พระร่วงโรจนฤทธิ์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร | |
---|---|
ชื่อเต็ม | พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร |
ชื่อสามัญ | หลวงพ่อพระร่วง พระร่วงโรจนฤทธิ์ |
ประเภท | พระพุทธรูป |
ศิลปะ | ปางห้ามญาติ ศิลปะสุโขทัย |
ความสูง | 7.42 เมตร (ราว 12 ศอก 4 นิ้ว - จากพระบาทถึงพระเกศ) |
วัสดุ | สำริด ลงรักปิดทอง |
สถานที่ประดิษฐาน | พระวิหารด้านทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร |
ความสำคัญ | บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร[1] หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานที่พระวิหารด้านทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
ประวัติ
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ โดยเฉพาะองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย มีพุทธลักษณะงดงามต้องพระราชหฤทัย แต่องค์พระชำรุดเสียหายมาก ยังคงเหลืออยู่แต่พระเศียรกับพระหัตถ์ข้างหนึ่งและพระบาท พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นปางห้ามญาติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วใช้ช่างปั้นขึ้นให้เต็มองค์[1]
ครั้นเมื่อพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการหล่อปฏิสังขรณ์ และดำเนินการจัดหาช่างทำการปั้นหุ่นสถาปนาขึ้นให้บริบูรณ์เต็มองค์พระพุทธรูป เมื่อการปั้นพระพุทธรูปนั้นบริบูรณ์เสร็จ เป็นอันจะเททองหล่อได้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปพระองค์นั้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งเป็นกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา หล่อเสร็จได้องค์พระสูงแต่พระบาทถึงพระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2457 เพื่อไปประดิษฐานยังพระวิหารพระปฐมเจดีย์ เจ้าพนักงานจัดการตกแต่งต่อมาจนแล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ต่อมาวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2466 ระหว่างประทับแรม ณ พลับพลาเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระพุทธรูปองค์นี้ว่ายังไม่ได้สถาปนาพระนาม จึงประกาศกระแสพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร์"[1]
พุทธลักษณะ
[แก้]เมื่อการหล่อหลอมองค์พระพุทธรูปครั้งแรกได้สำเร็จลงแล้ว พนักงานจึงได้เข้าเฝ้า กราบบังคมทูลในหลวงเสด็จทอดพระเนตร แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่ประสบพระราชหฤทัย ต่อมานายช่างทราบถึง พระราชประสงค์อันแท้จริง จึงหล่อให้พระอุทรพลุ้ยยื่นออกมาเหมือนคนอ้วน และใกล้จะลงพุงต่างจากครั้งแรก ซึ่งหล่อตรงพระอุทรแบบธรรมดาเท่านั้น ครั้นหล่อเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลทอดพระเนตร คราวนี้ปรากฏว่าในหลวงทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก ถึงออกพระโอษฐ์ตรัสชมความสามารถในเชิงฝีมือของนายช่าง ทั้งนี้พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้พระองค์ทรงสร้างและทรงฝากอนุสาวรีย์ที่พระอุทร เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีพระอุทรสมบูรณ์เป็นพิเศษ หากใครมานมัสการสังเกตเห็นพระอุทรของพระพุทธรูปก็จะได้รำลึกถึงพระองค์ ดังนั้นเมื่อเรามองทางด้านตรงพระพักตร์ ก็จะเห็นว่ามีพระพุทธลักษณะงดงามสม่ำเสมอ แต่ถ้ามองทางด้านข้างทั้งเบื้องขวาและซ้ายแล้ว จะเห็นว่าพระอุทรพลุ้ยออกมา เมื่อการหล่อสำเร็จแล้ว พระพุทธรูปนั้นมีขนาดสูงแต่พระบาทถึงยอดพระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว (7.42 เมตร) สมบูรณ์ด้วยพระพุทธลักษณะทุกประการ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามองค์หนึ่ง ของเมืองไทยสิ้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงิน 21,205.45 บาท (เงินสองหมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าบาทกับอีกสี่สิบห้าสตางค์)
พระสรีรางคาร
[แก้]เมื่อสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังเมื่อได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว วันที 31 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งพิเศษเสด็จพระราชดำเนินถึงสถานนีสนามจันทร์ เวลา 16.35 น. พระยาวงษาภรณ์ภูษิตภูษามาลาเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากรถไฟพระที่นั่ง ขึ้นรถยนต์พระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จขึ้นประทับรถยนต์พระที่นั่งตามรถพระบรมราชสรีรางคาร มีรถยนต์พระบรมวงศานุวงศ์และรถยนต์ข้าราชการตามมาโดยลำดับ เสด็จพระราชดำเนิน ถึงวัดพระปฐมเจดีย์ รถที่อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร และรถพระที่นั่ง เทียบที่อัฒจันทร์หน้าพระวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ มีทหารกองเกียรติยศ กองเสือป่ารับเสด็จกระทำวันทยาวุธ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระยาวงษาภรณ์ภูษิตเชิญพาน พระผอบพระบรมราชสรีรางคารขึ้นทางบันไดนาค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินตาม พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ชาวประโคมประโคมแตร สังข์ มโหรทึก กลองชนะเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร ขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในพระวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมราชสรีรางคาร ทรงทอดผ้าไตร 20 ไตร พระสงฆ์ 20 รูป มีพระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์เป็นประธานสดับปกรณ์ แล้วถวายอนุโมทนา พระราชสุธีถวายอดิเรกเสร็จ พระยาวงษาภรณ์ภูษิตเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจากพระแท่นแว่นฟ้าสู่ยังที่บรรจุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารในพระผอบศิลาและทรงโปรยเงินเหรียญดอกพิกุลทองดอกพิกุลเงิน เจ้าพนักงานได้เลื่อนรอกลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจับสายสูตรเชือกรอกเคลื่อนพระผอบศิลาลอดผนังเข้ายังที่บรรจุในฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ถวายบังคมต่อไปเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระวิหารชั้นในมายังที่พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ทรงเครื่องนมัสการเครื่องห้าบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีแล้ว เจ้าพนักงานได้วางศิลาปิดโบกปูน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปที่พระวิหารชั้นใน ทรงโปรยปรายดอกไม้สดบนพระแท่นอาสนบูชา ทรงพระสุหร่าย แล้วทรงจุดเทียนทองเทียนเงิน ถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระปฐมเจดีย์ ทรงประเคนผ้าไตรย่ามแก่พระสงฆ์ 20 รูป ที่จักเจริญพระพุทธมนต์ ทรงเครื่องนมัสการทรงศีลแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพระวิหารหลวงประทับเกยทิศตะวันออก พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ให้ข้าราชการและประชาชนพลเมืองเฝ้า แล้วทรงจุดเทียนชนวน ทรงจบพระราชทาน ให้ชาวที่ไปจุดดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชา แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับเมื่อเวลา 18.35 น.
ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ และได้เพลิงพระศพเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสรีรางคารไปประดิษฐานไว้ที่ผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชพินัยกรรมที่พระบรมราชสวามีทรงลิขิตไว้ว่า "...ส่วนเรื่องพระอัษฐินั้น, ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม, แต่เราเห็นโดยจริงใจว่า สุวัทนาสมควรที่จะได้ตั้งคู่กับเรา" 16 มีนาคม พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบรรจุพระสรีรางคาร ณ.ผนังเบื้องพระปฤศฎางค์(เบื้องหลัง)ของพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 9:30 น. โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเสด็จแทนพระองค์ โดยเมื่อราชยานยนต์หลวงเชิญพระสรีรางคารจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ เชิญผอบพระสรีรางคารประดิษฐานบนราชยานกงด้วยกระบวนพระอิสริยยศ โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีทรงเสด็จตามพระสรีรางคาร เมื่อถึงเชิงบันไดพระวิหารหลวง เจ้าพนักงานเชิญผอบพระสรีรางคารขึ้นประดิษฐานที่ม้าหมู่หน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเสด็จถึงทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ ธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และทรงเชิญพระสรีรางคารออกบรรจุในกล่องศิลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระสรีรางคาร จากนั้นทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์ 20 ไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดัปกรณ์ จากนั้นทรงให้เจ้าพนักงานเชิญกล่องศิลาบรรจุพระสรีรางคารสู่ห้องพระประสูติ เสด็จเข้าห้องพระประสูติทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ จากนั้นทรงเลื่อนกล่องบรรจุพระสรีรางคารเข้าสู่ช่องบรรจุ จากนั้นทรงวางพวงมาลาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ ของส่วนพระองค์จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระสรีรางคาร ทรงวางพวงมาลัยและจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งสักการะพระประสูติ ทรงเสด็จพระดำเนินกลับ
ในปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีสิ้นพระชนม์ หลังจากการเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระสรีรางคารเป็น 2 ส่วน แล้วเชิญพระสรีรางคารส่วนหนึ่งโปรดให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมายังวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทรงบรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และทรงยกสัปตปฏลเศวตฉัตร กางกั้นถวายพระพุทธรูปปางประสูติ ในวิหารทิศเหนือ โดยมีนายวันชาติ วงศ์ชัยชนะ ผวจ.นครปฐม พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้ารับเสด็จ โดยมีขบวนอัญเชิญพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และริ้วขบวนรับเสด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โดยริ้วขบวนนักเรียนจากโรงเรียนวชิราวุธ นักเรียนจากโรงเรียน ภปร. ราชวิทยาลัย คณะลูกเสือหลวง วงดุริยางค์ และกองเกียรติยศ เมื่อเสด็จถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงจุดเครื่องนมัสการนมัสการบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ ทรงจุดเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งประดิษฐานอยู่ข้างพุทธบัลลังก์พระร่วงโรจนฤทธิ์แล้ว ทรงประเคนพัดรอง พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ทรงทอดผ้าไตรสดับปกรณ์พระสรีรางคาร จบแล้ว เจ้าพนักงานเชิญกล่องศิลาประดิษฐานที่ห้องพระประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุทรงเลื่อนกล่องศิลาเข้าสู่ถ้ำบรรจุพระสรีรางคารทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงคมและ ทรงเสด็จไปยกสัปตปฏลเศวตฉัตรกางกั้นพระพุทธรูปปางประสูติ ทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย ทรงจับสายสูตรยกฉัตร จากนั้นทรงวางพวงมาลัยและจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งสักการะพระประสูติ จากนั้นทรงคมไปยังพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเสด็จกลับ
บรรณานุกรม
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ถวายพระนามพระพุทธปฏิมา ที่พระวิหารด้านอุดรแห่งองค์พระปฐมเจดีย์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (ง): 2177–9. 14 ตุลาคม พ.ศ. 2466. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)