ข้ามไปเนื้อหา

พระพุทธเจดีย์ไพรบึง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธเจดีย์ไพรบึง
พระพุทธเจดีย์ไพรบึง วัดไพรบึง(วัดจำปาสุรภีย์)
แผนที่
ที่ตั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111(ถนนพยุห์-ขุนหาญ) ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ 33180
ประเภทวัดราษฏ์
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธเจดีย์ไพรบึง
ความพิเศษพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานบนยอดสูงสุดของพระเจดีย์
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจดีย์ไพรบึง หรือที่ชาวไพรบึงโดยทั่วไปเรียกว่า พระธาตุไพรบึง ประดิษฐานอยู่ภายในวัดไพรบึง(วัดจำปาสุรภีย์) อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลไพรบึงทางตอนเหนือ ใกล้กับสวนสาธารณะบึงนกเป็ดน้ำไพรบึง เป็นพระธาตุเจดีย์สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ มีขนาดสูงใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร ประมาณ 60 เมตร สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะอินเดีย แบบเจดีย์พุทธคยา ส่วนยอดฉัตรด้านบนสุดของพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย พระพุทธเจดีย์องค์นี้จึงถือเป็นมรดกทางพุทธศาสนา อันเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะมากที่สุดแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง [1] อนึ่ง วัดไพรบึง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุตั้งแต่ พ.ศ.2100 [2]

ประวัติ

[แก้]

พระพุทธเจดีย์ไพรบึง ได้รับการริเริ่มใน พ.ศ.2521 โดยนายอำเภอไพรบึงในขณะนั้น (นายบุญตา หาญวงศ์) ซึ่งได้รับการปรารภจากพุทธศาสนิกชนท่านหนึ่งว่าจะอุทิศพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาแก่ชาวอำเภอไพรบึง โดยมีเงื่อนไขว่าชาวอำเภอไพรบึงต้องสร้างพระเจดีย์ที่มีขนาดสูงกว่ายอดไม้ อำเภอไพรบึงจึงได้หารือกับข้าราชการ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และนิมนต์พระภิกษุ สามเณรของอำเภอไพรบึง มีมติเห็นพ้องให้ดำเนินการก่อสร้างพระเจดีย์ภายในบริเวณวัดไพรบึง

ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 มีนายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (ในขณะนั้น) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระราชจินดามุณี (เสน) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ในขณะนั้น) เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต ส่วนองค์พระธาตุ ต้งแต่ฐานถึงฐานฉัตรคอนกรีตได้รับการก่อสร้างเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2524 จากนั้นได้มีพิธีพุทธาภิเษกและอัญเชิญยอดฉัตรทองคำ ขึ้นประดิษฐานบนฐานฉัตรคอนกรีต เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2524

ต่อมา มีคณะพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่และคณะฑราวาส ประกอบประพรมน้ำพระพุทธมนต์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ศาลาประชาคมจังหวัดศรีสะเกษ แล้วส่งมอบให้กับเรือตรีดนัย เกตุศิริ ร.น. ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนายบุญตา หาญวงศ์ นายอำเภอไพรบึง (ในขณะนั้น) เพื่ออัญเชิญและนำไปประกอบพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ที่พระพุทธเจดีย์ไพรบึง ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2524 โดยนายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น(อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ.2517 - พ.ศ.2518) เป็นประธานในพิธี

ตั้งแต่นั้นมา ได้มีพิธีสมโภชน์และสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธเจดีย์ไพรบึง เป็นประจำทุกปี มีระยะเวลา 7 วัน 7 คืน ในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับวันมาฆบูชา ถือเป็นเทศกาลบุญประเพณีใหญ่ที่สำคัญของอำเภอไพรบึง และจังหวัดศรีสะเกษ [3]

ลักษณะทางศิลปะ สถาปัตยกรรม

[แก้]

องค์พระพุทธเจดีย์ไพรบึงใช้รูปแบบดัดแปลงมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ประกอบด้วยส่วนฐานพระเจดีย์ ส่วนองค์พระเจดีย์ ส่วนยอดพระเจดีย์ และ ฉัตรทองคำ

ฐานพระเจดีย์

ส่วนฐานก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 9 เมตร ตกแต่งด้วยลวดลายปูปั้นโดยรอบ โดยลวดลายบริเวณด้านล่างสุดของฐานเป็นรูปเหล่ายักษ์แบก (บรรณกยักษ์) คอยปกป้องฐานพระพุทธเจดีย์ กรอบประตูแต่ละด้านทั้งสี่ด้าน ตกแต่งด้วยลายกนกและลายพรรณพฤกษา ตลอดจนประติมากรรมนูนต่ำรูปทวารบาล ประจำประตูทุกด้าน ด้านละ 2 ตน [3]

องค์พระเจดีย์

ส่วนเรือนธาตุหรือองค์พระเจดีย์ มีความสูงประมาณ 40 เมตร ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นทรงบัวเหลี่ยม ฐานป้านแล้วสอบขึ้นไปหาส่วนยอด อันเป็นรูปแบบคล้ายกับเจดีย์พุทธคยา ส่วนปลายใกล้กับฐานฉัตรคอนกรีต ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปกลีบบัวคว่ำทรงเรียวยาวโดยรอบท้งสี่ด้าน กรอบกลีบบัวแต่ละกลีบตกแต่งด้วยลายกนก [3]

