ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟีออเรนตีนา)
ฟีออเรนตีนา
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา
ฉายาViola (สีม่วง)
Gigliati (ดอกลิลลี่)
ม่วงมหากาฬ (ในภาษาไทย)
ก่อตั้ง1926 (AC Fiorentina)
2002 (ACF Fiorentina)
สนามอาร์เตมีโอ ฟรังกี
ฟลอเรนซ์
ความจุ43,147[1]
เจ้าของสโมสรร็อคโค บี. คอมมิสโซ (98%)
ฟิเรนเซ วิออล่า (2%)
ประธานสโมสรร็อคโค บี. คอมมิสโซ
ผู้จัดการทีมราฟฟาเอล ปาลลาดิโน
ลีกเซเรียอา
2023–24อันดับที่ 8
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม

สโมสรฟุตบอลฟีออเรนตีนา (อิตาลี: ACF Fiorentina) เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศอิตาลี ปัจจุบันเล่นอยู่ในเซเรียอา ลีกสูงสุดของฟุตบอลอิตาลี ตั้งอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ แคว้นทัสคานี สโมสรก่อตั้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1926 ซึ่งเกิดจากควบรวมระหว่างสองสโมสรในเมืองฟลอเรนซ์ ได้แก่ สโมสรฟีเรนเซ และสโมสรเวโลโดรโม ลิเบอร์ตัส สโมสรเคยประสบภาวะล้มละลายเป็นเหตุให้ต้องสร้างทีมขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 2002 ฟีออเรนตีนาลงเล่นในลีกสูงสุดอย่างเซเรียอาเป็นส่วนใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์สโมสร โดยมีเพียง 4 สโมสรที่ลงเล่นในลีกสูงสุดมากกว่า

สโมสรชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดสองสมัยในฤดูกาล 1955–56 และ 1968–69, โกปปาอีตาเลีย 6 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 1 สมัย ในการแข่งขันระดับทวีปยุโรป สโมสรชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1960–61 และเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยุโรปอีก 5 ครั้ง ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1956–57 (เป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดของทวีป), ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1961–62, ยูฟ่าคัพ ฤดูกาล 1989–90 และ ยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ฤดูกาล 2022–23 และ 2023–24 และเนื่องจากรายการดังกล่าวเพิ่งจัดแข่งขันเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2022 ส่งผลให้ฟีออเรนตีนาเป็นสโมสรแรกที่เข้าชิงชนะเลิศรายการนี้สองปีติดต่อกัน และแพ้ในรอบชิงชนะเลิศสองครั้งติดต่อกัน

ฟีออเรนตีนาเป็น 1 ใน 15 สโมสรที่เคยเข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันสามรายการหลักของสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก/ยูโรเปียนคัพ, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ และยูฟ่ายูโรปาลีก/ยูฟ่าคัพ จากการเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีกใน ค.ศ. 2023 พวกเขากลายเป็นสโมสรแรกที่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของทวีปยุโรปครบทั้ง 4 รายการ (ไม่นับรายการยูฟ่าซูเปอร์คัพ)

สโมสรใช้สนามกีฬาอาร์เตมีโอ ฟรังกี เป็นสนามเหย้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1931 ความจุ 43,147 ที่นั่ง สนามแห่งนี้เคยถูกเปลี่ยนชื่อและได้รับการบูรณะหลายครั้ง ฟีออเรนตีนามีสีประจำสโมสรและชุดแข่งขันเป็นสีม่วง จึงเป็นที่มาของฉายา วีโอลา (Viola) อันเป็นสีประจำเมืองฟลอเรนซ์[2] มีฉายาในภาษาไทยว่า "ม่วงมหากาฬ" สโมสรมีคู่ปรับคือยูเวนตุส

ประวัติ

[แก้]

ก่อตั้งทีมจนถึงยุคสงครามโลก

[แก้]
ผู้เล่นฟีออเรนตีนาฤดูกาล 1940–41

ฟิออเรนตีนา ก่อตั้งสโมสรขึ้นใน ค.ศ. 1926 ผู้ก่อตั้งและประธานสโมสรคือ Luigi Ridolfi Vay da Verrazzano นักการเมือง นักธุรกิจ ซึ่งเป็นขุนนางชั้นสูงและเป็นสมาชิกของพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ โดยเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างสโมสรฟีเรนเซ และสโมสรเวโลโดรโม ลิเบอร์ตัส ด้วยจุดประสงค์ต้องการสร้างทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งซึ่งทำหน้าที่ตัวแทนของเมืองฟลอเรนซ์ และสโมสรในภูมิภาคทางเหนือในการแข่งขันระดับชาติ การก่อตั้งสโมสรยังได้รับอิทธิพลจากการฟื้นฟูวัฒนธรรมและการค้นพบใหม่ของ กัลโช สตอรีโก ฟีออเรนตีโน ซึ่งเป็นฟุตบอลยุคต้นแบบที่มีกำเนิดในยุคกลางของอิตาลี ซึ่งถูกเล่นโดยตระกูลเมดีชี[3]

หลังจากระยะเวลาสามฤดูกาลอันยากลำบากในลีกระดับล่าง ในที่สุดสโมสรก็ไต่เต้าขึ้นสู่ลีกสูงสุดใน ค.ศ. 1931 ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการเปิดตัวสนามกีฬาแห่งใหม่ ซึ่งแต่เดิมตั้งชื่อตามจีโอวานนี แบร์ตา ซึ่งเป็นฟาสซิสต์ผู้มีชื่อเสียง แต่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อสตาดิโอ อาร์เตมิโอ ฟรังกี ในเวลานั้น สนามกีฬาแห่งนี้ถือเป็นผลงานชิ้นเอกทางวิศวกรรมของประเทศ และพิธีเปิดสนามกีฬาแห่งนี้นับว่ายิ่งใหญ่มาก เพื่อให้สามารถต่อกรกับทีมอื่น ๆ ที่มีผลงานดีในอิตาลีได้ ฟีออเรนตีนาเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมด้วยผู้เล่นใหม่บางคน โดยเฉพาะ เปโดร เปโตรเน ชาวอุรุกวัย รู้จักกันในนาม เอล อาร์ติลเลโร แม้จะมีผลงานในฤดูกาลแรกอย่างยอดเยี่ยมด้วยการจบอันดับ 4 โชคชะตาของสโมสรก็พลิกผันเมื่อพวกเขากตกชั้นในปีต่อมา แต่ก็สามารถเลื่อนชั้นกลับมาอย่างรวดเร็ว สโมสรได้รับถ้วยรางวัลใบแรกคือการชนะการแข่งขันโกปปาอิตาเลีย ค.ศ. 1941 ทว่าหลังจากนั้น สโมสรประสบปัญหาภายในหลายอย่างในทศวรรษ 1940 กอปรกับเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความสำเร็จและการพัฒนาทีมหยุดชะงักไป

