ข้ามไปเนื้อหา

พิธีตัดไม้ข่มนาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิธีตัดไม้ข่มนาม เป็นพิธีโบราณทางไสยศาสตร์ก่อนออกสงคราม โดยหาไม้ที่มีชื่อเหมือนหรือสําเนียงคล้ายชื่อข้าศึกมาตัดให้ขาดเพื่อเอาชัย[1] พิธีนี้ปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงคราม เป็นพิธีที่ประกอบร่วมกับพิธีตั้งโขลนทวาร[2]

ผู้ทำพิธีจะตั้งโรงพิธีขึ้น เอาดินจากใต้สะพาน ดินท่าน้ำ ดินในป่าช้า อย่างละ 3 แห่ง มาผสมปั้นเป็นรูปข้าศึก แล้วเขียนชื่อแม่ทัพข้าศึก ลงยันต์พุทธจักร บรรลัยจักร ทับลงบนชื่อนั้น แต่งตัวหุ่นเป็นตามเพศภาษาข้าศึก เอาต้นกล้วยและไม้มีชื่อร่วมตัวอักษรเดียวกับชื่อของข้าศึกหรือผู้เป็นแม่ทัพ มาปลุกเสกในโรงพิธีแล้วเอาหุ่นผูกติดกับต้นกล้วย เอาไม้นั้นประกบกันเข้า หลังจากนั้นพราหมณ์อ่านพระเวท เมื่อได้ฤกษ์แล้วพระมหากษัตริย์จะมีพระบรมราชโองการให้ขุนพลทหารคนใดคนหนึ่งทำพิธีแทน โดยพระราชทานพระธำมรงค์เนาวรัตน์และพระแสงดาบอาญาสิทธิ์แล้วให้ขุนพลใช้ดาบอาญาสิทธิ์ฟันไม้นั้นให้ขาดใน 3 ที แล้วกลับเข้าไปบังคมทูลว่าได้ปราบข้าศึกมีชัยชนะตามพระราชโองการ พร้อมทั้งถวายพระแสงดาบอาญาสิทธิ์และพระธำมรงค์คืน[3] ส่วนวิธีอื่นเช่น เขียนชื่อของข้าศึกลงในกาบหยวกจากนั้นทำเช่นเดียวข้างต้น เหยียบใบไม้ที่มีพยัญชนะต้นเป็นกาลกิณีของศัตรู เป็นต้น

ในปัจจุบันพิธีตัดไม้ข่มนามหาชมยาก จะเป็นเพียงการแสดงรำดาบครู โดยจะใช้ดาบครูแทนดาบอาญาศึก ไม่มีการปั้นหุ่นข้าศึก ผู้รำจะเริ่มด้วยการเข้าทรง ท่าการร่ายรำทั้งหลายมาจากจิตสำนึกในขณะช่วงที่รำโดยไม่มีการฝึกซ้อมมาก่อน[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ตัดไม้ข่มนาม". สนุก.คอม.
  2. "โขลนทวาร (๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  3. พัชลินจ์ จีนนุ่น. "วรรณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์" (PDF). มหาวิทยาลัยทักษิณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-09-11. สืบค้นเมื่อ 2022-09-11.
  4. "พิธีตัดไม้ข่มนาม".