พระนางซ็อนด็อกแห่งชิลลา
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
พระนางซ็อนด็อกแห่งชิลลา | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งชิลลา | |||||
ครองราชย์ | ค.ศ. 632 - 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 647 | ||||
ราชาภิเษก | ค.ศ. 632 | ||||
ก่อนหน้า | ชินพย็อง | ||||
ถัดไป | ชินด็อก | ||||
พระราชสมภพ | เจ้าหญิงท็อกมัน | ||||
สวรรคต | 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 647 | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์คิม | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าชินพย็องแห่งชิลลา | ||||
พระราชมารดา | พระนางมายา |
พระนางซ็อนด็อกแห่งชิลลา | |
---|---|
ฮันกึล | 선덕여왕 |
ฮันจา | 善德女王 |
อักษรโรมันฉบับปรับปรุง | Seondeok yeowang |
พระนางซ็อนด็อกแห่งชิลลา (Queen Seondok of Silla; เกาหลี: 선덕여왕 善德女王;? - ค.ศ. 647; ครองราชย์ ค.ศ. 632 – ค.ศ. 647) ครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งชิลลา ซึ่งเป็นหนึ่งในสามก๊กแห่งเกาหลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 632 ถึงปี ค.ศ. 647[1] พระนางเป็นผู้ปกครององค์ที่ 27 ของ ชิลลา และเป็นราชินีองค์แรกที่ครองราชย์ พระนางเป็นราชินีองค์ที่สองในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกที่บันทึกไว้และสนับสนุนการฟื้นฟูความคิด วรรณกรรม และศิลปะในชิลลา[2]
เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งชิลลา
[แก้]ชีวประวัติของพระนางซ็อนด็อกมีแหล่งที่มาจากหนังสือ ซัมกุกซากี (Samguk Sagi) และ ซัมกุกยูซา (Samguk Yusa) ซึ่งถูกแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์โครยอทั้งสองเล่ม พระราชินีซ็อนด็อกเดิมพระนามว่าเจ้าหญิงท็อกมัน (เกาหลี: 덕만) ไม่ทราบปีที่ประสูติ เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกของพระเจ้าชินพย็องแห่งชิลลากับพระนางมายาตระกูลคิม (ในหนังสือซัมกุกซากีกล่าวว่าเจ้าหญิงท็อกมันเป็นพระราชธิดาพระองค์แรก แต่ในซัมกุกยูซากล่าวว่าเป็นพระองค์ที่สอง) เจ้าหญิงท็อกมันมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดาได้แก่ เจ้าหญิงช็อนมย็อง (เป็นพระราชมารดาของพระเจ้ามูยอลแห่งชิลลา) และเจ้าหญิงซอนฮวา (อภิเษกกับพระเจ้ามูแห่งอาณาจักรแพ็กเจและเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าอึยจาแห่งอาณาจักรแพ็กเจ)
เจ้าหญิงท็อกมันแม้จะเป็นสตรีแต่ได้แสดงพระปรีชาสามารถจนเป็นที่ประจักษ์แก่ราชสำนักชิลลา ตามกฏมณเฑียรบาลของอาณาจักรชิลลาผู้ที่สืบทอดราชบัลลังก์จะต้องมีสายพระโลหิตที่บริสุทธิ์ คือสืบเชื้อสายจากพระราชวงศ์ทั้งฝั่งพระบิดาและพระมารดา เรียกว่า ชนชั้นซ็องกล (Seonggol) หรือ "กระดูกศักดิ์สิทธิ์" (Hallowed Bone) เนื่องจากพระเจ้าชินพย็องมีแต่พระธิดาไม่มีพระโอรส เจ้าชายชิลลาที่เหลืออยู่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นชินกล (Jingol) หรือ "กระดูกแท้" (True Bone) ซึ่งมีการสืบเชื้อสายไม่ได้มาจากพระราชวงศ์ชิลลาเพียงอย่างเดียว พระเจ้าชินพย็องจึงแต่งตั้งเจ้าหญิงท็อกมันในฐานะที่เป็นพระธิดาซ็องกลองค์โตสุด ให้เป็นเจ้าหญิงรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ชิลลา เนื่องจากเจ้าหญิงท็อกมันเพียบพร้อมทั้งพระชาติกำเนิดและพระปรีชาสามารถ (สตรีในอาณาจักรชิลลานั้นมีบทบาทและอำนาจทัดเทียมกับบุรุษ เนื่องจากยังไม่ได้รับอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อเฉกเช่นในสมัยราชวงศ์โชซอน)
รัชสมัย
[แก้]ในปี ค.ศ. 632 พระเจ้าชินพย็องสวรรคต เจ้าหญิงท็อกมันได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถซ็อนด็อก เป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์แรกในทั้งหมดสามพระองค์ของอาณาจักรชิลลา (อีกสองพระองค์คือ พระนางชินด็อกแห่งชิลลาและพระนางชินซ็องแห่งชิลลา)
