ข้ามไปเนื้อหา

พระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาวุฒาธิคุณ
(เคน ณ หนองคาย)
พระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย) จางวางเมืองหนองคาย ภาพถ่ายโดย โอกุสต์ ปาวี นักสำรวจชาวฝรั่งเศส
เจ้าเมืองหนองคาย
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2400 – พ.ศ. 2430 (เจ้าเมือง) พ.ศ. 2441 (จางวางเมือง)
ก่อนหน้าพระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร)
ถัดไปพระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เสียชีวิต19 กันยายน พ.ศ. 2441
คู่สมรสอัญญาคุณหญิงบุคศรี
หม่อมบุปผา
หม่อมเกิดมี
หม่อมตื้อ
หม่อมตุ
หม่อมผิว
หม่อมบัวภา
บุตรพระยาปทุมเทวาภิบาล (เสือ)
พระยาวุฒาธิคุณวิบุลยศักดิ์ (แพ)
พระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม)
พระบริบาลภูมิเขตร (หนูเถื่อน)
พระวิชิตภูมิกิจ (โพธิ์)
ท้าวจันทกุมาร
อัญญานางกุประดิษฐ์บดี (เปรี้ยง)
อัญญานางราชามาตย์ (หนูพัน)
บุพการี

พระยาวุฒาธิคุณ หรือ เคน ณ หนองคาย (ถึงแก่อนิจกรรม 19 กันยายน พ.ศ. 2441) เป็นเจ้าเมืองหนองคายคนที่ 3 มีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมเทวาภิบาล ต่อมาเลื่อนเป็นจางวางเมือง กรมการผู้ใหญ่ที่ปรึกษาราชการเมืองหนองคาย

ประวัติ

[แก้]

พระยาวุฒาธิคุณวิบุลยศักดิ์ อัครสุรินทรมหินทรภักดี เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๓ มีนามเดิมว่า ท้าวเคน เป็นบุตรของพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายคนแรก เป็นพระปนัดดาในพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช สืบเชื้อสายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว จากเจ้าอุปราชนองเมืองหนองบัวลุ่มภู เดิมท้าวเคน รับราชการกับบิดาที่บ้านสิงห์โคกหรือเมืองยโสธร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) กรมการเมืองยโยธร เป็นพระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย และท้าวเคน ผู้บุตรพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ได้ไปช่วยราชการบิดาที่เมืองหนองคาย ต่อมาในสมัยพระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) ท้าวเคนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระอุปฮาด (เคน) อุปฮาดเมืองหนองคาย

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๒ ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอุปฮาด (เคน) ดำรงตำแหน่งเป็น พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายคนที่ ๓ พระราชทานเครื่องยศสำหรับเจ้าเมืองประเทศราช ประกอบด้วย พานหมากเงินกลมถมตะทองปากจำหลักกลีบบัว ๑ เครื่องในทองคำ คือ จอกหมาก ๒ ผะอบ ๒ ตลับขี้ผึ้ง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ มีดหนีบหมาก ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนเงินถม ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อทรงประภาศหมวกตุ้มปี่กำมะหยี่สำรับ ๑ ปืนชนวนทองแดงต้นเลี่ยมเงิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เสื้อแพรจินเจา ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ ผ้าลายเกี้ยว ๑ แพรขาวหงอนไก่ลาย ๑ แพรขาวโล่ ๑

เลื่อนบรรดาศักดิ์

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดาศักดิ์ พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคาย เป็น พระยาประทุมเทวาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย ในวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๑๒ ความว่า

"...ให้พระประทุมเทวาธิบาล เป็นพระยาประทุมเทวาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย ตั้งแต่ ณ วัน ๒ ฯ๑๓ ๗ ค่ำ ปีมเส็งเอกศก ศักราช ๑๒๓๑ เป็นวันที่ ๒๑๐ ในรัชกาลปัตยุกบันนี้"[1]

(สำเนาการแต่งตั้งสัญญาบัตร เล่มที่ ๑ การแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๕)

