กลุ่มภาษาคอเคเซียน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
กลุ่มภาษาคอเคเซียน (อังกฤษ: Caucasian languages)เป็นกลุ่มภาษาใหญ่ที่มีผู้พูดมากกว่า 10 ล้านคนในบริเวณเทือกเขาคอเคซัสของยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันตกซึ่งอยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลสาบแคสเปียน นักภาษาศาสตร์จัดแบ่งภาษาในบริเวณนี้ออกเป็นหลายตระกูล ภาษาบางกลุ่มไม่พบผู้พูดนอกบริเวณเทือกเขาคอเคซัสจึงเรียกว่ากลุ่มภาษาคอเคซัส
ตระกูลภาษาที่พบในเทือกเขาคอเคซัส
[แก้]ภาษาส่วนใหญ่ที่ใช้พูดในเทือกเขาคอเคซัสจัดแบ่งลงในตระกูลภาษาต่างๆได้หลายตระกูล ส่วนภาษาที่จัดเป็นกลุ่มภาษาคอเคซัส ได้แก่
- กลุ่มภาษาคอเคเซียนใต้ บางครั้งเรียกกลุ่มภาษาจอร์เจียหรือคาร์ทเวเลีย ได้แก่ภาษาจอร์เจียที่เป็นภาษาราชการของประเทศจอร์เจีย มีผู้พูดราว 4 ล้านคน
- กลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันตกเฉียงเหนือ บางครั้งเรียกกลุ่มภาษาอับซัช-อดืก เซอร์คัสเซียนหรือโปนติก ได้แก่ภาษาการ์บาเดีย มีผู้พูดราว 1 ล้านคน ภาษาอับคาซ มีผู้พูดราว 1 แสน คน ฯลฯ
- กลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันออกเฉียงเหนือ บางครั้งเรียกกลุ่มภาษาดาเกสถาน นาโค-ดาเกสถาน หรือกลุ่มคัสเปียน ได้แก่ ภาษาเชเชน มีผู้พูดราว 1 ล้านคน ภาษาอาวาร์ มีผู้พูดราว 760000 คน ฯลฯ
ลักษณะร่วมกันของกลุ่มภาษาคอเคซัส ได้แก่ การมีพยัญชนะเสียงเป่าลม และโครงสร้างแบบรูปคำติดต่อชัดเจนมาก นอกจากภาษาเมเกรเลียแล้ว ภาษาในกลุ่มนี้มีลักษณะของการกเกี่ยวพันสูง
โดยทั่วไปเชื่อว่าภาษาในกลุ่มนี้มีเสียงพยัญชนะมาก แต่ความเป็นจริงจะถูกต้องเฉพาะกับกลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันตกเฉียงเหนือและกลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น (มีถึง 80 - 84 เสียงในภาษาอูบึก) พยัญชนะของกลุ่มภาษาคอเคเซียนใต้ไม่ต่างไปจากภาษาตระกูลอื่นมากนัก เช่นภาษาจอร์เจียมี 28 เสียง ภาษาลาซ 30 เสียง เมื่อเทียบกับภาษาอาหรับ 28 เสียง และภาษารัสเซีย 35-37 เสียง
ภาษาอื่นๆที่ใช้พูดในบริเวณเทือกเขาคอเคซัสได้แก่ตระกูลภาษาอินโด-ยุโรเปียน เช่น ภาษาอาร์มีเนีย ภาษากรีก กลุ่มภาษาอิหร่าน (ภาษาออสเซติก ภาษาตาลิซ) กลุ่มภาษาสลาวิก (ภาษารัสเซีย) และตระกูลภาษาอัลไตอิก เช่น กลุ่มภาษาเตอร์กิก (ภาษาอาเซอรี ภาษาการาเชย์-บัลการ์)และกลุ่มภาษามองโกล เช่น ภาษาคัลมึก
ความเกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้น
[แก้]หัวข้อที่เป็นที่สนใจในการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มภาษานี้คือจะจัดจำแนกกลุ่มภาษาคอเคเซียนทั้งสามกลุ่มเข้าในหมวดหมู่ที่สูงกว่านี้ได้อย่างไร แต่การศึกษาก็มีความซับซ้อน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและการเมือง ทำให้มีข้อโต้แย้งในการศึกษาและยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้
