถเสวยราศีได้แล้ว ยังสามารถเสวยนวางค์ ตรียางค์ ได้อีกด้วย
ความรู้เบื้องต้น
[แก้]โหราศาสตร์ไทยนิยมเขียนแผนที่ดาวเป็นรูปดวงราศีจักร มี 12 ช่อง ดังรูปด้านขวา โดยกำหนดให้ช่องบนสุดเป็นราศีเมษ จากนั้นจึงนับเวียนทวนเข็มนาฬิกา แต่ละช่องให้เป็นราศีพฤษภ, เมถุน, กรกฎ,... เรื่อยไปจนถึงราศีมีน ช่องแรกกำหนดให้ใช้สัญลักษณ์คือเลข ๐ (เลขศูนย์ไทย) ช่องถัด ๆ ไปก็ใช้เลข ๑, ๒, ๓,... ไปเรื่อย ๆ จนถึง ๑๑
แต่ละช่องของดวงด้านบนแทนราศีหนึ่งราศี ซึ่งจะมีการเขียนสัญลักษณ์แทนดาวเคราะห์แต่ละดวงเป็นเลขไทยลงไป นอกจากนี้จะมีการคำนวณลัคนา เมื่อลัคนาสถิตราศีใดแล้วก็ให้เขียนสัญลักษณ์ ล, ส หรือ ลั ลงไป สัญลักษณ์ที่ใช้แทนดาวเคราะห์มีดังนี้
สัญลักษณ์ | ดาวเคราะห์ | สัญลักษณ์ | ดาวเคราะห์ |
---|---|---|---|
๑ | ดวงอาทิตย์ | ๖ | ดาวศุกร์ |
๒ | ดวงจันทร์ | ๗ | ดาวเสาร์ |
๓ | ดาวอังคาร | ๘ | จุดราหู |
๔ | ดาวพุธ | ๙ | จุดเกตุ |
๕ | ดาวพฤหัสบดี | ๐ | ดาวมฤตยู (ดาวยูเรนัส) |
มาตรฐานดาวประจำราศี
[แก้]โหราศาสตร์ไทยและโหราศาสตร์สากล มีมาตรฐานดาวร่วมกันอยู่สี่ชนิด ได้แก่ เกษตร ปรเกษตร อุจจ์ และนีจจ์ ส่วนอุจจาวิลาส อุจจาภิมุข ราชาโชค เทวีโชค และมาตรฐานที่เหลือมีใช้เฉพาะในโหราศาสตร์ไทยเท่านั้น
เกษตร
[แก้]เกษตรเป็นมาตรฐานดาวชนิดให้คุณ เกิดจาการจัดดาวเคราะห์เสวยในจักรราศี โดยยึดให้ดวงจันทร์เสวยราศีกรกฎ ในขณะที่ดวงอาทิตย์เสวยราศีสิงห์ จากนั้นจึงจัดดาวพระเคราะห์จากวงในออกไปหาวงนอกเรียงกันตามแต่ละราศีไปทางด้านขวาของวงจักรราศี ได้แก่ พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ราหู เสร็จแล้ว จะได้เป็นดาวเกษตรเจ้าราศี หากดาวใดได้ตำแหน่งเกษตร ก็ชื่อว่ามีความหนักแน่นมั่นคงขึ้นกว่าปกติและสามารถให้คุณได้เต็มกำลัง อนึ่งบางตำราจะเขียนแทนดาวราหูในราศีกุมภ์ด้วยดาวเสาร์
ปรเกษตร
[แก้]ปรเกษตร หรือ ประ เป็นมาตรฐานดาวชนิดให้โทษหรือให้คุณไม่เต็มที่ เกิดจากการสลับตำแหน่งของดาวในดวงเกษตรไปอยู่ฝั่งตรงข้าม
อุจจ์
[แก้]อุจจ์ แปลว่า สูง เป็นมาตรฐานดาวประเภทให้คุณ กำหนดว่า ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ เสวยราศีพฤษภ ราศีเมษ และราศีมีน, ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร เสวยราศีกรกฎและมกร ส่วนดาวพุธ ดาวเสาร์ และดาวราหู เสวยราศีกันย์ ตุล และพิจิกตามลำดับ เมื่อดาวเคราะห์ในดวงชะตาใดได้ตำแหน่งดังกล่าว และผ่านคุณสมบัติที่เหมาะสมก็จะให้คุณแก่เจ้าของดวงชะตา