เลื่อนเป็นจางวางเมืองหนองคาย

[แก้]
ภาพคุณหญิงบุคศรี ภรรยาพระยาวุฒาธิคุณ (เคน) จางวางเมืองหนองคาย กับธิดา ถ่ายโดยโอกุสต์ ปาวี คณะสำรวจแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส

พระยาปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคาย อยู่ ๓๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระยาประทุมเทวาภิบาลแก่ชราและตาบอดทั้งสองข้าง ไม่สามารถรับราชการได้เต็มกำลัง จึงมีใบบอกกราบบังคมทูลขอให้ราชบุตร (ท้าวสุพรหม) ผู้เป็นเป็นบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองหนองคายแทน ปรากฏตามพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๓๐ ความว่า

"...วัน ๖ ฯ๑๔ ๖ ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๒๔๙ เวลาย่ำค่ำแล้ว เสด็จออกขุนนางในห้องออกขุนนางตามเคย หลวงเสนาภักดีนำ...ใบบอกพระยาประทุมเทวาธิบาล อุปฮาดเมืองหนองคายว่า พระยาประทุมเทวาธิบาลเสียจักษุ อุปฮาดเป็นลมสันนิบาต จะรับราชการต่อไปไม่ได้ ขอรับพระราชทานราชบุตรผู้บุตรพระยาประทุมเทวาธิบาล ผู้ว่าราชการเมือง พระวรสารสุรไกรบุตรราชวงศ์คนเก่า เป็นพระอุปฮาดรับราชการต่อไป...แลนำราชบุตร พระวรสารสุรไกรเมืองหนองคาย ท้าว​บุญจัน พระคลังทิพจักษ์เมืองขุขัน ราชบุตรหลวงศรีรัตนเมืองศรีสะเกษเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท..."[2]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นที่ “พระยาจางวาง” หรือที่ปรึกษาราชการเมือง รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาวุฒาธิคุณวิบูลย์ศักดิ์ อรรคสุรินทร มหินทรภักดี” และให้ราชบุตร (ท้าวสุพรหม) บุตรชายพระยาวุฒาธิคุณฯ เป็นที่พระยาปทุมเทวาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองคายแทน ความว่า

“...พระยาปทุมเทวาธิบาล ป่วยเจ็บเสียจักขุ จะรับราชการต่อไปไม่ได้นั้น ทรงพระราชดำริว่า พระยาประทุมเทวาธิบาลก็ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมานาน ไม่มีความผิดสิ่งใดลงไปให้ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาท จะให้พระยาประทุมออกเสียจากตำแหน่งก็ยังไม่ควร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกร เลื่อนพระยาประทุมเทวาธิบาลเป็นที่พระยาวุฒาธิคุณวิบูลย์ศักดิ์ อรรคสุรินทร มหินทรภักดี จางวางที่ปรึกษาราชการ…วัน ๓ ฯ ๙ ค่่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙”[3]

ส่วนอุปฮาดเมืองหนองคายที่เป็นโรคลมสันนิบาตรับราชการต่อไม่ได้นั้นก็ได้เลื่อนเป็น “พระยาปลัดจางวาง” ที่ปรึกษาราชการเมืองเช่นกัน โดยได้รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาอดุลเดชากร”[4] แล้วเลื่อนพระวรสารสุรไกร ผู้ช่วยราชการเมืองเป็นอุปฮาดเมืองหนองคายแทน หากแต่ใน พ.ศ. 2430 ราชบุตร (ท้าวสุพรหม) ขณะเมื่อไปรับสัญญาบัตรเป็นที่พระยาปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายนั้น ได้เกิดป่วยที่กรุงเทพฯ และถึงแก่อนิจกรรม ดังความในจดหมายเหตุว่า

“...วันพฤหัส เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีกุนนพศก พระยาประทุมเทวาธิบาลปวยเปนโลกจุกเสียดเหลือกำลังแพทย์จะเยียวยา เวลาสองโมงเช้า พระยาประทุมเทวาธิบาลถึงแก่กรรม…”[5]

