ข้ามไปเนื้อหา

พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านบานัต

พิกัด: 45°46′37.95″N 21°15′57.42″E / 45.7772083°N 21.2659500°E / 45.7772083; 21.2659500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านบานัต
Muzeul Satului Bănățean
โบสถ์ไม้จากหมู่บ้านตอปลา
แผนที่
ก่อตั้ง20 สิงหาคม ค.ศ. 1971 (1971-08-20)
ที่ตั้งตีมีชออารา เทศมณฑลตีมิช ประเทศโรมาเนีย
พิกัดภูมิศาสตร์45°46′37.95″N 21°15′57.42″E / 45.7772083°N 21.2659500°E / 45.7772083; 21.2659500
ประเภทพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนากลางแจ้ง
ได้รับการรับรองกระทรวงวัฒนธรรม[1]
จำนวนผู้เยี่ยมชม85,000 คน (2017)[2]
ผู้อำนวยการเดอนุตส์ ราดอซัฟ (Dănuț Radosav)
เว็บไซต์muzeulsatuluibanatean.ro

พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านบานัต (โรมาเนีย: Muzeul Satului Bănățean) เป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนาแบบเปิดโล่ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครตีมีชออารา ริมป่าเขียว พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนี้มีขนาด 17 เฮกตาร์ และออกแบบมาเพื่อนำเสนอรูปแบบหมู่บ้านแบบดั้งเดิมของบานัต ภายในประกอบด้วยบ้านเรือนของชาวไร่มากมายที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในบานัต เช่น ชาวโรมาเนีย ชาวสโลวัก ชาวสเวเบีย ชาวยูเครน ชาวฮังการี เป็นต้น รวมถึงยังมีอาคารเพื่อการใช้งานทางสังคมของหมู่บ้านแบบพื้นถิ่น เช่น ศาลาว่าการของเมือง โรงเรียน โบสถ์ และมีจัดแสดงงานศิลปะพื้นถิ่น รวมถึงมีจัดโรงฝึกงานศิลปะหัตถกรรมแบบบานัตเช่นกัน[3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

แนวคิดในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนากลางแจ้งมีย้อนกลับไปตั้งแต่ยออากิม มีลอยา (Ioachim Miloia) อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บานัตระหว่างปี 1928 ถึง 1940 เมื่อปี 1928 หลังมีลอยาเดินทางกลับจากพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนาทรานซิลเวเนียในกลุฌ-นาปอกา เขาได้ขออนุญาตสภาเทศบาลเพื่อเปิดพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านขนาดเล็กในลานกลางของปราสาทฮูนียาเด[4] หลังได้รับอนุญาต เขาได้นำโบสถ์ไม้ กางเขน และบ้านไร่ชุดแรกมาตั้งแสดงที่นั่น

ในปี 1967 พิพิธภัณฑ์ได้รับมอบที่ดินขนาดใหญ่เพื่อใช้พัฒนาสร้างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนากลางแจ้งขึ้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 1971[4][5] ในปี 1986 พิพิธภัณฑ์ได้ปิดให้บริการเพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลา 9 ปีตามคำสั่งจากประธานาธิบดีโรมาเนีย ก่อนจะเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 1995[6] ในปี 2000 พิพิธภัณฑ์ได้แยกตัวออกมาจากพิพิธภัณฑ์บานัต มาเป็นหน่วยงานเป็นเอกเทศภายใต้การดูแลของสภาเทศมณฑลตีมิช[6]

ของสะสม

[แก้]

