พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) | |
---|---|
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ถ่ายขณะดำรงตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2474 | |
เกิด | 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 เมืองพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 4 มิถุนายน พ.ศ. 2488 (55 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
นามปากกา | นาคะประทีป |
อาชีพ | อาจารย์ นักเขียน นักภาษาศาสตร์ |
คู่สมรส | สิริพันธ์ สารประเสริฐ |
บุตร | 5 คน |
พระสารประเสริฐ นามเดิม ตรี นาคะประทีป (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2488) เป็นขุนนางชาวไทย ดำรงตำแหน่งในกรมพระอาลักษณ์ มีชื่อเสียงด้านอักษรศาสตร์ ใช้นามปากกว่า นาคะประทีป และยังมีผลงานร่วมกับพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ใช้นามปากการ่วมกันว่า เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
ประวัติ
[แก้]พระสารประเสริฐเกิดที่ตำบลถนนตรีเพชร อำเภอพาหุรัด จังหวัดพระนคร (เขตการปกครองสมัยนั้น) เป็นบุตรของหลวงพิพิธวิรัชการ (เทียน นาคะประทีป) และนางสวน เมื่อเป็นเด็กเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ประโยค 2 อย่างเก่าและชอบภาษาบาลีเป็นอย่างมาก จึงขออนุญาตผู้ปกครองบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 17-18 ปีก็ได้เปรียญธรรม 7 ประโยคมีหน้าที่สอนภาษาบาลีในสำนักวัดที่บวชคือวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระมหาตรี” พระมหาตรีมีความเชี่ยวชาญภาษาเป็นอย่างดีและแม้ไม่ชำนาญในภาษาสันสกฤตแต่ก็ยังอ่านอักษรเทวนาครีได้ เพราะเคยติดตามพระอาจารย์คือพระราชาคณะคือพระธรรมนิเทศทวยหาญไปเกาะลังกา เมื่อขุนโสภิตอักษรการเจ้าของ “โรงพิมพ์ไท” ที่จัดพิมพ์หนังสือดีมีคุณภาพในสมัยนั้นต้องการพิมพ์หนังสือหิโตปเทศ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ได้แนะนำให้พระยาอนุมานราชธนรู้จักกับพระมหาตรีให้เป็นผู้ช่วยตรวจ เนื่องจากเกรงว่าอาจเพี้ยนไปจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตด้วย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองท่านก็ได้มีความสัมพันธ์ทั้งในด้านการงานและการส่วนตัวร่วมกันสร้างสรรค์งานด้านอักษรศาสตร์เป็นมรดกแก่ประเทศมาจนตลอดชีวิต
พระมหาตรีสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์เมื่อ พ.ศ. 2462 เมื่ออายุได้ 30 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำกระทรวงกลาโหมซึ่งมีพระธรรมนิเทศทวยหาญเป็นหัวหน้า ได้เป็นรองอำมาตย์โทเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2463[1]
ครั้งนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นได้ขอตัวมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยแผนกอภิธานสยามในกรมตำราเมื่อ พ.ศ. 2465
ในปี พ.ศ. 2466 ก็ได้บรรดาศักดิ์เป็น หลวงธุรกิจภิธาน ประจวบขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา อยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการใกล้ชิดพระองค์ชั่วคราว โดยมีหน้าที่ถวายความเห็นเกี่ยวกับเรื่องศัพท์และตามเสด็จไปอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันบ่อยครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสวรรคต หลวงธุรกิจภิธานได้กลับไปรับราชการที่เดิม
ในปี พ.ศ. 2469 กรมราชเลขาธิการขอย้ายหลวงธุรกิจภิธานไปรับราชการในกรมในตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์
ในปี พ.ศ. 2471 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสารประเสริฐ รับราชการอยู่จนถึง พ.ศ. 2475 จึงย้ายกลับไปรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นข้าราชการชั้นเอกประจำกรมวิชาการ ภายหลังได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองศาสนศึกษาระยะหนึ่งจึงออกจากราชการเพื่อรับพระราชทานเบี้ยบำนาญและได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์พิเศษประจำแผนกวิชาภาษาบาลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2485 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากบรรดาศักดิ์[2]
ชีวิตครอบครัว
[แก้]พระสารประเสริฐ สมรสกับนางสิริพันธ์ สารประเสริฐ มีบุตร-ธิดารวม 5 คน ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อตามลำดับคือ
- นางศรีวรรณ ศยามานนท์
- นางศรีกุน รัชตะรัตนะ
- นายศรีฉันท์ นาคะประทีป
- นายศรีสิทธิ์ นาคะประทีป
- นายศรีกมล นาคะประทีป
ชีวิตงานและผลงาน
[แก้]พระสารประเสริฐร่วมงานด้านอักษรศาสตร์และวรรณกรรมอย่างใกล้ชิดกับพระยาอนุมานราชธนมายาวนานเกือบ 40 ปี พระยาอนุมานฯ เล่าว่าหนังสือหิโตปเทศเป็นปัจจัยอันสำคัญที่เปลี่ยนวิถีทางเดินแห่งชีวิตของ "พระมหาตรี" ทั้งสองท่านมีผลงานร่วมกันโดยเรียงตามลำดับการตีพิมพ์ที่ทราบ ดังนี้[3]
