พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา
พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา | |
---|---|
พระวงศ์เธอ ชั้น 2 พระองค์เจ้าชั้นตรี | |
ประสูติ | พ.ศ. 2391 |
สิ้นพระชนม์ | 9 กันยายน พ.ศ. 2461 (70 ปี) |
หม่อม | หม่อมบัว รองทรง ณ อยุธยา หม่อมจวง รองทรง ณ อยุธยา |
พระบุตร | หม่อมราชวงศ์วลี ทองใหญ่ หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง |
ราชสกุล | รองทรง |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ |
มหาอำมาตย์โท นายพันเอก พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา (พ.ศ. 2391 — 9 กันยายน พ.ศ. 2461) เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ เดิมมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น "พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" เมื่อเสด็จไปเป็นเทศาภิบาล ที่มณฑลอุดร
พระประวัติ
[แก้]ประสูติ
[แก้]พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา (เดิม หม่อมเจ้าวัฒนา) เป็นเจ้านายสายบวรราชสกุล พระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ประสูติเมื่อปีวอก พ.ศ. 2391 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงพระเยาว์
[แก้]บรรพชา ตามรอยบาทพระศาสดา
[แก้]เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนามีชันษาครบเกศากันต์และผนวชเป็นสามเณร ได้เกศากันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนกับหม่อมเจ้าทั้งปวง แต่เมื่อผนวชแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นปิตุลา ทรงรับไปประทับที่พระตำหนัก ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร แล้วเป็นพระธุระทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยประทานตลอดเวลาที่ผนวชอยู่ 1 พรรษา
ฝึกหัดวิชาสุวรรณกิจ
[แก้]เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนาทรงลาผนวชแล้วได้ตามเสด็จพระบิดาเข้ามาที่โรงทองในพระบรมมหาราชวังเป็นเนืองนิตย์ ด้วยพระบิดาทรงกำกับราชการในโรงทองหลวง หม่อมเจ้าวัฒนาจึงทรงหัดวิชาช่างทองในสำนักช่างหลวง จนทรงชำนาญวิชาช่างทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเมตตา ด้วยเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อหัดเป็นช่างทองอยู่นั้น ได้พระราชทานรางวัลทองทศ ทองพิศ เป็นต้นเนือง ๆ
กตัญญูจิตต่อพระบิดา
[แก้]เมื่อหม่อมเจ้าวัฒนามีชันษาครบอุปสมบทก็ได้ผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับอยู่วัดบวรนิเวศเหมือนครั้งผนวชเป็นสามเณร แต่เวลานี้พระบิดาทรงพระชรา ไม่ได้ว่าการโรงทองหลวงเหมือนแต่ก่อน กระทั่งพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 ที่วังปากคลองตลาด
ตามพระเชษฐา เข้ารับราชการ
[แก้]สนองงาน กระทรวงวัง
[แก้]เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว หม่อมเจ้าวัฒนามีปรารภที่จะรับราชการเนื่องด้วยวังพระบิดาอยู่ริมคลองตลาด ใกล้กับวังที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ประทับอยู่ในเวลานั้น หม่อมเจ้าวัฒนาจึงทรงคุ้นเคยกับทั้ง 2 พระองค์ ตั้งแต่พระบิดายังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม มีหม่อมเจ้าเม้า(กนิษฐภคินีในหม่อมเจ้าวัฒนา)เป็นพระชายา ก็ได้เกี่ยวดองกันอีกขั้นหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2424 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงจัดการตั้งกรมทหารรักษาพระราชวัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม จึงทรงชวนหม่อมเจ้าวัฒนาเข้ามารับราชการในกรมทหารนั้น ได้มียศเป็น "นายร้อยเอก" ตำแหน่งผู้ตรวจการ ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงวัง หม่อมเจ้าวัฒนาก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการในกระทรวงวังด้วย และเป็นหัวหน้าพนักงานกรมวังสำหรับตามเสด็จประพาสหัวเมือง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคุ้นเคยจนโปรดพระอัธยาศัยสนิทดังปรากฏอยู่ในกระแสรับสั่งซึ่งประกาศเมื่อทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้านั้น
หม่อมเจ้าวัฒนารับราชการอยู่ในกรมวังได้ 9 ปี ในระหว่างนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเสมอชั้นปลัดทูลฉลอง และมียศเป็นนายพันเอก
ประพาส รั้งราชการ
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสด็จไปเป็นข้าหลวงสำเร็จราชการประจำมณฑลอุดร และทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวัฒนา เป็นตำแหน่งข้าหลวงที่ 2 เสด็จไปรับราชการในมณฑลอุดรด้วย ได้ไปรับราชการเป็นข้าหลวงที่ 2 อยู่ 9 ปี ในระหว่างนี้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบหลายคราว และยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูวดลสอาง พระราชอาณาเขตรในมณฑลอุดร ปัจจุบันคือเมืองมหาไชย (ลาว) (ลาว: ເມືອງມະຫາໄຊ)แขวงคำม่วน สปป.ลาว
เทศาภิบาล มณฑลอุดร
