พระสุเมธมังคลาจารย์ (อมร อมรปญฺโญ)
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
พระสุเมธมังคลาจารย์ นามเดิม อมร ฉายา อมรปญฺโญ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ประวัติ
[แก้]พระสุเมธมังคลาจารย์ เดิมชื่อ สำลี เป็นบุตรของนายโท้และนางโล่ สกุลเดิมฤกษ์นิยม ภายหลังได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น อมร เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 ณ บ้านกระทุ่ม หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน คือ ปุ่น สำลี ทองสุข และเกษม ตามลำดับ
- บรรพชา และ อุปสมบท
- บรรพชาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์
- อุปสมบทเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2474 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร โดยมี พระธรรมโกศาจารย์ (ปลด กิตติโสภณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระสรภาณี เป็นพระกรรมวาจารย์ มีพระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "อมรปญฺโญ"
- การศึกษา
- พ.ศ. 2462-2465 เรียนระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนวัดใบบัวบก ตำบลบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบชั้น ป.3
- พ.ศ. 2466 ลงไปอยู่กรุงเทพฯ พักอาศัยบ้านอาหลวงศรีอมร ข้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เรียนบาลีมูลฃกัจจายนะ ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- พ.ศ. 2467 เรียนบาลีไวยากรณ์
- พ.ศ. 2468 อายุ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณร เรียนบาลีธรรมบท
- พ.ศ. 2470 อายุ 17 ปี สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และนักธรรมชั้นตรี
- พ.ศ. 2472 อายุ 19 ปี สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค และนักธรรมชั้นโท
- พ.ศ. 2473 อายุ 20 ปี สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และนักธรรมชั้นเอก
- พ.ศ. 2475 อายุ 22 ปี สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
- พ.ศ. 2478 อายุ 25 ปี สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค
สมณศักดิ์
[แก้]- 1 มีนาคม พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรเมธี[1]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2495 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี ธรรมปรีชาภิมณฑ์ ปริยัติโกศล ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมุนี ศรีวิสุทธศีลาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโมลี ศรีปริยัติพัฒนคุณ วิบุลธรรมสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสุเมธมังคลาจารย์ พิศาลกิจจานุกิจจาทร บวรสีลาจารวิมล โสภณธรรมภาณี ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
หน้าที่การงาน
[แก้]- พ.ศ. 2473-2480 เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ ณ วัดเบญจมบพิตร
- พ.ศ. 2481 เป็นครูสอนบาลีชั้น ประโยค 4, นักธรรมเอก, ภาษาอังกฤษและวิชาการแต่งคำประพันธ์ ณ สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
- พ.ศ. 2489 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย
- พ.ศ. 2490 เป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. 2490-2500 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 4
- พ.ศ. 2501-2505 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 5 ปกครอง 8 จังหวัดภาคเหนือ
(แพร่ น่าน ลำปาง เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์)
- พ.ศ. 2508-2528 เป็นเจ้าคณะภาค 7
- พ.ศ. 2516 เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 4
ผลงาน
[แก้]- ผลงานด้านสาธารณูปการ
- บูรณะองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย โดยการปิดทองเหลืออร่ามทั้งองค์