สกูเดตโตสมัยแรก และพัฒนาการของทีมในทศวรรษ 50–60

[แก้]

ในทศวรรษ 1950 สโมสรเริ่มกลายเป็นทีมชั้นนำ และมักทำอันดับติด 1 ใน 5 อันดับแรกได้อย่างมั่นคงหลายฤดูกาล ทีมชุดนั้นมีผู้เล่นแกนหลักเป็นที่รู้จักหลายราย อาทิ จิวเลียโน ซาร์ติ, แซร์กิโอ เซอร์วาโต, กีโด กราตตัน, จูเซพเป เชียปเปลลา และผู้เล่นบราซิลอย่างฌูรีนยู สโมสรขึ้นถึงเกียรติประวัติสูงสุดด้วยแชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 1955–56 มีคะแนนมากกว่าทีมอันดับสองอย่างเอซี มิลานถึง 12 คะแนน และพวกเขาแพ้ไปเพียงนัดเดียวทั้งฤดูกาล แต่พวกเขาก็เสียแชมป์ให้มิลานในฤดูกาลต่อมา อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้กลายเป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโรเปียนคัพ (รู้จักในชื่อยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในปัจจุบัน) ทำได้ใน ค.ศ. 1957 ซึ่งพวกเขาแพ้ทีมมหาอำนาจในรายการนี้อย่างเรอัลมาดริด 2–0 จากนั้น สโมสรคว้ารองแชมป์เซเรียอาอีกสามฤดูกาลติดต่อกัน ก่อนจะชนะเลิศโกปปาอิตาเลียสมัยที่สองในฤดูกาล 1960–61 ซึ่งเป็นปีที่พวกเขามีอันดับในลีกตกลงไปถึงอันดับ 7 แต่นับว่าพวกเขายังมีช่วงเวลาที่ดีในฟุตบอลยุโรป ด้วยการชนะเลิศถ้วยรางวัลแรกในยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ เอาชนะเรนเจอส์จากสกอตแลนด์ แม้สโมสรมีผลงานที่ตกต่ำลงในทศวรรษ 1960 แต่ยังมีความสำเร็จเพิ่มเติมในโกปปาอิตาเลีย ฤดูกาล 1965–66

สกูเดตโตสมัยที่สอง และทศวรรษ 1970

[แก้]
จิอันการ์โล อันโตนโญนี สถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักในทศวรรษ 1970 ต่อมาได้กลายเป็นขวัญใจของสโมสร

สโมสรกลับมาลุ้นแชมป์ได้เต็มตัวในฤดูกาล 1968–69 เริ่มต้นโดยมีเอซี มิลานเป็นทีมนำของตาราง แต่ในนัดที่ 7 ของฤดูกาลมิลานพลาดแพ้โบโลญญา และถูกคัลยารีกัลโชของตำนานนักเตะอย่างลุยจี รีวา แซงขึ้นเป็นทีมนำ แม้ฟีออเรนตีนาจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่สามารถแซงกลับขึ้นเป็นทีมนำได้ในเวลาต่อมา แต่ในช่วงครึ่งฤดูกาลแรกสโมสรปิดท้ายด้วยการเสมอกับวาเรเซ 2–2 ทำให้คัลยารีเป็นทีมนำอีกครั้งในช่วงเวลานี้ ก่อนที่ในครึ่งหลังฤดูกาลหลัง จะเป็นการขับเคี่ยวลุ้นแชมป์ระหว่างสามทีมคือมิลาน, คัลยารี และฟีออเรนตีนา เนื่องจากมิลานมุ่งความสนใจไปที่การแข่งขันฟุตบอลยุโรปมากกว่า จึงทำให้ผลงานตกลงไป และส่งผลให้คัลยารีเป็นทีมนำหลายสัปดาห์ ทว่าฟีออเรนตีนาก็กลับไปเป็นทีมนำหลังจากคัลยารีแพ้ยูเวนตุส และสามารถรักษาอันดับไว้ได้จนถึงนัดสุดท้ายที่พวกเขาเอาชนะยูเวนตุส คว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายถึงปัจจุบัน และพวกเขามีผลงานที่ดีในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปในปีต่อมา รวมถึงการเอาชนะสโมสรฟุตบอลดือนามอกือยิว ซึ่งลงแข่งขันในนามสหภาพโซเวียต ก่อนจะยุติเส้นทางในรอบก่อนรองชนะเลิศโดยแพ้ทีมดังจากสกอตแลนด์อย่างเซลติกด้วยผลประตู 3–0[4]

ทศวรรษ 1970 นับว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักของสโมสร หลังจากจบอันดับ 5 ใน ค.ศ. 1971 พวกเขากลายเป็นทีมกลางตารางหลายฤดูกาล มักจะจบอันดับ 8 หรือ 9 ก่อนจะกลับมาคว้าอันดับสามในฤดูกาล 1976–77 แต่ต้องดิ้นรนหนีตกชั้นจนถึงนัดสุดท้ายในฤดูกาล 1977–78 รอดตกชั้นอย่างหวุดหวิดด้วยผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่าอันดับ 14 อย่างเจนัวเพียงหนึ่งประตู ความสำเร็จในช่วงนี้คือแองโกล-อิตาลี ลีก คัพ ค.ศ. 1974 และโกปปาอิตาเลีย ค.ศ. 1975 สโมสรมีผู้เล่นดาวรุ่งตัวหลักอย่างวินเซนโซ เกอรินี และโมเรโน รอจจีซึ่งได้รับบาดเจ็บจนส่งผลต่อการพัฒนาการเล่น ทศวรรษนี้ยังเป็นการแจ้งเกิดของจิอันการ์โล อันโตนโญนี กองกลางตัวรุกซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่รักของแฟน ๆ ฟีออเรนตีนา และเป็นที่จดจำในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญที่สุดของสโมสรจวบจนปัจจุบัน จากการใช้ผู้เล่นอายุน้อยหลายรายเป็นแกนหลัก จึงทำให้สโมสรได้รับฉายาจากสื่อว่า "Fiorentina Ye-Ye"

ยุคการบริหารของ ฟลาวิโอ ปอนเตลโล

[แก้]

ในทศวรรษ 1980 สโมสรถูกซื้อและบริหารกิจการโดยฟลาวิโอ ปอนเตลโล มาจากตระกูลนักธุรกิจร่ำรวยที่สร้างตัวมาจากธุรกิจการก่อสร้าง เขาปฏิวัติวัฒนธรรมสโมสรหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนเพลงประจำสโมสร เปลี่ยนตราสโมสรให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างกระทันหันนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ของแฟน ๆ สโมสร แต่เขาก็ทดแทนด้วยการดึงผู้เล่นเข้ามาหลายราย เช่น ฟรันเชสโก กราซีอานี, เอรัลโด เปชชี มาจากโตรีโน, แดเนีบล แบร์โตนีจากเซบิยา, แดเนียล แมสซาโรจากมอนซา รวมถึงดาวรุ่งอย่างปิเอโตร เวียร์โควอดจากโคโม โดยยังมีอันโตนโญนีเป็นแกนหลัก ทำให้พวกเขามีช่วงเวลาที่ดีในฟุตบอลลีก โดยในฤดูกาล 1981–82 ถือเป็นหนึ่งในการขับเคี่ยวแย่งแชมป์ที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิตาลี หลังจากอันโตนโญนีประสบปัญหาการบาดเจ็บ ฟีออเรนตีนายังประคองตัวลุ้นแชมป์ได้จนนัดสุดท้าย พวกเขาทำประตูได้ในนัดที่พบกับคัลยารี แต่ผู้ตัดสินกลับไม่ให้ประตูอย่างน่ากังขา ทำให้ยูเวนตุสคว้าแชมป์ไปครองด้วยการได้ประตูจากจุดโทษซึ่งได้รับการวิจารณ์อีกเช่นกัน ฟีออเรนตีนาพลาดแชมป์โดยมีคะแนนน้อยกว่าเพียงคะแนนเดียว และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นความเป็นอริของทั้งสองสโมสร ฤดูกาลต่อมา สโมสรจบเพียงอันดับห้า และอันดับเริ่มตกต่ำลงอีกครั้งในหลายปีต่อมา ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 สโมสรนำเข้าผู้เล่นใหม่อย่าง ราโมน ดิอัซ และหนึ่งในผู้เล่นที่ได้รับจับตามองมากที่สุดอย่างโรแบร์โต บัจโจ

ต่อมาใน ค.ศ. 1990 สโมสรดิ้นรนหนีการตกชั้นอีกครั้งและรอดพ้นในนัดสุดท้าย และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าคัพโดยพบกับอริอย่างยูเวนตุส ทั้งสองทีมแข่งขันกันสองนัดและยูเวนตุสเอาชนะด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–1 นอกจากนี้บัจโจยังถูกขายให้กับยูเวนตุสใน ค.ศ. 1990 สร้างความโกรธแค้นให้แฟน ๆ ฟีออเรนตีนาอย่างมาก แม้ปอนเตลโลจะให้เหตุผลถึงการซื้อขายครั้งนี้ว่ามาจากการประสบปัญหาการเงิน และเขาไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้เป็นเหตุให้เขายุติบทบาทการเป็นเจ้าของทีม และผู้มาซื้อกิจการต่อก็คือมารีโอ เชกคี กอรี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์

ยุคของกอรี และจุดต่ำสุดของสโมสร

[แก้]
กาบริเอล บาติสตูตา ผู้เล่นคนสำคัญของสโมสรในทศวรรษ 1990 และเขามีสถานะเป็นตำนานของสโมสรจวบจนปัจจุบัน

ในช่วงแรกของการบริหารในยุคนี้เริ่มต้นได้อย่างมั่นคง ประธานสโมสรคนใหม่นำเข้าผู้เล่นหลายคน ได้แก่ ไบรอัน เลาดรูป, ​สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก, ฟรันเชสโก บายาโน และที่โด่งดังที่สุดก็คือกาบริเอล บาติสตูตา ซึ่งกลายเป็นตำนานของสโมสรมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โชคชะตาของสโมสรมาถึงจุดหักเหครั้งสำคัญจากการเสียชีวิตของกอรีในปี 1993 ประธานสโมสรและเจ้าของทีมคนใหม่อย่างวิตโตริโอ เชกคี กอรี บุตรชายของเขา แม้จะเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ได้ดี แต่กอรีตัดสินใจปลดผู้ฝึกสอนอย่างลุยจิ ราดิซ หลังพาทีมแพ้อาตาลันตา[5] และแทนที่โดยอัลโด อาโกรปี แต่สโมสรก็มีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง โดยตกไปอยู่ท้ายตารางและตกชั้นในนัดสุดท้ายของฤดูกาล

เกลาดีโอ รานีเอรี เข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 1993–94 ผู้พาทีมเลื่อนชั้นกลับสู่เซเรียอาในหนึ่งฤดูกาลในฐานะทีมชนะเลิศเซเรียบีฤดูกาล 1993–94 รานีเอรีได้รับการสนับสนุนจากกอรีในการนำเข้าผู้เล่นฝีเท้าดีหลายรายมาผนึกกำลังกับบาติสตูตา รวมถึงรุย กอชตาจากสปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา และกองหลังชุดแชมป์โลกของทีมชาติบราซิลในฟุตบอลโลก 1994 อย่างมาร์ซิอู ซังตุช กอชตากลายเป็นหนึ่งในขวัญใจของแฟน ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่ซังตุชประสบปัญหาในการปรับตัว และถูกขายทิ้งเมื่อจบฤดูกาล ฟีออเรนตีนาจบอันดับ 10 ในฤดูกาลนั้น

