พระพุทธมหาธรรมราชา
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
พระพุทธมหาธรรมราชา | ||
ประเภท | พระพุทธรูป | |
ศิลปะ | ศิลปะลพบุรี (ขอมหลังบายน) | |
สถานที่ประดิษฐาน | วัดไตรภูมิ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ | |
ส่วนที่เกี่ยวข้อง | พ่อขุนผาเมือง พระนางสิงขรเทวี จารึกวัดศรีชุม เครื่องราชอิสริยยศไทย | |
พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สมัยลพบุรี หล่อด้วยทองสำริด หน้าตักกว้างสิบสามนิ้ว สูงสิบแปดนิ้ว ประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด(บางตำนานมุขปาฐะและท้องถิ่นบางที่ กล่าวว่าว่าคือ พระมหากษัตริย์ แห่ง อาณาจักรขอมพระองค์อื่น ) พระมหากษัตริย์ แห่งนครธม เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ทรงพระราชทานพระนางสิงขรเทวี พระธิดาให้อภิเษกสมรสกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (ปัจจุบันคือ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์).[1][2]
ประวัติ
[แก้]โดยทั่วไปตามคติท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ พระพุทธรูปพระพุทธมหาธรรมราชาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ เคียงคู่กับหลวงพ่อเพชรมีชัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง จังหวัดเพชรบูรณ์[3]
โดยพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลพบุรี (ขอมหลังบายน)ทรงเครื่องอย่างพระเจ้าจักรพรรดิแบบศิลปะลพบุรี (ขอมหลังบายน) โดยวัสดุของพระองค์คือเนื้อทองสำริด หน้าตักกว้างสิบสามนิ้ว สูงสิบแปดนิ้ว ไม่มีฐาน มีพุทธลักษณะ พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวย้อยจรดพระอังสะ พระเศียรทรงชฎาเทริด หรือมีกะบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด ทรงประคดเป็นลายสวยงาม สาเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ มีนามว่า พระพุทธมหาธรรมราชา เนื่องจากพระวรกายสวมใส่เครื่องประดับของพระมหากษัตริย์ สมัยโบราณ ชาวบ้านจึงพากันเรียกขานนามว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา" ตามตำนานท้องถิ่นและที่ยึดถือโดยทั่วไปสันนิษฐานว่า พระพุทธมหาธรรมราชา สร้างในราวปี พ.ศ.1600 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่หก กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม ในระหว่างที่สร้างนั้นก็ได้นิมนต์พระภิกษุที่เป็นพระเกจิอาจารย์มาพุทธาภิเษกด้วย และยังมีเรื่องเล่ากันว่าพระเกจิอาจารย์บางรูปสามารถรู้ภาษาสัตว์ได้ หลังจากสร้างเสร็จแล้วก็มีการฉลองสมโภชเก้าคืนเก้าวัน[4]
ครั้นเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดทรงครองราชสมบัติต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน ก็ได้พระราชทานพระพุทธมหาธรรมราชาให้กับพ่อขุนผาเมือง เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี นอกจากนี้ ยังได้มอบพระราชธิดา พระนามว่า นางสุขรมหาเทวี และพระราชทานราชทินนามพระนามว่า กมรเตงอัญศรีทราทิตย์ หรือ ศรีอินทราทิตย์ ต่อมาพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว ได้กอบกู้กรุงสุโขทัยคืนจากขอมสมาดโขลญได้แล้วพ่อขุนผาเมือง จึงได้สถาปนาให้พ่อขุนบางกลางหาว เป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัย ทำให้นางสุขรมหาเทวีไม่พอพระทัย จึงได้โยน พระพุทธมหาธรรมราชา ลงแม่น้ำป่าสัก และพระนางก็ได้ทรงกระโดดทำอัตวินิบาตกรรมถึงแก่พระชนม์( บางตำนานมุขปาฐะและท้องถิ่นบางที่กล่าวว่ามิได้ทรงกระโดดทรงทำอัตวินิบาตกรรมถึงแก่พระชนม์ ) เวลาผ่านไป ได้มีชาวประมงได้ไปหาปลาเวียงแห แต่แล้วก็ได้พระพุทธมหาธรรมราชา สถานที่พบนั้น คือ วัดโบสถ์ชนะมาร (ซึ่งวัดโบสถ์ชนะมารในสมัยนั้นยังไม่ได้สร้าง) ซึ่งอยู่ในเขต อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์ คิดว่าพระพุทธรูปองค์นี้ คงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จึงช่วยกันนำขึ้นมาจากแม่น้ำป่าสัก หลังจากนั้น ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ พอถึงวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ ซึ่งตรงกับวันสารทไทย ปรากฏว่า พระพุทธมหาธรรมราชาได้หายไปจากวัดไตรภูมิ[5]