ยอดพระเจดีย์

ส่วนยอด เหนือปลายสุดของส่วนเรือนธาตุหรือองค์พระเจดีย์ ก่อสร้างเป็นฐานฉัตร 3 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ก่อด้วยคอนกรีต ทาสีเหลืองอมเขียว ถัดจากฐานฉัตรคอนกรีต เป็นกรวยแหลมที่มีแกนในเป็นเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หุ้มด้วยคอนกรีต ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปกลีบบัวคว่ำ-บัวหงาย ทรงเรียวยาว แกนในที่เป็นท่อเหล็กดังกล่าว คือส่วนรองรับก้าน(ขา) ของฉัตรทองคำ [3]

ฉัตรทองคำ

เป็นส่วนสูงสุด ทำจากโลหะลงรักปิดด้วยทองคำ มีรูปทรงเป็นฉัตรทรงกลม 4 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ฉัตรชั้นล่างสุดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 เซนติเมตร ส่วนปลายแหลมซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของฉัตร ทาด้วยสีแดงเข้ม ตกแต่งด้วยลายกนก ลงรักปิดทองคำเปลวบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักทั้งหมดประมาณ 20 กิโลกรัม ได้รับการอุทิศถวายโดยคุณหญิงฉอเลาะ ศิริสัมพันธ์ ทั้งนี้ ก่อนการยกยอดฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐาน ได้มีพิธีพุทธาภิเษกสมโภชน์ 1 คืน ในคืนวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2524 และรุ่งเช้าวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2524 จึงได้มีพิธียกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือส่วนบนสุดของพระพุทธเจดีย์ [3]

พระบรมสารีริกธาตุและองค์ประกอบสำคัญ

[แก้]
ตลับหรือกล่องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ประกอบด้วยตลับหรือกล่องจำนวน 3 ชั้น

  • ชั้นนอกสุดหรือชั้นแรก เป็นตลับเงินแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว สูง 1.5 นิ้ว น้ำหนัก 3 บาทเศษ
  • ชั้นกลางหรือชั้นที่สอง เป็นตลับนาค ขนาดเล็กกว่าตลับเงินชั้นนอก ทรงกลม
  • ชั้นในสุดหรือชั้นที่สาม เป็นตลับทองคำแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทรงกลม ขนาดเล็กกว่าตลับเงิน และตลับนาค ตามลำดับ ภายในตลับทองคำแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ช่อง เพื่อบรรจุชิ้นส่วนพระบรมสารีริกธาตุ ตามวาระต่างๆ ดังนี้ [3]
    • ช่องที่ 1 บรรจุวรรณะผลึก จำนวน 1,000 องค์
    • ช่องที่ 2 บรรจุวรรณะเมล็ดผักกาด จำนวน 108 องค์ และวรรณะเมล็ดถั่วเขียว จำนวน 80 องค์
    • ช่องที่ 3 บรรจุวรรณะเมล็ดข้าวสารหัก จำนวน 500 องค์
    • ช่องที่ 4 บรรจุชิ้นส่วนพระธาตุของพระอัครสาวกและพระสาวก ได้แก่ พระธาตุของพระโมคคัลลานะ จำนวน 2 องค์, พระธาตุของพระสารีบุตร จำนวน 2 องค์, พระธาตุของพระมหากัสสปะ จำนวน 3 องค์, พระธาตุของพระสังฆจายะ จำนวน 9 องค์, พระธาตุของพระอานนท์ จำนวน 1 องค์, พระธาตุของพระนางพิมพา จำนวน 2 องค์, พระธาตุของพระสิวลี จำนวน 5 องค์, พระธาตุขององค์คุลีมาร จำนวน 2 องค์
ภูเขาจำลอง

เป็นภูเขาจำลองขนาดเล็ก ฐานทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว ประดับด้วยอัญมณีสีต่างๆ รอบภูเขาจำลองมีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุวรรณะเมล็ดผักกาด จำนวน 10,000 องค์ วางเรียงโดยรอบฐาน ทั้งนี้ ตามคติการสร้างภูเขาจำลองประดับด้วยพระบรมสารีริกธาตุ จะนำมาซึ่งกุศลบุญอันถือเป็นมหากุศลมากที่สุดเหลือคณานับ [3]

เจดีย์หินอ่อน

เป็นเจดีย์สำหรับบรรจุตลับเงิน-นาค-ทองคำ และภูเขาจำลอง องค์เจดีย์เป็นหินอ่อนแท้สีเขียวอมเทา ฐานทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว ฝาครอบด้านบนทำจากหินอ่อนชนิดและสีเดียวกัน ความสูงทั้งหมดตั้งแต่ฐานถึงยอดองค์เจดีย์จำลอง 13 นิ้ว มีสลักที่ฐานทั้ง 4 ด้าน เพื่อเชื่อมฝาครอบและฐานเจดีย์เข้าด้วยกัน [3]