ที่ใจกลางของหมู่บ้านคือศูนย์กลางชุมชน (Centrul Civic) ซึ่งประกอบด้วยศาลาว่าการเมือง, โรงเรียน, "บ้านแห่งชนชาติ" และโรงเตี๊ยมอย่างละหลัง ใจกลางของส่วนนี้คือโบสถ์ไม้ตอปลา โบสถ์ไม้นี้สร้างขึ้นในปี 1746 ที่หมู่บ้านเรเมเตอา-ลุงเกอ (Remetea-Luncă) ก่อนที่จะบริจาคให้แก่ศาสนิกชนในหมู่บ้านตอปลา (Topla) ซึ่งอยู่ใกล้กันในปี 1807 โดยดีดโบสถ์ขึ้นมาวางบนยานล้อ แล้วใช้วัวรวม 24 คู่ลากไปยังตอปลา จากนั้นในปี 1987 โบสถ์ได้รับการเคลื่อนย้ายจากตอปลามาตั้งที่พิพิธภัณฑ์จนถึงปัจจุบัน[7]

ส่วนต่อมาของพิพิธภัณฑ์คือตรอกซอยชาติพันธุ์ (Aleea Etniilor) ซึ่งประกอบด้วยบ้านเรือนแบบพื้นถิ่นจำนวนมากจากบรรดากลุ่มทางชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์ของบานัต[8] เริ่มต้นในปี 2000 ได้มีการปลูกบ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านชาวฮังการี (จากหมู่บ้านบับชาในเทศมณฑลตีมิช), บ้านชาวเยอรมัน (จากหมู่บ้านบีเลดในเทศมณฑลตีมิช), บ้านชาวสโลวัก (จากเมืองเนิดลักในเทศมณฑลอารัด) และบ้านชาวยูเครน (จากหมูบ้านเรเปเดอาในเทศมณฑลมารามูเรช)[9] นอกจากนี้ยังมีบ้านชาวเซิร์บที่สร้างขึ้นในเวลาต่อมา รวมถึงมีแผนจะปลูกบ้านชาวบัลแกเรียและบ้านชาวเช็ก[9]

ส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์คือส่วนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Muzeul Viu) ซึ่งเป็นโครงการนำเสนอเรื่องราวจากทั้งโรมาเนียและฮังการี เริ่มต้นในปี 2012 ประกอบไปด้วยบ้านชาวโรมาเนีย ชาวฮังการี ชาวสเวเบีย และชาวเซิร์บ เพื่อเป็นการสร้างหมู่บ้านพื้นถิ่นจากสมัยศตวรรษที่ 18–19 ขึ้นมาใหม่[10]

เทศกาล

[แก้]

นับตั้งแต่ปี 2000 ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคม จะมีการจัดเทศกาลชาติพันธุ์ขึ้น โดยมีสมาชิกจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาจัดแสดงการแต่งกาย อาหาร และแสดงดนตรี นอกจากนี้ยังมีเทศกาลช่างฝีมือพื้นบ้าน (Târgul Meșterilor Populari) ซึ่งจัดแสดงและวางขายสินค้างานช่างจากทั่วโรมาเนีย และเทศกาลปลายี (PLAI Festival)[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Ordinul nr. 2958/2018 pentru acreditarea Muzeului Satului Bănățean din Timișoara, județul Timiș". Lege5.
  2. "Raport de activitate" (PDF). Consiliul Județean Timiș. 2018. p. 33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  3. "Muzeul Satului Bănățean". Centrul de Informare Turistică Timișoara. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  4. 4.0 4.1 Turcuș, Aurel (2011). Muzeografie timișoreană (1872-1972). Timișoara: Eurostampa. ISBN 978-606-569-227-5.
  5. 5.0 5.1 Halunga, Otilia (27 August 2021). "Timiș: Jubileul Muzeului Satului Bănățean - 50 de ani de activitate". AGERPRES.[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 "Muzeul Satului Bănățean". Asociația Muzeelor în Aer Liber din România. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-22. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  7. "Biserica din Topla (Jud. Timiș)". Muzeul Satului Bănățean.
  8. Lupulescu, Diana (29 April 2008). "Aleea minorităților, la Muzeul Satului". TION.
  9. 9.0 9.1 "Scurt istoric". Muzeul Satului Bănățean. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-07. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  10. "Muzeul Satului Bănățean prinde viață. CJ Timiș a aprobat astăzi proiectul de investiție "Muzeul Viu"". Știrile Pro TV. 28 February 2012.