ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าซึบัชตีเยาแห่งโปรตุเกส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซึบัชตีเยา
พระบรมสาทิสลักษณ์ โดย กริชโตเวา ดึ มูราอิช
ป. 1571–74
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึช
ครองราชย์11 มิถุนายน ค.ศ. 1557 – 4 สิงหาคม ค.ศ. 1578
ราชาภิเษก16 มิถุนายน ค.ศ. 1557, ลิสบอน
ก่อนหน้าฌูเอาที่ 3
ถัดไปเอ็งรีกึ
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คาทารีนาแห่งออสเตรีย
(1557–1562)
อิงฟังตึเอ็งรีกึแห่งโปรตุเกส
(1562–1568)
พระราชสมภพ20 มกราคม ค.ศ. 1554
พระราชวังรีไบรา ลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส
หายสาบสูญ4 สิงหาคม ค.ศ. 1578
(24 พรรษา)
รัฐสุลต่านซาอาดี
ราชวงศ์อาวิช
พระราชบิดาเจ้าชายฌูเอา มานูแวล เจ้าชายรัชทายาทแห่งโปรตุเกส
พระราชมารดาโยฮันนาแห่งออสเตรีย
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าซึบัชตีเยา ( โปรตุเกส: Sebastião I[1] ; 20 มกราคม ค.ศ. 1554 – 4 สิงหาคม ค.ศ. 1578) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสและอัลการ์วึช ตั้งแต่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1557 ถึง 4 สิงหาคม ค.ศ. 1578 และเป็นพระมหากษัตริย์โปรตุเกสพระองค์รองสุดท้ายจากราชวงศ์อาวิช

พระองค์เป็นพระโอรสของ เจ้าชายฌูเอา มานูแวล เจ้าชายรัชทายาทแห่งโปรตุเกส และพระชายา โยฮันนาแห่งออสเตรีย ทรงเป็นพระราชนัดดาใน พระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส และ คาทารีนาแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส ทรงสูญหายไปใน ยุทธการที่อัลกาเซอร์กิบีร์ เพื่อต่อต้าน รัฐสุลต่านซาอาดีแห่งโมร็อกโก (คาดว่าสวรรคตในสมรภูมิ) พระเจ้าซึบัชตีเยา ทรงมีพระราชสมัญญาว่า ผู้เป็นที่ปรารถนา (โปรตุเกส: o Desejado) หรือ ผู้ถูกซ่อนเร้น (o Encoberto) เนื่องจากชาวโปรตุเกสต้องการให้พระองค์เสด็จนิวัตินครเพื่อทรงยับยั้งการเสื่อมถอยของโปรตุเกสที่เริ่มต้นหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์ถือเป็นตัวอย่างของกษัตริย์ที่หลับใหลอยู่บนภูเขา โดยเป็นตำนานของโปรตุเกส ซึ่งกล่าวว่าการเสด็จกลับมาของพระองค์จะมีขึ้นในยามรุ่งสางที่ปกคลุมด้วยหมอก ในยามที่โปรตุเกสต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]
พระเจ้าซึบัชตีเยาเมื่อแรกพระราชสมภพใน Sentenças para a Ensinança e Doutrina do Principe, 1554

พระเจ้าซึบัชตีเยาเสด็จพระราชสมภพในช่วงเช้าของวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1554 (วันสมโภชนักบุญเซบาสเตียน) และพระองค์ได้การตั้งพระนามตามนักบุญเพื่อเป็นอนุสรณ์ พระนาม ซึบัชตีเยา (เซบาสเตียน) ถือเป็นพระนามที่แปลกสำหรับพระราชวงศ์ยุโรปในยุคนั้น

ยุวกษัตริย์

[แก้]

