ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าพระวอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระวอ)
พระวรราชภักดี
เจ้าผู้ครองนคร
ประสูติไม่ปรากฏ
พิราลัยพ.ศ. 2320
พระมเหสีเจ้านางอรอินทร์
พระวรราชภักดี
พระบุตร9 พระองค์
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาเจ้าอุปราชนอง
พระมารดาหญิงชาวลาวเวียงจันทน์

เจ้าพระวอ หรือ พระวรราชภักดี เป็นเจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน พระองค์ที่ 3 (พ.ศ. 2314) เป็นพระราชโอรสในเจ้าอุปราชนอง (เจ้านอง) ปฐมเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน อันสืบมาแต่สายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว สืบมาเเต่วงศ์สามัญชนชาวไทพวน เป็นพระราชบิดาพระเทพวงศา (ท้าวก่ำ) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี องค์ที่ 1 พระไชยราชวงศา (ท้าวเสน) ผู้ครองเมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี องค์ที่ 1 และเป็นพระปิตุลาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลประเทศราช องค์ที่ 1

พระประวัติ

[แก้]

พระวรราชภักดี พระนามเดิมว่า พระวอ สมภพที่นครเวียงจันทน์ เป็นพระโอรสพระองค์รองของเจ้านอง ปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว กับ หญิงชาวลาวเวียงจันทน์ เป็นพระอนุชาของพระวรราชปิตา เจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน พระองค์ที่ 2 เมื่อเจ้าพระวอทรงเจริญชนม์ เจ้าอุปราชนองทรงโปรดให้เข้ารับราชการสนองพระคุณพระเจ้าไชยองค์เว้ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) ที่พระราชสำนักนครเวียงจันทน์

ต่อมาเจ้าพระวอเสกสมรสกับเจ้านางอรอินทร์ มีพระโอรส และพระราชธิดา 9 พระองค์ คือ

  1. เจ้านางจันบุปผา
  2. ท้าวก่ำ เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี องค์ที่ 1
  3. เจ้านางทุมมา
  4. เจ้านางต่อนแก้ว
  5. ท้าวเสน ผู้ครองเมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี องค์ที่ 1
  6. ท้าวเครือ
  7. ท้าวลาด
  8. ท้าวนางปัดทำ
  9. ท้าวฮด

สงครามนครเวียงจันทน์

[แก้]

ปี พ.ศ. 2314 พระวรราชปิตาถูกข้าศึกฟันจนตกม้าถึงแก่พิราลัย บริเวณช่องน้ำจั่นใต้น้ำตกเฒ่าโต้ เทือกเขาภูพาน และทัพนครเวียงจันทน์จึงสามารถตีหนองบัวลุ่มภูแตกได้ อุปราชจึงถูกยกขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน พระองค์ที่ 3 พระนามว่า พระวรราชภักดี ต่อสู้ข้าสึกศัตรูต่อไป โดยพระองค์คิดว่าหากยั้งทัพสู้ข้าศึกอยู่ที่เมืองหนองบัวลุ่มภูต่อไปเห็นจะเหลือกำลัง ด้วยทางเมืองหนองบัวลุ่มภูมีกำลังน้อยลงมาก จึงปรึกษาหารือกับท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม พระราชโอรสพระวรราชปิตา ท้าวก่ำ พระราชโอรสของพระองค์ ท้าวนาม เพียพรหมโลก เพียพบบ่อหน เพียพลอาสา แก้วท้ายช้าง ควรจะอพยพหนีสงครามลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองผ้าขาว เมืองพรรณา เจ้าผ้าขาวก็อพยพลงมาด้วยกับพระวรราชภักดี เดินทางจนมาถึงแก่งส้มโฮง ท้าวผ้าขาวจึงพาไพร่พลขอแยกหยุดอยู่ (ปัจจุบันคือ จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนกลุ่มพระวรราชภักดีก็อพยพต่อไป จนมาถึงบ้านเสียวน้อยเสียวใหญ่ (เขตแดนเมืองสุวรรณภูมิ) จึงได้หยุดพักสำรวจกำลังไพร่พลที่ตามมาเห็นมีจำนวนมาก และได้ปรึกษากันว่าจะไปตั้งหลักแหล่งที่ใด ต่อมา พระวรราชภักดี ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวก่ำ ถือกำลังไพร่พล 10,000 คน ยกไปอยู่บ้านสิงห์ท่าบ้านสิงห์โคกกับท้าวคำสู ถือเป็นต้นกำเนิดเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช เมืองยศสุนทร เมืองเขมราษฎร์ธานี เป็นต้น