นีจจ์
[แก้]นีจจ์ หรือ นีจ แปลว่า ต่ำ เป็นมาตรฐานดาวประเภทให้โทษ กำหนดขึ้นจากการสลับตำแหน่งของดาวอุจจ์ไปยังตำแหน่งตรงกันข้ามให้หมด
มาตรฐานดาวทางโหราศาสตร์ตะวันตก
[แก้]มาตรฐานดาวที่มีใช้ในโหราศาสตร์ตะวันตกมีความคล้ายคลึงกับที่มีใช้ในทางโหราศาสตร์ไทย จะผิดกันก็แต่ไม่มีดาวราหูเท่านั้น
ราศี | เกษตร | ปรเกษตร | อุจจ์ | นีจจ์ |
---|---|---|---|---|
ราศีเมษ | ดาวอังคาร | ดาวศุกร์ | ดวงอาทิตย์ | ดาวเสาร์ |
ราศีพฤษภ | ดาวศุกร์ | ดาวอังคาร | ดวงจันทร์ | ไม่มี |
ราศีเมถุน | ดาวพุธ | ดาวพฤหัสบดี | ไม่มี | ไม่มี |
ราศีกรกฎ | ดวงจันทร์ | ดาวเสาร์ | ดาวพฤหัสบดี | ดาวอังคาร |
ราศีสิงห์ | ดวงอาทิตย์ | ดาวเสาร์ | ไม่มี | ไม่มี |
ราศีกันย์ | ดาวพุธ | ดาวพฤหัสบดี | ดาวพุธ | ดาวศุกร์ |
ราศีตุล | ดาวศุกร์ | ดาวอังคาร | ดาวเสาร์ | ดวงอาทิตย์ |
ราศีพิจิก | ดาวอังคาร | ดาวศุกร์ | ไม่มี | ดวงจันทร์ |
ราศีธนู | ดาวพฤหัสบดี | ดาวพุธ | ไม่มี | ไม่มี |
ราศีมกร | ดาวเสาร์ | ดวงจันทร์ | ดาวอังคาร | ดาวพฤหัสบดี |
ราศีกุมภ์ | ดาวเสาร์ | ดวงอาทิตย์ | ไม่มี | ไม่มี |
ราศีมีน | ดาวพฤหัสบดี | ดาวพุธ | ดาวศุกร์ | ดาวพุธ |
นอกจากตำแหน่งตามราศีแล้ว โหราศาสตร์ตะวันตกยังได้กำหนดองศาของดาวเคราะห์ซึ่งจะได้ตำแหน่งเกษตร ดังนี้
- ดวงอาทิตย์: ราศีเมษ องศาที่ 19 (หมายถึง 18 องศา 00 ลิปดา - 18 องศา 59 ลิปดา)
- ดวงจันทร์: ราศีพฤษภ องศาที่ 3
- ดาวพุธ: ราศีกันย์ องศาที่ 15
- ดาวศุกร์: ราศีมีน องศาที่ 27
- ดาวอังคาร: ราศีมกร องศาที่ 28
- ดาวพฤหัสบดี: ราศีกรกฎ องศาที่ 15
- ดาวเสาร์: ราศีตุล องศาที่ 21
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ นิยมเรียกว่า นิจ หรือ นิจจ์
อ้างอิง
[แก้]- สิงห์โต สุริยาอารักษ์. โหราศาสตร์ไทย เรียนรู้ด้วยตนเอง. กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ, ม.ป.ป.
- วิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร), หลวง. คัมภีร์โหราศาสตร์ไทยมาตรฐานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: บริษัท อินเตอร์พริ้นท์ (ประเทศไทย), 2540
- William Lilly, Christian Astrology, Book 1: An Introduction to Astrology; 1647. 2nd ed., 1659. Facsimile of 1647 edition by Ascella Publications, ed. D. Houlding, London, 1999.