ข้ามไปเนื้อหา

พิธีศพของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขบวนศพเดินทางออกจากเซนต์เจมส์ปาร์ก

พิธีศพของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2540 เวลา 9.08 น. ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทันทีที่เสียงระฆังเทเนอร์ดังขึ้น เพื่อเป็นสัญญาณว่าขบวนแห่ศพได้เคลื่อนออกจากพระราชวังเคนซิงตัน โดยบรรทุกโลงศพบนรถปืนใหญ่ หลังเคลื่อนโลงศพออกจากพระราชวังเซนต์เจมส์มายังพระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งก่อนหน้านี้ศพถูกตั้งไว้ที่พระราชวังเซนต์เจมส์เป็นเวลา 5 วันก่อนที่จะมีการทำพิธีปลงศพ นอกจากนี้ยังได้มีการลดธงชาติยูเนียนแจ็กลงครึ่งเสาที่พระราชวังบักกิงแฮม โดยมีพิธีศพอย่างเป็นทางการที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน และพิธีเสร็จสิ้นที่ทะเลสาบราวนด์โอวัล (สุสานที่ใช้ฝังศพ) ในคฤหาสน์อัลธอร์ป เมืองนอร์ธแฮมป์ตัน มณฑลนอร์ธแฮมป์ตันเชียร์

ประชาชนกว่า 2,000 คน ได้ร่วมพระราชพิธีที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์[1] และมีประชาชนชาวอังกฤษรับชมการถ่ายทอดสดพิธีนี้ทางโทรทัศน์มากถึง 32.10 ล้านคน[2] กลายเป็นการถ่ายทอดสดรายการพิเศษทางโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์ รองจากนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1966[3] นอกจากนี้ยังมีผู้คนทั่วโลกอีกราว 2.5 พันล้านคนได้เฝ้าชมพิธีศพของไดอานา และได้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ [4]

การเสียชีวิต

[แก้]

ไดอานา ฟรานเซส เสียชีวิตเมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2540 หลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในถนนลอดอุโมงค์ปองต์ เดด ลัลมา ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ อดีตพระสามีของไดอานา เสด็จถึงกรุงปารีส พร้อมกับเลดีซาราห์ แมคคอร์ควอเดลและเจน เฟลโลวส์ ซึ่งเป็นพี่สาว 2 คนของไดอานา เพื่อรับศพกลับมายังอังกฤษ

พิธีศพ

[แก้]

แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐพิธี แต่เป็นพิธีศพที่สำคัญระดับชาติ ขบวนศพถูกจัดขึ้นตามแบบของพระราชประเพณี และมีพิธีสวดตามแบบนิกายแองกลิคัน โดยมีทหารองครักษ์จากแคว้นเวลส์จำนวน 8 นายได้ร่วมในขบวนศพด้วย[5] โลงศพถูกคลุมด้วยธงประจำราชสำนักล้อมรอบด้วยขอบสีขาวและสัญลักษณ์ขนเออร์มีน 10 ตัว ขบวนศพใช้เวลาเดินทางนาน 1 ชั่วโมงกับ 47 นาทีจากพระราชวังเคนซิงตันมายังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เมื่อขบวนเดินทางถึงพระราชวังเซนต์เจมส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี พร้อมทั้งเอิร์ลสเปนเซอร์ ได้ร่วมเสด็จตามหลังขบวนศพของเจ้าหญิงด้วย

พิธีเริ่มขึ้นภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เวลา 11.00 ตามเวลาท้องถิ่น ใช้เวลาทำพิธีนาน 1 ชั่วโมง 10 นาที โดยเจ้าหญิงไมเคิลแห่งเคนท์ได้เป็นตัวแทนจากราชวงศ์ในการวางพวงหรีดข้างโลงศพ เช่นเดียวกับพวงหรีดจากบุคคลสำคัญ เช่น มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และเอ็ดเวิร์ด ฮีธ อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสอง, วินสตัน เชอร์ชิล อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษนิยม บุตรชายคนแรกของวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนแขกผู้มีเกียรติอื่นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีนี้ได้แก่ ฮิลลารี คลินตัน เฮนรี คิสซิงเกอร์, วิลเลียม โครว, เบนาเด็ต ชีรัค, สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน, ทอม แฮ็งส์, สตีเว่น สปีลเบิร์ก, เอลตัน จอห์น, จอร์จ ไมเคิล, ทอม ครูซ และนิโคล คิดแมน[6] [7]

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากพระราชวงศ์จากประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมพิธีนี้ ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน เจ้าหญิงมาร์ครีตแห่งเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ เจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พร้อมด้วยเจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่น และอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา[8]

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีและดีนแห่งเวสต์มินสเตอร์ เวสลีย์ คาร์ได้เข้าร่วมพิธีที่มหาวิหารด้วยเช่นกัน พิธีทางนิกายแองกลิคันเริ่มต้นขึ้นโดยการขับร้องเพลง God Save the Queen ตามธรรมเนียมดั้งเดิม และท่อนเพลงของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค, แอนโตนิน ดโวรัก, คามิลล์ แชนท์-ชอส์ และนักประพันธ์อื่นๆ ถูกบรรเลงตลอดงานพิธี