ทางราชสำนักกรุงเทพฯ จึงให้กรมการเมืองหนองคายตกลงกันและให้เสนอผู้ที่ขึ้นจะเป็นเจ้าเมืองหนองคายต่อราชสำนักกรุงเทพฯ แต่มีหลักเกณฑ์ว่าผู้ที่เสนอมานั้นควรเป็น “บุตรชาย” ของพระยาวุฒาธิคุณฯ

“...พระยาประทุมเทวาธิบาล (สุพรหม) ถึงแก่กรรมแล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมว่า พระยาจางวางจะให้บุตรคนใดเปนพระยาประทุมต่อไป ก็ให้ไปบอกลงไปกรุงเทพพระมหานคร ไม่ว่าบุตรคนใดคนนึงจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ทั้งสิ้น...”[6]

พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) จึงมีเสนอชื่อราชบุตร (ท้าวเสือ) บุตรชายอีกคนของพระยาวุฒาธิคุณฯ ขึ้นเป็นพระยาปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคายแทนพระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม) ที่ถึงแก่อนิจกรรมไป ซึ่งทางราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ตั้งให้ตามคำขอดังกล่าว ความว่า

“...ณ วัน ๕ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร...ท้าวเสือผู้ว่าที่ราชบุตร เปนพระยาประทุมเทวาธิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย ๑ ท้าวคำตัน เปนราชบุตรเมืองหนองคาย ๑…”[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระยาวุฒาธิคุณเป็นเจ้าเมืองในหัวเมืองลาวพวนเพียงไม่กี่ท่านที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพราะท่านได้อุตสาหะในราชการเป็นอันมาก ดังปรากฏในพระหัตถเลขาของ พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลลาวกาว ซึ่งนำขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

"เมืองหนองคาย วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๑

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ...พระยาวุฒาธิคุณ จางวางเมืองหนองคาย ได้รับราชการรบทัพเมื่อคราวพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ขึ้นไปเป็นแม่ทัพได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ภูสนาภรณ์เป็นความชอบ มาภายหลังเมื่อพระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) ยกกองทัพขึ้นไป ๒ ครั้ง ได้ส่งเสบียงอาหารเรียบร้อยตลอด เมื่อข้าพระพุทธเจ้าขึ้นไปรับราชการฉลองพระเดชพระคุณเมื่อปีกุนนพศก ก็ได้ส่งเสบียงอาหารเป็นกำลังแก่ราชการมาก

ประการหนึ่งบรรดาผู้ที่ว่าราชการในเมืองตะวันออกที่ได้พบ ๆ มาไม่เห็นผู้ใดเป็นหลักฐานมั่นคงยั่งยืนเหมือนสักคนหนึ่งไม่มี ประการหนึ่ง สิ่งไรที่เป็นราชการแล้ว ตั้งหน้าทำโดยความอุตส่าห์ภักดีต่อราชการมิได้เห็นแก่ประโยชน์ตน รู้ว่าการสิ่งไรจะเป็นประโยชน์แก่ราชการแล้วก็พูดจาแนะนำสิ่งนั้นขึ้น ไม่เหมือนกับผู้ว่าราชการเมืองอื่น ผู้ว่าราชการเมืองอื่น ๆ มักจะคิดเสียว่าถ้าจะแนะนำการสิ่งไรขึ้นก็จะต้องใช้ให้ตัวไปทำ เหมือนหนึ่งผู้ที่มาบอกกับนายว่าหญ้าม้าที่ตรงนั้นงามแล้วนายก็ใช้ให้ผู้นั้นไปตัดหญ้าม้าให้ พระยาวุฒานี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ถ้ารู้ว่าสิ่งไรว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการแล้ว ก็พูดจาแนะนำตามความเห็น อนึ่งในเร็ว ๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปตรวจดูถนนที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเห็นแคบไป ก็พูดกับกรมการและผู้อื่น ๆ บ้าง ว่าจะคิดทำถนนให้กว้างแต่ยังติดอยู่ด้วยบ้านราษฎรและกรมการที่กีดขวางอยู่มาก จึงให้ลงมือทำแผนที่ ถ้าควรจะผ่อนผันซื้อให้น้อยที่สุดเพียงไรก็จะได้คิดให้ทำลง มาภายหลังพระยาวุฒาฯ ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าคิดจะทำถนนก็ให้รื้อบ้านตัวเองเข้าไปก่อน ไม่ทันที่จะได้บอกกล่าวว่ากระไร ได้ทราบข่าวจากผู้มาบอกเล่าว่า พระยาวุฒาว่าถ้าจะไม่รื้อของตัวเองเสียก่อน ภายหลังเวลาจะทำจะว่ากล่าวผู้อื่นไม่ได้ เป็นตัวอย่างดังนี้ ราชการอื่น ๆ ที่แกลงเนื้อเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ราชการแล้ว เป็นทำไปโดยแข็งแรงไปอย่างนี้ทุกอย่าง อนึ่ง การสิ่งไรที่ไม่เห็นด้วยที่สงสัย ก็มีความกล้าหาญเข้ามาโต้ทานไต่ถาม ไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ เป็นคนดีมาก สมควรที่จะได้รับพระราชทานเลื่อนยศความชอบอยู่แล้ว จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานความชอบชั้นใด ก็สุดแล้วแต่จะทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ ...

ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ประจักษ์ศิลปาคม"


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขา โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฏสยามแด่พระยาวุฒาธิคุณ ความว่า

"เกาะสีชัง วันที่ ๒๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑

ถึงกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ด้วยเธอจดหมายลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๑๑๑ มาขอตั้งตำแหน่งและขอตรามานั้นได้ทราบแล้ว ...และส่งตรามงกุฏสยามชั้นที่ ๒ ขึ้นไปให้พระยาวุฒาธิคุณ เหรียญบุษปะมาลาให้หลวงณรงค์โยธาแล้ว.

(พระปรมาภิไธย) สยามินทร์ "

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๑ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๕ หน้า ๔๐๘-๔๐๙ ร.ศ. ๑๑๗ ความว่า

"...พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) จางวางเมืองหนองคาย ป่วยเปนโรคลมอำมพาธ ถึงแก่อนิจกรรม วันที่ ๑๙ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗..” [10]

เป็นเจ้าเมืองและจางวางเมืองหนองคาย รวมระยะเวลา ๔๑ ปี

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำเนาการแต่งตั้งสัญญาบัตร เล่ม ๑ การแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ ๕http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra60_0155/mobile/index.html#p=25
  2. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาค ๒๓ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๓๙
  3. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หจช., ร.5 ม.2.12ก/4[55] เรื่อง “ใบบอกเมืองหนองคาย (มี.ค. – 24 ธ.ค. 109)” อ้างใน พื้นสังกาส : พื้นประวัติศาสตร์เมืองหนองคาย. (ปูมโหรเมืองหนองคาย). กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2566. หน้า 176
  4. ราชกิจจานุเบกษา รัตนโกสินทรศก 118 หน้า 298- 299 ประวัติพระยาอดุลเดชา ปลัดจางวางเมืองหนองคาย https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1019313.pdf?fbclid=IwAR3N_Li7b91UYorEtD3YZs0eFk4b7km1xW2mphfYm8bdCN-RsHV2KThrpBc
  5. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หจช., ร.5 ม.2.12ก/4[55] เรื่อง “ใบบอกเมืองหนองคาย" (มี.ค. – 24 ธ.ค. 109)
  6. ใบบอกเมืองหนองคาย, เรื่องเดียวกัน
  7. ใบบอกเมืองหนองคาย, เรื่องเดียวกัน
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วันที่ 10 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 115, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๒๔, ๒๔ ตุลาคม ๒๔๓๙
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วันที่ 28 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 115, เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๔๓๓, ๒๔ ตุลาคม ๒๔๓๙
  10. ข่าวตายหัวเมือง ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 15 หน้า 408-409 ร.ศ.117 (2441) https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1020410.pdf
ก่อนหน้า พระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย) ถัดไป
พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร)
เจ้าเมืองหนองคาย
(พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2441)
พระยาปทุมเทวาภิบาล (สุพรหม ณ หนองคาย)