ในฤดูกาลต่อมา ทีมยังลงทุนในตลาดซื้อขายต่อเนื่องด้วยการมาถึงของสเตฟาน ชวาร์ซชาวสวีเดน ทีมมีผลงานที่ดีในฟุตบอลถ้วยด้วยแชมป์โกปปาอิตาเลีย โดยเอาชนะอาตาลันตาและจบอันดับสามในเซเรียอา พวกเขายังเป็นสโมสรแรกที่ชนะเลิศซูแปร์โกปปาอีตาเลียนาในฐานะทีมแชมป์โกปปาอิตาเลีย โดยการเอาชนะมิลาน 2–1 ณ สนามซานซีโร ซึ่งตลอดการแข่งขันที่ผ่านมา ทีมที่คว้าแชมป์จะเป็นทีมที่มาจากการชนะเลิศเซเรียอาทั้งหมด ฟีออเรนตีนาทำผลงานน่าผิดหวังในเซเรียอา ฤดูกาล 1996–97 แต่ยังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ก่อนจะแพ้แชมป์ในครั้งนั้นอย่างบาร์เซโลนาด้วยผลรวมสองนัด 3–1

รานีเอรีอำลาสโมสรเมื่อจบฤดูกาลเพื่อไปเป็นผู้ฝึกสอนบาเลนเซียในลาลิกา กอรีแต่งตั้งอัลแบร์โต มาเลซานีรับตำแหน่งต่อ แต่ก็คุมทีมได้เพียงฤดูกาลเดียวเนื่องจากผลงานไม่ดีนัก และโจวันนี ตราปัตโตนีผู้ฝึกสอนชื่อดังเข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งสโมสรมีช่วงเวลาที่ดีในฤดูกาล 1998–99 จากผลงานทำประตูของบาติสตูตา พวกเขาจบอันดับสามในเซเรียอาได้กลับไปแข่งยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกครั้ง และเข้าชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียแต่แพ้ปาร์มาด้วยกฎประตูทีมเยือน แม้พวกเขาจะมีผลงานย่ำแย่ในฤดูกาลถัดมา แต่สามารถเอาชนะอาร์เซนอลที่สนามกีฬาเวมบลีย์ (1923) ด้วยผลประตู 1–0 และชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่ฟลอเรนซ์ 2–0 ซึ่งได้รับการจดจำในฐานะหนึ่งในชัยชนะที่สำคัญในฟุตบอลยุโรปของสโมสรแม้จะตกรอบแบ่งกลุ่มรอบที่สอง ตราปัตโตนีอำลาทีม และผู้ที่เข้ามาแทนคือฟาทีห์ เทริม แต่สโมสรต้องพบการเปลี่ยนแปลงเมื่อคนสำคัญอย่างบาติสตูตาถูกขายให้แก่โรมาซึ่งพาทีมคว้าแชมป์เซเรียอาในเวลาต่อมา ฟีออเรนตีนาทำผลงานในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก 2000–01 ได้ดีพอสมควร แต่ก็ตกลงไปจนจบเพียงอันดับ 9 เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลสโมสรอยู่ภายใต้การคุมทีมโดยโรแบร์โต มันชีนี พาทีมชนะเลิศโกปปาอิตาเลียฤดูกาลนั้น ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 6 และครั้งล่าสุดถึงปัจจุบัน

ในช่วงต้นทศวรรษนี้ สโมสรประสบปัญหาครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งทีม เมื่อ ค.ศ. 2001 ได้มีการประกาศครั้งสำคัญสำหรับสโมสร โดยมีการเปิดเผยสถานะทางการเงินที่วิกฤติอย่างหนัก พวกเขาไม่สามารถชำระค่าจ้างให้แก่บุคลากรได้ และมีหนี้สินรวมกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เจ้าของสโมสรอย่างกอรีสามารถระดมเงินเพิ่มเติมได้ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เพียงพอที่จะรักษาสโมสรไว้ได้ พวกเขาตกชั้นในฤดูกาล 2001–02 และถูกควบคุมกิจการโดยตุลาการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2002 และจากการล้มละลายทำให้สโมสรไม่สามารถลงแข่งขันเซเรียบีในฤดูกาลต่อมาได้ เนื่องจากยังคงสถานะเดิมของสโมสรที่ถูกฟ้องล้มละลาย

ฟื้นฟูกิจการ (ค.ศ. 2002–2010)

[แก้]
เซซาเร ปรันเดลลี ผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุดของสโมสร (ค.ศ. 2005–2010, 2020–2021)

สโมสรได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2002 ในชื่อ Associazione Calcio Fiorentina e Florentia Viola โดยมีผู้ประกอบการรองเท้าและเครื่องหนังอย่าง ดีเอโก เดลลา วัลเล เป็นเจ้าของคนใหม่ และสโมสรได้เข้าสู่เซเรียซี 2 ซึ่งเป็นลีกระดับที่ 4 ของฟุตบอลอิตาลี ผู้เล่นจากทีมชุดเก่าเพียงคนเดียวที่ยังอยู่กับทีมต่อคือแอนเจโล ดิ ลิวิโอ ความจงรักภักดีของเขาทำให้เขากลายเป็นที่รักและยกย่องโดยแฟน ๆ และจากผลงาน 30 ประตูของกองหน้าอย่างกริสเตียน ริกาโน สโมสรคว้าแชมป์กลุ่มเซเรียซี 2 ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งโดยปกติจะนำไปสู่การเลื่อนชั้นสู่เซเรียซีระดับ 1 อย่างไรก็ตาม ฟีออเรนตีนาได้สิทธิข้ามการแข่งขันเซเรียซี 1 ไปสู่เซเรียบีทันทีในฤดูกาลถัดมา เนื่องจากเนื่องจากเหตุกาโซ คาตาเนีย อันแปลกประหลาด ซึ่งเกิดขึ้นโดยการตัดสินใจของสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FIGC) ในการแก้ไขสถานการณ์คาตาเนียโดยการเพิ่มจำนวนทีมในเซเรียบีตจาก 20 ทีมเป็น 24 ทีมและเลื่อนชั้นทีมอย่างฟีออเรนตีนาขึ้นมา[6]