|
|
พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ในหนังสือประวัติครูของคุรุสภาว่า ก่อนที่ท่านทั้งสองจะร่วมงานกัน มีงานที่พระสารประเสริฐแต่งเอง 2 เรื่องคือ
- พระธรรมบทหมวดพาลแทรกชาดก แปลเมื่อ พ.ศ. 2458 และเรื่อง
- คัมภีร์อภิธารัปปทีปิกา
เมื่อพระสารประเสริฐรับราชการในตำแหน่งปลัดกรมอาลักษณ์ ได้มีหน้าที่ร่างประกาศพระราชกระแสพระบรมราชโองการ คิดตั้งชื่อและยังทำหน้าที่อ่านประกาศในงานพระราชพิธีต่าง ๆ พระยาอนุมานฯ เล่าว่า มีผู้สงสัยว่าพระสารประเสริฐพูดมีติดอ่างจะอ่านประกาศในงานพิธีให้ดีได้อย่างไร แต่ตรงกันข้าม พระสารประเสริฐอ่านได้ดีเป็นที่สุด เพราะได้ฝึกซ้อมใส่ขีดทำเครื่องหมายแบ่งจังหวะสำหรับอ่านและอ่านซ้อมหลายครั้งอ่านดี จนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เสด็จมาจับไหล่แสดงความยินดี
งานที่พระสารประเสริฐชอมมากเป็นพิเศษคืองานชำระปทานุกรม ซึ่งท่านได้เป็นกรรมการชำระปทานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน โดยบางวันแม้รถประจำทางสาธารณะขัดข้องท่านก็ยังยอมเดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาที่ราชบัณฑิตยสถาน และแม้แต่ที่หอสมุดแห่งชาติก็ยังยอมเดินมาจนได้ เวลาประชุมท่านจะเอาใจใส่พิถีพิถันและมักเอา "หัวชนกำแพง" ถ้าไม่เห็นด้วย "ลางทีชำระคำ ๆ เดียวกินเวลา 2 ประชุมก็เคยมี" แม้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นประธาน พระสารประเสริฐก็ไม่ยอม "พบกันครึ่งทาง" พระยาอนุมานฯ เล่าว่า ประธานเคยตรัสว่า "ผมไม่ถือ เพราะพระสารประเสริฐเป็นคน "ขลังวิชา" แต่พระสารประเสริฐจะยอมเห็นด้วยโดยง่ายถ้าเห็นว่าถูกต้อง"
นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นผู้ร่างคำปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับแรก เมื่อ พ.ศ. 2475 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อีกด้วย[4]
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เป็นวันสุดท้ายที่พระสารประเสริฐมาประชุมชำระปทานุกรม ขณะกำลังจดคำที่พระยาอนุมานราชธนบอก แต่กลับถามว่า "คำอะไรนะ" ซ้ำ ๆ อยู่ ประมาณ 10 ครั้ง ก่อนหน้านั้นเวลาประชุมก็เงียบผิดปกติ จนพระวรเวทย์พิสิฐ (เซ็ง ศิวะศริยานนท์) ทักขึ้นว่า "วันนี้นักบาลีทำไมเงียบ เห็นจะเป็นเพราะตัว ฝ กระมัง" ท่านไม่ตอบ เลิกประชุมรีบเดินออกจากห้องก่อนใคร พระยาอนุมานฯ เล่าว่าได้ทราบภายหลังว่าเดินไปขึ้นรถประจำทางที่หน้าวังบูรพาล้มลงแต่ก็มีคนพยุงขึ้นรถไปจนถึงบ้าน ไปหมดสติอยู่ที่หน้าบ้านตอนลงจากรถนั้นเอง พระสารประเสริฐสิ้นลมที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลอีก 7 วันต่อมา รวมสิริอายุได้ 56 ปี
ยศ
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2484 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[7]
- พ.ศ. 2483 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[8]
- พ.ศ. 2473 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 4 (ป.ป.ร.4)[9]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 5 (ป.ป.ร.5)[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการกราบถวายบังคับลาออกจากบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (3 ง): 64. 13 มกราคม 2485. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2560.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คลังปัญญาชนสยาม
- ↑ สภาผู้แทนราษฎร (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 43/2475. พระนคร: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กองการพิมพ์. p. 586–587.
- ↑ "พระราชทานยศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 9 พฤษภาคม 1920.
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 58 ตอนที่ 0 ง หน้า 3309, 18 กันยายน 2484
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 57 ตอนที่ 0 ง หน้า 2160, 7 ตุลาคม 2483
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 47 ตอนที่ 0 ง หน้า 3117, 16 พฤศจิกายน 2473
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ (หน้า 3300)
บรรณานุกรม
- พระยาอนุมานราชธน. พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป). ประวัติครู, คุรุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2502
- นรนิติ เศรษฐบุตร. พระสารประเสริฐ : ผู้ร่างคำปรารภฯคนแรก. ส่วนร่วมสังคมไทย, เดลินิวส์ หน้า 10 บทความ-การ์ตูน, ฉบับที่ 24,529: วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 1 ปีวอก