เสด็จพระราชสมภพเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงของราชบัลลังก์โปรตุเกส เนื่องจากพระองค์พระราชสมภพในสองสัปดาห์หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดา [2] หลังจากที่พระราชสมภพได้ไม่นาน โยฮันนาแห่งออสเตรีย พระราชมารดาก็จำต้องทรงละทิ้งพระโอรสทารก [3] เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งสเปนในพระปรมาภิไธยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ผู้เป็นพระบิดาของพระนาง [4] หลังจากที่พระองค์สละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1556 พระนางก็ทรงทำหน้าที่ถวายพระเชษฐาของพระองค์ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน เช่นกัน โยฮันนาประทับอยู่ในสเปนจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1573 และไม่เคยได้ทรงพบกับพระโอรสอีกเลย

อิงฟังตึซึบัชตีเยาสืบราชสมบัติเป็รพระมหากษัตริย์โปรตุเกสและอัลการ์วึชเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา หลังจากเสด็จสวรรคตของพระเจ้าฌูเอาที่ 3 พระบรมราชอัยกา [3] เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ พระราชอัยยิกาของพระองค์ คาทารีนาแห่งออสเตรีย [3] ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อน จากนั้น พระคาร์ดินัล เอ็งรีกึแห่งเอโวรา ผู้เป็นพระอนุชาของพระบรมราชอัยกาจึงทรงทำหน้าที่ต่อ[3] ช่วงเวลานี้ได้เห็นการขยายตัวของอาณานิคมโปรตุเกส อย่างต่อเนื่องใน บราซิล [2] แองโก ลา โมซัมบิก และ มะละกา [2] รวมถึงการผนวกมาเก๊า ในปี ค.ศ. 1557 [2]

พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงเป็นเด็กหนุ่มที่สดใสและมีชีวิตชีวา ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทต่างบรรยายถึงพระองค์ว่าทรงเป็นผู้กล้าหาญ เนื่องมาจากพระวรกายที่แข็งแรงอย่างยิ่ง สูง ผอม และพระเกศาสีบลอนด์ [3] พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูโดยคาทารีนาแห่งออสเตรีย พระอัยยิกา พระนางเป็นผู้หญิงที่ชอบสั่งการและทรงควบคุมพระราชนัดดาอย่างเข้มงวด พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงเป็นเด็กที่เชื่อฟัง แต่ต่อมา พระองค์ก็ทรงกลายเป็นคนดื้อรั้นและหุนหันพลันแล่น

การศึกษา

[แก้]
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระเจ้าซึบัชตีเยาแห่งโปรตุเกส อาฟงซู ซังชึช กูอึลโญ 1562

ยุวกษัตริย์ทรงเจริญพระชนม์ขึ้นมาภายใต้การชี้นำและอิทธิพลอันหนักแน่นของคณะเยสุอิต [4] อเลโซ เด เมเนเซส ทหารผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและอดีตพระอาจารย์และองครักษ์ของเจ้าชายฌูเอา ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์ของซึบัชตีเยา [2]

การชี้แนะของเขาทำให้พระเจ้าซึบัชตีเยาทางเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพกสำเนาของ โทมัส อะควีนาส ไว้ที่รัดพระองค์และมีนักบวชจากคณะ Theatine สองคนคอยติดตามตลอดเวลา ซึ่งพวกเขาตั้งใจที่จะรักษาความบริสุทธิ์ของพระองค์ไว้ เล่ากันว่าตอนเด็กๆ พระองค์จะทรงตอบสนองต่อผู้มาเฝ้าด้วยการวิ่งไปซ่อนพระองค์กับพระสงฆ์จนกว่าผู้มาเยือนจะกลับไปหมด

แผนการเสกสมรส

[แก้]

พระเจ้าซึบัชตีเยาเสด็จสวรรคตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และไม่ได้เสกสมรส อย่างไรก็ตาม ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสกสมรสที่ได้รับการเสนอหลายครั้ง [2] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาเตรีนา เด เมดีชี สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส ได้ทรงวางแผนมาเป็นเวลานานที่จะให้ มาร์เกอริตแห่งวาลัว พระราชธิดาพระองค์เล็ก เสกสมรสกับพระเจ้าซึบัชตีเยา ซึ่งแผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน พระปิตุลาของพระองค์

