ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

พิกัด: 13°17′08″N 100°55′31″E / 13.2856623°N 100.925150°E / 13.2856623; 100.925150
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสน
ก่อตั้ง23 พฤษภาคม ค.ศ. 1985 (1985-05-23)
ที่ตั้งมหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย
ประเภทสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล
ผลงานสำคัญโครงกระดูกวาฬแกลบ
ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่
สัตว์ทะเลสตัฟฟ์นานาชนิด
ผู้ก่อตั้งทวี หอมชง และคณะ
ผู้อำนวยการบัลลังก์ เนื่องแสง
ภัณฑารักษ์มหาวิทยาลัยบูรพา
ขนส่งมวลชนรถสองแถวสีแดง
ขนส่งกรุงเทพ-บางแสน
เว็บไซต์www.bims.buu.ac.th
แผนที่ที่ตั้งของสถาบันภายในมหาวิทยาลัยบูรพา (หมายเลข 2)

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นสถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยมีสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่เปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าชมได้ ซึ่งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งนี้นั้น มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมาอย่างยาวนาน และถูกเรียกชื่อตามความเข้าใจในชื่อต่าง ๆ กัน เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสน ศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับการพัฒนามาจาก “พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 โดยคณะอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน (วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนเดิม) และนิสิตอีกจำนวนหนึ่ง โดย ดร.บุญถิ่น อัตถากร อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครูและอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 และในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม

พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนไม่สามารถขยายออกไปได้อีก ทั้งนี้เนื่องจากตัวอาคารมีขนาดจำกัดและไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการนี้โดยตรง เพื่อเป็นการขยายกิจการของพิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทางมหาวิทยาลัย โดยการนำของ ดร.ทวี หอมชง และคณะ ได้จัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นมูลค่า 230 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ณ บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ในเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2525 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีพิธีมอบให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 จากนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลได้จัดทำโครงการเพื่อยกฐานะเป็นสถาบัน และได้รับการอนุมัติให้เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2528

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยบูรพา ถนนลงหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันเป็นสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี

การจัดแสดง

[แก้]

ส่วนจัดแสดงถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยบริเวณห้องโถงก่อนทางเข้าชมมีการจัดแสดงโครงกระดูกวาฬแกลบ ขนาดใหญ่จัดแสดงอยู่

ส่วนที่ 1 สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม เป็นส่วนจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตน่านน้ำของไทย โดยทรัพยากรที่ใช้ในการให้ความรู้ คือ สิ่งมีชีวิตในทะเลชนิดต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ที่ยังมีชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด ที่มีระบบยังชีพสำหรับให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยในแต่ละตู้มีการจัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด แต่ละตู้จะมีป้ายเพื่อบ่งบอกชนิดสัตว์ทะเลที่อยู่ภายในตู้ ทั้งชื่อสามัญ ชื่อภาษาอังกฤษ และชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ชีวิตชายฝั่งทะเล โซนที่ 2 สีสันแห่งท้องทะเล โซนที่ 3 ครัวของโลก โซนที่ 4 แปลก...สวยซ่อนพิษ โซนที่ 5 ลานเรียนรู้ชาวเล และโซนที่ 6 ยักษ์ใหญ่ใต้สมุทร โดยเฉพาะโซนยักษ์ใหญ่ใต้สมุทรนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดสนใจของสถาบันฯ แห่งนี้มาโดยตลอด เนื่องจากมีการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาหมอทะเล ปลากระมง ปลาฉลาม ปลากระเบน ฯลฯ จัดแสดงภายในตู้ขนาดใหญ่ที่มีความจุน้ำถึง 1,000 ตัน

ส่วนที่ 2 ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อกับอาคารสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มเดิม ภายในประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงที่แบ่งออกเป็น 11 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ท่องสมุทร โซนที่ 2 มาหาสมุทร โซนที่ 3 เสียงเพรียกจากทะเล โซนที่ 4 ลัดเลาะเลียบหาด โซนที่ 5 แสงแห่งท้องทะเล โซนที่ 6 อัญมณีแห่งมหาสมุทร โซนที่ 7 สารพันปลาฝูง โซนที่ 8 มหัศจรรย์สัตว์พิเศษ โซนที่ 9 อัศจรรย์โลกสีคราม โซนที่ 10 ฟอสซิลมีชีวิต และโซนที่ 11 สาร (รักษ์) จากสมุทร จุดที่เป็นไฮไลท์สำคัญของส่วนนี้ คือ ตู้จัดแสดงที่มีความจุน้ำถึง 4,700 ตัน ลึก 13 เมตร และมีอุโมงค์ทางเลื่อนใต้น้ำขนาดใหญ่ที่มีความยาวถึง 37 เมตร ภายในโซนที่ 9 อัศจรรย์โลกสีคราม เพื่อจัดแสดงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำลึก นอกจากนี้ ยังมีตู้ทรงกระบอกขนาดใหญ่ (Cylinder Tank) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร เพื่อจัดแสดงพันุธ์ปลาทะเลที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง

ส่วนที่ 3 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นส่วนจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ความรู้และตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยรวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งพืชและสัตว์นานาชนิด ซึ่งเก็บรักษาไว้ด้วยวิธีการดองและการสตัฟฟ์ รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับทะเลและการใช้ประโยชน์จากทะเล โดยบริเวณทางเข้ามีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับพระราชกรณีกิจทางด้านการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทางทะเลและด้านวิทยาศาสตร์การประมง แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 นิทรรศการเรื่องราวของอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตในทะเล โซนที่ 2 นิทรรศการเรื่องราวของทะเลและระบบนิเวศในทะเล โซนที่ 3 นิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ และโซนที่ 4 ห้องพิพิธภัณฑ์เปลือกหอยและวิวัฒนาการของหอย โดยจุดที่เป็นไฮไลท์สำคัญของส่วนนี้ คือ การรวบรวมตัวอย่างสัตว์ทะเลที่หาดูได้ยากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ตายแล้ว มาจัดแสดงในรูปแบบสัตว์สตัฟฟ์ รวมถึงการนำโครงกระดูกสัตว์ทะเลขนาดใหญ่หรือชิ้นส่วนสำคัญของสัตว์ทะเลที่หาดูได้ยากแต่ละชนิดมารวบรวมไว้ที่นี่ เพื่อให้ความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตในทะเล

การเข้าชม

[แก้]

ปัจจุบัน เปิดให้บริการทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์ และทุกวันหยุดราชการ/วันนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ราคาคนไทย เด็ก 40 บาท ผู้ใหญ่ 80 บาท สำหรับราคาชาวต่างชาติ เด็ก 120 ผู้ใหญ่ 220 บาท มีอัตราค่าเข้าชมในราคาพิเศษสำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน และไม่เก็บค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และพระสงฆ์

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°17′08″N 100°55′31″E / 13.2856623°N 100.925150°E / 13.2856623; 100.925150