พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา)
พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) | |
---|---|
เจ้าเมืองมุกดาหาร, จางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร, กรมการพิเศษจังหวัดนครพนม | |
ก่อนหน้า | พระจันทรสุริยวงษ์ (บุญเฮ้า จันทรสาขา) |
ถัดไป | พระจันทรเทพสุริยวงษา (แสง จันทรสาขา) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2388 เมืองมุกดาหาร |
เสียชีวิต | 2460 เมืองมุกดาหาร |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
อำมาตย์เอก พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) นามเดิมว่าท้าวเมฆหรือเมก อดีตเจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 7 (ปกครอง พ.ศ. 2430-42) จากราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ในฐานะเจ้าประเทศราช อดีตราชบุตรผู้รักษาราชการเมืองมุกดาหาร อดีตจางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร อดีตกรมการพิเศษจังหวัดนครพนม (พ.ศ. 2442-60) และอดีตจางวางอำเภอมุกดาหาร เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล จันทรสาขา ของจังหวัดมุกดาหาร และเป็นต้นสกุลพระราชทาน พิทักษ์พนม ของอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ราชตระกูล
[แก้]พระยาศศิวงษ์ประวัติเป็นบุตรเจ้าอุปฮาด (แถงหรือแท่ง) เมืองมุกดาหาร เป็นนัดดาพระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 3 เป็นปนัดดาเจ้าพระยาหลวงจันทรสุริยวงษาดำรงมหาราชการ (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 2 โอรสในเจ้าพระยาจันทสีโสราชอุปราชามันธาตุราช (จันทกินรีหรือกินนรี) ผู้สร้างเมืองมุกดาหาร (บังมุก) เจ้าพระยาจันทสีโสราชอุปราชามันธาตุราชเป็นโอรสเจ้าจันทสุริยวงษ์ (จารย์จันทสุริยวงษ์) เจ้าเมืองหลวงโพนสิม เมืองพิน เมืองนอง (ละนอง) และเมืองตะโปน (ซะโปน) ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต เจ้าจันทสุริยวงษ์มีพี่น้องชื่อเจ้าแก้วมงคล (แก้วบูฮมหรือเจ้าจารย์แก้ว) ผู้สร้างเมืองท่งสีพูม (เมืองท่ง) ทั้งสองเป็นพระโอรสเจ้าศรีวิชัยหรือเจ้าศรีวรมงคลพระราชโอรสในพระเจ้าศรีวรวงษาธิราชหรือเจ้ามหาอุปราชศรีวรวังโสกษัตริย์นครเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2118-23) พระราชปนัดดาในพระยาโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง[1] และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชฏฐาธิราชมหาราช บรรพบุรุษของพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ปกครองหัวเมืองลาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงหลายหัวเมือง อาทิ เป็นเจ้าเมืองมุกดาหารสายตรง 3 องค์ จาก 7 องค์ที่เป็นเครือญาติ ทั้งเคยปกครองนครเวียงจันทน์ นครหลวงพระบาง เมืองหลวงโพนสิม (โพนสิม) เมืองเซโปน (ตะโปน) เมืองพิน เมืองนอง (ละนอง) เมืองพาลุกากรภูมิ (ตาลุกา) เมืองคันธบุรี (นครไกสอนพมวิหานเมืองหลวงของแขวงสะหวันนะเขด) เมืองดอนตาล (อำเภอดอนตาลในจังหวัดมุกดาหาร) เป็นต้น
พระประวัติ
