พระมหาเมธังกร (พรหม พฺรหฺมเทโว)
เจ้าคุณพระมหาเมธังกร (พรหม พฺรหฺมเทโว) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 นครแพร่ (74 ปี 37 วัน ปี) |
มรณภาพ | 25 เมษายน พ.ศ. 2492 |
นิกาย | มหานิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดเมธังกราวาส (น้ำคือ) แพร่ |
บรรพชา | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 |
อุปสมบท | 23 มิถุนายน พ.ศ. 2464 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาส (วัดน้ำคือ) เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ประธาน ผู้ก่อตั้งวัดพระธาตุช่อแฮ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดเมธังกราวาส อ. เมือง จ. แพร่ |
พระมหาเมธังกร นามเดิม พรหม เกศทับทิม ฉายา พฺรหฺมเทโว อดีตเจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาส (วัดน้ำคือ) ประธานผู้ก่อตั้งวัดพระธาตุช่อแฮ โรงเรียนวัดเมธังกราวาส และอดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นพระสงฆ์ที่นำระบบการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2446 มาเผยแพร่ในจังหวัดแพร่
เจ้าคุณพระมหาเมธังกรนับว่าเป็นพระเถระผู้ทรงคุณสมบัติยิ่งของชาวจังหวัดแพร่ที่ลูกหลานชาวแพร่และชาวล้านนา ทุกคนจะรำลึกถึงความดีของท่านที่ได้กระทำไว้และประพฤติปฏิบัติสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน สืบไป
ประวัติ
[แก้]พระมหาเมธังกร มีนามเดิมว่า พรหม เกศทับทิม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 ที่บ้านน้ำคือ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนสุดท้องของนายชัยลังกา และนางเที่ยง เกศทับทิม ต้นตระกูลเกศทับทิม, ประสิทธิกุล, และประสิทธิโศภิน อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดน้ำคือ (ปัจจุบันคือวัดเมธังกราวาส) ได้ศึกษาภาษาบาลีกับพระครูพุทธวงศาจารย์ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อารามหลวง และได้ไปอบรมการศาสนาและคณะสงฆ์ในสำนักสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
ต่อมาได้กลับไปจำพรรษาที่เมืองแพร่ ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ท่านได้ตั้งโรงเรียนบาลีขึ้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแห่งแรกในภาคเหนือและได้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลในวัดของท่าน ชื่อ "โรงเรียนประชาบาลวัดน้ำคือ" เมื่อ พ.ศ. 2477 เริ่มต้นด้วยศาลาการเรียนการสอนภายในพื้นที่ของวัด และมอบที่ดิน 1 ไร่ 11 ตารางวา เพื่อสร้างอาคารเรียน ปัจจุบันคือโรงเรียนเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาส และเป็นประธานผู้ก่อตั้งวัดพระธาตุช่อแฮอารามหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดแพร่ต่อไป
พระมหาเมธังกร (พรหม พฺรหฺมเทโว) มรณภาพเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2492 ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 74 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 3-7 เมษายน พ.ศ. 2494
หน้าที่และผลงาน
[แก้]พระมหาเมธังกรเป็นพระเถระที่มีมารยาทอันดีงามจนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และเป็นที่รักใคร่สนิทสนมของสมเด็จวัดมหาธาตุเมื่อครั้งไปอบรมการพระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2458 พระมหาเมธังกรเป็นพระเถระผู้ทรงคุณสมบัติอันควรแก่ความเคารพสักการะอย่างสูงแห่งคณะสงฆ์จังหวัดแพร่และประชาชนชาวแพร่
- เป็นพระรูปแรกที่ได้นำการปกครองคณะสงฆ์ ระบอบใหม่มาเผยแพร่ในจังหวัดแพร่ ท่านได้ทำให้การคณะสงฆ์ของจังหวัดแพร่เจริญก้าวหน้าขึ้น ตามลำดับ ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดเอาใจคนปฏิบัติการคณะสงฆ์ในระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่น ใหม่ในลักษณะที่ว่า "บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น"
- พ.ศ. 2461 พระมหาเมธังกรเป็นพระรูปแรกที่ได้จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรม พยายามให้ภิกษุสามเณรและศิษย์วัดได้รับการศึกษาทางพระศาสนาและทางโลก
- เป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นในจังหวัดแพร่ และได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่ วัดของท่าน (โรงเรียนวัดเมธังกราวาสเทศรัฐราษฎร์นุกูล) เริ่มแรกนั้นเจ้าอาวาสวัดเมธังกราวาสฯอาศัยศาลาวัดเป็นที่เรียน และได้รับเข้าเป็นโรงเรียนของทางราชการ ท่านเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประจำจังหวัดชายหลายปี และทำให้เด็กบ้านน้ำคือได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
- เป็นพระรูปแรกที่นำเอาศาสนพิธีระบอบใหม่เข้าสู่วงการพระศาสนาเมืองนครแพร่ พยายาม แนะนำพร่ำสอนภิกษุสามเณรและประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมมีความเลื่อมใสในศาสนาพุทธ
- เป็นผู้จัดดำเนินการสร้างวิหารวัดพระธาตุจอมแจ้ง(พระธาตุที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ คู่กับพระธาตุช่อแฮ) และเป็นประธานกรรมการก่อสร้างวิหารวัดพระธาตุช่อแฮ
- เป็นพระเกจิที่ชาวแพร่และคนล้านนาให้ความนับถือท่านมาก ท่านปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด ไม่สนใจในลาภยศ อีกทั้งท่านเป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งของครูบาชุ่ม วัดวังมุย ครูบาชุ่มไปเรียนวิชากับท่านนานถึง 2 พรรษา รวมถึงตระกรุดหนังควายตายกลม ท่านก็เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ครูบาชุ่ม
ท่านมีลูกหลานที่สำคัญ มีชื่อเสียง ได้แก่:
- ครูท้วม ประสิทธิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2529
- ครูพูล ประสิทธิกุล ศิลปินเพลงไทย
เกจิอาจารย์แห่งล้านนา
[แก้]พระมหาเมธังกรเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงถือเป็นดั่งปรมาจารย์ทางวิปัสสนา และพระเวทย์
โด่งดังในเรื่องการสร้างกะลาราหูแกะ กะลาระหูเมธังกร และ ตะกรุดไม้ไผ่แดงพอกครั่ง(แทงจอมปลวก)
อ้างอิง
[แก้]- ประวัติโรงเรียนโรงเรียนวัดเมธังกราวาส(เทศรัฐราษฎร์นุกูล) ใน http://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1054390051&page=history[ลิงก์เสีย]
- ศรีศักร วัลลิโภดม และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบัน ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. 2551
- บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตกุล สยามรัฐรายวัน ประจำวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ คำให้สัมภาษณ์ของครูท้วม ประสิทธิกุล และเอกสารทะเบียนประวัติจากกรมศิลปากร)