ข้ามไปเนื้อหา

มังกรทะเลใบไม้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มังกรทะเลใบไม้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Syngnathiformes
วงศ์: Syngnathidae
วงศ์ย่อย: Syngnathinae
สกุล: Phycodurus
Gill, 1896
สปีชีส์: P.  eques
ชื่อทวินาม
Phycodurus eques
(Günther, 1865)
ชื่อพ้อง
  • Phycodurus glauerti Whitley, 1939

มังกรทะเลใบไม้ (อังกฤษ: Leafy seadragon) เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phycodurus eques อยู่ในวงศ์ Syngnathidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับม้าน้ำ โดยถือเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Phycodurus

พบทางตอนใต้และตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย ถือเป็นปลาเฉพาะถิ่น มักอาศัยอยู่ในกระแสน้ำอุ่นในความลึกตั้งแต่ 3-50 เมตร

มีจุดเด่นตรงที่มีครีบต่าง ๆ ลักษณะคล้ายใบไม้หรือสาหร่ายทะเล ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามที่สุดในโลก[2] ซึ่งครีบเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ว่ายน้ำแต่ใช้สำหรับอำพรางตัวจากศัตรูและยังใช้หาอาหารอีกด้วย มังกรทะเลใบไม้ใช้ครีบอกในการว่ายน้ำ ซึ่งครีบอกนั้นมีลักษณะใสโปร่งแสง และมองเห็นได้ยากมากเมื่อเวลาปลาเคลื่อนไหว ทำให้มังกรทะเลใบไม้ดูแลยากเมื่อแฝงตัวไปในหมู่สาหร่ายทะเล มีปากที่เหมือนท่อยื่นยาวออกมา ตอนปลายมีที่เปิด กินอาหารจำพวกแพลงก์ตอน, กุ้งและครัสเทเชียนขนาดเล็ก ๆ

มีความยาวเต็มที่ได้ประมาณ 35 เซนติเมตร

การผสมพันธุ์และวางไข่ เนื่องจากมังกรทะเลใบไม้ไม่มีถุงหน้าท้องเหมือนม้าน้ำ แต่ตัวเมียมีไข่ติดอยู่กับใกล้ส่วนหางซึ่งเต็มไปด้วยเส้นเลือดที่มีอยู่มากมายซึ่งพัฒนาขึ้นมาเฉพาะตัวผู้ในช่วงผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อผสมพันธุ์กันตัวเมียจะวางไข่บริเวณหางของตัวผู้ซึ่งจะม้วนงอเข้า ปริมาณไข่ราว 100-200 ฟอง หรือเต็มที่ 250 ฟอง[3] ซึ่งช่วงการผสมพันธุ์วางไข่นั้นจะอยู่ระหว่างเดือนสิงหาคม-มีนาคม ของปีถัดไป ไข่ที่ยึดติดกับส่วนหางของตัวผู้จะได้รับออกซิเจนจากเส้นเลือดของหาง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวราว 4-6 สัปดาห์ เมื่อฟักออกเป็นตัวแล้วปลาตัวผู้จะไม่ดูแลไข่ โดยตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีที่จะโตเต็มจนถึงขนาด 20 เซนติเมตร และใช้เวลา 2 ปี ที่จะโตเต็มที่[4] เมื่อยังเป็นวัยอ่อนลำตัวจะใส ไม่มีสี มีอายุขัยประมาณ 6 ปี แต่ก็มีบางตัวที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่ามีอายุมากถึง 9 ปี นอกจากนี้แล้วผู้ที่ศึกษามังกรทะเลใบไม้พบว่าตำหนิหรือสีแต้มต่าง ๆ ของแต่ละตัวจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสิ่งเหล่านี้ส่งผ่านกันได้ตามพันธุกรรม[3]

มังกรทะเลใบไม้ จัดเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวมาก จึงยากมากที่จะทำการเลี้ยง แม้ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็ตาม มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในโลกที่มีปลาชนิดนี้ไว้เลี้ยง และทางการออสเตรเลียก็ได้ออกกฎหมายปลาชนิดนี้ไว้เป็นสัตว์คุ้มครอง โดยห้ามจับหรือมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด[5] แต่ได้อนุญาตเป็นการพิเศษให้แก่นายแปง กวอง ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทะเลชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย จับและครอบครองได้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยอยุญาตให้จับได้เพียงปีละตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งมังกรทะเลใบไม้ตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นก็มาจากการจับของคนผู้นี้เอง[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Connolly (2006). Phycodurus eques. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006. Database entry includes a range map and a lengthy justification of why this species is near threatened.
  2. "มังกรทะเลใบไม้ : ยอดนักพรางตัวที่สวยที่สุดในท้องทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-13. สืบค้นเมื่อ 2010-11-08.
  3. 3.0 3.1 Weird Creatures with Nick Baker: Leafy Seadragon, สารคดีทางแอนนิมอลแพลนเนต ทางทรูวิชันส์: วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
  4. มังกรทะเลใบไม้-สำรวจโลก
  5. ""ม้าน้ำ" ปลาประดับมีชีวิต โดยอุราณี ทับทอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-13. สืบค้นเมื่อ 2010-11-08.
  6. ปลาทะเลตอนที่ 2, แฟนพันธุ์แท้ รายการ: ศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2549 ทางช่อง 5
  • รายการสารคดีชุดเนชั่นแนลจีโอกราฟิก
  • หนังสือ Wild Life (สำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]