บุษบก

เป็นแท่นสำหรับตั้งรองรับองค์เจดีย์จำลอง สร้างด้วยไม้สักแท้ ฐานมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 39 เซนติเมตร สูง 119 เซนติเมตร พื้นทาสีแดง ตกแต่งด้วยลวดลายกนก ลงรักปิดทอง [3]

แผ่นศิลาจารึก

[แก้]

เป็นแผ่นศิลาหินอ่อน ขนาดกว้าง 69 เซนติเมตร ยาว 109 เซนติเมตร หนา 1 นิ้ว สำหรับจารึกรายการก่อสร้างโดยย่อ รายละเอียดระบุชื่อ พระพุทธเจดีย์ไพรบึง , วัน เวลา ที่ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์, วัน เวลา บรรจุและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ, รายนามผู้ถวายและอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ, รายนามประธานในการประกอบพิธีขั้นตอนต่างๆ, รายนามผู้อำนวยการก่อสร้าง, รายนามผู้ออกแบบส่วนต่างๆ [3]

พิธีบรรจุและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

[แก้]

ประธานในพิธี คือนายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย(ในขณะนั้น) และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มประกอบพิธีในเวลา 08.59 น. จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระ รับศีลแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วประธานจุดธูปเล็ก ปักเครื่องเซ่น บวงสรวงสังเวยเทวดา นายไพบูลย์ ธาตุทอง พราหมณ์ในพิธี อ่านประกาศโองการและประกอบพิธีสังเวย ในขณะนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์พระอาทิตย์ทรงกลดบนท้องฟ้าเหนือพระพุทธเจดีย์ ถือเป็นนิมิตที่เทวดาฟ้าดิน ได้รับรู้ว่าพุทธศาสนิกชนที่ชุมนุมอยู่ ณ บริเวณดังกล่าวกำลังร่วมกันประกอบพิธี

จากนั้น เรือตรีดนัย เกตุสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (ในขณะนั้น) กล่าวรายงานความเป็นมาในการก่อสร้างต่อประธานในพิธี ใจความโดยสรุปมีสาระสำคัญคือ "พระพุทธเจดีย์องค์นี้เป็นปูชนียสถาน การสร้างพระสถูปหรือพระเจดีย์ก็ดี ถือว่าเป็นการสะสมบุญไว้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า" ในตอนท้าย ประธานในพิธี ได้ย้ำว่า การสร้างพระพุทธเจดีย์ของพุทธศาสนิกชนนี้เกิดจากวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ อยากได้กระดูกของพระพุทธเจ้ามาไว้เพื่อสักการบูชาเป็นประจำ เพื่อจะได้ชำระจิตใจให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองแล้วทุกคนก็จะมีความสุข ก่อนจบนายพิศาล มูลศาสตรสาทร ได้แปลเป็นภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งที่ใช้สื่อสารกันในท้องถิ่นอำเภอไพรบึง ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความประทับใจและปลื้มปีติเป็นอย่างมาก

เมื่อได้เวลาตามฤกษ์ 10.49 น. ประธานได้ประกอบพิธียกบุษบกประดิษฐานเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและองค์ประกอบขึ้นสู่ยอดเจดีย์ โดยมีคณะช่างรอรับอยู่ด้านบน ขณะที่บุษบกกำลังเคลื่อนขึ้นสู่ยอดพระเจดีย์ พระสงฆ์สวดชยันโต เจ้าพนักงานลั่นฆ้อง ตีกลอง ทุกคนได้แสดงความรู้สึกปลาบปลื้มและอิ่มเอิบใจในพิธีมหากุศลที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้น [3]

การเดินทาง

[แก้]

จากตัวเมืองจังหวัดศรีสะเกษ สามารถเดินทางมานมัสการพระพุทธเจดีย์ไพรบึง ได้โดยทางรถยนต์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221(ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์-เขาพระวิหาร) ถึงสี่แยกพยุห์ ในเขตอำเภอพยุห์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (ถนนพยุห์-ขุนหาญ) จากแยกดังกล่าวมาประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดไพรบึง ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายมือของถนน(ในเส้นทางมาจากสี่แยกพยุห์) จากตัวเมืองจังหวัดศรีสะเกษถึงวัดไพรบึงเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 40 กิโลเมตร

นอกจากนั้น หากเดินทางมาจากเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (ถนนโชคชัย-เดชอุดม) เมื่อถึงสี่แยกหัวช้าง ในเขตบ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง แล้วเลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111(ถนนพยุห์-ขุนหาญ) จากสี่แยกหัวช้างถึงวัดไพรบึง เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร วัดไพรบึงตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของถนน (ในเส้นทางมาจากสี่แยกหัวช้าง)

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  2. กรมการศาสนา.ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร.กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2510.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 วัดไพรบึง.หนังสือที่ระลึกงานทำบุญอายุวัฒนมงคล ครบ 6 รอบ พระครูวาปีคณาภิรักษ์ เจ้าคณะอำเภอไพรบึง และเจ้าอาวาสวัดไพรบึง.ศรีสะเกษ : ศรีสะเกษการพิมพ์, 2554.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]