ทำให้เจ้าอาวาส พระลูกวัด และชาวบ้านต่างพากันค้นหา ในที่สุดก็พบ พระพุทธมหาธรรมราชา ดำผุดดำว่ายอยู่บริเวณที่พบครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ ตามปฏิทินจันทรคติไทย จึงมีการแห่พระพุทธมหาธรรมราชาไปรอบเมือง จนถึงบริเวณหน้าวัดไตรภูมิ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเพชรบูรณ์ จะเป็นผู้อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชา ลงดำน้ำทั้งสี่ทิศ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด จนกลายเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงทุกวันนี้ ชาวเมืองเพชรบูรณ์ มีความเชื่อว่า ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จะทำให้ข้าวกล้าในท้องนา พืชผลทางการเกษตร เจริญงอกงาม ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จนกลายเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อใน การอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำ ผู้ที่อัญเชิญจะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทั้งนี้ ด้วยตำแหน่งดังกล่าว เทียบได้กับเจ้าเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุดในเมือง ความเสียสละของผู้เป็นใหญ่ ในนครที่มีความห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎรและได้ชื่อว่าเป็นผู้ทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ จะให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าเมืองอัญเชิญไปดำน้ำแทนไม่ได้ หากปีใดไม่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวไปดำน้ำ ชาวเพชรบูรณ์ เชื่อกันว่าปีนั้นบ้านเมืองจะเกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง และพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไปด้วย[6][7]
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ยังสะท้อนให้เห็นความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวเพชรบูรณ์ ที่ต้องการสืบทอดและรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันนี้ไว้ อย่างทรงคุณค่าตลอดกาลนาน ปัจจุบัน พระพุทธมหาธรรมราชา วัดไตรภูมิประดิษฐานในมณฑปวัดไตรภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เฉพาะในช่วงเทศกาลสารทไทยของทุกปี ที่จะถูกอัญเชิญไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ส่วนวันปกติประดิษฐานไว้ในมณฑป เพื่อให้ประชาชนได้บูชาสักการะอธิษฐานจิตขอพร ปรากฏเป็นที่เลื่องลือว่า บุคคลที่ได้มากราบไหว้บูชาพระพุทธมหาธรรมราชา จะเกิดความสบายใจ ประสบความสำเร็จสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการตามแต่อำนาจกุศลบารมีที่สมควรแก่ตน[8]
พระพุทธรูปพระพุทธมหาธรรมราชาจำลองขนาดใหญ่ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
[แก้]-
ภายในฐานพระพุทธรูปพระพุทธมหาธรรมราชาจำลองขนาดใหญ่ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.phetchabunpao.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=251:-qq-q&catid=72:2011-11-11-03-55-45
- ↑ https://guide2thailand.com/phra-phuttha-maha-thammaracha/
- ↑ https://travel.trueid.net/detail/nOe3jWaJ1l2X
- ↑ https://www.paiduaykan.com/travel/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2
- ↑ https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/5308
- ↑ https://thailandtourismdirectory.go.th/en/attraction/481
- ↑ https://mgronline.com/travel/detail/9630000093145
- ↑ https://www.thongteaw.com/Travel_tour_content_%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%20%E0%B8%AD.%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B8%88.%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C.html