สโมสรซื้อลิขสิทธิ์นำชื่อฟีออเรนตีนากลับมาใช้อีกครั้งรวมถึงการใช้โทนสีเสื้อในลักษณะเดิมและใช้ชื่อทางการว่า ACF Fiorentina พวกเขาจบอันดับ 6 ในเซเรียบี แต่ได้สิทธิ์แข่งขันเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้น และเอาชนะเปรูจาเพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง และพวกเขาไม่เคยตกชั้นอีกเลยนับจากนั้น แม้ในช่วงแรกพวกเขาจะพบความลำบากในการหนีตกชั้น โดยต้องลุ้นถึงนัดสุดท้ายอีกครั้ง แต่รอดด้วยผลงานเฮดทูเฮด (การพบกันระหว่างสโมสร) ที่ดีกว่าปาร์มา และโบโลญญา แปนตาเลโอ กอร์วิโน ได้รับแต่งตังเป็นผู้อำนวยการกีฬาใน ค.ศ. 2005 ตามด้วยการมาถึงของเซซาเร ปรันเดลลี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ดีที่สุด ตามมาด้วยการนำเข้าผู้เล่นฝีเท่าดีเช่น ลูกา โตนี และ เซบาสเตียน เฟรย์ สโมสรจบอันดับ 4 ด้วยคะแนน 74 คะแนนมากที่สุดในรอบหลายปี กองหน้าอย่างโตนีทำผลงาน 31 ประตูจาก 38 นัด เป็นคนแรกที่ทำมากกว่า 30 ประตูในลีกสูงสุดนับตั้งแต่อันโตนีโอ อันเจลิลโลใน ค.ศ. 1959 ทำให้เขาได้รับรางวัลรองเท้าทองคำยุโรป

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 สโมสรถูกตัดสินให้ตกชั้นสู่เซเรียบีสืบเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอื้อฉาวอย่างกัลโชโปลี แต่ได้อุทธรณ์ในเวลาต่อมาและถูกตัดคะแนนเบื้องต้น 12 คะแนน ก่อนจะเพิ่มเป็น 19 คะแนน และยังถูกตัดสิทธิออกจากการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2006–07 ต่อมา สโมสรได้รับการลดโทษจากการถูกตัด 19 คะแนนเหลือ 15 คะแนน แม้จะถูกตัดคะแนนพวกเขายังทำอันดับไปเล่นยูฟ่าคัพในฤดูกาลถัดไปได้ ฟีออเรนตีนาทำผลงานได้ดีในปีต่อมา แม้โตนีจะย้ายไปร่วมทีมไบเอิร์นมิวนิก พวกเขาคว้าอันดับ 4 ในเซเรียอา ฤดูกาล 2007–08 พวกเขายังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพก่อนจะแพ้จุดโทษเรนเจอร์ 4–2 หลังจากเสมอกัน 0–0 ปรันเดลลียังทำผลงานคุมทีมได้ดีต่อเนื่อง ด้วยการจบอันดับ 4 อีกครั้งในฤดูกาลต่อมา ทำให้ได้สิทธิ์แข่งรอบเพลย์ออฟยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2009–10 แต่พวกเขาตกรอบยูฟ่าคัพเป็นปีที่สองอีกครั้ง โดยแพ้อาเอฟเซ อายักซ์

ฟีออเรนตีนามีผลงานตกลงไป จบเพียงอันดับ 11 ในเซเรียอา ฤดูกาล 2009–10 แต่ยังทำผลงานได้ดีในระดับหนึ่งในฟุตบอลยุโรป แม้จะบุกไปแพ้ออแล็งปิกลียอแนในนัดแรก แต่สามารถเอาชนะได้ใน 5 นัดถัดมาในรอบแบ่งกลุ่ม ผ่านเข้ารอบต่อไปในฐานะทีมม้ามืด (รวมถึงการชนะลิเวอร์พูลได้ทั้งนัดเหย้าและเยือน) พวกเขาตกรอบโดยแพ้ไบเอิร์นมิวนิกจากกฎการยิงประตูทีมเยือน และการตัดสินของผู้ตัดสินอย่างทอม เฮนนิง โอเวรเบอ จากนอร์เวย์ได้รับการวิจารณ์อย่างหนัก จากการให้ประตูไบเอิร์นมิวนิกในนัดแรกแม้จะล้ำหน้าอย่างชัดเจน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสนใจถึงการนำภาพวิดีโอรีเพลย์มาใช้ในฟุคบอล แม้สโมสรจะทำผลงานในฟุตบอลยุโรปได้ดี และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในโกปปาอิตาเลีย แต่ฟีออเรนตีนาก็ไม่สามารถทำอันดับในลีกเพื่อผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยุโรปฤดูกาลหน้า

ทศวรรษ 2010

[แก้]
วินเชนโซ มอนเตลลาอดีตผู้จัดการทีมฟีออเรนตีนา ระหว่าง ค.ศ. 2012–2015 และ 2019

