ข้ามไปเนื้อหา

พระนามสิรินธร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระนามสิรินธร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Rosales
วงศ์: Rosaceae
สกุล: Rosa
สปีชีส์: Rosa Hybrid
ชื่อทวินาม
Rosa hybrid
Princess Maha Chakri Sirindhorn

พระนามสิรินธร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Rosa Hybrid Princess Maha Chakri Sirindhorn เป็นพรรณไม้ในวงศ์กุหลาบ ที่เกิดจากการติดตาจนกลายเป็นกุหลาบสายพันธุ์ใหม่ มีดอกสีชมพูเหลือบเหลือง ซึ่งเป็นกุหลาบจากการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ ชื่อ Madras ของบริษัทที่ผลิตกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา คือ บริษัท แจ็คสันแอนด์เพอร์กินส์ จำกัด[1]


ประวัติ

[แก้]

พระนามสิรินธร ค้นพบโดย นายจีระ ดวงพัตรา แห่งไร่จีระโรสเนิสเซอรี่ ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้ทำการสั่งกุหลาบ Mardrasเข้ามาปลูกได้ประมาณ 2-3 เดือน พบว่าเกิดกลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน และเมื่อติดตาใหม่จนแน่ใจว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ จึงได้ขอชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นที่มาของชื่อ กุหลาบสายพันธุ์ "พระนามสิรินธร" นี้ โดยกุหลาบชนิดนี้นับได้ว่าเป็นกุหลาบสายพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะเป็นกุหลาบไม้พุ่มขนาดกลางชนิดดอกโต (Bush - Rose) กลีบดอกซ้อนแน่น ดอกมีสีชมพูเหลือบเหลือง มีความสวยงามโดดเด่นเหนือกว่ากุหลาบสายพันธุ์อื่นๆ[2][3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

กุหลาบ "พระนามสิรินธร" เป็นพรรณไม้ประเภทไม้พุ่มขนาดกลาง และจะมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 70 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นมีสีน้ำตาลและมีหนามแหลม ส่วนของใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยรูปรี ออกเวียนสลับกัน มีปลายใบแหลมและโคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นแบบฟันเลื่อย มีดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่ง สีของดอกกุหลาบมีสีชมพูอมเหลือง กลีบรองดอกเป็นรูปถ้วย สีเขียว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกบาน จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 - 15 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม จะออกดอกตลอดปี

ลักษณะดินที่ปลูก: เป็นดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี

ความต้องการแสงแดด: ตลอดวัน

ความต้องการน้ำ: รดน้ำแบบปานกลาง

การขยายพันธุ์: ปักชำ ตอนกิ่ง และติดตา

ความหลากหลายทางชีวภาพ

[แก้]

เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตจึงได้จดทะเบียนไว้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Princess Maha Chakri Sirindhorn" และการค้นพบครั้งนี้อาจยังมีส่วนร่วมในการจัดทำเป็นข้อมูลพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืชวงศ์กุหลาบ (Rosaceae)ในอนาคตอันใกล้และพืชในวงศ์กุหลาบทั้งหมดเพื่อเป็นฐานข้อมูลพรรณไม้ในราชอาณาจักรไทย และจากข้อมูลที่ศึกษาการกลายพันธุ์และการค้นพบสายพันธุ์ใหม่นี้ยังสามารถนำไปเป็นพื้นฐานให้เกิดการต่อยอดในงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมายเกี่ยวกับการกลายพันธุ์และพันธุวิศวกรรม อันอาจมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังแสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)และสภาวะที่มีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.rspg.or.th/plants_data/hrs_flower/hrs_flowers6.htm
  2. สยามไภสัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-01. สืบค้นเมื่อ 2018-08-14.