ข้ามไปเนื้อหา

พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับนักบุญอันนา (เลโอนาร์โด ดา วินชี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับนักบุญอันนา
ศิลปินเลโอนาร์โด ดา วินชี
ปีราว ค.ศ. 1508
ประเภทภาพเขียนสีน้ำมัน บนแผ่นไม้
สถานที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับนักบุญอันนา (อังกฤษ: The Virgin and Child with St. Anne) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยเลโอนาร์โด ดา วินชี [1] จิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคนสำคัญชาวอิตาลี ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่ปารีสในประเทศฝรั่งเศส

“พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับนักบุญอันนา” เป็นงานที่เขียนราวปี ค.ศ. 1508 เป็นภาพของนักบุญอันนา พระนางพรหมจารีมารีย์ และพระกุมารเยซู พระกุมารกำลังไขว่คว้าแกะซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระมหาทรมานของพระเยซู ขณะที่พระแม่มารีย์ทรงพยายามรั้งไว้ ภาพเขียนไดัรับจ้างให้เขียนสำหรับเป็นฉากแท่นบูชาเอกที่บาซิลิกาเดลลาซานทิซซิมาอันนันซิอาตาแห่งฟลอเรนซ์ (Santissima Annunziata, Florence) และเป็นหัวเรื่องที่ดา วินชีครุ่นคิดมานาน

ประวัติ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1498 เลโอนาร์โดศึกษาการวางตัวแบบทั้งสามในรูปเดียวกันโดยร่างภาพ “พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับนักบุญอันนาและนักบุญยอห์นแบปติสต์” (หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน, อังกฤษ ) ซึ่งประกอบด้วยตัวแบบทั้งสามและนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์เมื่อยังเป็นเด็ก ภาพร่างอีกภาพหนึ่งที่วาดก่อนหน้านั้นตั้งแสดงอยู่ที่บาซิลิกาซานทิซซิมาอันนันซิอาตา ในปี ค.ศ. 1501 แต่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว

ภาพนี้เป็นภาพที่เขียนในบั้นปลายชีวิตของเลโอนาร์โดเมื่อหันไปให้ความสนใจในด้านคณิตศาสตร์และอื่น ๆ เลโอนาร์โดอาจจะเขียนภาพไม่เสร็จเพราะมัวแต่ไปสนใจสิ่งอื่นๆ

นอกจากสัญลักษณ์เกี่ยวกับลูกแกะที่กล่าวข้างบนแล้ว ฟราปีเอโตร ดา โนเวลลาราผู้เป็นรองอธิการคณะคาร์เมไลท์ก็ยังให้ความหมายที่มีความสำคัญต่อภาพเพิ่มเติม ดา โนเวลลาราเชื่อว่าใบหน้าที่สงบของนักบุญอันนาที่ตรงกันข้ามกับความพะวักพะวนของพระแม่มารีย์ “อาจจะแทนความรู้สึกของทางสถาบันศาสนาที่ไม่ต้องการให้พระมหาทรมานของพระเยซูถูกระงับ”

โครงร่างของภาพเป็นแบบสามเหลี่ยมปิรามิดซึ่งมีอิทธิพลต่อราฟาเอลและอันเดรอา เดล ซาร์โต องค์ประกอบของภาพเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ประติมากรของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา อันเดรอา ซานโซวีโน (โบสถ์ซานอากอสติโน, โรม) และงานที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าโดยฟรันเชสโก ดา ซันกัลโล (Francesco da Sangallo) (ออร์ซันมีเกเล เมืองฟลอเรนซ์)

เกร็ดความรู้

[แก้]

ในบันทึกของเลโอนาร์โด ดา วินชีกล่าวไว้ก่อนการร่างภาพวาดชิ้นนี้ว่าตนเองฝันเห็นนกแร้งตัวใหญ่ที่กำลังเข้ามาหาตนและเขาก็กำลังจะหนี ซึ่งก็ได้แปลงจากนกแร้งให้เป็นพระแม่มารีย์ และวาดภาพการวางท่าทางของเขาเองแทนตัวพระบุตรดั่งที่เห็น หากสังเกตดูในงานชินนี้จะพบท่าทางที่กล่าวมา

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]