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จกลับมารับราชการในกรุงเทพพระมหานคร จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวัฒนา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ 1 ให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร แล้วทรงสถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าในปีนั้น มีประกาศกระแสพระราชดำริซึ่งทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้
ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๓ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มุสิกสังวัจฉร กติกมาศ กาฬปักษ์ จตุตถีดิถี โสรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ พฤศจิกายนมาศ ทสมมาสาหคุณพิเศษบริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหม่อมเจ้าวัฒนา ในพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ได้เข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง มีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดกองจนถึงนายพันเอกบังคับการกองได้รับราชการในกรมวัง เป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ภายหลังได้ขึ้นไปราชการในกองพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลฝ่ายเหนือ และได้เป็นแม่กองขึ้นไปรักษาราชการเมืองภูวดลสอาง๑จนเสร็จราชการ แล้วประจำอยู่ในมณฑลนั้นถึง ๙ ปี ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จลงมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จึงได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือมาจนบัดนี้ มีพระอัธยาศัยซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชการ อดทนต่อความลำบากมิได้มีความย่อหย่อน สมควรที่จะได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้า พระองค์หนึ่งได้
จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวัฒนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ให้มีคำนำหน้าพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา คชนาม ทรงศักดินา ๒,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวรฯ จงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริ สวัสดิ์พิพัฒมงคล ทุกประการเทอญ
— ราชกิจจานุเบกษา[1]
เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนาทรงรับราชการในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้มีพระอุตสาหะจัดราชการในมณฑลนั้นเรียบร้อย และทรงทำนุบำรุงผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นหลายอย่าง กอปรด้วยพระอัธยาศัยซึ่งทรงเมตตาปราณีแก่คนทั้งหลาย และเป็นที่นิยมนับถือของบรรดาข้าราชการตลอดจนราษฎรทั่วทุกจังหวัดในมณฑล เป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 1 เมื่อเป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่นั้น พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยู่ 6 ปี รวมเวลาเสด็จไปรับราชการอยู่ในมณฑลอุดร 15 ปี
หม่อม
[แก้]พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา มีหม่อม 2 คน คือ
- หม่อมบัว รองทรง ณ อยุธยา เป็นหม่อมเอก ชาวนครพนม ซึ่งเป็นหลานสาวพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองนครพนม มีพระธิดากับหม่อมบัว 1 คน คือ
- หม่อมราชวงศ์วลี ทองใหญ่ หม่อมในหม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่, ต่อมา หม่อมในหม่อมราชวงศ์เพิ่ม รองทรง, มีบุตรธิดา 5 คน
- หม่อมราชวงศ์ปิ่นทอง ทองใหญ่
- หม่อมราชวงศ์กรองทอง ทองใหญ่
- หม่อมราชวงศ์แถบทอง ทองใหญ่
- พลอากาศเอก หม่อมราชวงศ์ศิริพงษ์ ทองใหญ่
- หม่อมหลวงสิริณ รองทรง (เดิม หม่อมหลวงนงนุช รองทรง)
- หม่อมราชวงศ์วลี ทองใหญ่ หม่อมในหม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่, ต่อมา หม่อมในหม่อมราชวงศ์เพิ่ม รองทรง, มีบุตรธิดา 5 คน
- หม่อมจวง รองทรง ณ อยุธยา มีพระโอรสกับหม่อมจวง 1 คน คือ
- หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง สมรสกับล้วน รองทรง ณ อยุธยา มีบุตรี 2 คน คือ
- หม่อมหลวงรวิวงศ์ รองทรง
- หม่อมหลวงฉวีพงศ์ รองทรง
- หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง สมรสกับล้วน รองทรง ณ อยุธยา มีบุตรี 2 คน คือ
จรจากราชการ
[แก้]เมื่อพระชันษาได้ 59 ปี พระองค์เจ้าทรงรู้สึกพระองค์ว่าทรงทุพพลภาพ ไม่ทรงสามารถจะรับราชการให้สมตำแหน่งได้ดังแต่ก่อน จึงทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดพระชนม์ชีพ
สิ้นพระชนม์
[แก้]หลังจากพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา ทรงออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว ทรงสร้างวังตั้งตำหนักอยู่ที่ริมคลองแสนแสบใกล้เชิงสะพานเฉลิมโลกในอำเภอปทุมวัน ประทับอยู่หลายปีจึงประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2461 สิริพระชันษา 71 ปี[2] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรอีก 5 พระองค์ พร้อมกัน
พระกรณียกิจ
