ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?)
ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?)[1] | |
---|---|
ศิลปิน | ยัน ฟัน ไอก์ |
ปี | ค.ศ. 1433 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนแผง |
สถานที่ | หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน, สหราชอาณาจักร |
ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?) (อังกฤษ: Portrait of a Man (Self Portrait?))[2] หรือ ภาพเหมือนของชายโพกหัวแดง (ดัตช์: Man met de rode tulband; อังกฤษ: Portrait of a Man in Red Turban) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยยัน ฟัน ไอก์ จิตรกรชาวดัตช์คนสำคัญของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ ค.ศ. 1851 ก่อนหน้านั้นภาพนี้เป็นของทอมัส ฮาวเวิร์ด เอิร์ลที่ 21 แห่งอารันเดล ที่อาจจะได้มาระหว่างที่ไปลี้ภัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ. 1642 ถึง ค.ศ. 1644[3]
กรอบดั้งเดิมของภาพก็ยังคงอยู่ (กรอบด้านตั้งอันที่จริงแล้วเป็นไม้ชิ้นเดียวกับภาพ) และมีคำจารึกว่า "JOHES DE EYCK ME FECIT ANO MCCCC.33. 21. OCTOBRIS" (ยัน ฟัน ไอก์สร้างฉันเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1433) ด้านล่างและด้านบนมีคำขวัญ "AlC IXH XAN" (ฉันทำเท่าที่จะทำได้) ที่ปรากฏบนภาพเขียนอื่น ๆ ของฟัน ไอก์ ที่จะเขียนเป็นภาษากรีกทุกครั้งและเป็นคำพ้องกับชื่อ ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพอื่นที่ตัวอักษรเขียนให้ดูโค้ง[1]
ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพเหมือนอื่น ๆ ที่ฟัน ไอก์เขียนเป็นการเขียนที่แสดงความคมและรายละเอียดของการศึกษาเส้น แต่มิได้คำนึงถึงความคิดหรืออารมณ์ของผู้เป็นแบบ โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าภาพเขียนภาพนี้เป็นภาพเหมือนตนเองของฟัน ไอก์เองแต่ก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ เครื่องแต่งกายของผู้เป็นแบบก็ดูจะเหมาะสมกับฐานะทางสังคมของชนชั้นฟัน ไอก์ และคำขวัญที่ปรากฏก็เป็นคำขวัญส่วนตัว ซึ่งนอกจากที่ปรากฏบนภาพนี้แล้วก็ปรากฏบนภาพเขียนทางศาสนาอีกสองภาพ, อีกสองภาพที่ทราบว่าเป็นงานก็อปปี และภาพเหมือนของภรรยาเท่านั้น แต่ก็ไม่มีภาพใดที่มีคำขวัญที่เด่นชัดเท่าภาพนี้
ฟัน ไอก์มิได้สวมผ้าโพกหัวแต่เป็นหมวกชาเปอรง (chaperon) ซึ่งเป็นหมวกที่ใช้กันในยุคกลางที่มีชายยาวที่สามารถตลบกลับขึ้นไปผูกบนศีรษะได้ ซึ่งทำให้ไม่เกะกะเมื่อทำงานเขียนภาพ หมวกชาเปอรงแบบเดียวกันนี้ปรากฏในตัวแบบในฉากหลังของภาพเขียน "พระแม่มารีรอแล็ง" (Madonna of Chancellor Rolin) ซึ่งกล่าวกันว่าอาจจะเป็นภาพเหมือนตนเองของฟัน ไอก์เช่นกัน
ลักษณะการเขียนก็เช่นเดียวกับงานเขียนอื่น ๆ ของฟัน ไอก์ที่ศีรษะจะใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของร่าง ลักษณะการเขียนแสดงให้เห็นถึง "ความชำนาญ ความประหยัด (economy) และความรวดเร็ว" ในการเขียนงานชิ้นเอกของฟัน ไอก์[4] ลอร์น แคมป์เบลล์บรรยายการเขียนตาซ้ายว่า "ส่วนขาวของตาเป็นสีขาวที่ผสมด้วยสีแดงและน้ำเงินเพียงแทบจะไม่เห็น ที่ก่อให้เกิดการแสงสะท้อนรอง เส้นเลือดภายในตาเขียนด้วยสีแดง (vermilion) บนสีเคลือบ (scumble) ที่ยังชื้น ตาดำเป็นสีน้ำเงินเข้มที่เกือบจะบริสุทธิ์ที่ขอบนอก แต่ผสมกับสีขาวและดำเมื่อลึกเข้าไปยังลูกตาดำ แสงหลักที่จับตามีสี่จุดเป็นสีขาวตะกั่วที่มาแต้มเอาตอนเสร็จ จุดแรกบนตาดำ และอีกสามจุดบนตาขาว ที่รับกับแสงรองอีกสี่จุดที่ทำให้ตาดูเหมือนมีประกาย"[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Web Gallery of Art: Portrait of a Man (Self Portrait?)
- ↑ The title now used by the National Gallery. Campbell, Lorne; National Gallery Catalogues (new series): The Fifteenth Century Netherlandish Paintings, pp 212-17, 1998, ISBN 185709171
- ↑ It was noted in Arundel's collection in Antwerp by a Flemish visitor, as a portrait of the "Duke of Barlaumont". Campbell op cit. p 212.
- ↑ Campbell op cit p. 216
- ↑ Campbell op cit p. 216
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- National Gallery
- Page at artonline.it เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อิตาลี)