พิทักษ์ รังสีธรรม
พิทักษ์ รังษีธรรม อดีตนักธุรกิจชาวไทยที่มีชื่อเสียง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง (ส.ส.ตรัง) 1 สมัย
นายพิทักษ์ เกิดเมื่อปี 10 ตุลาคม พ.ศ. 2485[1] ที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนทับเที่ยงฮั่วเฉียว และศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนตรังวิทยา จบไฮสกูลจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย และสอบได้เกียรตินิยม จากนั้นได้ทำงานที่บริษัท มารูเบนิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยที่โรงแรมฟูจิ และที่สถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
จากนั้น นายพิทักษ์ได้เดินทางกลับจังหวัดตรังบ้านเกิด ประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร "รังสีวิลลา" ในเขตเทศบาลนครตรัง และยังประสบความสำเร็จในธุรกิจหลาย ๆ ด้าน เช่น โรงแรมเอ็ม.พี.รีสอร์ต หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "โรงแรมเรือ", โรงยางพารา, เคเบิลทีวี, โรงเรียน เป็นต้น
ในทางการเมือง นายพิทักษ์ ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นครั้งแรกในสังกัดพรรคก้าวหน้า ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2529 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้รับการเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาชน (ก่อนที่จะย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย ในเวลาต่อมา) ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันพอสมควร เนื่องจากเป็น ส.ส. ได้ในเขตจังหวัดตรัง โดยที่มิได้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จนได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งของนายชวน หลีกภัย[2] ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย
นายพิทักษ์ มีตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ เช่น เลขาธิการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และได้รับรางวัลทางสังคมต่าง ๆ เช่น รางวัลพระราชทานพ่อตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ. 2536, รางวัลพระราชทาน "โล่ห์เสมาธรรมจักร" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นแปซิฟิค สาขาเศรษฐศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จากนั้นนายพิทักษ์ได้ลงเลือกตั้งในท้องถิ่นจังหวัดตรังอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
นายพิทักษ์เสียชีวิตลงเมื่อเวลา 00.39 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550[1] ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพมหานคร ด้วยภาวะแทรกซ้อนของหลายอาการทั้งน้ำท่วมปอด และเกิดความผิดปกติของตับ ซึ่งเดิมนายพิทักษ์ก็ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมาก่อนแล้ว สิริอายุได้ 65 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[3]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ""พิทักษ์ รังษีธรรม" สิ้นตำนานนักสู้ "การเมือง-ธุรกิจ" เมืองตรัง". mgronline.com. 2007-12-04.
- ↑ "สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 16". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-26. สืบค้นเมื่อ 2013-04-16.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2485
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2550
- บุคคลจากอำเภอย่านตาขาว
- ชาวไทยเชื้อสายจีน
- นักธุรกิจชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง
- พรรคก้าวหน้า (พ.ศ. 2526)
- พรรคประชาชน (พ.ศ. 2531)
- พรรคชาติไทย
- พรรคความหวังใหม่
- พรรคถิ่นไทย
- บุคคลจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ม.
- เสียชีวิตจากภาวะตับล้มเหลว