ครอบครัวสเปนเซอร์มีแผนการที่จะฝังศพที่โบสถ์เซนต์แมรี เดอะเวอร์จิน ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเมืองเกรทบริงตัน เคียงข้างกับบรรพบุรุษของพระองค์ แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนสถานที่เป็นคฤหาสน์อัลธอร์พแทน โดยอ้างเหตุผลความเป็นส่วนตัว

ระหว่างพิธีเอลตัน จอห์นได้ขับร้องเพลง Candle in the Wind 1997 ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่เพื่ออุทิศให้กับไดอานา โดยเอลตันได้ขอให้เบอร์นี่ ทอพิน แก้ไขเนื้อร้องที่ประพันธ์ในปี 2516 [9] ที่แสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของมาริลีน มอนโร ดาราสาวชื่อดังวัย 36 ปีที่อายุเท่ากับไดอานาในขณะที่เสียชีวิต แต่เอลตันต้องการให้เพลงนี้สรรเสริญไดอานา [10] ก่อนเสียชีวิตเพียงหนึ่งเดือน ไดอานาถูกถ่ายภาพในขณะที่กำลังปลอบใจเอลตัน จอห์นในงานศพของจานนี เวอร์ซาเช [11][12]

พระราชพิธีฝังศพ

[แก้]

ครอบครัวสเปนเซอร์ทำพิธีฝังศพอย่างเป็นส่วนตัวเงียบ ๆ ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน โดยมีเจ้าชายชาลส์ พระโอรสทั้งสองพระองค์ของไดอานา มารดา พี่น้องทั้งสามคน และเพื่อนสนิท และบาทหลวงอีกหนึ่งท่าน พร้อมกันอยู่ที่สุสาน ร่างของไดอานาในโลงศพสวมชุดเดรสแขนยาวสีดำสนิท ออกแบบโดยแคธรีน วอล์กเกอร์ ที่ไดอานาได้เลือกไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พระหัตถ์ทั้งสองกุมสร้อยสายประคำของขวัญจากแม่ชีเทเรชาซึ่งเสียชีวิตในสัปดาห์เดียวกับเธอ สุสานของไดอานาตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบในสวนของคฤหาสน์อัลธอร์พของตระกูลสเปนเซอร์มานานหลายศตวรรษ[13]

แผนการเดิมคือ จะฝังศพที่สุสานใต้ดินประจำตระกูลในโบสถ์ใกล้เมืองเกรทบริงตัน แต่เอิร์ลสเปนเซอร์กล่าวว่า ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลเดินทางไปที่เกรทบริงตัน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะฝังศพพี่สาวไว้ในสถานที่ที่สามารถดูแลรักษาได้ง่ายและพระโอรสและญาติสามารถเดินทางมาที่นี่ได้อย่างเป็นส่วนตัว

เกาะที่ใช้เป็นสุสานสำหรับไดอานาตั้งอยู่ใจกลางทะเลสาบที่มีชื่อว่า เดอะราวน์โอวัล ซึ่งตั้งอยู่ในสวนทางทิศเหนือของคฤหาสน์ มีต้นโอ๊ก 36 ต้นริมทางเดินรอบทะเลสาบบ่งถึงจำนวนอายุของไดอานา ในฤดูร้อนจะมีหงส์ดำ 4 ตัวว่ายน้ำอยู่ในทะเลสาบและต้นดอกบัว และมีต้นกุหลาบขาวปลูกเรียงราย ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ไดอานาโปรดปราน

ริมฝั่งทะเลสาบด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของซัมเมอร์เฮาส์ ที่เคยตั้งอยู่ในสวนแอดไมรอลดี้เฮาส์ในกรุงลอนดอน แต่ตอนนี้ซัมเมอร์เฮาส์ได้ถูกดัดแปลงเป็นอนุสรณ์สถานถึงไดอานา และมีสวนพฤกษชาติโบราณตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน มีพรรณไม้ที่ปลูกโดยเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวสเปนเซอร์ รวมทั้งต้นไม้ของไดอานาด้วย [14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Princess Diana เก็บถาวร 2014-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Entertainment Weekly
  2. https://web.archive.org/web/20051125215025/http://www.bfi.org.uk/features/mostwatched/1990s.html
  3. https://web.archive.org/web/20051122221448/http://www.bfi.org.uk/features/mostwatched/1960s.html
  4. John Urry. Global complexity, Wiley-Blackwell, 2003 p. 134
  5. Paul D. L. Avis. A church drawing near: spirituality and mission in a post-Christian culture, Continuum International Publishing Group, 2003
  6. SPECIAL REPORT: PRINCESS DIANA, 1961-1997 เก็บถาวร 2000-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Time
  7. Joal Ryan (Sat., Sep. 6, 1997) Farewell, "Mummy": Princess Diana's Funeral E!online
  8. A Hot Ticket for a Sad Occasion Washington Post
  9. "The songwriters idea book". Writer's Digest Books p.103. I thought it was very important to project it from a nation's standpoint. I wanted to make it sound like a country singing it. From the first couple of lines i wrote [which began "Goodbye England's Rose"], the rest sort of fell into place.[ลิงก์เสีย]
  10. Barry Miles Massive Music Moments p.207. Anova Books, 2008
  11. The Advocate 14 Oct 1997 Retrieved December 25, 2010
  12. Fred Bronson The Billboard book of number one hits p.860. Billboard Books, 1997
  13. "Diana Returns Home". BBC.co.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
  14. "Althorp Park, Home of Princess Diana". Britainexpress.com. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.

แม่แบบ:ไดอานา, เจ้าหญิงแห่งเวลส์