พระพรหมวชิรญาณโสภณ
พระพรหมวชิรญาณโสภณ,วิ. (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณ |
ชื่ออื่น | พระอาจารย์เลี่ยม |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 (83 ปี) |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี |
อุปสมบท | 22 เมษายน พ.ศ. 2504 |
พรรษา | 63 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๐ |
พระพรหมวชิรญาณโสภณ,วิ. นามเดิม เลี่ยม จันทำ ฉายา ฐิตธมฺโม เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงสืบต่อจากพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ด้วยอุปนิสัยมักน้อย สันโดษ ถ่อมตน[1] จึงเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เมื่อครั้งหลวงพ่อชาอาพาธหนัก ได้ขอให้พระอาจารย์เลี่ยม รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน เป็นเหตุให้ท่านดำรงตำแหน่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]พระพรหมวชิรญาณโสภณ,วิ. นามเดิม เลี่ยม จันทำ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ตรงกับวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง ที่บ้านโคกจาน ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อนายเพ็ง จันทำ มารดาชื่อนางเป้ง จันทำ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน โดยท่านเป็นคนที่ 4
อุปสมบท
[แก้]พระอาจารย์เลี่ยม ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ 2504 โดยมีพระครูถาวรชัยเขต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทิพย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระจันลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี 2507
ปฏิบัติกรรมฐาน
[แก้]ในปี 2512 พระอาจารย์เลี่ยม ได้ออกเดินทางเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนรู้ธรรม จนได้มาพบสำนักของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นวัดที่ร่มรื่น สะอาดสะอ้าน เสนาสนะมีระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วเย็นใจ และได้กราบนมัสการหลวงพ่อชา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ในการนี้เอง หลวงพ่อชา ท่านได้เมตตาเปลี่ยนบริขารทุกอย่างให้หมด
ระเบียบปฏิบัติของหลวงพ่อชา ถือว่าเข้มงวดมาก แต่หลวงพ่อเลี่ยมก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด เพราะเคยฝึกมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดเดิม ซึ่งถือว่าตรงกับรูปแบบของตัวเองมากกว่าที่จะสร้างความยุ่งยากในฝึกฝน เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนา ด้วยความพากเพียร แม้แต่ในวันพระก็ถือ เนสัชชิก คือ การไม่นอนตลอดคืน ก็อยู่ได้อย่างสบาย จนจิตรู้สึกสว่างไสวและมีความสุขจากการปฏิบัติธรรม
โอวาทธรรม
[แก้]เรื่องที่พูดกัน ก็พูดแต่เรื่องการปรุงแต่งของกริยามารยาท ของความรู้สึกที่เป็นเพลิดเพลินเท่านั้น อย่าไปมองว่าคนนั้นดี คนนั้นเลว คนนั้นเกลียดเรา คนนั้นรักเรา ถ้าเรามองในแง่อย่างนี้ เราจะหลงไปในทิศทางมืด
ถ้าเราวางความรู้สึกของเราในสภาพว่าเป็นสภาวะธาตุ สภาวะขันธ์ มันเป็นกฎธรรมชาติแล้ว จะทำให้เรามีอารมณ์เป็นปกติ…— พระพรหมวชิรญาณโสภณ (เลี่ยม ฐิตธมฺโม)
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2544 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระวิสุทธิสังวรเถร[2]
- พ.ศ. 2549 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระราชภาวนาวิกรม อุดมธรรมสิทธิ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- พ.ศ. 2564 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2567 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระพรหมวชิรญาณโสภณ วิมลสีลาจารวินิฐ วิปัสสนานุสิฐคณาจารย์ ไพศาลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
ธรรมะหลวงพ่อ
[แก้]• ร่มเงาวัดป่าพง • หอมกลิ่นสมณะ • สมณธรรม • ฐิตธรรมาจารย์ • ดูจิตตนพ้นบ่วงมาร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติเจ้าอาวาส เก็บถาวร 2012-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดหนองป่าพง
- ↑ ราชกิจจานเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 118 ตอนที่ 24 ข, 7 ธันวาคม 2544, หน้า 33
- ↑ ราชกิจจานเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 123 ตอนที่ 15 ข, 6 กรกฎาคม 2549, หน้า 8
- ↑ ราชกิจจานเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 138 ตอนที่ 21 ข, 31 มีนาคม 2564, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 141 ตอนที่ 75 ข, 10 พฤศจิกายน 2567, หน้า 1