[แก้]งานสุวรรณกิจ
[แก้]- ทรงช่วยพระบิดาว่าราชการโรงทอง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
งานปกครอง
[แก้]- พ.ศ. 2424 ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง
- พ.ศ. 2433 เข้ารับราชการ รองเทศาภิบาลมณฑลอุดร แม่กองรักษาราชการ เมืองภูวดลสอาง
- พ.ศ. 2436 กลับเข้าเมืองอุดร ดำรงตำแหน่งรองเทศาภิบาลมณฑลอุดร
- พ.ศ. 2442 เทศาภิบาลมณฑลอุดร
- พ.ศ. 2449 เกษียณอายุราชการ ทรงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ
งานการศึกษา
[แก้]- เป็นผู้สถาปนา โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนประจำจังหวัดอุดรธานี
ตำแหน่ง
[แก้]- พ.ศ. 2424 -ร้อยเอก ผู้ตรวจการกรมทหารล้อมวัง
- พ.ศ. 2425 -ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัง
-หัวหน้าพนักงานกรมวัง
- พ.ศ. 2433 -นายพันเอกทหารบก
-ปลัดทูลฉลองกระทรวงวัง
- พ.ศ. 2436 -รองเทศาภิบาลมณฑลอุดร
- พ.ศ. 2442 -เทศาภิบาลมณฑลอุดร
พระเกียรติยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา | |
---|---|
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม/เพคะ |
พระอิสริยยศ
[แก้]- พ.ศ. 2391 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 : หม่อมเจ้าวัฒนา
- พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 — 9 กันยายน พ.ศ. 2461 : พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา[3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2447 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[4]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา (ร.ศ.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2431 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 3[5]
- ออสเตรีย-ฮังการี :
- พ.ศ. 2432 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ชั้นที่ 2[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เลื่อนกรมแลตั้งกรมพระองค์เจ้า เจ้าพระยา เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 17, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443, หน้า 481
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม 35, ตอน ง, 15 กันยายน พ.ศ. 2461, หน้า 1373
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ เลื่อนกรมแลตั้งกรม พระองค์เจ้า เจ้าพระยา เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 17, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443, หน้า 486-487
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ , เล่ม 21, ตอน 39, 25 ธันวาคม พ.ศ. 2447, หน้า 700
- ↑ "พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยยศญี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 5 (ตอน 22): หน้า 179. 1 ตุลาคม 2431. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรีย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 6 (ตอน 21): หน้า 175. 25 สิงหาคม 2432. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
หนังสือ
[แก้]- หนังสือ วัฒนานุสรณีย์ โดย ชุณห์ศิริ ไชยเอีย พิมพ์ในงานเปิดพระอนุสาวรีย์ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา พ.ศ. 2557
- หนังสือ ราชสกุลวงศ์ โดย กรมศิลปากร พ.ศ. 2554
- หนังสือ ตำนานวังหน้า โดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- หนังสือ ศิลปสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม เล่ม ๒ โดย หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี
- หนังสือ 111 ปี อุดรพิทยานุกูล โดย โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โดย ชุณห์ศิริ ไชยเอีย พ.ศ. 2556
- หนังสือ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี โดย พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี และรัชนี ทรัพย์วิจิตร พ.ศ. 2543
- หนังสือ ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ พ.ศ. 2515
- หนังสือ ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 5 ตอนตำนานวังเก่า ของกรมศิลปากร ปี 2542
- ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ เลื่อนกรมแลตั้งกรม พระองค์เจ้า เจ้าพระยา เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 17, ตอน 35, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443, หน้า 486-487
- ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ, เล่ม 21, ตอน 30, 23 ตุลาคม พ.ศ. 2447, หน้า 507
- หนังสือประวัติบุคคลสำคัญ โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ก่อนหน้า | พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม | ผู้บัญชาการ มณฑลเทศาภิบาล มณฑลอุดร (พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2449 (6 ปี)) |
พระยาศรีสุริยาราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) |