ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพของสิบมหาวิทยา ได้แก่ แถวบน: พระกาลี, พระตารา, พระตรีปุราสุนทรี, พระภุวเนศวรี, พระไภรวี และ แถวล่าง: พระฉินนมัสตา, พระธูมาวตี, พระพคลามุขี, พระมาตังคี, พระกมลา

มหาวิทยา (สันสกฤต: महाविद्या, Mahāvidyā, แปลว่า: ปัญญาอันยิ่งใหญ่) เป็นกลุ่มเทวีในศาสนาฮินดูแบบตันตระสิบองค์[1][2] มักปรากฏรายชื่อตามลำดับดังนี้: พระกาลี, พระตารา, พระตรีปุราสุนทรี, พระภุวเนศวรี, พระไภรวี, พระฉินนมัสตา, พระธูมาวตี, พระพคลามุขี, พระมาตังคี และ พระกมลา[3] การรวมกันของเทวีทั้งสิบองค์มีที่มาจากธรรมเนียมทางศาสนาต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึง ธรรมเนียมบูชา โยคินี, ลัทธิไศวะ, ลัทธิไวษณวะ และ ศาสนาพุทธแบบวัชรยาน[4]

การเกิดขึ้นของมหาวิทยาสื่อถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ลัทธิศักติ เนื่องจากเป็นจุดแทนการเฟื่องฟูของกลุ่มภักติในนิกายศักติ ซึ่งเฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปี 1700 กลุ่มภักติเริ่มปรากฏตัวครั้งแรกในสมัยหลังปุราณะ ราวศตวรรษที่ 6 ในเวลานั้น เป็นขบวนการเชิงทฤษฎีใหม่ที่ถือว่าพระเป็นเจ้าเป็นสตรี ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏชัดในเอกสาร เช่น เทวีภาควตปุราณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เก้าบทสุดท้าย (31-40) ของสกันธะที่เจ็ด ซึ่งเรียกว่า เทวีคีตา ปุราณะนี้ต่อมาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของคติแบบศักติ[5]

รายชื่อ

[แก้]

โดยธรรมชาติแล้ว มหาวิทยาถือเป็นตันตระ และโดยทั่วไปมักปรากฏรายชื่อดังนี้:[6]