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงยุติแผนนั้นโดยทรงประกาศว่า ทรงไม่พอพระทัยกับการปราบปรามชาวโปรเตสแตนต์อูว์เกอโนในฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อย และทรงไม่ต้องการผูกมัดพระองร์เองกับราชวงศ์วาลัว จนกว่าจะทรงเห็นว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร ต่อมาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสกสมรสกับมาร์เกอริต โดยทรงได้รับการหว่านล้อมจากสมณทูตของพระสันตปาปา เพื่อป้องกันไม่ให้มาร์เกอริตทรงเสกสมรสกับพระเจ้าอ็องรีแห่งนาวาร์ผู้เป็นชาวอูว์เกอโน อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น กษัตริย์ฝรั่งเศสและพระราชชนนีทรงตั้งพระทัยให้มาร์เกอริตเสกสมรสกับอ็องรีอยู่แล้ว การสู่ขอของพระเจ้าซึบัชตีเยาถูกปฏิเสธ และมาร์เกอริตทรงเสกสมรสกับอ็องรีในปี ค.ศ. 1572 [2]

พระเจ้าซึบัชตีเยายังทรงได้รับการเสนอให้เสกสมรสกับ เอลิซาเบ็ทแห่งออสเตรีย ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ โดยทรงเป็นพระราชธิดาของจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 2 (พระราชภาติยะในคาร์ลที่ 5) ในปี ค.ศ. 1577 ซึบัชตีเยาเองก็ได้ทรงสู่ขอ อินฟันตาอิซาเบล กลารา เอวเฆเนีย ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระองค์

ช่วยท้ายรัชกาล

[แก้]
ซึบัชตีเยา พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส (ประมาณ ค.ศ. 1565) – โดย กริชโตเวา ดึ มูราอีช

ระหว่างการครองราชย์อันสั้นของพระเจ้าซึบัชตีเยา พระองค์ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์กับ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ผ่านความพยายามทางการทูต พระองค์ยังทรงปรับโครงสร้างการบริหาร ตุลาการ และการทหารในราชอาณาจักรของพระองค์ใหม่เป็นส่วนใหญ่ ในปี ค.ศ. 1568 พระเจ้าซึบัชตีเยาได้พระราชทานทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องการศึกษาแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยกูอิงบรา

ในปีเดียวกันนั้น พระองค์ได้พระราชทานรางวัลแก่ชาวพื้นเมืองในบราซิล ซึ่งช่วยต่อสู้กับฝรั่งเศส หัวหน้าเผ่า Temiminós ชื่อ Arariboia ได้รับพระราชทานที่ดินใกล้อ่าวกวานาบารา ในปี ค.ศ. 1569 พระเจ้าซึบัชตีเยาโปรดให้ ดูวาร์ตึ นูนึช ดึ เลเอา รวบรวมกฎหมายและเอกสารทางกฎหมายทั้งหมดของราชอาณาจักรประมวลไว้ใน Leis Extravagantes ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Código Sebastiânico (ประมวลกฎหมายของซึบัชตีเยา)

ในระหว่างที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในเมืองลิสบอน เมื่อปี ค.ศ. 1569 พระเจ้าซึบัชตีเยาโปรดให้ส่งแพทย์จากเมืองเซบียาไปช่วยแพทย์ชาวโปรตุเกสต่อสู้กับโรคระบาด ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลสองแห่งในกรุงลิสบอนเพื่อดูแลผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้

ด้วยทรงห่วงใยต่อหญิงม่ายและเด็กกำพร้าของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด พระองค์จึงโปรดให้สร้าง Recolhimentos (ที่พักพิง) หลายแห่ง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Recolhimento de Santa Marta (ที่พักพิงซังตามาร์ตา) และ Recolhimento dos Meninos (ที่พักพิงสำหรับเด็ก) และจัดหาพี่เลี้ยงเด็กมาดูแลเด็กทารกด้วย