ในปลายปี พ.ศ. 2314 ภายหลังมาอาศัยอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าบ้านสิงห์โคกสักพักหนึ่ง พระวรราชภักดีก็ดำริว่าหากอยู่กับท้าวคำสูต่อไปนานแล้ว หากทัพนครเวียงจันทน์ยกลงมา ก็จะเป็นการลำบากแก่ไพร่พลบ้านสิงห์ท่าบ้านสิงห์โคก อันจะเกิดความสูญเสียต่อไป พระวรราชภักดีจึงได้ปรึกษากับท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำ นำพาไพร่พลญาติพี่น้องอพยพลงไปตามแม่น้ำชีถึงแม่น้ำมูล เมื่อยกกำลังไพร่พลมาถึงเกาะดอนมดแดง ได้ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ และพระองค์อนุญาตให้อยู่ได้ และพระวอตั้งเป็นอิสระอยู่ค่ายบ้านดอนมดแดง สะสมกำลังทหารจนเข็มแข็ง ต่อมาพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารท เห็นว่าค่ายดอนมดแดงมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เกรงจะเกิดปัญหา และต้องการให้อยู่ในการควบคุมของนครจำปาศักดิ์ จึงคิดอุบายทะเลาะกับเจ้าอุปราชธรรมเทโว ผู้น้อง พระเจ้าองค์ไชยกุมารได้หนีจากนครจำปาศักดิ์มาอยู่ค่ายดอนมดแดงกับพระวรราชภักดี และภายหลังเจ้าอุปราชธรรมเทโวได้จึงมาอัญเชิญพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารกลับคืนนครจำปาศักดิ์ตามเดิม และขอให้กลุ่มพระวรราชภักดีไปอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ด้วย แต่พระวรราชภักดีไม่ไป จะขออยู่ที่ค่ายดอนมดแดงเช่นเดิม พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารจึงเสนอว่าถ้าไม่ไปอยู่นครจำปาศักดิ์ก็ขอให้ไปอยู่ที่ค่ายบ้านดู่บ้านแก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้นครจำปาศักดิ์ เพื่อจะได้พึ่งพากันในเวลาคับขัน พระวรราชภักดี พร้อมท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม แลท้าวก่ำ จึงยินยอมนำกำลังไพร่พลส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ค่ายบ้านดู่บ้านแก ส่วนค่ายบ้านดอนมดแดงนั้น ให้แสนเทพและแสนนามคุมไพร่พลอยู่รักษาค่ายแทน

ในปลายปี พ.ศ. 2320 พระวรราชภักดีเกิดขัดใจกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เกี่ยวกับกรณีการสร้างค่ายคูประตูเมืองบ้านดู่บ้านแก เมื่อพระเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างพระวรราชภักดีกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าพระวออพยพครอบครัวไพร่พล มาอยู่ที่ดอนมดแดง พระเจ้าสิริบุญสารจึงแต่งตั้งให้พระยาสุโพคุมกำลังกองทัพไปรุกรานพระวออีกครั้งหนึ่ง พระวอเห็นว่ากำลังของตนมีน้อยคงไม่สามารถจะต้านทานไว้ได้ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลกลับไปอยู่ที่เวียงดอนกองตามเดิม พร้อมกับขอกำลังทัพจากนครจำปาศักดิ์มาช่วยเหลือ แต่พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารไม่ยอมให้ เพราะความบาดหมางใจกันเมื่อหลายปีก่อน ผลที่สุดกองกำลังของพระวอจึงพ่ายแพ้ พระวอถูกจับได้และถูกประหารชีวิตที่เวียงดอนกองนั้นเอง ส่วนท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม พระราชโอรสพระตา และท้าวก่ำ พระราชโอรสพระวอ จึงได้พาครอบครัวไพร่พลหนีออกจากวงล้อมของทัพนครเวียงจันทน์ และได้นำใบบอกแจ้งความไปยังเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขอกำลังกองทัพมาช่วย

ปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำทัพขึ้นไปปราบพระยาสุโพที่เวียงดอนกองแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อพระยาสุโพทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับกรุงศรีสัตนาคนหุต ขณะเดียวกันพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เกรงว่าจะไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพไทยไว้ได้ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลหนีไปอยู่ที่เกาะไชยในที่สุดกองทัพไทยตีได้นคร-จำปาศักดิ์ และตามจับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารไว้ได้ หลังจากนั้นกองทัพไทยก็ตีได้เมืองนครพนม หนองคาย และเข้าล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้ พระเจ้าสิริบุญสารหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองคำเกิด กองทัพไทยก็ยึดเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้และให้พระยา-สุโพเป็นผู้รั้งเมือง แล้วนำตัวพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร พร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางที่อยู่นครเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรี ต่อมาอีกไม่นานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารกลับไปครองเมืองนครจำปาศักดิ์ตามเดิม ดังนั้นนครจำปาศักดิ์จึงกลายเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พิราลัย

[แก้]

ปี พ.ศ. 2320 พระวรราชภักดีถูกทัพนครเวียงจันทน์จับได้ และประหารชีวิตถึงแก่พราลัย ณ เวียงดอนกอง แขวงนครจำปาศักดิ์

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า เจ้าพระวอ ถัดไป
เจ้าพระวรราชปิตา (เจ้าพระตา)
เจ้าผู้ครองนคร
(พ.ศ. 2314)
ไม่มี