ฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็ง
ฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็ง (ฝรั่งเศส: François-Henri Turpin; ค.ศ. 1709–1799) เอกสารไทยบางแห่งเขียนเป็น ตุรแปง[1] เป็นชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็น "คนรู้หนังสือ" (man of letters)
ชีวิต
[แก้]ตูร์แป็งเกิดที่ก็อง (Caen) ซึ่งเป็นเมืองในประเทศฝรั่งเศส แรกเริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็อง จากนั้นเดินทางไปแสวงโชคที่ปารีส แต่ทำได้มากสุด คือ รับจ้างเขียนหนังสือให้แก่ร้านขายหนังสือ จึงใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ในช่วงนั้น ตูร์แป็งฝากผลงานที่โดดเด่น คือ การนำผลงานภาษาอังกฤษของเอ็ดเวิร์ด มอนทากิว (Edward Montague) มาแปล หรือที่จริงคือดัดแปลง เป็นผลงานชื่อ อิสตัวร์ ดู กูแวร์เนอม็อง เด ซ็องเซียน เรปูว์บลิก (Histoire du gouvernement des anciennes républiques; "ประวัติศาสตร์การปกครองของสาธารณรัฐโบราณ") เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1768 และยังรับหน้าที่เขียนภาคต่อให้แก่ผลงานของปีแยร์ โฌแซ็ฟ ดอร์เลอ็อง (Pierre Joseph d'Orléans) ชื่อ อิสตัวร์ เด เรโวลูซียง ด็องเกลอแตร์ (Histoire des revolutions d'Angleterre; "ประวัติศาสตร์การปฏิวัติของอังกฤษ") เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1786[2]
ตูร์แป็งได้นำบันทึกของปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยา มาดัดแปลงเป็นหนังสือชื่อ อิสตัวร์ นาตูว์แร็ล เอ ซีวิล ดู รัวโยม เดอ ซียาม (Histoire naturelle et civile du royaume de Siam; "ประวัติศาสตร์ด้านธรรมชาติและพลเมืองของราชอาณาจักรสยาม") เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1771 แม้จะได้รับความสนใจ แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เต็มไปด้วยข้อมูลผิดพลาด และบรีโกเองก็กล่าวหาตูร์แป็งว่า บิดเบือนความคิดของตน[2] หนังสือนี้มีสองเล่ม กรมศิลปากรแปลเป็นภาษาไทย ใหัชื่อเล่มแรกว่า ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม เผยแพร่ใน พ.ศ. 2530 ผู้แปล คือ นายปอล ซาเวียร์ แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดยตรง และให้ชื่อเล่มที่สองว่า ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง เผยแพร่ใน พ.ศ. 2522 ผู้แปล คือ นางสมศรี เอี่ยมธรรม ข้าราชการของกรม แปลจากคำแปลภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง มิได้แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดยตรง[3]
นอกจากนี้ ตูร์แป็งยังมีผลงานเด่นอีกสองเรื่อง เรื่องแรก คือ ลา ฟร็องส์ อีลูสทร์ อู เลอ ปลูว์ตาร์ก ฟร็องแซ (La France illustre, ou Le Plutarque français; "ฝรั่งเศสอันรุ่งเรือง หรือพลูทาร์กแบบฝรั่งเศส") เป็นประมวลประวัติบุคคลสำคัญในวงราชการ มีห้าเล่ม เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. 1777–1790 ถูกฌ็อง-ฟร็องซัว เดอ ลา อาร์ป (Jean-François de La Harpe) วิจารณ์ว่า ไม่ได้ทำให้ตูร์แป็งดูเป็นพลูทาร์กหรือเป็นชาวฝรั่งเศสแม้แต่น้อย[2] อีกเรื่อง คือ อิสตัวร์ เด ซ็อม ปูว์บลิก ตีเร ดู ตีแยร์ เอตา (Histoire des hommes publics tires du tiers etat; "ประวัติบุคคลสาธารณะซึ่งหยิบยกมาจากฐานันดรที่สาม") เผยแพร่ใน ค.ศ. 1789[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมศิลปากร (2539, p. 9)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Chisholm 1911.
- ↑ กรมศิลปากร (2539, p. 5–6)
บรรณานุกรม
[แก้]- บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 27 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 482.
- กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2539). ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดัคส์. ISBN 974-419-094-9.