ข้ามไปเนื้อหา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะ พิธีกรรม และประเพณีกาบอง

พิกัด: 0°23′04″N 9°26′47″E / 0.38444°N 9.44639°E / 0.38444; 9.44639
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะ พิธีกรรม และประเพณีกาบอง
Musée national des Arts, Rites et Traditions du Gabon
ตราสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์
ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ประดับด้วยตราอาร์ม 9 จังหวัดของกาบอง
แผนที่
ก่อตั้งพ.ศ. 2506
ที่ตั้ง51 ถนนโอกุสแต็ง บูมา ลีเบรอวีล จังหวัดแอ็สตุแอร์ กาบอง
พิกัดภูมิศาสตร์0°23′04″N 9°26′47″E / 0.38444°N 9.44639°E / 0.38444; 9.44639
ประเภทพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ผลงานศิลปะแอฟริกา
ขนาดผลงาน2,500 ชิ้น
จำนวนผู้เยี่ยมชม37,110 คน (พ.ศ. 2564)
ผู้จัดการดาวี วีลิส กูมบี โอว็องกา (Davy Willis Koumbi Ovenga)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะ พิธีกรรม และประเพณีกาบอง (ฝรั่งเศส: Musée national des Arts, Rites et Traditions du Gabon, MNARTG) เป็นพิพิธภัณฑ์หลักของประเทศกาบอง ซึ่งเก็บรวบรวมชิ้นงานศิลปวัตถุแบบกาบองดั้งเดิมกว่า 2,500 ชิ้น

อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ทำพิธีเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ตั้งอยู่ในตัวเมืองลีเบรอวีล เลขที่ 51 ถนนโอกุสแต็ง บูมา ตรงข้ามกับอาคารหอการค้า[1][2]

ประวัติ

[แก้]

ใน พ.ศ. 2503 กาบองให้การต้อนรับกลุ่มนักวิจัยชาวฝรั่งเศสจากสำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคนิคโพ้นทะเล (Office de la Recherche Scientifique et Technique Outre-Mer, ORSTOM) ตามคำร้องขอของประธานาธิบดีเลอง อึมบา (Léon M'ba) ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (Institut de recherche pour le développement, IRD) ซึ่งประกอบด้วยแอร์แบร์ เปเป (Herbert Pepper), ปีแยร์ ซาเล (Pierre Sallée) นักชาติพันธุ์ดนตรีวิทยา และหลุยส์ แปรัว (Louis Perrois) นักชาติพันธุ์วิทยา

พร้อมด้วยทีมนักวิจัยและล่ามชาวกาบองซึ่งรวมถึงเอลี เอโกกา อึมเว (Élie Ekoga Mvé), ฌ็อง-เดอ-ดีเยอ มูเบญา (Jean-De-Dieu Moubegna) และปัสกาล อ็องเบ (Pascal Hembe) เป้าหมายของพวกเขาคือการสร้างพื้นที่ซึ่งสามารถเก็บรักษาผลการวิจัยและเป็นที่รับรองภารกิจในการเผยแพร่วัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์เริ่มก่อตั้งในขนาดเล็ก บริเวณซึ่งเป็นที่พักอาศัยเดิมของแอร์แบร์ เปเป ในย่านมงตาญแซ็งต์ (Montagne Sainte) มีพิธีเปิดโดยประธานาธิบดีเลอง อึมบา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2506[3]

อย่างไรก็ตาม สิ่งสะสมยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการพื้นที่ใหม่ พิพิธภัณฑ์จึงย้ายไปอยู่ใจกลางเมือง ในอาคารที่ทำการของรัฐเก่าโดยพิพิธภัณฑ์เปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ภายใต้ชื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประเพณี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 พิพิธภัณฑ์ศิลปะและประเพณีได้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ และในปี พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนสถานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะและประเพณี[4]

อาคารพิพิธภัณฑ์ใหม่

[แก้]

พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่มีพื้นที่ 4,057 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องนิทรรศการถาวรและชั่วคราว สวนพฤกษศาสตร์ที่มีพืชท้องถิ่นประมาณร้อยชนิด ห้องเก็บสื่อภาพและเสียง (ห้องสมุดเทป) ห้องสมุด อาคารฝ่ายบริหาร ตลอดจนร้านค้าและร้านอาหาร

สิ่งสะสม

[แก้]

สิ่งสะสมของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยวัตถุทางชาติพันธุ์วรรณนา 2,500 ชิ้นที่รวบรวมตั้งแต่ พ.ศ. 2497 โดยแบ่งชุดสิ่งสะสมออกเป็น 16 รายการได้แก่ เครื่องจักสาน เครื่องครัว โลหวิทยา เครื่องดนตรี รูปปั้นขนาดเล็ก ประติมากรรมศิลาอึมบีกู (pierre de Mbigou) วัตถุโบราณคดี หีบวัตถุมงคล หน้ากาก ไม้เท้า การล่าสัตว์ เงินสินสอด เครื่องปั้นดินเผา การประมง เครื่องประดับ และเบ็ดเตล็ด

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีชุดสิ่งสะสมสื่อสารคดีที่รวบรวมผลงาน 2,627 รายการ และมีชุดสื่อภาพและเสียงที่ประกอบด้วยสิ่งบันทึกในด้านสุนทรียภาพ 4 สาขาได้แก่ นิทาน การเต้นรำ เพลง และเครื่องดนตรี จำนวน 1,114 รายการ

นิทรรศการ

[แก้]
  • 2540: จิตวิญญาณแห่งป่าแตร์ดูว์กาบง (Terres du Gabon)
  • 2548: หน้ากากศักดิ์สิทธิ์: การค้นพบหน้ากากของกาบอง[5]
  • 2557: พิธีกรรมและความเชื่อ[6]
  • 2562: กาบอง ดินแดนแห่งบวีตี (Bwiti), นิทรรศการภาพถ่ายของโอมาร์ บองโก ออนดิมบา (Omar Bongo Ondimba),[7] นิทรรศการ AtWork 24 ผลงานสร้างสรรค์โดยนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ร่วมสมัย[8]
  • 15 เมษายน – 15 มิถุนายน 2564: รากแห่งความหวัง - ฌอร์ฌ อึมบูรู (Georges M'Bourou)[9]
  • 20 ธันวาคม – 30 มิถุนายน 2565: เส้นใยและรูปทรง: เครื่องจักสานกาบองทุกรูปแบบ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Gabon: le musée national souffle sa 47ème bougie". Pyramid Medias Gabon (ภาษาฝรั่งเศส). 18 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2021.
  2. "Le Gabon va inaugurer en février prochain d'un nouveau musée national". Gabon Matin (ภาษาฝรั่งเศส). Binto Media. 20 ธันวาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2021.
  3. Louis Perrois (1971). "Le musée des arts et traditions du Gabon" (PDF). Museum International (ภาษาฝรั่งเศส). 23 (3): 194–214. ISSN 1020-2226.
  4. Louis Perrois (1986). Les chefs-d’œuvre de l'art gabonais au Musée des Arts et Traditions de Libreville (PDF) (ภาษาฝรั่งเศส). Libreville Okoumé: Rotary Club. pp. 9–10.
  5. "Murmures | Africultures : "Le Musée National des Arts et Traditions du Gabon à la reconquête de ses lettres de noblesse"". Africultures (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2021.
  6. "Musée national/Exposition". aLibreville.com. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2021.
  7. "Exposition photographique sur Omar Bongo : 17 000 visiteurs !". L'Uunion | L'actualité du Gabon (ภาษาฝรั่งเศส). L'Union sonapresse. 23 ธันวาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2021.[ลิงก์เสีย]
  8. Korzhenevich, Elena (16 กรกฎาคม 2019). "AtWork Libreville : la voix de la nouvelle génération". Moleskine Foundation (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2022.
  9. "Événements à venir | Les racines de l'espoir – Georges M'Bourou" (ภาษาฝรั่งเศส). Le Pratique du Gabon. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]