พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ฑิตย์ ณ สงขลา)
พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) (พ.ศ. 2422 - 2514) เจ้ากรมสวนหลวง องคมนตรีในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 และผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล "ณ สงขลา" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2456 เป็นลำดับที่ 108 ในสยาม ในฐานะผู้สืบเชื้อสายพระยาสงขลา
ประวัติ
[แก้]พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2422 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ ที่บ้านตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (บ้านที่เป็นศาลากลางจังหวัดสงขลาหลังเก่า) เป็นบุตรของพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ 8 ในตระกูล ณ สงขลา กับ นางจำเริญ เป็นบุตรชายลำดับที่ 2 ในจำนวน 3 คน ซึ่งต่างมารดากัน
เมื่ออายุได้ 7 ปี คุณหญิงพับ ณ สงขลา (ภริยาพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์ ณ สงขลา)) ผู้เป็นย่าได้นำไปฝากเรียนหนังสือไทยกับพระธรรมโมลี (กิมเส้ง) และพระวินัยธรสุข ที่วัดมัชฌิมาวาส ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 เมื่ออายุได้ 13 ปี พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้เป็นบิดาได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 คน ไปเรียนหนังสือต่อที่สิงคโปร์ โดยคนโตชื่อปรง ให้เรียนแต่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว คนที่ 2 ชื่อ ทิตย์ ให้เรียนแต่ภาษาจีนอย่างเดียว และคนที่ 3 ชื่อหนิ ให้เรียนแต่ภาษามลายูอย่างเดียว เมื่อเรียนจบได้กลับมาทำหน้าที่ เลขาส่วนตัวของพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และฝึกหัดราชการเพื่อเตรียมรับราชการต่อไป
ต่อมาในปี 2447 เมื่อพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้เป็นบิดาถึงแก่อนิจกรรมลง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เข้าไปรับราชการถวายงานที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่มหาดเล็กวิเศษเฝ้าพระทวารห้องพระบรรทมจนสิ้นรัชกาล
ครั้นเปลี่ยนรัชกาลในปี พ.ศ. 2453 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลื่อนขึ้นเป็นพระพฤกษาภิรมย์ เจ้ากรมสวนหลวง ดูแลสวนทุกแห่งในพระราชวังทั้งในและนอกพระนคร ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาพฤกษาภิรมย์ (พ.ศ. 2456) และพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (พ.ศ. 2461) ดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชฐาน และร่วมในงานก่อสร้างสถานที่สำคัญต่าง ๆ
นายสุเทพ ณ สงขลา บุตรชายของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) เล่าจากความทรงจำ (ขณะที่นายสุเทพฯ อายุ 96 ปี เมื่อ พ.ศ. 2553) ว่า พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) เป็นผู้หนึ่งในทีมงานควบคุมการก่อสร้างสถานีรถไฟสวนจิตรลดาหลังปัจจุบันที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ ปี 2456 ทดแทนอาคารไม้หลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) และการปลูกต้นไม้ในถนนราชดำเนินจนถึงโรงหนังเฉลิมไทย โดยพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) ได้สั่งให้คนงานเพาะเม็ดมะขามไว้ในกระป๋องนมตราแหม่มทูนหัวเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะนำไปปลูกเป็นแนวยาวตลอดทั้งถนน จนเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินในปัจจุบัน
ในปี 2456 ในขณะเป็นพระพฤกษาภิรมย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล ณ สงขลา ตามประกาศครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2456 เป็นลำดับที่ 108 ของสยาม นับเป็นสิริมงคลแก่สมาชิกในตระกูล ณ สงขลาผู้สืบสายสกุลมาจากบรรพบุรุษเจ้าเมืองสงขลาทุกสายสกุล
ในปี พ.ศ. 2465 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 และ พ.ศ. 2469 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ จึงได้กราบบังคมทูลขอลาออกจากราชการและกลับไปอยู่ที่จังหวัดสงขลาจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2514 สิริอายุรวม 91 ปี 10 เดือน
หน้าที่ราชการ
พ.ศ. 2448 - มหาดเล็กวิเศษ รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 40 บาท
พ.ศ. 2449 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น นายรองพินิตย์ ราชการมหารเล็กเวรสิทธิ์ รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 60 บาท
พ.ศ. 2451 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น นายฉัน หุ้มแพร ต้นเชือก รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 100 บาท