สโมสรต้องอำลาปรันเดลลี ผู้ซึ่งเป็นที่จดจำในฐานะผู้ฝึกสอนที่คุมทีมนานที่สุดของสโมสรเพื่อไปรับงานคุมทีมชาติอิตาลี และถูกแทนที่โดยซินิชา มิฮายลอวิชผู้จัดการทีมกาตาเนีย ในช่วงแรกของฤดูกาล 2010–11 สโมสรอยู่ท้ายตารางเป็นส่วนมาก แต่ทำผลงานดีขึ้นและจบในอันดับ 9 มิฮายลอวิชพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 จากผลงานย่ำแย่และถูกแทนที่ด้วยเดลิโอ รอสซี[7] แม้จะมีผลงานดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ทีมต้องดิ้นรนหนีการตกชั้นอีกครั้ง ส่งผลให้ปันตาเลโอ กอร์วิโน ผู้อำนวยการกีฬาถูกไล่ออกในต้นปี 2012 หลังจากพ่ายแพ้ในบ้าน 0–5 ต่อยูเวนตุส สโมสรยังคงประคองตัวรอดพ้นจากท้ายตารางได้จากชัยชนะซึ่งไม่น่าประทับใจหลายนัด รวมถึงการชนะโรมา และเอซี มิลาน ซึ่งพวกเขาเล่นได้ย่ำแย่ ต่อมา ในการแข่งขันพบกับโนวาราซึ่งพวกเขาเป็นฝ่ายตามหลัง 2–0 เมื่อจบครึ่งแรก รอสซีตัดสินใจเปลี่ยนตัวโดยถอดอเด็ม ลายิชออก ทำให้ลายิชประชดด้วยการปรบมือ ทำให้รอสซีโมโหและทำร้ายร่างกายลายิชส่งผลให้เขาพ้นจากตำแหน่ง[8] รักษาการตำแหน่งอย่างวินเซนโซ เกอรินี พาทีมจบอันดับ 13

สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อยกระดับทีมอีกครั้ง ด้วยการนำเข้าผู้เล่นใหม่มากถึง 17 รายในกลางปี 2012 รวมถึงการแต่งตั้งวินเชนโซ มอนเตลลา เข้ามาคุมทีม พวกเขามีผลงานที่ดีขึ้นโดยขึ้นสูงสุดถึงอันดับสามในช่วงปลายปีก่อนจะจบอันดับ 4 เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2012–13 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2013-14 รอบเพลย์ออฟ สโมสรต้องเสียผู้เล่นตัวหลักซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ อย่างสเตวาน ยอเวติช ซึ่งย้ายร่วมทีมแมนเชสเตอร์ซิตีใน ค.ศ. 2013 ด้วยมูลค่า 30 ล้านยูโร และยังปล่อยตัวอเด็ม ลายิช รวมถึงอเลสซิโอ แชร์ชี ให้แก่โรมาและโตรีโนตามลำดับ แลกมาด้วยผู้เล่นใหม่อย่างมารีโอ ก็อมเม็ส, ยอซิป อิลิชิช และอานเต เรบิช สโมสรมีผลงานที่ดีในฟุตบอลยุโรปด้วยการคว้าอันดับ 1 ของกลุ่ม เข้ารอบ 32 ทีมสุดท้ายไปพบกับเอสเบิร์กจากเดนมาร์ก และผ่านเข้ารอบต่อไปด้วยผลประตูรวม 4–2 แต่ต้องตกรอบต่อมาโดยแพ้ยูเวนตุสด้วยผลรวม 2–1 และพวกเขายังทำผลงานยอดเยี่ยมในเซเรียอาด้วยการจบอันดับ 4 อีกครั้ง และเข้ารอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียแต่แพ้นาโปลี 3–1

ในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงฤดูหนาวฤดูกาล 2014–15 ฟีออเรนตีนาขายผู้เล่นคนสำคัญอีกครั้งได้แก่ ฮวน กัวดราโดซึ่งย้ายไปเชลซีในราคา 30 ล้านยูโร แต่ทีมล้มเหลวในการเจรจายืมตัวมุฮัมมัด เศาะลาห์เป็นข้อแลกเปลี่ยน สโมสรยังทำผลงานได้ดีในรายการยุโรป เข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2014–15 แต่แพ้แชมป์อย่างเซบิยา 5–0 แต่พวกเขาคว้าอันดับ 4 ในเซเรียอาได้อย่างต่อเนื่อง คว้าสิทธิ์แข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก ฤดูกาล 2015–16 มอนเตลลาพ้นจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2015 เนื่องจากผู้บริหารมองว่าเขาขาดความทะเยอทะยานในการพาสโมสรไปสู่จุดสูงสุด[9] เปาลู ซูซา เข้ามารับตำแหน่งต่ออีกสองฤดูกาล แต่สโมสรมีผลงานที่ตกลงไป จบอันดับ 5 และ 8 ตามลำดับ จากนั้น สเตฟาโน ปิโอลีเข้ามาคุมทีมต่อ[10] ในช่วงเวลานั้น สโมสรต้องพบความสูญเสียเมื่อกัปตันทีมอย่างดาวีเด อัสโตรี เสียชีวิตกระทันหันในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 จากภาวะหัวใจหยุดเต้นขณะพักอยู่ในโรงแรม[11] ทำให้สโมสรตัดสินใจรีไทร์หมายเลขเสื้อเบอร์ 13 เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา สโมสรมีผลงานย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปีในเซเรียอา ฤดูกาล 2018–19 โดยวนเวียนอยู่ในพื้นที่ตกชั้น และมีช่วงเวลาเลวร้ายที่ไม่สามารถชนะทีมใดถึง 14 นัดติดต่อกัน จบเพียงอันดับ 16 ด้วยคะแนน 41 คะแนน มากกว่าทีมตกชั้นเพียง 3 คะแนน ปิโอลีอำลาทีมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 และมอนเตลลากลับมาคุมทีมเป็นครั้งที่สอง[12]

ทศวรรษ 2020

[แก้]

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2019 สโมสรถูกขายให้แก่มหาเศรษฐีชาวอิตาลี-อเมริกัน รอคโค บี. คอมมิสโซ ในราคา 160 ล้านยูโร เป็นจุดสิ้นสุดระยะเวลา 17 ปีภายใต้การบริหารของตระกูลเดลลา วัลเล[13] แต่ทีมก็ยังมีผลงานไม่สู้ดีนัก โดยมักอยู่กลางตารางและมอนเตลลาไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้ เขาถูกปลดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 หลังจากไม่ชนะใคร 7 นัดติดต่อกันและสโมสรอยู่อันดับ 15 เขาถูกแทนที่โดยจูเซปเป ยาคินี เข้ามาคุมทีมในช่วงสั้น ๆ ซึ่งพาฟีออเรนตีนาจบจบอันดับ 10 ในฤดูกาล 2019–20 ปรันเดลลีกลับมาคุมทีมรอบที่สองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 แต่การรับตำแหน่งครั้งนี้ก็สั้นนัก เนื่องจากทีมมีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่อง ชนะเพียง 6 จาก 23 นัดรวมทุกรายการที่เขาอยู่ สโมสรจบเพีบงอันดับ 13 ในฤดูกาล 2020–21