[แก้]พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) เกิดวันอาทิตย์ เดือน 12 ปีมะเส็ง จ.ศ. 1207 (พ.ศ. 2388) ตรงกับรัชกาลที่ 3 เริ่มรับราชการเป็นกรมการเมืองมุกดาหารที่ท้าวสุวรรณสาร พ.ศ. 2422 โปรดเกล้าฯ เป็นที่ราชบุตรเมืองมุกดาหาร ครั้งเป็นราชบุตรได้เป็นว่าที่เจ้าเมืองมุกดาหารและคุมกำลังเมืองไปราชการรักษาด่านทางป้องกันทัพญวน ซึ่งพ่ายแพ้ฝรั่งเศสและหลบหนีเข้ามาซ่อนตัวในเขตเมืองวังเมืองเซโปนที่ชายแดนเมืองมุกดาหารต่อชายแดนเวียดนาม พ.ศ. 2425 เป็นนายกองคุมกำลังเมืองมุกดาหารไปปราบฮ่อที่ทุ่งเซียงคำ (ทุ่งไหหิน) จนได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อ พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหาร พ.ศ. 2434 ขณะอายุ 46 ปีได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับพระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าเมืองที่พระจันทรเทพสุริยวงษาเจ้าเมืองมุกดาหาร พร้อมนำส่วยและเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองขึ้นทูลเกล้าฯ ในฐานะประเทศราชชายพระราชอาณาเขต นับเป็นการทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองครั้งสุดท้ายของมุกดาหาร จากนั้นสยามจึงยกเลิกประเพณีนี้ พ.ศ. 2436 เป็นผู้คุมกำลังเมืองมุกดาหารไปรบกองกำลังฝรั่งเศสที่ยกมายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พ.ศ. 2441 เมื่อสยามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมืองจึงโปรดเกล้าฯ เป็นจางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีปีละ 500 บาท พ.ศ. 2450 โปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นที่ อำมาตย์เอก พระยาศศิวงษ์ประวัติ ถือศักดินา 3,000 ไร่ ในตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดนครพนม ต่อมา พ.ศ. 2457 จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า จันทรสาขา[2]
ได้เป็นราชบุตรเมืองมุกดาหาร
[แก้]พ.ศ. 2422 รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) เป็นที่ราชบุตรเมืองมุกดาหารตามจารีตเจ้านายในราชอาณาจักรล้านช้างปรากฏความในเอกสารตราตั้งว่า ให้ท้าวสุวรรณสาร เปนราชบุตรเมืองมุกดาหาร จงช่วยพระจันทรสุริยวงษา เจ้าเมืองมุกดาหารคิดอ่านราชการบ้านเมือง แลฟังบังคับบัญชาผู้ใหญ่ในเมือง แต่ที่เปนยุติธรรมแลชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ แลรักษาความซื่อสัตยสุจริตต่อกรุงเทพมหานคร ตามอย่างธรรมเนียมผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเช่นนี้ จงเจริญศุขสวัสดิ ทำราชการตั้งแต่บัดนี้ไปเทอญ ตั้งแต่ณวัน 34ฯ9 ค่ำปีเถาะเอกศก เปนปีที่ 12 ของตราดวงที่ประทับมานี้ ประจำการแผ่นดินสยาม ศักราช 1041 เปนวันที่ 3906 ในรัชกาลปัตยุบันนี้ สมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บรมราช[3]
ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร
[แก้]เมื่อเจ้าราชบุตร (เมฆ) ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าเมืองและว่าที่เจ้าเมืองแล้ว ต่อมา 3 ปี พ.ศ. 2434 จึงเดินทางลงไปรับพระราชทานสัญญาบัตรในตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชสัญจกรตั้งให้ราชบุตร (เมฆ) เป็นที่ พระจันทรเทพสุริยวงษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารตั้งแต่วันที่ 4 เดือนตุลาคม ร.ศ. 110 ปรากฏความในราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 110 การแต่งตั้งเจ้าเมืองครั้งนี้ประกอบด้วยกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในคณะอาญาสี่และผู้ช่วยราชการเมืองอีก 7 ท่าน คือ ท้าวเสริมให้ดำรงตำแหน่งอุปฮาดเมืองมุกดาหาร ท้าวแสงให้ดำรงตำแหน่งราชวงศ์เมืองมุกดาหาร ท้าวแป้นให้ดำรงตำแหน่งราชบุตรเมืองมุกดาหาร พระวรบุตรภักดี (ท้าวอ่าง) พระศรีวรวงษ์ พระราชกิจภักดี และพระศรีวรราชให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองมุกดาหาร[4]
เครื่องยศ
