ข้ามไปเนื้อหา

พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประติมากรรมเศียรของพีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา

พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา (กรีก: Φίλιππος Β' ὁ Μακεδών-มีความหมายว่า- φίλος (phílos) "เพื่อน" + ἵππος (híppos) "ม้า"[1]) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมาเกโดนีอา เกิดเมื่อ 382 ปีก่อน ค.ศ. มีรัชสมัยอยู่ระหว่าง 359–336 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นพระบิดาของอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาเกโดนีอา หรือที่รู้จักดีในนาม อเล็กซานเดอร์มหาราช

พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา มีพระเนตรที่ใช้การได้เพียงข้างเดียว เป็นกษัตริย์นักรบแห่งมาเกโดนีอา ที่ทำการรบเอาชนะนครรัฐต่าง ๆ ของกรีซโบราณได้หลายแห่ง ทั้ง ธีบส์, เอเธนส์ หรือสปาร์ตา เมื่อพระองค์ทำการยึดครองนครรัฐเอเธนส์ซึ่งเสมือนเป็นศูนย์กลางของกรีซโบราณได้แล้ว ทำให้ชาวกรีกในนครรัฐต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อชาวมาเกโดนีอาใหม่ จากที่เคยมองว่าเป็นเพียงชนเผ่าที่เหมือนเป็นเผ่าป่าเถื่อน ไร้อารยธรรมทางเหนือของอาณาจักรเท่านั้น เมื่อพระองค์ไม่ได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ หรือทำลายอารยธรรมของชาวเอเธนส์ หากแต่พระองค์ได้พยายามเรียนรู้และผสมรวมกันกับอารยธรรมของมาเกโดนีอา และพระองค์ยังได้ส่งเสริมนักวิชาการ นักปราชญ์ชาวเอเธนส์ต่าง ๆ ด้วยว่าจ้างให้ไปเผยแพร่ความรู้ยังมาเกโดนีอา และเป็นอาจารย์สอนวิทยาการต่าง ๆ ให้แก่ชาวมาเกโดนีอา เช่น อริสโตเติล ซึ่งอเล็กซานเดอร์ เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ก็เป็นลูกศิษย์ของอริสโตเติลด้วยเช่นกัน

ในการสงคราม พระองค์ได้ปรับปรุงยุทธวิธีการรบแบบใหม่ ทรงพัฒนากองทัพมาเกโดเนียโบราณขึ้นจนถึงจุดสมบูรณ์แบบ โดยใช้การผสมระหว่างกองทหารราบและกองทหารม้าเข้าไว้ด้วยกัน ใช้อาวุธแบบใหม่ คือ ทวนที่มีความยาวกว่า 5 เมตร โดยการใช้กองทหารตั้งแถวหน้ากระดานเดินบุกขึ้นหน้า และใช้ทวนยาวนี้พุ่งทะลุแทงข้าศึก ซึ่งรูปแบบการรบที่ใช้กันต่อมาอย่างยาวนานของกรีซโบราณ อีกทั้งยังประดิษฐ์หน้าไม้ที่มีอานุภาพยิงได้ระยะไกล และทะลวงเข้าถึงเกราะหรือโล่ของข้าศึกได้อีกด้วย

พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา มีประสงค์ที่จะทำสงครามกับอาณาจักรเปอร์เซีย ที่เสมือนเป็นคู่สงครามกับชาวกรีกมาตลอด แต่ประสงค์ของพระองค์มิทันได้เริ่มขึ้น เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงก่อนเมื่อเดือนตุลาคม 336 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 ปี จากการลอบสังหารด้วยมีดปักเข้าที่พระอุระของมือสังหารที่เดินตามหลังพระองค์ ขณะที่พระองค์อยู่ในงานเฉลิมฉลอง ซึ่งไม่มีใครทราบถึงสาเหตุของการลอบสังหารครั้งนี้ เพราะมือสังหารได้ถูกสังหารโดยทหารองครักษ์ลงก่อนที่จะไต่สวนใด ๆ ได้มีการสันนิษฐานต่าง ๆ เช่น อาจเป็นการว่าจ้างของกษัตริย์เปอร์เซียด้วยทองคำ เป็นต้น[2]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]