การปฏิรูปกฎหมาย

[แก้]

พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงสร้างกฎหมายสำหรับกองทหารที่เรียกว่า Lei das Armas ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นรูปแบบองค์กรทางทหาร เมืองกัวถูกโจมตีโดยพันธมิตรเอเชียในปี ค.ศ. 1570 ระหว่าง สงครามสันนิบาตอินเดีย แต่ชาวโปรตุเกสก็สามารถตอบโต้การโจมตีนั้นได้สำเร็จ นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1570 พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงมีพระราชปรารภว่าไม่ควรใช้ชาวอินเดียนบราซิลเป็นทาส และมีพระบรมราชโองการให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง

ในปี ค.ศ. 1572 กวีนามว่า ลูอิช ดึ กามออึช ได้ถวายผลงานชิ้นเอก อุชลูซีอาดัช ของเขาแด่พระเจ้าซึบัชตีเยา ซึ่งทำให้เขาได้รับพระราชทานเงินบำนาญหลวง ในปี ค.ศ. 1573 พระองค์ทรงโปรดให้สร้างมหาวิหารหลวงที่ คาสโตรแวร์เด เพื่อเป็นการรำลึกถึง ยุทธการที่อูริก ในปี ค.ศ. 1575 พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติ Carta de Lei de Almeirim ขึ้น โดยทรงวางระบบมาตราชั่ง ตวง วัด สำหรับผลิตภัณฑ์ของแข็งและของเหลว และยังได้กำหนดบทบาทของข้าราชการอีกด้วย

พระบรมสาทิสลักษณ์ ซึบัชตีเยาแห่งโปรตุเกส ; กริชโตเวา ดึ มูราอิช, ค.ศ. 1572.

Celeiros Comuns (โรงเก็บธัญพืชของชุมชน) ได้รับการก่อตั้งในปี ค.ศ. 1576 ตามพระราชบัญชาของพระเจ้าซึบัชตีเยา สถาบันเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยากจนในช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยให้สินเชื่อและให้ยืมเมล็ดพันธุ์และสินค้าโภคภัณฑ์แก่ผู้ขัดสน พวกเขาได้รับอนุญาตให้ชำระหนี้คืนด้วยผลิตภัณฑ์จากฟาร์มเมื่อพวกเขาฟื้นตัวจากการขาดทุน

นักคณิตศาสตร์และนักจักรวาลวิทยา เปดรู นูนึช ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระเจ้าซึบัชตีเยาให้เป็นอาจารย์สอนจักรวาลวิทยาสำหรับนักท่องทะเล

ในปี ค.ศ. 1577 ทรงออกพระราชกฤษฎีกา ชื่อ Da nova ordem do juízo, sobre o abreviar das demandas, e execução dellas ได้ลดระยะเวลาในการจัดการดำเนินคดีทางกฎหมาย ควบคุมการดำเนินการของทนายความ เจ้าพนักงานศาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งกำหนดค่าปรับสินไหมสำหรับความล่าช้า

พระราชกรณียกิจสุดท้าย

[แก้]

หลังจากที่ทรงบรรลุนิติภาวะในปี ค.ศ. 1568 พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงนึกถึงสงครามครูเสดครั้งใหญ่ที่จะทรงต่อสู้กับราชอาณาจักรโมร็อกโก

การแย่งชิงราชสมบัติของโมร็อกโกทำให้พระองค์สบโอกาส เมื่อ อาบู อับดุลละฮ์ โมฮัมเหม็ดที่ 2 ซาอาดี สูญเสียบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1576 และเสด็จลี้ภัยไปยังโปรตุเกส เมื่อเสด็จมาถึงแล้ว ทรงขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าซึบัชตีเยาในการเอาชนะพระปิตุลาของอาบู อับดุลละฮ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกีและเป็นคู่แข่งของอาบู อับดุลละฮ์คือ อาบู มัรวัน อับดุลมาลิกที่ 1 ซาอาดี [3]

