ฟรีดริช อัลเบรชท์ ซู ออยเลนบวร์ก
ฟรีดริช อัลเบรชท์ ซู ออยเลนบวร์ก | |
---|---|
Friedrich Albrecht zu Eulenburg | |
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 1862–1878 | |
Member of the Abgeordnetenhaus (Prussia) | |
ดำรงตำแหน่ง 1866–1877 | |
เขตเลือกตั้ง | Breslau 2 (Militsch-Trebnitz)[1] |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 29 มิถุนายน ค.ศ. 1815 เคอนิชส์แบร์ค, ปรัสเซียตะวันออก |
เสียชีวิต | 2 มิถุนายน ค.ศ. 1881 เบอร์ลิน, จักรวรรดิเยอรมนี | (65 ปี)
อาชีพ | นักการทูต |
เคานต์ฟรีดริช อัลเบรชท์ ซู ออยเลนบวร์ก (29 มิถุนายน 1815 – 2 มิถุนายน 1881) เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวปรัสเซีย เขาเป็นผู้นำการเดินทางของออยเลนบวร์ก และเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาปรัสเซีย-ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 1861 ซึ่งคล้ายกับสนธิสัญญาไม่เสมอภาคอื่น ๆ ที่มหาอำนาจยุโรปทำกับประเทศทางตะวันออก[2]
ประวัติ
[แก้]ออยเลนบวร์กเกิดที่เมืองเคอนิชส์แบร์ค เขาเป็นลูกคนโตที่รอดชีวิตของฟรีดริช เลโอโปลด์ กราฟ ซู ออยเลนบวร์ก (Prassen, 26 ธันวาคม 1787 – เคอนิชส์แบร์ค, 30 กรกฎาคม 1845) และ Amalie Julie Eleonore née von Kleist (Perkuiken, 26 พฤษภาคม 1792 – เคอนิชส์แบร์ค, 16 พฤศจิกายน 1830)
ออยเลนบวร์กศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคอนิชส์แบร์ค และมหาวิทยาลัยบอนน์[1] และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในออปอแล จากนั้นจึงทำงานในกระทรวงต่าง ๆ ในกรุงเบอร์ลิน ในปี 1852 เขาเข้ารับราชการทางการทูตในตำแหน่งกงสุลใหญ่ปรัสเซียประจำเมืองแอนต์เวิร์ป การขยายตัวทางการค้าของปรัสเซียส่งผลให้มีการค้นหาพันธมิตรทางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก และเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำภารกิจการค้าครั้งใหญ่ เขาออกเดินทางในเดือนตุลาคม 1859 มุ่งหน้าสู่ประเทศญี่ปุ่น จีน และสยาม
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1861 เขาได้ทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ระหว่างปรัสเซียและญี่ปุ่นกับมูรางากิ โนริมาสะแห่งรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ในยุคเอโดะซึ่งมีพื้นฐานมาจากสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน เขาได้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับจักรวรรดิชิง ซึ่งคล้ายกับสนธิสัญญาเทียนจินที่อังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำกับจีนเมื่อสามปีก่อน
หลังจากกลับมา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของปรัสเซียเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1862 ภายหลังการเติบโตของรัฐปรัสเซียในปี 1864 และ 1866 ออยเลนบวร์กก็ได้ทำการปฏิรูปการบริหารที่ครอบคลุมในจังหวัดเก่าด้วย อย่างไรก็ตาม เขาต้องเผชิญกับการต่อต้านจากพวกคาทอลิกในตะวันตก และพวกเสรีนิยมในตะวันออก เขาร่วมเดินทางกับจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียในการเจรจากับเคานต์เบเนเด็ตติ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ เมืองบาดเอมส์ก่อนสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย[1]
แผนปฏิรูปการบริหารเทศบาลในปรัสเซียของเขาถูกต่อต้านโดยอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค และออยเลนบวร์กก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเยอรมนีในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1878 และโบโท ซู ออยเลนบวร์ก ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็เข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อ[1]
ตระกูล
[แก้]พ่อแม่ของออยเลนบวร์กแต่งงานกันที่เคอนิชส์แบร์ค เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1811 เขามีพี่น้องคือ
- อาดัลแบร์ต กราฟ ซู ออยเลนบวร์ก (10 พฤศจิกายน 1812 – 17 มิถุนายน 1814)
- มารี กราฟิน ซู ออยเลนบวร์ก (13 ตุลาคม 1813 – 10 กุมภาพันธ์ 1818)
- เอลีเซอ กราฟิน ซู อูเลนเบิร์ก (เคอนิชส์แบร์ค 27 สิงหาคม 1817 – เบอร์ลิน 15 มิถุนายน 1853) ซึ่งเสียชีวิตโดยไม่ได้สมรสและไม่มีบุตร และ
- ฟิลิป กราฟ ซู ออยเลนบวร์ก (เคอนิชส์แบร์ค 24 เมษายน 1820 – เบอร์ลิน 5 มีนาคม 1889) สมรสในกรุงเบอร์ลิน 22 เมษายน 1846 กับ Alexandrine Freiin von Rothkirch und Panthen (กวอกุฟ 20 มิถุนายน 1824 – Meran 11 เมษายน 1902) พระบิดาและพระมารดาของเจ้าชายฟิลิปแห่งออยเลนบวร์ก
ออยเลนบวร์กไม่ได้แต่งงานและไม่มีลูกสืบสกุล
เกียรติยศ
[แก้]- เครื่องราชอิสริยาภรณ์นกอินทรีแดง, ชั้นที่ 2, 1862[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Biography at Allgemeine Deutsche Biographie (ในภาษาเยอรมัน)
- ↑ Japanese-German Relations, 1895-1945: war, diplomacy and public opinion By Christian W. Spang, Rolf-Harald. Wippich, p. 1