  1. พระกาลี เทวีผู้เป็นรูปปางสูงสุดของพรหมัน และเป็นผู้กลืนกินเวลา ถือเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดในระบบของ กาลีกุล มหากาลีมีสีวรกายดำทะมึน ดำกว่าสีดำของเวลาค่ำคืน พระนางมีสามเนตร อันแทนอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทนต์ของพระนางมีสีขาวกระจ่าง และลักษณะเป็นเขี้ยว อ้าโอษฐ์กว้าง เลือดสีแดงเปื้อนเลือดสดห้อยออกมาจากโอษฐ์ ทรงผมยุ่งเหยิง สวมใส่หนังเสือเป็นเครื่องห่มกาย สวมพวงมาลัยดอกไม้สีแดง และพวงมาลัยที่ทำมาจากกะโหลกศีรษะรอบคอ
  2. พระตารา เทวีผู้เป็นผู้นำทางและผู้ปกปักรักษา ผู้ประทานความรู้สูงสุดอันนำไปสู่การหลุดพ้น พระนางเป็นเทวีแห่งแหล่งพลังงานทั้งปวง พลังงานของดวงอาทิตย์เชื่อว่ามีที่มาจากพระนาง พระนางอวตารเป็นพระมารดาของพระศิวะภายหลังเหตุกวนเกษียรสมุทรเพื่อรักษาพระศิวะในฐานะบุตรของพระนาง พระตารามีวรกายสีน้ำเงินอ่อน ผมยุ่งเหยิง สวมด้วยมงกุฏที่ประดับด้วยจันทร์เสี้ยว มีสามเนตร และมีงูพันคล้องอยู่ที่คอ สวมหนังเสือและพวงมาลัยที่ทำมาจากกะโหลกศีรษะ
  3. พระตริปุราสุนทรี (พระโษฑศี, พระลลิตา) เทวีผู้เป็นความงามในสามโลก พระเป็นเจ้าสูงสุดในระบบ ศรีกุล ผู้ปกครองแห่งมณีทวีป สีวรกายทองอร่าม สามเนตร ท่าทางสงบ สวมผ้าคลุมสีแดงและชมพู ประดับเครื่องประดับมากมาย
  4. พระภุวเนศวรี เทวีผู้เป็นมารดาแห่งโลก ร่างกายประกอบไปด้วยโลกทั้งสิบสี่ สีวรกายสีอ่อนหรือทอง สามเนตร ท่าทางสงบ สวมผ้าสีแดงและเหลือง ประกอบด้วยเครื่องประดับมากมาย
  5. พระไภรวี เทวีผู้เกรี้ยวกราด ถือเป็นปางสตรีของพระไภรวะ สีวรกายแดงประดุจไฟและภูเขาไฟ สามเนตรซึ่งดุร้าย ผมยุ่งเหยิง มีเขี้ยวงอกที่ปาก สวมผ้าสีแดงและน้ำเงิน และพวงมาลัยทำมาจากกะโหลกศีรษะ
  6. พระฉินนมัสตา เทวีผู้ตัดเศียรตนเอง[7] สีวรกายสีแดง ผมยุ่งเหยิง
  7. ธูมาวตี เทวีผู้เป็นหม้าย สีวรกายน้ำตาลหม่นเข้ม วรกายเหี่ยวย่น ปากแห้ง ฟันหลุดร่วงบางซี่ ผมยุ่งเหยิงสีเทา เนตรสีแดง สวมเสื้อผ้าสีขาวประดุจสตรีหม้าย ประทับนั่งในราชรถไร้ม้า
  8. พระพคลามุขี เทวีผู้ทำให้ศัตรูเป็นอัมพาต สีวรกายเหลืองอร่าม สามเนตร ผมสีดำเข้ม สวมผ้าสีเหลือง
  9. พระมาตังคี บ้างเรียกว่าเป็น "พระสรัสวตีภาคตันตระ" พระวรกายสีเขียวมรกต ผมสีดำยุ่งเหยิง สวมผ้าสีแดง และเครื่องประดับ
  10. พระกมลาตมิกา (พระกมลา) เทวีแห่งดอกบัว บ้างเรียกว่าเป็น "พระลักษมีภาคตันตระ" สีวรกายสีเหลืองอร่าม สามเนตร สวมผ้าสีแดงและชมพู

มหาวิทยาทั้งสิบองค์ประทับอยู่ที่มณีทวีป

ใน มหาภาควตปุราณะ และ พฤหัทธรรมปุราณะ (Brihaddharma Purana) ระบุรายชื่อพระโษฑศีเป็นพระตรีปุราสุนทรี ถือเป็นอีกพระนามของเทวีองค์เดียวกัน[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kinsley (1997) pp. ix, 1
  2. (Shin 2018:316)
  3. Shin (2018, p. 17)
  4. (Shin 2018:316)
  5. Brown, Charles Mackenzie (1998). The Devī Gītā: The Song of the Goddess. SUNY Press. p. 23. ISBN 9780791439401.
  6. Kinsley (1997) p. 302
  7. Daniélou, Alain (1991). The Myths and Gods of India: The Classic Work on Hindu Polytheism from the Princeton Bollingen Series. Inner Traditions / Bear & Co. pp. 284–290. ISBN 978-0-89281-354-4.
  8. Kinsley, David R (1987). Hindu Goddesses: Vision of the Divine Feminine in the Hindu Religious Tradition. Motilal Banarsidass Publication. pp. 161–165. ISBN 9788120803947.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Shin, Jae-Eun (2010). "Yoni, Yoginis and Mahavidyas : Feminine Divinities from Early Medieval Kamarupa to Medieval Koch Behar". Studies in History. 26 (1): 1–29. doi:10.1177/025764301002600101. S2CID 155252564.
  • Shin, Jae-Eun (2018). Change, Continuity and Complexity: The Mahavidyas in East Indian Sakta Traditions. London: Routledge. ISBN 978-1-138-32690-3.