ในช่วงคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1577 พระเจ้าซึบัชตีเยาได้เข้าเฝ้ากับพระปิตุลา พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ที่เมืองกัวดาเลเป พระเจ้าเฟลิเปทรงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในสงครามครูเสดเนื่องจากพระองค์กำลังเจรจาสงบศึกกับจักรวรรดิออตโตมัน แม้ว่าพระองค์จะทรงสัญญาว่าจะส่งอาสาสมัครชาวสเปนมาร่วมด้วยก็ตาม [3]

แม้ว่าพระเจ้าซึบัชตีเยาจะไม่มีพระราชโอรสและรัชทายาท แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในสงครามครูเสดในปี ค.ศ. 1578 กองทัพโปรตุเกสจำนวน 17,000 นาย รวมถึงทหารรับจ้างต่างชาติจำนวนมากที่รับจ้างมาจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เนเธอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี [3] และขุนนางเกือบทั้งหมดของประเทศ ได้ออกเดินทางจากลิสบอนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พวกเขาไปเยือนเมืองกาดิซ ซึ่งพวกเขาคาดว่าจะพบอาสาสมัครชาวสเปนที่ไม่มาปรากฏตัว จากนั้นจึงข้ามไปยังประเทศโมร็อกโก

ธงประจำพระองค์ของพระเจ้าซึบัชตีเยา

การหายสาบสูญและการสวรรคตในสมรภูมิ

[แก้]

ที่อาร์ซิลา พระเจ้าซึบัชตีเยาได้ทรงร่วมเดินทัพกับพันธมิตร อาบู อับดุลละฮ์ โมฮัมเหม็ดที่ 2 ซึ่งมีทหารมัวร์ประมาณ 6,000 นาย และเดินทัพเข้าสู่แผ่นดินภายในประเทศโดยไม่ฟังคำแนะนำของผู้บังคับบัญชา [3] ใน ยุทธการที่อัลกาเซอร์กิบีร์ (ยุทธการสามกษัตริย์) กองทัพโปรตุเกสถูกกองทัพอับดุลมาลิกบุกโจมตีโดยมีกำลังพลกว่า 60,000 นาย

พระเจ้าซึบัชตีเยาทรงเกือบจะถูกฆ่าตายในการสู้รบอย่างแน่นอน พระองค์ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายขณะทรงขับม้าพุ่งชนแนวรบของศัตรู ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเคยพบพระบรมศพหรือไม่ แต่พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปนอ้างว่าได้รับพระบรมศพมาจากโมร็อกโกและอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ใน อารามฌึโรนีมุช ใน เบเลง ลิสบอน หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองบัลลังก์โปรตุเกสในปี ค.ศ. 1580 [3] อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ว่าร่างนั้นเป็นพระบรมศพของพระเจ้าซึบัชตีเยา ซึ่งทำให้บางคนไม่เชื่อว่าพระเจ้าซึบัชตีเยาเสด็จสวรรคตแล้ว เอ็งรีกึ พระอนุชาของพระบรมราชอัยกาของพระองค์จึงสืบราชสมบัติต่อ

พระราชมรดก

[แก้]
พระบรมสาทิสลักษณ์ โดย อาฟงซู ซังชึช กูอึลโญ, c. ค.ศ. 1574–1578

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา พระบุคลิกภาพและพระราชมรดกของพระเจ้าซึบัชตีเยาก่อให้เกิดการกล่าวถึงมากมาย ทั้งในแง่ลบและบวก [3] ทิโมธี โคตส์ เขียนว่า:

