พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา
พระเจ้าเปโดร | |
---|---|
ภาพเหมือนของพระเจ้าเปโดร ปี ค.ศ. 1857 | |
กษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออน | |
ครองราชย์ | 26/27 มีนาคม ค.ศ. 1350 – 13 มีนาคม ค.ศ. 1366 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา |
ประสูติ | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1334 บูร์โกส ราชอาณาจักรกัสติยา |
สวรรคต | 23 มีนาคม ค.ศ. 1369 (34 พรรษา) |
พระมเหสี | มาริอา เด ปาดิยา บล็องช์แห่งบูร์บง สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา ฆัวนา เด กัสโตร สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา |
พระบุตร | กอนส์ตันซาแห่งกัสติยา ดัชเชสแห่งแลงคัสเตอร์ อิซาเบลแห่งกัสติยา ดัชเชสแห่งยอร์ก |
ราชวงศ์ | บูร์กอญ |
พระบิดา | พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา |
พระมารดา | มารีอาแห่งโปรตุเกส สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา |
พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา (สเปน: Pedro de Castilla), เปโดรผู้โหดร้าย (Pedro El Cruel) หรือ เปโดรผู้เที่ยงธรรม (Pedro El Justiciero) เป็นกษัตริย์ชาวสเปนแห่งกัสติยาและเลออนตั้งแต่ ค.ศ. 1350 ถึง ค.ศ. 1369 คนในยุคเดียวกันกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นนักปกครองผู้แสนโหดร้าย ขณะที่นักประวัติในยุคหลังมองพระองค์เป็นผู้รักษาความยุติธรรมและให้ฉายานามแก่พระองค์ว่า "พระเจ้าเปโดรผู้ยึดหลักกฎหมาย"
วัยเยาว์
[แก้]เปโดรเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1334 ที่หอคอยของอารามซานตามาริอาลาเรอัลเดลัสอูเอลกัสในเมืองบูร์โกสของสเปน โดยเป็นพระโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา, เลออน และกาลิเซียกับมารีอาแห่งโปรตุเกส[1] พระมเหสีซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 4 แห่งโปรตุเกส หลังให้กำเนิดเปโดร มารีอากับพระโอรสถูกพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 ขับไล่ออกจากราชสำนัก พระองค์ได้อยู่กินกับสนมลับที่มีบุตรธิดาให้พระองค์ 10 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นบุตรชายชื่อฟาดริเกและเอนริเก
มารีอาถูกทิ้งให้ดูแลพระโอรสด้วยความขมขื่นที่อัลกาซาร์ในเซบิยา ภายใต้การดูแลของพระมารดา เปโดรได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีและเติบโตมาเป็นเด็กหนุ่มผู้รอบรู้ โปรดความบันเทิง ดนตรี และบทกวี
การขึ้นครองราชย์และการสมรส
[แก้]เดือนมีนาคม ค.ศ. 1350 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระบิดาของเปโดรสิ้นพระชนม์จากกาฬโรคที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วยุโรปขณะกำลังปิดล้อมชาวมัวร์ในฐานที่มั่นในยิบรอลตาร์ บัลลังก์กัสติยาได้ตกเป็นของเปโดรที่มีพระชนมายุไม่ถึง 16 พรรษาดี ราชสำนักถูกพระมารดาและขุนนางคนโปรดของพระนางครอบงำเนื่องจากกษัตริย์คนใหม่ยังอ่อนวัยและไร้ประสบการณ์ พระเจ้าเปโดรได้ดิ้นรนต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจควบคุมของพระมารดา ทรงหันไปหาฆวน อัลฟอนโซ เด อัลบูร์เกร์เก หัวหน้ารัฐมนตรีที่ได้ช่วยปลดปล่อยพระองค์ให้เป็นอิสระ
