ภาษาโรเฮียร์ริค
ภาษาโรเฮียร์ริค | |
---|---|
Rohan, Rohirian, Rohanese | |
สร้างโดย | เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน |
การจัดตั้งและการใช้ | โรฮันในโลกของมิดเดิลเอิร์ธ |
จุดประสงค์ | |
ที่มา | ภาษาอังกฤษเก่า. อาจจะสัมพันธ์กับElvish และ Mannish languages. |
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | ไม่มี (mis ) |
ภาษาโรเฮียร์ริค (อังกฤษ: Rohirric) เป็นภาษาประดิษฐ์ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่ปรากฏในนิยายชุด เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในฐานะที่เป็นภาษาของชาวโรฮัน ภาษาโรฮันนิส (Rohanese) ก็เรียก
ในฉบับนิยาย โทลคีนเลือกใช้ภาษาแองโกล-แซกซอน มาแทนที่ภาษาของชาวโรฮัน เนื่องจากมีรากภาษาใกล้เคียงกันกับภาษาเวสทรอน ซึ่งโทลคีนเลือกใช้ภาษาอังกฤษไปแล้ว มีเพียงคำศัพท์โบราณไม่กี่คำที่โทลคีนตั้งไว้โดยไม่แปลงคำแทนที่ด้วยภาษาแองโกล-แซกซอน เช่นคำว่า 'คูดดูคัน (kûd-dûkan)' ซึ่งเป็นคำเก่าแก่หมายถึง "ผู้อยู่ในโพรง" เป็นที่มาของคำว่า 'คูดุค' ชื่อที่ชาวฮอบบิทเรียกตัวเองในภาษาของพวกเขา แม้แต่คำว่า "ฮอบบิท" เอง ก็มีที่มาจากภาษาแองโกล-แซกซอนว่า 'โฮลบีตลา' หมายถึง "ผู้ขุดโพรง"
คำโรเฮียร์ริคแท้ๆ อีกคำหนึ่งที่โทลคีนตั้งไว้ คือคำว่า "โล-" (lô–/loh–) ซึ่งพ้องกับคำในภาษาแองโกล-แซกซอนว่า "เอโอ" (éo) ใช้ในความหมายเกี่ยวกับม้า คำที่เกี่ยวข้องได้แก่ "โลกรัด" หมายถึง ดินแดนแห่งม้า/ผู้ขี่ม้า และคำว่า "โลทูร์" หมายถึงผองชนชาวอาชา ดังนั้นชื่อต่างๆ ที่ขึ้นด้วยคำว่า "เอโอ-" จึงเป็นชื่อที่ขึ้นด้วยคำว่า "โล-" ในภาษาโรเฮียร์ริคนั่นเอง ดังเช่น เอโอแมร์ เอโอวีน หรือชื่ออื่นๆ ของชาวโรฮัน (ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ คำในภาษาโรเฮียร์ริคที่หมายถึง ม้า คำนี้ ก็พ้องกับคำในภาษาฮังกาเรียนที่หมายถึง ม้า ด้วย คือคำว่า "โล" (ló))
นอกจากนี้ยังมีคำที่น่าสนใจอีกคำ คือคำว่า 'ทูรัค/ทูร์' (Tûrac/Tûr) ซึ่งถูกถอดภาษาเป็น "เธอ์ด" (théod) มีความหมายถึง ผองชน,ดินแดน หรือราชันแห่งดินแดนและปวงชนก็ได้ ดังในคำว่า "โลทูร์" ที่ถอดภาษาไว้เป็น เอโอเธอ์ด (Éothéod) หมายถึงชนชาวอาชา และในพระนามของกษัตริย์เธโอเดน (Théoden) ด้วยเช่นกัน
อนึ่ง ภาษาของชาวโรห์วาเนียน ชาวเอสการ็อธ และชาวเดล (คือพลเมืองแดนเหนือในแผ่นดินโรห์วาเนียนทั้งหมด) ล้วนมีรากภาษาใกล้เคียงกับภาษาโรเฮียร์ริคทั้งสิ้น
โรเฮียร์ริค หรือ โรฮันนิส?
[แก้]คำว่า "โรเฮียร์ริค" ปรากฎในฐานะชื่อเรียกภาษาของชาวโรฮันครั้งแรกโดย โรเบิร์ต ฟอสเตอร์ ผู้เรียบเรียงหนังสือ The Complete Guide to Middle-earth (1971) โดยประดิษฐ์ขึ้นเลียนรูปคำว่า โรเฮียร์ริม ที่หมายถึงชาวโรฮัน และคำนี้ก็ได้รับความนิยมใช้มาโดยตลอดแม้แต่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาประดิษฐ์ของโทลคีน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการค้นพบและศึกษาเอกสารมากมายอันเกี่ยวเนื่องกับปกรณัมของโทลคีน จึงได้พบว่า แต่เดิมท่านเคยใช้คำว่า “โรฮัน” เพื่อหมายถึงภาษาของชาวโรฮันเช่นกัน กระทั่งระหว่างปีค.ศ.1967-1969 จึงมีคำว่า “โรฮันนิส Rohanese” ปรากฎขึ้น โดยมีปรากฏใช้เพียงสองครั้งเท่านั้น-ในเอกสารสองชิ้น เนื้อความเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเฉพาะกลุ่มราวปีค.ศ.2001 และต่อมาตีพิมพ์ในหนังสือ The Nature of Middle-earth (2021: Carl F. Hostetter)
ภายหลัง กลุ่มผู้ศึกษาภาษาประดิษฐ์ของโทลคีนจึงเห็นว่า เป็นการควรกว่าที่จะใช้คำว่า “โรฮันนิส” เรียกชื่อภาษาของชาวโรฮัน ทว่าคำว่าโรเฮียร์ริคก็ยังสามารถใช้ได้โดยมีความหมายเดียวกัน
อ้างอิง
[แก้]- เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน, ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ เล่ม 5 และ 12, ว่าด้วย Etymology of Middle-earth Languages