...พระองค์เป็นเด็กหนุ่มที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและดื้อรั้น การยืนกรานของพระองค์ในการยึดครองดินแดนไอบีเรียคืนจากผู้ปกครองที่เป็นอิสลามในโมร็อกโก ไม่เพียงแต่ส่งผลให้พระองค์เสด็จสวรรคตเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์อาวิชในที่สุด[5]

แอนโทนี อาร์. ดีสนีย์ หนึ่งในนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โปรตุเกสคนสำคัญ ได้แสดงความคิดเห็นในทางกลับกันว่า:

พระเจ้าซึบัชตีเยาเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในบรรดาพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสที่ทรงครองราชย์มา พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ท่ามกลางความโทมนัส และทรงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นคำตอบรับคำอธิษฐานของราษฎร และเป็นเจ้าชายที่จะปกป้องเอกราชของประเทศ สองทศวรรษต่อมา พระองค์ทรงประสบผลสำเร็จในทางตรงกันข้าม โดยเสด็จสวรรคตอย่างกล้าหาญแต่ไม่จำเป็นในสมรภูมิอัล-คซาร์ อัล-คาบีร์ ทางเหนือของแอฟริกา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1578 โดยไม่เหลือรัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ [...] พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์อย่างสมถะ ทรงตราพระราชบัญญัติหลายฉบับ และทรงมีพระเมตตาต่อผู้ยากไร้เป็นอย่างยิ่ง [6]

ผู้แอบอ้าง

[แก้]
หลุมศพในอารามฌึโรนีมุชในลิสบอน สร้างขึ้นตามพระราชบัญชาของ พระเจ้าฟีลิปึที่ 1 แห่งโปรตุเกส และมีร่างที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นพระเจ้าซึบัชตีเยา

ภายหลังความพ่ายแพ้ที่อัลกาเซอร์คิบีร์ มีความพยายามมากมายในการเรียกค่าไถ่ทหารโปรตุเกสที่ถูกคุมขังในโมร็อกโก ทหารหลายนายเดินทางกลับโปรตุเกส ซึ่งทำให้ชาวโปรตุเกสหลายคนเชื่อว่าพระเจ้าซึบัชตีเยาทรงรอดชีวิตจากการต่อสู้และจะกลับมาเพื่อเรียกร้องบัลลังก์ของพระองค์เอง สิ่งนี้ทำให้เกิด ลัทธิซึบัชตีเยา ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าซึบัชตีเยาอาจเสด็จกลับมาเมื่อใดก็ได้ [3] ในทางการเมือง มีความเชื่อว่าพระเจ้าฟีลิปึไม่ใช่รัชทายาทโดยชอบธรรมที่จะสืบทอดบัลลังก์ ต่อมามีผู้อ้างสิทธิ์เป็นพระมหากษัตริย์ทั้งในโปรตุเกสและกัสตียา โดยแอบอ้างว่าตนเองเป็นกษัตริย์ ในช่วงเวลาของสหภาพไอบีเรีย ระหว่างปี ค.ศ. 1580 ถึง 1640 มีผู้แอบอ้างสี่คนอ้างว่าตนเองเป็นพระเจ้าซึบัชตีเยาที่กลับมาครองราชย์อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงกาเบรียล เด เอสปิโนซาด้วย ผู้แอบอ้างคนสุดท้ายซึ่งเป็นชาวอิตาลี ถูกแขวนคอในปี 1619 ในขณะที่ชาวสเปนอีกคนถูกจับกุมจากเมืองเวนิส พิจารณาคดีแล้วพบว่ามีความผิด และถูกแขวนคอในปี 1603 [7] [8]