วินเชนโซ อิตาเลียโนอดีตนักฟุตบอลชาวอิตาลีและผู้ฝึกสอนสเปเซียกัลโช เข้ามายกระดับการเล่นของทีมด้วยผู้เล่นอายุน้อย และทีมคว้าอันดับ 7 ในฤดูกาล 2021–22 ตามด้วยอันดับ 8 ในอีกสองฤดูกาลต่อมา และเข้าชิงชนะเลิศโกปปาอีตาเลีย ฤดูกาล 2022–23 แต่แพ้อินเตอร์ด้วยผลประตู 2–1 ฟีออเรนตีนายังเข้าใกล้ความสำเร็จในฟุตบอลยุโรปมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ด้วยการเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ฤดูกาล 2022–23 และ 2023–24 แต่แพ้เวสต์แฮมยูไนเต็ด (2–1) และโอลิมเบียโกส (1–0) ตามลำดับ แต่ยังเป็นสโมสรแรกที่เข้าชิงชนะเลิศรายการนี้สองสมัยติดต่อกัน และเป็นสโมสรแรกในรอบ 11 ปีต่อจากไบฟีกาที่แพ้ในนัดตัดสินการแข่งขันฟุตบอลยุโรปสองฤดูกาลติดต่อกัน[14] อิตาเลียโนอำลาทีมเมื่อจบฤดูกาล 2023–24 ราฟฟาเอล ปาลลาดิโน ผู้ฝึกสอนของเอซี มอนซาเข้ามารับตำแหน่งต่อด้วยสัญญาสองปี

สนาม

[แก้]
สนามกีฬาอาร์เตมีโอ ฟรังกี

อาร์เตมีโอฟรังกี ซึ่งปัจจุบันมีความจุ 43,147 สนามกีฬาใช้ชื่อมาหลายปีแล้วและมีการปรับปรุงหลายครั้ง เป็นสนามเหย้าของฟิออเรนติน่า เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อเล่นว่าไวโอล่าซึ่งกล่าวถึงสีม่วงที่โดดเด่น

เอกลักษณ์

[แก้]

ตราสโมสร

[แก้]
ตราสัญลักษณ์สโมสร มักปรากฏสัญลักษณ์ดอกลิลลีประจำเมืองฟลอเรนซ์
ตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมซึ่งใช้งานมายาวนานถึงปี 2022

ตราสัญลักษณ์โดยทั่วไปของสโมสรคือตราประจำเมืองฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ดอกลิลลีบนพื้นหลังสีขาว[15] ตลอดประวัติศาสตร์ของสโมสร พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์หลายครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะปรากฏสัญลักษณ์ดอกลิลลีของเมืองฟลอเรนซ์ไว้ด้วยในทางใดทางหนึ่ง[16] ตราแบบแรกไม่มีความซับซ้อนเท่าไรนัก เป็นเพียงตราประจำเมืองที่ปรากฏโล่สีขาวพร้อมสัญลักษณ์ดอกลิลลีอยู่ภายใน[17] ต่อมาได้มีการออกแบบโทนสีให้ทันสมัยและดูสดใสยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มสัญลักษณ์ลิลลีเป็นโทนสีแดง และในฤดูกาลที่สโมสรคว้าแชมป์เซเรียอา มีการตกแต่งสัญลักษณ์ดอกลิลลีให้ทับซ้อนกับสัญลักษณ์ธงอิตาลี เพื่อสื่อถึงทีที่เป็นแชมป์เก่า (Scudetto)

ตราสโมสรรูปแบบต่อมาที่เจ้าของทีมอย่าง ฟลาวิโอ ปอนเตลโล เปิดตัวในปี 1980 มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยครึ่งหนึ่งของสัญลักษณ์ประจำเมืองฟลอเรนซ์ และครึ่งหนึ่งของตัวอักษร "F" สื่อถึงชื่อฟีออเรนตีนา และไม่เป็นที่นิยมเมื่อมีการเปิดตัว โดยเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจด้วยเหตผลทางการธุรกิจ และเนื่องจากสัญลักษณ์นี้มีความคล้ายคลึงกับง้าวมากกว่าดอกลิลลี นับตั้งแต่อดีตจนถึงฤดูกาล 2022–23 เมื่อสโมสรเปิดตัวตราสัญลักษณ์ใหม่ที่เรียบง่ายและมีสไตล์ สัญลักษณ์เป็นรูปข้าวหลามตัดสองชั้นล้อมรอบด้วยสีทอง ด้านนอกมีพื้นหลังสีม่วง ตัวอักษร "AC" สีขาว และตัวอักษร "F" สีแดง แทนชื่อของสโมสร ด้านในเป็นสีขาวขอบทองและมีตราประจำเมืองฟลอเรนซ์สีแดง ตราสัญลักษณ์ที่เห็นในปัจจุบันได้มาจากการประมูลด้วยมูลค่ากว่า 2.5 ล้านยูโร ทำให้เป็นตราสโมสรที่มูลค่าสูงสุดในอิตาลี

สี

[แก้]
กาบริเอล บาติสตูตา ในชุดแข่งสีม่วงอันเป็นเอกลักษร์ของทีม

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง ผู้เล่นฟีออเรนตีนาสวมชุดแข่งขันสีแดงและสีขาวอย่างละครึ่ง ซึ่งมาจากสัญลักษณ์ดอกลิลลีประจำเมือง[18] ชุดสีม่วงซึ่งเป็นที่รู้จักและโดดเด่นกว่านั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1928 และมีการใช้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้เกิดชื่อเล่นว่า ลา วิโอลา ("เดอะเพอร์เพิล (ทีม)")[19] และยังมีเรื่องเล่าว่าฟีออเรนตีนาได้ชุดสีม่วงมาโดยไม่ได้ตั้งใจ หลังจากเกิดอุบัติเหตุในการนำชุดสีแดงและสีขาวไปทำความสะอาดในแม่น้ำแล้วสีซีดเป็นสีม่วง[20]