- บูรณะพระเจดีย์โบราณ 2 องค์ ในวัดพระธาตุหริภุญชัย โดยการตกแต่งให้สง่างามตามสภาพเดิม ทั้งนี้โดยความร่วมมือของกรมศิลปากร และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ
- บูรณะปฏิสังงขรณ์และก่อสร้างพระวิหารและหอพระพุทธรูปต่าง ๆ ในวัดพระธาตุหริภุญชัย เช่น
- จัดให้มีการเขียนภาพจิตรกรรมบนฝาผนังพระวิหารหลวง โดยใช้ช่างฝีมือพื้นเมือง และประพันธ์คำบรรยายประกอบภาพด้วยตนเอง
- รื้อพระวิหารและหอพระพุทธรูปเก่าชำรุดทรุดโทรม และก่อสร้างขึ้นใหม่ เช่น วิหารพระเจ้าละโว้ วิหารพระพุทธ หอพระนอน หอพระเจ้ากลักเกลือ หอพระเจ้าพันตน และหอพระพุทธบาท เป็นต้น
- บูรณะพระอุโบสถและศาลาบาตร ที่รายรอบอาณาบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยชั้นใน
- บูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปต่าง ๆ ซึ่งเป็นของเก่าจำนวน 84 องค์
- บูรณะหอพระสังขจาย
- ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เป็นโรงเรียนเมธีวุฒิกร และสำนักเรียนหอปริยัติศึกษา
- จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรม"เชตวันธรรมาราม" ซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง อยู่ในตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน
- ผลงานด้านการจัดการศึกษา
- ทางคดีโลกและคดีธรรม ได้จัดตั้งโรงเรียนเมธีวุฒิกรขึ้นในวัดพระธาตุหริภุญชัย ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศขอสังฆมนตรีวาการองค์การศึกษา พ.ศ. 2488 เรื่อง โรงเรียนราษฎร์ของวัด เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณร และกุลบุตรได้ศึกษาทั้งคดีโลกและคดีธรรม ควบคู่กัน
- ทางปริยัติธรรม ได้จัดตั้งโรงเรียนหอปริยัติศึกษาขึ้นที่คณะสะดือเมือง วัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อให้พระภิกษุสามเณรเรียนนักธรรมและบาลีโดยเฉพาะ
- ผลงานด้านการเผยแพร่
- พระสุเมธมังคลาจารย์ มีคุณวุฒิถึงเปรียญธรรม 7 ประโยค ได้ศึกษาปฏิบัติตามพระคัมภีร์อย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน บทบาทและหน้าที่ของท่าน นอกจากสอนหนังสือแล้ว ก็คือ การเทศนาปาฐกถาธรรม อบรมสั่งสอนประชาชนทั้งปริยัติและปฏิบัติ ท่านได้ออกจาริกไปตามถิ่นทุรกันดารตั้งแต่ยังไม่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในตำแหน่งเผยแพร่โดยตรง จนกระงมีการตั้งกองพระธรรมทูตขึ้น ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมทูต ได้ออกจากเทศนาและอบรมศีลธรรมในเขตรับผิดชอบ 8 จังหวัด ภาคเหนือ เป็นประจำทุกปี
- ผลงานด้านวรรณกรรม
- พระสุเมธมังคลาจารย์ เป็นผู้มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในด้านการขีดเขียน สนใจใฝ่รู้และฝึกฝนตนเองทางการประพันธ์ ตั้งแต่เยาวัย มีผลงานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ออกเผยแพร่เป็นประจำ เช่น มาฆบูชา คำประพันธ์ สุภาษิตวิทยุ และบทความต่าง ๆ เป็นต้น เป็นเรื่องยาวซึ่งเด่นที่สุดคือ ล่องแก่งโขงนามแฝงเท่าที่ค้นพบมี 3 นาม คือ อมระอมร เทพไท ศรีวรวิชัยะ และมหาธรรมาภิรมย์
มรณกาล
[แก้]พระสุเมธมังคลาจารย์ ถึงแก่มรณภาพด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 เวลา 08.20 น. สิริอายุได้ 79 ปี 8 เดือน 19 วัน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานโกศ เครื่องประกอบเกียรติยศ พวงมาลาตั้งประดับหน้าโกศ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ออกเมรุพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานบ้านหลวย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 63, ตอนที่ 15 ง, 19 มีนาคม 2489, หน้า 157
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 69, ตอนที่ 72 ง, 9 ธันวาคม 2495, หน้า 4,620
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 107 ง, , หน้า 2,947
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 104 ง ฉบับพิเศษ, 15 ธันวาคม 2504, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 107, ตอนที่ 137 ก ฉบับพิเศษ, 6 สิงหาคม 2533, หน้า 12-13