จนถึงปัจจุบัน มีนิทานปรัมปราและตำนานมากมายเกี่ยวกับพระเจ้าซึบัชตีเยาปรากฏขึ้น เรื่องราวหลักๆ ก็คือ พระองค์เป็นชาวโปรตุเกสผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ เป็น "กษัตริย์ที่หลับใหล" ที่จะเสด็จกลับมาทรงป้องปัดพยันตรายช่วยเหลือโปรตุเกสในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด (คล้ายคลึงกับ กษัตริย์อาเธอร์แห่งอังกฤษ เฟรเดอริก บาร์บารอสซาแห่งเยอรมนี หรือ คอนสแตนตินที่ 11 ปาลีโอโลกัสแห่งไบแซนไทน์)

พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในพระราชสมัญญาว่า O Encoberto (ผู้ทรงห่อหุ้มพระวรกาย) ซึ่งจะเสด็จนิวัติกลับมาในเช้าที่มีหมอกหนาเพื่อช่วยเหลือโปรตุเกส หรือในชื่อ O Desejado (ผู้เป็นที่ปรารถนา) แม้กระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวนาในลัทธิซึบัชตีเยา ในเมืองคานูโดสในเซอร์เตาของบราซิลยังเชื่อว่ากษัตริย์จะเสด็จกลับมาช่วยเหลือพวกเขาใน การกบฏต่อสาธารณรัฐบราซิล

พระชนม์ชีพของพระเจ้าซึบัชตีเยาถูกนำมาสร้างเป็นละครในปี พ.ศ. 2386 ในโอเปร่าเรื่อง Dom Sébastien โดยนักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี ชื่อ Gaetano Donizetti นักเขียนบทละครชาวเบลเยียม Paul Dresse ยังได้แสดงชีวิตของเขาในละครปี 1975 เรื่อง Sébastien de Portugal ou le Capitaine de Dieu ตำนานการหายพระองค์ไปและการเสด็จกลับมาของพระเจ้าซึบัชตีเยาเป็นพื้นฐานสำหรับเพลงยอดนิยม " A Lenda d'El Rei D. Sebastião" (“ตำนานพระเจ้าซึบัชตีเยา”) โดยวงดนตรีโปรตุเกส Quarteto 1111 (พ.ศ. 2511)

ในโมร็อกโก

[แก้]