[แก้]ครั้งเป็นเจ้ามเองมุกดาหารพระจันทรเทพสุริยวงษ์ (เมฆ) ได้รับพระราชทานเครื่องยศคือ หมวกตุ้มปี่ 1 ใบ กระบี่บั้งทอง 5 บั้ง เสื้อเข้มขาบดอกก้านแย่ง 1 ผืน พานหมากถมเครื่องในทองคำ 1 สำรับ ลูกประคำทองคำ 108 เม็ด 1 สาย คณโททองคำ 1 ลูก กระโถนทองคำ 1 ลูก และผ้าม่วงจีน 1 ผืน[5]
ปกิณกผลงาน
[แก้]สร้างเรือมณฑล
[แก้]พ.ศ. 2434 ครั้งเป็นพระจันทรเทพสุริยวงษ์เจ้าเมืองมุกดาหารได้ชักชวนชาวเมืองร่วมใจกันเสาะหาต้นตะเคียนในเขตเมืองมุกดาหาร จนพบต้นตะเคียนที่งดงามสูงใหญ่ที่สุดของเมือง ณ ดงบักอี่ (บั่งอี) ท้องที่อำเภอดอนตาลต่อเขตอำเภอนิคมคำสร้อย แล้วขุดถากสำเร็จเป็นเรือเมื่อราว พ.ศ. 2436 พระยาจันทรเทพสุริยวงษ์ได้ตั้งมงคลนามเรือนี้ว่า เรือมณฑล ต่อมากลายเป็นเรือประวัติศาสตร์คู่บ้านคู่เมืองมุกดาหารมาแต่อดีต มีอายุร้อยกว่าปี ปัจจุบันเก็บรักษา ณ วัดศรีสุมังค์ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เรือมณฑลขุดจากตะเคียนทั้งต้น ยาว 20 เมตร กว้าง 1.20 เมตร บรรจุฝีพายได้ 45 คน ลือว่าเป็นเรือที่สวยงามที่สุดและชนะเลิศการแข่งเรือในบุญส่วงเฮือแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาโดยตลอด ทั้งเคยเป็นเรือรับเสด็จเมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลร้อยเอ็ด พระองค์ประทับบนเรือมณฑลเพื่อล่องแก่งในลำน้ำโขงจากบ้านธาตุพนมมายังเมืองมุกดาหารเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2449 เรือมณฑลเคยลงน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2496 ถือเป็นเรือประวัติศาสตร์ชาติและเป็นโบราณวัตถุล้ำค่าชาวมุกดาหาร ต่อมาจึงบูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2549[6]
ถึงแก่กรรม
[แก้]พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ถึงแก่กรรมเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 หรือ 28 เมษายน พ.ศ. 2460 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุ 72 ปี
การพระราชทานนามสกุล
[แก้]นามสกุลจันทรสาขา
[แก้]รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่เจ้าเมืองมุกดาหารว่า จันทรสาฃา เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Chandrasakha เลขทะเบียนสกุลพระราชทานที่ 1370 พระราชทานแก่พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ครั้งดำรงตำแหน่งจางวางอำเภอมุกดาหาร ทวดชื่อพระจันทรสุริยวงษา (กิ่ง) 25/4/14 ต่อมานิยมเขียนคำว่า จันทรสาฃา เป็น จันทรสาขา เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการใช้อักษร ฃ[7] ดังปรากฏในเอกสารพระราชทานนามสกุลว่า ขอให้นามสกุลของ พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) จางวางอำเภอมุกดาหาร เมืองนครพนม มณฑลอุดร ทวดชื่อพระยาจันทรสุริยวงษา (กิ่ง) ตามที่ขอมานั้นว่า จันทรสาขา (เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Chandrasakha) อันเปนมงคลนาม ขอให้สกุลจันทรสาขา มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน พระที่นั่งพิมานปฐม. วันที่ 21 เมษายน พระพุทธศักราช 2475. คำว่า จันทร มาจากนามเดิมของต้นตระกูลผู้สร้างเมืองมุกดาหารคือเจ้าจันทกินรีหรือเจ้าพระยาจันทรสีโสราชอุปราชามันธาตุราช และมาจากราชทินนามประจำของเจ้าเมืองมุกดาหารคือ จันทรสุริยวงษา ส่วนคำว่า สาขา เป็นภาษาบาลีตรงกับคำว่า กิ่ง ซึ่งเป็นนามเดิมของอัยกา (ปู่) ของพระยาศศิวงษ์ประวัติ
นามสกุลพิทักษ์พนม
