พระสมเด็จเหนือหัว
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระสมเด็จเหนือหัว เป็นพระเครื่องที่ผู้จัดสร้างอ้างว่า สร้างขึ้นโดยมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำเงินรายได้ไปสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[1] จำหน่ายราคาองค์ละ 999 บาท โดยนายสิทธิกร บุญฉิม หรือ "เสี่ยอู๊ด" เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง[2]
การสร้าง
[แก้]ผู้จัดสร้างประชาสัมพันธ์ว่า พระสมเด็จเหนือหัว สร้างจากมวลสารศักดิ์สิทธิ์จากวัดต่างๆทั่วประเทศ และตำนานการสร้างพระผงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร แล้วนำมาปลุกเสกโดยพระชั้นผู้ใหญ่ทั่วราชอาณาจักรไทย เสกผงศักดิ์สิทธิ์ และสร้างพระเครื่อง เป็นพระสมเด็จ 5 สี ได้แก่ สีขาววัดระฆัง ของภาคกลาง สีเหลืองพระเจ้าอยู่หัว ของภาคเหนือ สีชมพูทิพย์ ของภาคตะวันออก สีเขียวพระแก้วมรกต ของภาคอีสาน สีฟ้าน้ำทะเลของภาคใต้
ผู้จัดสร้าง อ้างว่า พระเถระ พระอาจารย์ และเจ้าอาวาสจากวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรไทย รวม 780 รูป ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ของวัดต่างๆ ใน 780 อำเภอ ทำพิธีปลุกเสกมวลสารผงพุทธคุณ โดยใช้ช่องทางไปรษณีย์และธนาคารพาณิชย์ในการกระจายวัตถุมงคล มีการประชาสัมพันธ์วัตถุมงคลนี้ในสื่อสารมวลชนและสื่อโฆษณาโดยใช้งบประมาณจำนวนมาก[3]
การชี้แจงจากสำนักพระราชวัง
[แก้]สำนักพระราชวัง ได้มีการชี้แจงว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มแอบอ้างจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว และมีการระบุว่า รายได้จากการจัดสร้างสมทบทุนมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ จัดโครงการสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ พร้อมกับมีการนำตราพระมงกุฎประทับไว้หลังองค์พระ ซึ่งการจัดสร้างดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทางสำนักพระราชวังแต่อย่างใด
พร้อมกันนี้ เมื่อมีการตรวจสอบไปยังมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปรากฏว่า ทางมูลนิธิฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสร้าง และการที่ผู้จัดสร้างนำตราพระมงกุฎไปประทับหลังองค์พระนั้นถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ผ่านทางสำนักพระราชวัง
ขณะที่มวลสารในการจัดสร้างที่มีการอ้างว่าเป็นดอกไม้พระราชทานนั้น ทางสำนักพระราชวังได้ชี้แจงว่า ตั้งแต่มีการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว ปรากฏว่า ทางผู้จัดสร้างไม่เคยขอพระราชทานดอกไม้เพื่อนำไปใช้เป็นมวลสาร เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแอบอ้างและทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบถึงขั้นตอนการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว ปรากฏว่า ไม่มีการระบุผู้จัดสร้างที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่า พระสมเด็จเหนือหัว เกี่ยวข้องกับทางสำนักพระราชวัง และทำให้เกิดความเสียหายกับทางสำนักพระราชวังเป็นอย่างมาก[4]
การดำเนินคดี
[แก้]เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกสิทธิกร บุญฉิม ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และโดยใช้ข้อความที่ใช้หรืออ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม ร่วมกันใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และเลียนเครื่องหมายราชการให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใด ๆ โทษจำคุกรวม 5 ปี[5] หลังสิทธิกรเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2558 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว มูลค่ารวมประมาณ 8 ล้านบาท[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระสมเด็จเหนือหัวตำนานลือลั่น'เสี่ยอู๊ด'". www.komchadluek.net. 2012-11-19.
- ↑ ""ป๋อง สุพรรณ" ชี้ "เสี่ยอู๊ด" คนผุดสมเด็จเหนือหัว-ไม่รู้เงินไปไหน!". mgronline.com. 2007-12-19.
- ↑ ธุรกรรมปริศนา พระสมเด็จเหนือหัว 5 สี
- ↑ ""จรัญ" สั่งสอบการสร้างพระสมเด็จเหนือหัวแอบอ้างเบื้องสูง!". mgronline.com. 2007-12-14.
- ↑ "คุก 5 ปี "เสี่ยอู๊ด" โกงสร้าง "พระสมเด็จเหนือหัว"". mgronline.com. 2010-03-31.
- ↑ isranews (2024-11-14). "ปปง.ยึดเงินฝาก'เสี่ยอู๊ด สิทธิกร'อีก 7 บัญชี คดีแอบอ้างสร้างพระ'สมเด็จเหนือหัว'". สำนักข่าวอิศรา.
- หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550, ฉบับที่ 6208 หน้า 8, คอลัมภ์เสกใหญ่ทั่วประเทศ
- หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2550