รัชสมัยของพระราชินีซ็อนด็อกเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรชิลลา โดยเฉพาะทางด้านศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในรัชสมัยของพระนางพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในอาณาจักรชิลลาอย่างแท้จริง โดยพระภิกษุชาจัง (Jajang; เกาหลี: 자장 慈藏) ผู้เดินทางไปยังเมืองฉางอันของราชวงศ์ถังเพื่อเก็บเกี่ยวศึกษาพระพุทธศาสนาและนำกลับมาเผยแพร่ เป็นผู้ให้กำเนิดคณะสงฆ์กลุ่มแรกของอาณาจักรชิลลาและผลักดันให้มีการสร้างวัดขึ้นหลายแห่ง นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระนางยังมีการสร้างหอดูดาวช็อมซ็องแด (เกาหลี: 첨성대) อันเป็นหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่หลงเหลืออยู่
ในรัชสมัยของพระราชินีซ็อนด็อก อาณาจักรชิลลาได้แผ่ขยายอำนาจเข้ารุกรานอาณาจักรแพ็กเจซึ่งในขณะนั้นปกครองโดยพระเจ้ามู (Mu of Baekje) ผู้เป็นน้องเขยของพระราชินีซ็อนด็อก โดยฝ่ายชิลลามีขุนพลที่มีความสามารถคือ คิม ยูชิน (Kim Yushin; เกาหลี: 김유신) เป็นผู้นำทัพชิลลาเข้ารุกรานและต้านทางการรุกรานของแพ็กเจ
ค.ศ. 647 ขุนนางชื่อว่าพีดัม (Bidam; เกาหลี: 비담) ผู้ดำรงตำแหน่งซังแดดึง (เกาหลี: 상대등) หรืออัครมหาเสนาบดีแห่งอาณาจักรชิลลา ได้ก่อการกบฏต่อพระราชินีซ็อนด็อก โดยมีคำขวัญว่า "สตรีไม่อาจปกครองประเทศได้" พีดัมอ้างว่าดาวประจำองค์ราชินีซ็อนด็อกนั้นได้หายไป เป็นสัญญาณว่ารัชสมัยของพระนางได้สิ้นสุดลงแล้ว ตำนานกล่าวว่าฝ่ายคิมยูชินถวายคำแนะนำให้ส่งคนไปลอยว่าวในตำแหน่งที่เป็นดาวดวงนั้นเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าดาวประจำองค์ราชินีซ็อนด็อกนั้นยังคงอยู่ จากนั้นคิมยูชินจึงนำทัพเข้าปราบกบฏของพีดัมได้อย่างราบคาบ อัครเสนาบดีพีดัมถูกประหารชีวิต แต่ทว่าพระราชินีซ็อนด็อกสิ้นพระชนม์ระหว่างที่มีการปราบกบฏนั้นเองใน ค.ศ. 647
พระราชวงศ์
[แก้]พระราชบิดา
- พระเจ้าชินพย็องแห่งชิลลา (眞平王 진평왕)
พระราชมารดา
- พระนางมายา จากตระกูลคิม (摩耶夫人金氏 마야부인김씨)
พระภคินี
- เจ้าหญิงช็อนมย็อง (天明公主 천명공주)
- เจ้าหญิงช็อนฮวา (善花公主 선화공주)
พระชามาดา
- เจ้าชายย็องชุน (金龍春 김용춘), พระสวามีของเจ้าหญิงช็อนมย็อง พระราชโอรสของพระเจ้าชินจีแห่งชิลลา
- เจ้าชายซอด็อง (璋暑童 장서동), พระสวามีของเจ้าหญิงช็อนฮวา ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ามูแห่งอาณาจักรแพ็กเจ
พระภาคิไนย
- เจ้าชายชุนชู (金春秋 김춘추), พระโอรสของเจ้าหญิงชอนมยองกับเจ้าชายยองชุน ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ามูย็อลแห่งชิลลา
- เจ้าชายย็อนจุง (金蓮忠 김연충), พระโอรสของเจ้าหญิงชอนมยองกับเจ้าชายยองชุน
- เจ้าชายอึยจา (義慈王 의자왕), พระราชโอรสของเจ้าหญิงช็อนฮวากับพระเจ้ามู ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอึยจาแห่งอาณาจักรแพ็กเจ
พระภคินี (ลูกพี่ลูกน้อง)
- เจ้าหญิงซึงมัน (金勝曼 김승만), ธิดาของกัลมุนวังกับเจ้าหญิงว็อลมย็อง ภายหลังครองราชย์เป็นพระนางชินด็อกแห่งชิลลา
พระราชสวามี
- เจ้าชายกัลมุน (飮葛文王 음갈문왕), พระราชโอรสของพระเจ้าชินจีกับพระสนมมีชิล (미 실 ,美室)(พีดัม)
- ไม่มีการบันทึกว่าทรงอภิเษกสมรสแต่มีบันทึกเล่มหนึ่งที่บอกว่า"เป็นไปได้ที่พระนางอาจจะอภิเษกสมรสหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์"
- Memorabilia of the Three Kingdoms version:possibly married to Queen Seondeok after her first year of being Queen.
- บางบันทึกก็กล่าวว่าอภิเษกกับแม่ทัพจากตระกูลคิม (คิมยูซิน)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Il-yeon: Samguk Yusa: Legends and History of the Three Kingdoms of Ancient Korea, translated by Tae-Hung Ha and Grafton K. Mintz. Book One, page 57. Silk Pagoda (2006). ISBN 1-59654-348-5
- ↑ Silla Korea and the Silk Road by Koreasociety