ในปี ค.ศ. 1352 พระเจ้าเปโดรได้พบกับมาริอา เด ปาดิยา ผู้งดงามโดยการแนะนำของอัลบูร์เกร์เก กษัตริย์ตกหลุมรักเธออย่างหัวปักหัวปำ อัลบูร์เกร์เกนั้นคิดว่ามาริอาจะเชื่อฟังคำสั่งของตนทุกอย่างแต่พระองค์กลับคิดผิด หญิงสาวมีความทะเยอทะยานและได้ชี้แนะแก่กษัตริย์ว่าหัวหน้ารัฐมนตรีของพระองค์ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพื่อรักษาตำแหน่งที่กำลังสั่นคลอน อัลบูร์เกร์เกได้โน้มน้าวพระเจ้าเปโดรให้ทรงสมรสกับบล็องช์แห่งบูร์บง หลานสาว (ลูกของพี่น้อง) ของพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ที่ต้องการได้กัสติยามาเป็นพันธมิตรร่วมต่อต้านอังกฤษ พิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่บายาโดลิดในปี ค.ศ. 1353 สถานการณ์ซ้ำรอยวัยเด็กของพระองค์ เมื่อหลังสมรสพระองค์ทรงทิ้งบล็องช์กลับไปหามาริอาทันที การกระทำดังกล่าวได้สร้างรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างกัสติยากับฝรั่งเศสและสมเด็จพระสันตะปาปา
มาริอา เด ปาดิยา มีบุตรธิดาให้พระเจ้าเปโดรสี่พระองค์ คือ
- เบอาตริซ (เกิด ค.ศ. 1353) สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกับพระบิดา
- กอนส์ตันซา (เกิด ค.ศ. 1354) สมรสกับจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ และเป็นมารดาของแคทเธอรีน พระชายาของพระเจ้าเอนริเกที่ 3 แห่งกัสติยา
- อิซาเบล (เกิด ค.ศ. 1355) สมรสกับเอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์ ดยุคแห่งยอร์ก พระโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ
- อัลฟอนโซ (เกิด ค.ศ. 1359) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
พระองค์ยังได้ทรงสมรสกับฆัวนา เด กัสโตร ที่โน้มน้าวให้พระองค์ทอดทิ้งพระราชินีมาสมรสกับตน แต่เพียงสองคืน พระนางก็ถูกกษัตริย์ทอดทิ้งไม่ต่างกับพระราชินีคนก่อน หลังพระเจ้าเปโดรสิ้นพระชนม์ ฆัวนาได้ให้กำเนิดพระโอรสที่สิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์ คือ
- ฆวน เด กัสติยา (ประสูติ ค.ศ. 1355)
พระราชินีบล็องช์สิ้นพระชนม์โดยไร้พระโอรสธิดาในปี ค.ศ. 1361 นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยมีพระเจ้าเปโดรทรงเป็นผู้บงการ
สงครามแย่งชิงบัลลังก์
[แก้]แทนที่จะต่อสู้กับชาวมุสลิมแห่งกรานาดาเหมือนเช่นกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ พระเจ้าเปโดรกลับทรงร่วมมือกับชนกลุ่มดังกล่าวเปิดสงครามกับอารากอน ระหว่างการทำสงครามพระองค์ได้เชิญฟาดริเก พระอนุชาต่างมารดามาเสวยมื้อเย็นและทุบพระเศียรจนเสียชีวิต สร้างความโกรธแค้นให้แก่เอนริเกแห่งตรัสตามารา ฝาแฝดของเฟดริเกที่หันไปเป็นพันธมิตรกับอารากอนก่อปฏิวัติต่อพระเจ้าเปโดรหลายครั้งแต่ก็โดนบดขยี้อย่างราบคาบ ในปี ค.ศ. 1356 เอนริเกได้หลบหนีไปฝรั่งเศสและได้เสนอตัวรับใช้กษัตริย์ฝรั่งเศส
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1356 ถึง ค.