กลุ่มภาษาคอเคเซียนเหนือ
[แก้]นักภาษาศาสตร์บางส่วนเห็นว่าควรรวมกลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันตกเฉียงเหนือและกลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มภาษาคอเคเซียนเหนือ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
กลุ่มภาษาไอเบอโร-คอเคเซียน
[แก้]ไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มภาษาคอเคซัสใต้และกลุ่มภาษาคอเคซัสเหนือ แต่มีนักภาษาศาสตร์บางคนรวมภาษาสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่ากลุ่มภาษาไอเบอโร-คอเคเซียน คำว่าไอเบอโรนั้น อ้างถึงราชอาณาจักรไอบีเรียคอเคซัสในจอร์เจียตะวันออกและไม่ได้เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรไอบีเรีย
ความเกี่ยวข้องที่เป็นไปได้กับกลุ่มภาษาอื่นๆ
[แก้]หลังจากที่เริ่มมีการศึกษาภาษาศาสตร์เปรียบเทียบในพุทธศตวรรษที่ 24 ได้มีความพยายามในการหาความเกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มภาษาคอเคเซียนกับภาษาอื่นๆในบริเวณเดียวกัน ซึ่งพบความเกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มภาษาคอเคซัสตะวันออกเฉียงเหนือกับกลุ่มภาษาคอเคซัสตะวันตกเฉียงเหนือ และภาษาตายที่เคยใช้พูดในอนาโตเลียและเมโสโปเตเมียเหนือบางภาษา
- ภาษาฮัตติก นักภาษาศาสตร์บางคนพบความเกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มภาษาคอเคเซียนตะวันตกเฉียงเหนือกับภาษาฮัตติกที่เป็นภาษาที่ตายแล้ว
- ภาษาบาสก์ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าไม่สามารถเชื่อมโยงภาษาบาสก์ซึ่งเป็นภาษาโดดเดี่ยวที่ใช้พูดในเทือกเขาไพเรนีสเข้ากับตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ที่อยู่ใกล้เคียงได้ จึงมีนักภาษาศาสตร์พยายามหาภาษาที่มีความเกี่ยวพันกับภาษาบาสก์ในที่อื่นๆ กลุ่มภาษาคอเคซัสส่วนใหญ่ (ยกเว้นภาษาเมเกรเลีย)มีระบบการกของคำนามใกล้เคียงกับภาษาบาสก์ในระบบที่เป็นการกเกี่ยวพันสมบูรณ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบในภาษาส่วนใหญ่ในยุโรป ทำให้มีนักภาษาศาสตร์บางกลุ่มเสนอความเกี่ยวข้องระหว่างภาษาบาสก์กับกลุ่มภาษาคอเคซัส
- ภาษาไอบีเรียตะวันตก กลุ่มภาษาคอเคซัสใต้มีความใกล้เคยงกับภาษาไอบีเรียที่ตายไปแล้ว เคยใช้พูดในคาบสมุทรไอบีเรียจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 6 แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่จารึกภาษาไอบีเรียที่เหลือรอดอยู่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาบาสก์ จึงอาจจะเชื่อมโยงภาษาเหล่านี้เข้าด้วยกันได้
- ตระกูลใหญ่เคเน-คอเคเซียน เป็นสมมติฐานที่เสนอโดย Sergei Starostin ซึ่งมีเขตทางภูมิศาสตร์กว้างขวางตั้งแต่ภาษาบาสก์ในยุโรปตะวันตกไปจนถึงภาษานา-เคเนในอเมริกาเหนือ Starostin เสนอว่ากลุ่มภาษาฮูร์โร-ยูร์ราเทียและกลุ่มภาษาคอเคซัสตะวันออกเฉียงเหนือมีความเกี่ยวข้องกับภาษาตระกูลนี้ในระดับสูง