พระเจ้าสุทโธทนะ
พระเจ้าสุทโธทนะ | |
---|---|
พระพุทธราชบิดา | |
พระเจ้าแคว้นสักกะ | |
ก่อนหน้า | พระเจ้าสีหหนุ |
ถัดไป | พระเจ้ามหานามะ |
พระราชสมภพ | พ.ศ.- 140 ปี กบิลพัสดุ์ สักกชนบท (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอินเดียหรือประเทศเนปาล[1][2]) |
สวรรคต | กบิลพัสดุ์ สักกชนบท พ.ศ.-40 ปี |
คู่อภิเษก | พระนางสิริมหามายา พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี |
พระราชบุตร | |
ราชวงศ์ | ศากยะ |
พระราชบิดา | พระเจ้าสีหหนุ |
พระราชมารดา | พระนางกัญจนา |
พระเจ้าสุทโธทนะ (บาลี: สุทฺโธทน; สันสกฤต: ศุทฺโธทน (शुद्धोदन); อักษรโรมัน: Suddhodana) มักเรียกว่า พระเจ้าสิริสุทโธทน์สุทรรศน์[3] มีพระนามราชสกุลว่าโคตมะ เป็นพระมหากษัตริย์แคว้นสักกะ (ซึ่งมีนครหลวงคือกรุงกบิลพัสดุ์) เป็นพุทธบิดาของพระโคตมพุทธเจ้า
พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหหนุกับพระนางกัญจนา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระชนกชนนีอีก 6 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าสุกโกทนะ พระเจ้าอมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา พระเจ้าสุทโธทนะมีพระอัครมเหสีนามว่าพระนางสิริมหามายา เจ้าหญิงโกลิยวงศ์จากกรุงเทวทหะ และมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้า และหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงอภิเษกสมรสใหม่กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาร่วมชนนีกับพระนางสิริมหามายา และมีพระโอรสคือ เจ้าชายนันทะ และพระธิดาคือ เจ้าหญิงรูปนันทา
พระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมและยึดมั่นในราชประเพณีอย่างเคร่งครัดในการปกครองบ้านเมือง[ต้องการอ้างอิง] ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์[ต้องการอ้างอิง] ทรงมุ่งหวังที่จะให้พระโอรสโดยเฉพาะสิทธัตถะได้รับเลือกจากสภาศากยะให้เป็นราชาสืบต่อจากตน แต่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และพอทราบว่า เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้าแล้ว จึงเชิญพระโคตมพุทธเจ้ากลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์
เมื่อพระโคตมพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์คราวนี้ พระเจ้าสุทโธทนะได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนา ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา บรรลุพระโสดาบันเป็นอุบาสก
ในพรรษาที่ 5 ของพระโคตมพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนัก พระโคตมพุทธเจ้าจึงเสด็จจากกูฎาคาร ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มายังเมืองกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ 7 วัน ในวันสุดท้าย พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลและนิพพาน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Tuladhar, Swoyambhu D. (November 2002), "The Ancient City of Kapilvastu - Revisited" (PDF), Ancient Nepal (151): 1–7
- ↑ Chris Hellier (March 2001). "Competing Claims on Buddha's Hometown". Archaeology. สืบค้นเมื่อ 21 March 2011.
- ↑ พจนานุกรมฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร
ก่อนหน้า | พระเจ้าสุทโธทนะ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าสีหหนุ | พระมหากษัตริย์แคว้นสักกะ |
พระเจ้ามหานามะ |