ศ. 1366 พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาทรงทำสงครามกับพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนที่สนับสนุนเอนริเก สงครามดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "สงครามสองเปโดร" โดยพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาทรงมีเป้าหมายอยู่ที่การอ้างสิทธิ์ในราชอาณาจักรบาเลนเซียซึ่งมีมูร์เซีย, เอลเช, อาลิกันเต และโอริอูเอลา ขณะที่พระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนทรงหวังครองความเป็นใหญ่ในเมดิเตอร์เรเนียนเหนือคู่แข่งอย่างกัสติยาและพันธมิตรของกัสติยาอย่างเจนัว ในสงครามครั้งนี้พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาได้ทรงสังหารประชาชนมากมายจนทำให้พระองค์ถูกกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์ผู้แสนโหดร้าย ทว่าพระองค์สามารถพิชิตการิญเญนา, เตรูเอล, เซกอร์เบ, มูร์บิเอโดร, อัลเมนารา, ชิบา และบุญโญล
ในปี ค.ศ. 1366 ด้วยการสนับสนุนจากพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศส, สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และพระเจ้าเปโดรที่ 4 เอนริเกสามารถรวบรวมกองทัพขนาดใหญ่อันประกอบด้วยทหารผ่านศึกฝรั่งเศสนำโดยแบร์ทร็อง ดูว์ แกลแกล็ง, ชาวอารากอน และทหารรับจ้างชาวอังกฤษที่ได้ทำการล้มล้างอำนาจของพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยาเพื่อให้เอนริเกได้ขึ้นครองตำแหน่งแทนพระองค์
พระเจ้าเปโดรได้หนีไปบายอน นครของกัสกอญซึ่งอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ ที่นั่นพระองค์ได้ขอความช่วยเหลือจากเอ็ดเวิร์ดเจ้าชายดำและบรรลุข้อตกลงพันธมิตรอังกฤษ-กัสติยาในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1362 พระเจ้าเฌามาที่ 4 แห่งมาจอร์กาได้เข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือแก่พระเจ้าเปโดรและปี ค.ศ. 1367 เอ็ดเวิร์ดเจ้าชายดำได้นำชาวอังกฤษเข้าทำสมรภูมิกับกองทัพพันธมิตรฝรั่งเศส-กัสติยาที่นาเฆรา สงครามจบลงความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของเอนริเกกับฝรั่งเศสชาติพันธมิตร พระเจ้าเปโดรได้กลับมาครองราชย์อีกครั้ง ทว่าความเป็นพันธมิตรกับชาวอังกฤษถึงคราวแตกแยกเมื่อพระองค์ได้สังหารนักโทษคนหนึ่งอย่างรุนแรงและไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่พันธมิตรชาวอังกฤษ
เอนริเกกลับมายังกัสติยาอีกครั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1368 พร้อมกับกองทหารฝรั่งเศสของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ไม่กี่เดือนต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1369 กองทัพของพระเจ้าเปโดรและเอนริเกได้เผชิญหน้ากันที่มอนติเอล เมืองป้อมปราการซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารคริสเตียนซานเตียโก สถานการณ์นำพาให้กษัตริย์เปิดโต๊ะเจรจากับพระอนุชาต่างมารดา ในตอนนั้นพระเจ้าเปโดรได้หันไปขอความช่วยเหลือจากดูว์ แกลแกล็ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นราชทูตของเอนริเก ทว่าพระองค์ถูกดูว์ แกลแกล็ง หักหลังจนเป็นเหตุให้ทรงถูกเอนริเกลอบสังหารในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1369 เป็นการจบสิ้นการปกครองกัสติยาของราชวงศ์บูร์กอญ เมื่อกษัตริย์คนใหม่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งราชวงศ์ตรัสตามารา
อ้างอิง
[แก้]- Peter of Castile: TFP
- Peter KING OF CASTILE AND LEON: Britannica
- Pedro the Cruel: Just History เก็บถาวร 2019-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Valdeón Baruque , Julio (2002). Pedro I the Cruel and Enrique de Trastámara . Madrid: Santillana Ediciones Generales, p. 48