พ.ศ. 2453 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระพฤกษาภิรมย์ เจ้ากรมสวนหลวง รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 200 บาท
พ.ศ. 2456 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาพฤกษาภิรมย์ รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 450 บาท
พ.ศ. 2461 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 700 บาท
พ.ศ. 2465 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น องคมนตรีในรัชกาลที่ 6
พ.ศ. 2469 - ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น องคมนตรีในรัชกาลที่ 7
ชีวิตครอบครัว
สมรสกับ คุณหญิงลิ้ม ณ สงขลา ธิดาพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 9 คน ได้แก่
(1) นางนิ่ม สมรสกับ ร้อยโทขุนเจนจัดขบวนรบ (เจิม อัมระปาล)
(2) พันเอก ถัด ณ สงขลา สมรสกับ นางจันทรา โรจนะหัสดิน
มีบุตร 1 คน คือ พันเอก พร้อมศักดิ์ ณ สงขลา
(3) นางช้อย สมรสกับ ขุนคีรีรัฐนิคม
มีบุตร 1 คน คือ นายจรัส คีรีรัฐนิคม
(4) นายชิต ณ สงขลา สมรสกับ นางประภา
มีบุตร-ธิดา 4 คน
(5) นางเสงี่ยม สมรสกับ นายประสพ ศรีเพ็ญ
(6) นายสาทิศ ณ สงขลา สมรสกับ นางสมศรี เดชณรงค์
มีบุตร 1 คน คือ นายชนะ ณ สงขลา
(7) นางสาวจิตรณี
(8) นายสุเทพ ณ สงขลา สมรสกับ นางยุพเยาว์
มีบุตร-ธิดา 3 คน ได้แก่ นางทิพยวรรณ นางพันธ์ทิพย์ และนายดนตรี ณ สงขลส
(9) นายเล็ก ณ สงขลา สมรสกับ นางสงัด มีบุตร 2 คน
คือ นายอัศวิน ณ สงขลา และนายชัยยุทธ ณ สงขลา
ภายหลังเมื่อพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) กลับไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา มีภรรยาอีก 3 คน ได้แก่
นางเลื่อน มีบุตรด้วยกัน คือ (10) รศ. ดร. ชำนาญ ณ สงขลา สมรสกับ รศ. ดร. วัฒนา พินัยนิติศาสตร์
นางฉู้ ไม่มีบุตรธิดา
นางเปี่ยม มีบุตร-ธิดา 4 คน ได้แก่ (11) ร้อยตรี ระวิ ณ สงขลา (12) นายทินกร ณ สงขลา (13) นายธนู ณ สงขลา และ (14) นางเต็มเปี่ยม
เกียรติยศ
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2467 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[1]
- พ.ศ. 2466 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[2]
- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[3]
- พ.ศ. 2457 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา (ว.ม.ล.)[4]
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 4 (จ.ป.ร.4)[5]
- พ.ศ. 2460 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)[6]
- พ.ศ. 2449 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 5 (ร.จ.ท.5)[7]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[8]
- พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญ จ.ป.ร. ที่ระลึกในงานเก็บพระบรมอัฐิพระพุทธเจ้าหลวง
เข็มพระราชทาน
[แก้]- พ.ศ. 2452 – เข็มพระชนมายุสมมงคล ชั้นที่ 3 (เงิน)[9]
- พ.ศ. 2454 – เข็มไอยราพต
- พ.ศ. 2455 – เข็มอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ชั้นที่ 2
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๙๐, ๑ มกราคม ๒๔๖๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๗๖, ๗ มกราคม ๒๔๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๗๓, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวชิรมาลา, เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕, ๔ เมษายน ๒๔๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายหน้า, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๔, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๑๘, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๒๘ หน้า ๗๑๗, ๗ ตุลาคม ๑๒๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๐๙, ๙ กรกฎาคม ๑๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเข็มพระชนมายุสมมงคล, เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๔๒, ๖ มีนาคม ๑๒๘
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ณ ฌาปนสถานเทศบาลเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
- "พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์ ณ สงขลา) : ประวัติและบันทึกจากความทรงจำ" ใน พงศาวดารเมืองสงขลาและโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสงขลา อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พร้อมศักดิ์ ณ สงขลา วันที่ 23 มกราคม 2553 ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน)