ข้ามไปเนื้อหา

พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า (พ.ศ. 2547)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า
พายุไต้ฝุ่นกำลังแรงอย่างมาก (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 4 (SSHWS)
พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าขณะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน
พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าขณะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน
พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าขณะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน
ก่อตัว 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
สลายตัว 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
ความเร็วลม
สูงสุด
เฉลี่ยลมใน 10 นาที:
155 กม./ชม. (100 ไมล์/ชม.)
เฉลี่ยลมใน 1 นาที:
215 กม./ชม. (130 ไมล์/ชม.)
ความกดอากาศต่ำสุด 950 เฮกโตปาสกาล (มิลลิบาร์ 28.05 นิ้วปรอท)
ผู้เสียชีวิต ผู้เสียชีวิต 68 คนในฟิลิปปินส์ 40 คนในเวียดนาม และ 1 คนในประเทศไทย
ความเสียหาย ไม่ทราบ
พื้นที่ได้รับ
ผลกระทบ
ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไทย
ส่วนหนึ่งของ
ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2547

พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า (Typhoon Muifa) เป็นชื่อพายุที่ตั้งขึ้นโดยมาเก๊า มีความหมายว่า ดอกเหมย เป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 2 ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในปีพ.ศ. 2547 โดยก่อนหน้านั้น พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าได้พัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์และเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในทั้งสองประเทศ และคาดการณ์กันว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นพายุที่เคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทย ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตามพายุหมุ่ยฟ้าได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย

ประวัติพายุ

[แก้]
เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุ

พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าได้เริ่มก่อตัวจากพายุดีเปรสชันเมื่อ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2547 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ทะเลฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเมื่อเวลา 14.00 ของวันที่ 14 และทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นเมื่อเวลา 06.00 ของวันที่ 17 โดยทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนมีความเร็วลมสูงสุดที่ 213 กิโลเมตร/ชั่วโมง [1] ต่อจากนั้นพายุเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ทะเลจีนใต้ แล้วอ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนเมื่อเวลา 12.00 ของวันที 20 ก่อนจะพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นอีกครั้งเมื่อเวลา 24.00 ของวันที่ 21 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนตามเดิมเมื่อเวลา 12.00 ของวันที่ 24 ในวันเดียวกันนี้พายุได้เคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทย ก่อนจะอ่อนกำลังลงอีกเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่อเวลา 12.00 ของวันที่ 25 พายุหมุ่ยฟ้าเคลื่อนขึ้นสู่ชายฝั่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 22.30 น. ที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนไปทางตะวันตกค่อนทางเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง [2] โดยท้ายที่สุดพายุหมุ่ยฟ้าก็อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและสลายตัวไปในบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความเสียหาย

[แก้]

พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 68 ราย บาดเจ็บ 160 ราย สูญหาย 69 ราย ในฟิลิปปินส์ และเสียชีวิต 40 ราย สูญหาย 42 รายในเวียดนาม สำหรับในประเทศไทย พายุไม่ได้ก่อความเสียหายอย่างหนักหน่วงตามที่วิตกกังวลกัน เนื่องจากมีบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปะทะ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังส่งผลให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง มีจังหวัดที่ได้รับความเสียหาย 5 จังหวัด 21 อำเภอ คือจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 3 คน บ้านพังทั้งหลัง 3 หลัง เสียหายบางส่วน 224 หลัง เรือประมงอับปาง 58 ลำ ถนนชำรุด 5 เส้น สะพานชำรุด 2 แห่ง ฝายน้ำล้นพัง 8 แห่ง มีผู้ได้รับผลกะทบ 1,269 ครัวเรือน 22,609 คน และมีการอพยพประชาชนไปยังที่พักพิงชั่วคราว 20,411 คน[3] พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้ายังทำให้เกิดฝนตกหนักใน 5 จังหวัดดังกล่าว โดยปริมาณน้ำฝนสูงสุดวัดได้ 251.5 มิลลิเมตร ที่อ.เมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 250.4 มิลลิเมตร ที่อ.ปะทิว จังหวัดชุมพร [4] นอกจากนี้ยังมีรายงานคลื่นลมแรงในบริเวณอ่าวไทย โดยมีคลื่นสูง 2.4 เมตร ในวันที่ 25 และ 3.4 เมตรในวันที่ 26 พฤศจิกายน [5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ข้อมูลทั่วไปและที่มาพายุหมุ่ยฟ้า"ข่าวสิ่งแวดล้อม ประชาไท 25 พฤศจิกายน 2547
  2. "ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยยาฉบับที่ 6 เรื่อง "พายุหมุ่ยฟ้า" " เก็บถาวร 2006-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมอุตุนิยมวิทยา 25 พฤศจิกายน 2547 เวลา 22.00 น.
  3. ข่าวราชการ มติคณะรัฐมนตรี พุธที่ 1 ธันวาคม 2547"สรุปสถานการณ์พายุโซนร้อน “หมุ่ยฟ้า" " เก็บถาวร 2012-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2547
  4. "รายงานสรุปสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “หมุ่ยฟ้า” วันที่ 27 พฤศจิกายน 2547"ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  5. "การใช้ แบบจำลอง SWAN เพื่อศึกษาลักษณะคลื่นในอ่าวไทยในช่วงที่เกิดพายไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ปี ที่ 19 ฉบับที่ 3 ก.ค.- ก.ย. 54

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]