[แก้]พ.ศ. 2478 รัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่บุตรของอำมาตย์เอก พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ว่า พิทักษ์พนม โดยเป็นสกุลที่มาจากราชทินนามเดิมของทายาท ลำดับสกุลพระราชทานอักษร พ-ฟ ที่ 65 พระราชทานแก่หลวงพิทักษ์พนมเขต (สีห์ จันทรสาขา) นามเดิมว่าท้าวสีห์ (ทุมหรือศรีกระทุม) นายอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระราชทานเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2485[8] ต่อมาจึงกลับไปใช้สกุลพระราชทานของบิดา ส่วนสกุลพิทักษ์พนมไม่มีผู้ใช้สืบต่อ
เจดีย์บรรจุพระอัฐิ
[แก้]หลังถึงแก่กรรมทายาทบุตรหลานได้สร้างธาตุบรรจุพระอัฐิพระยาศศิวงษ์ประวัติ ณ วัดศรีสุมังค์วรารามหรือวัดสีสุมัง (วัดช้าง) คนทั่วไปเรียกว่าวัดเจ้าคุณพระยา เนื่องจากเป็นวัดที่พระยาศศิวงษ์ประวัติ เจ้าเมืองมุกดาหาร และทายาทบุตรหลานเป็นผู้อุปถัมภ์ ธาตุบรรจุพระอัฐิพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) หรือธาตุเจ้าคุณพระยาตั้งอยู่ระหว่างวิหารและสิมด้านหน้าพระธาตุใหญ่อิทธิพลทางศิลปกรรมพระธาตุพนม ธาตุอัฐิมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีขนาดเล็กเตี้ย ถ้าน (ฐาน) รูปแอวขัน 2 ชั้น ไม่ปรากฏตีนธรณี เรือนธาตุหรือองค์ธาตุทรงดอกบัวจูมหรือหมากน้ำเต้าประดับลายปูนปั้นนูนต่ำรูปดอก 4 กลีบทั้งขนาดเล็กใหญ่ทาสีทอง มุมเรือนธาตุเป็นรูปดอกกาบทิศหรือดอกกระจังทาสีทองเช่นกัน ยอดธาตุประกอบด้วยตีนหีบและดวงปี ปลายสุดเป็นรูปน้ำค้างหรือดอกบัวจูมทาสีทอง ทั้งองค์ธาตุทาสีขาวเป็นพื้น ด้านหน้ามีแผ่นป้ายภาพและประวัติโดยย่อของพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ)[9]วัดศรีสุมังค์วรารามตั้งอยู่ ณ ริมแม่น้ำโขง ถนนดำรงค์มุกดา ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง อายุมากกว่า 200 ปี ภายในวัดมีวิหารเก่าอิทธิพลศิลปกรรมอาณานิคมฝรั่งเศสซึ่งส่งผ่านมาทางช่างลาว-ญวน วิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีซุ้มประตูหน้าต่าง (บังเกิ้น) รูปอาร์คโค้ง พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกพุทธลักษณะแบบลาวล้านช้าง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระธาตุขนาดใหญ่รูปแบบอิทธิพลพระธาตุพนมด้วย[10]
อนุสรณ์
[แก้]ชาวมุกดาหารและราชการนำราชทินนาของพระยาศศิวงษ์ประวัติมาตั้งชื่อซอยบริเวณถนนศรีบุญเรืองและถนนสมุทรศักดารักษ์ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร ว่า ซอยศศิวงษ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์คุณงามความดีในราชการบ้านเมืองของพระยาศศิวงษ์ประวัติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-15. สืบค้นเมื่อ 2016-06-24.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-01. สืบค้นเมื่อ 2016-06-24.
- ↑ สุรจิตต์ จันทรสาขา. เมืองมุกดาหาร. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.. 2543. น. 152
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-15. สืบค้นเมื่อ 2016-06-24.
- ↑ สุรจิตต์ จันทรสาขา. เมืองมุกดาหาร. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.. 2543. น. 52
- ↑ https://www.facebook.com/MukdahanBanChan/posts/828894997128189
- ↑ https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-c
- ↑ กรมศิลปากร. นามสกุลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : เดือนตุลา. 2554. น. 88
- ↑ http://board.palungjit.org/7774791-post85.html[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://zeekway.com/wat-srisumank-wanaram/[ลิงก์เสีย]