ทีมเยือนมักโดดเด่นด้วยสีขาวอยู่เสมอ บางฤดูกาลอาจมีสีแดงและสีม่วง และบางฤดูกาลก็เป็นสีขาวล้วน กางเกงขาสั้นเป็นสีม่วง บางครั้งอาจสวมชุดเหย้าพร้อมสวมกางเกงขาสั้นสีขาว ในฤดูกาล 1995–96 เป็นครั้งแรกที่ชุดเป็นสีแดงทั้งหมดโดยมีขอบสีม่วงและมีดอกลิลลีจำนวน 2 ดอกประดับบนไหล่[21]ชุดแข่งขันชุดที่สามของสโมสรมักเป็นสีแดงล้วน มีบางครั้งที่เป็นสีเหลืองเช่น ฤดูกาล 1997–98, 1999–00 และ 2010–11 ส่วนใหญ่จะสวมใส่ในรายการโกปปาอิตาเลีย

สำหรับฤดูกาล 2017–18 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สโมสรใช้ชุดแข่ง 5 ชุดในฤดูกาล ซึ่งประกอบด้วยชุดเหย้า 1 ชุด (สีม่วงล้วน) และชุดเยือนอีก 4 ชุด แต่ละชุดเป็นตัวแทนของโกมูเนแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองฟลอเรนซ์: น้ำเงินล้วน (Santa Croce), ขาวล้วน (Santo Spirito), เขียวล้วน (San Giovanni) และแดงล้วน[22]

เกียรติประวัติ

[แก้]

ระดับประเทศ

[แก้]

ระดับทวีปยุโรป

[แก้]

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK อิตาลี Pietro Terracciano
2 DF บราซิล Dodô
3 DF อิตาลี Cristiano Biraghi (กัปตันทีม)
4 MF อิตาลี Edoardo Bove (ยืมตัวจาก Roma)
5 DF โครเอเชีย Marin Pongračić
6 DF อิตาลี Luca Ranieri
7 FW อิตาลี Riccardo Sottil
8 MF อิตาลี Rolando Mandragora
9 FW อาร์เจนตินา Lucas Beltrán
10 FW ไอซ์แลนด์ Albert Guðmundsson (ยืมตัวจาก Genoa)
11 FW ฝรั่งเศส Jonathan Ikoné
15 DF อิตาลี Pietro Comuzzo
20 FW อิตาลี Moise Kean
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
21 DF เยอรมนี โรบิน โกเซินส์ (ยืมตัวจาก อูนีโอนแบร์ลีน)
22 DF อาร์เจนตินา Matías Moreno
23 MF อิตาลี Andrea Colpani (ยืมตัวจาก Monza)
24 MF โมร็อกโก Amir Richardson
28 DF อาร์เจนตินา Lucas Martínez Quarta
29 MF ฝรั่งเศส Yacine Adli (ยืมตัวจาก Milan)
30 GK อิตาลี Tommaso Martinelli
32 MF อิตาลี Danilo Cataldi (ยืมตัวจาก Lazio)
33 DF อิตาลี Michael Kayode
43 GK สเปน ดาบิด เด เฆอา
53 GK เดนมาร์ก Oliver Christensen
65 DF อิตาลี Fabiano Parisi
99 FW โกตดิวัวร์ Christian Kouamé

อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ViolaChannel – Stadio Franchi".
  2. Martin, Simon. Football and Fascism: The National Game Under Mussolini. Berg Publishers. ISBN 1-85973-705-6.
  3. Martin, Simon (2004-09). Football and Fascism: The National Game Under Mussolini (ภาษาอังกฤษ). Berg Publishers. ISBN 978-1-85973-705-7. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. "Prediksi Skor Serie A, Fiorentina Vs Genoa 29 Januari 2017 | Portal Berita Bola". web.archive.org. 2017-02-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-24.
  5. "Archivio Corriere della Sera". archivio.corriere.it.
  6. "Repubblica.it/sport/calcio/calciomercato: Serie B a 24 squadre C'� anche la Fiorentina". www.repubblica.it.
  7. "Mihajlovic sacked as Fiorentina coach". CNN (ภาษาอังกฤษ). 2011-11-07.
  8. "Fiorentina boss Delio Rossi sacked for attacking player". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2012-05-02. สืบค้นเมื่อ 2024-11-24.
  9. "Official: Fiorentina sack Montella - Football Italia". football-italia.net (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-06-08.
  10. "Stefano Pioli: Fiorentina hire former Inter Milan and Lazio boss". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2017-06-06. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
  11. McLaughlin, Eliott C. (2018-03-04). "Fiorentina captain Davide Astori dies of 'sudden illness' at 31, team says". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  12. "UFFICIALE: Fiorentina, Pioli s'è dimesso. Oggi seduta affidata al suo vice - TUTTO mercato WEB". www.tuttomercatoweb.com (ภาษาอิตาลี).
  13. "Official: Commisso buys Fiorentina - Football Italia". football-italia.net (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-06-06.
  14. "Olympiakos 1-0 Fiorentina: Ayoub El Kaabi scores winner in extra-time to secure Europa Conference League title". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  15. "Fiorentina Logo History". Football Kit Archive (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  16. "Weltfussballarchiv". web.archive.org. 2012-10-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-19. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  17. fsc (2008-07-13). "Fiorentina 08/09 Lotto Home, Away, 3rd shirts - Football Shirt Culture - Latest Football Kit News and More". www.footballshirtculture.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  18. "Stemma Comune di Firenze". Comuni-Italiani.it.
  19. fsc (2009-07-31). "Fiorentina 09/10 Lotto Kits - Football Shirt Culture - Latest Football Kit News and More". www.footballshirtculture.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-05-19.
  20. aipakchi (2022-10-27). "Purple Pride: Connecting Florence and the U.S." ISI Florence - Study Abroad in Italy - Florence (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  21. "Fiorentina 1995-96 Kits". Football Kit Archive (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  22. "First Club With 5 Player Kits - ACF Fiorentina 17-18 Home + 4 Away Kits Released". Footy Headlines (ภาษาอังกฤษ).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]