แม้ว่าจะทรงพ่ายแพ้ในสมรภูมิ แต่กิตติศัพท์ของพระเจ้าซึบัชตีเยาในโมร็อกโกก็ยังคงเป็นไปในเชิงบวกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในฐานะสัญลักษณ์ของอุดมคติอันสูงส่งของอัศวิน ในระหว่างการเดินทางสำรวจโบราณคดีผ่าน เขตอารักขาของสเปนในโมร็อกโก ในปี 1923 นักโบราณคดี นักมุทราศาสตร์ และ นักประวัติศาสตร์เชื้อสาย โปรตุเกสที่มีชื่อเสียง นามว่า อาฟงซู ดึ ดูนึลลัช ได้รับแจ้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เอล ฮัช อับด์ เซลัม เบน เอล อัรบี เบนูนา ว่า "การที่กษัตริย์ละทิ้งความยิ่งใหญ่ ชีวิตที่หรูหรา มีเสน่ห์ และออกเดินทางเป็นกลุ่มพร้อมกับประชาชนเพื่อต่อสู้เพื่อศรัทธาที่นี่" ถือเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม แม้ว่า เบนูนาจะประหลาดใจเมื่อรู้ว่าชาวโปรตุเกสไม่แน่ใจว่าอัฐิในเบเลงเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าซึบัชตีเยาหรือไม่ [9] ที่อาซิลาห์ ผู้ว่าราชการบาซา เซริเฟ ซิด มุสตาฟา เบน ไรซุน ผู้ได้รับมอบหมายจากดูร์นึลลัช กล่าวว่า "ที่นี่คือที่ที่พระเจ้าซึบัชตีเยาเสด็จยกพลขึ้นบก พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ของโปรตุเกส ซึ่งเรายังคงยกย่องพระองค์จนถึงทุกวันนี้ เสมือนว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงปรีชาที่สุดของเรา" [9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Rendered as Sebastiam in Archaic Portuguese
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 McMurdo 1888.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 Stephens 1891.
  4. 4.0 4.1 Dyer 1877.
  5. Timothy Coates, "Habsburg Iberia Points West", History Today (March 2018) 68#3 pp. 14–16.
  6. Anthony Disney: A History of Portugal and the Portugues Empire from Beginnings to 1807 Volume 1, Cambridge University Press, 2009, pp. 173–175
  7. Ruth MacKay, The Baker Who Pretended to Be King of Portugal (University of Chicago Press, 2012).
  8. Dian Fox, "From King Sebastian of Portugal to Miguel de Cervantes and don Quijote: A Genealogy of Myth and Influence". MLN 135, no. 2 (2020): 387–408.
  9. 9.0 9.1 Affonso de Dornellas: De Ceuta a Alcácer Kibir em 1923, Casa Portuguesa, 1924. pp. 445–450.
  •  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Sebastian (king)" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
  • História e histórias – Castro Verde, Joaquim Boiça/Rui Mateus, Artinvento, Região de Turismo da Planicie Dourada/Câmara Municipal de Castro Verde; ISBN 978-972-97418-9-0
  • Antas, Miguel Martins de (1988). Os Falsos Dom Sebastião, 2a. Edição, tr. Maria de Fátima Boavida, comment. Francisco Sales de Mascarenhas Loureiro. Lisboa: Europress.
  • Baños-Garcia, António Villacorta (2001). Don Sebastián, Rey de Portugal. Barcelona.
  • Dyer, Thomas Henry (1877). Modern Europe Vol II.
  • Eborense, André Rodrigues (1984). Sentenças para a Ensinança e Doutrina do Príncipe D. Sebastião, facsimile do manuscrito inédito da Casa Cadaval, intr. Luís de Matos, anot. Aristides Pinheiro e Abílio Rita. Lisboa: Banco Pinto & Sotto Mayor,
  • Fernandes, Maria de Lurdes Correia (1991). «Francisco de Monzón, capelão e pregador de D. * Loureiro, Francisco de Sales de Mascarenhas (1973). «O padre Luís Gonçalves da Câmara e Dom Sebastiäo» in separata da revista O Instituto, no. 136. Coimbra.
  • Loureiro, Francisco de Sales de Mascarenhas (1978). «Relação de Vida d'Elrey D. Sebastião do Pe. Amador Rebelo» in separata da Revista da Faculdade de Letras', 4a. série, no. 2. Lisboa: Faculdade de Letras da Universidade de Lisboa.
  • Loureiro, Francisco de Sales de Mascarenhas (intr. e notas) (1987). Crónica do Xarife Mulei Mahamet e d'El-Rei D. Sebastião 1573–1578. Lisboa: Europress.
  • Loureiro, Francisco de Sales de Mascarenhas (1989). Dom Sebastião e Alcácer Quibir. Lisboa: Alfa.
  • Machado, José Timótio Montalvão (1964). «As Doenças do Rei Dom Sebastiäo», in separata da revista Arqueologia e História, no. 11. Lisboa, Associação dos Arqueólogos Portugueses.
  • McMurdo, Edward (1888). The history of Portugal, from the Commencement of the Monarchy to the Reign of Alfonso III. London: Sampson Low, Marston, Searle, & Rivington. สืบค้นเมื่อ 25 October 2023.
  • Saraiva, José Hermano et al. (1993). Dicionário Ilustrado da História de Portugal. Lisboa.
  • Saraiva, Mário (1994). D. Sebastião na História e na Lenda, pref. Joaquim Veríssimo Serrão. Lisboa: Universitária Editora
  • Saraiva, José Hermano (1998). Diário da História de Portugal. Lisboa (compilation of contemporaneous chronicles).
  • Stephens, H. Morse (1891). The Story of Portugal. New York: G. P. Putnam's Sons. สืบค้นเมื่อ 25 October 2023.