พระครูวิจิตรนวการโกศล (สมจิต จิตฺตคุตฺโต)
พระครูวิจิตรนวการโกศล (สมจิต วงศ์แสนศรี จิตฺตคุตฺโต) | |
---|---|
190 | |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 มีนาคม พ.ศ. 2484 (75 ปี 295 วัน ปี) |
มรณภาพ | 14 มกราคม พ.ศ. 2560 |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก พธม.กิตติมศักดิ์ |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดสะแล่ง จังหวัดแพร่ |
อุปสมบท | 14 มีนาคม พ.ศ. 2506 |
พรรษา | 53 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดสะแล่ง อดีตเจ้าคณะตำบลหัวยอ้อ เขต 1 อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอลอง |
พระครูวิจิตรนวการโกศล (สมจิต จิตฺตคุตฺโต) หรือ ครูบาสมจิต อดีตเจ้าอาวาสวัดสะแล่ง อดีตเจ้าคณะตำบลหัวยอ้อ เขต 1 และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอลอง พระสงฆ์นักปฏิบัติ นักพัฒนาแห่งจังหวัดแพร่
ชาตภูมิ
[แก้]พระครูวิจิตรนวการโกศล (สมจิต จิตฺตคุตฺโต) หรือ ครูบาสมจิต นามเดิม สมจิต วงศ์แสนศรี เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2484 หมู่ 7 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายชื่น กับนางคำมูล วงศ์แสนศรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ
- นายสมคิด วงศ์แสนศรี
- พระครูวิจิตรนวการโกศล
- นายสมทอง วงศ์แสนศรี
ครูบาสมจิตท่านสืบเชื้อสายมาจากเจ้าน้อยการินตา บุตรชายคนหนึ่งของพญาไชยชนะชุมพู เจ้าเมืองลองคนที่ 17 ในสกุลวงศ์เจ้าช้างปาน และเป็นน้องชายของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนที่ 18
การบรรพชา อุปสมบท
[แก้]หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ประมาณ 3 ปี ท่านได้เดินทางเข้าสู่ ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2505 ณ วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีพระครูเกษมรัตนคุณ (ครูบาแก้ว) เจ้าคณะอำเภอลองในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ และเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2506 ณ วัดศรีดอนคำ ภายหลังอุปสมบท ได้ใช้ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาที่โรงเรียนพิริยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัดแพร่ในการพัฒนาชุมชน
การศึกษา วิทยฐานะ
[แก้]- จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านห้วยอ้อ (ห้วยอ้อวิทยาคม) อำเภอลอง จังหวัดแพร่
- จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไชยแก้ววิทยาคาร อำเภอลอง จังหวัดแพร่
- จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเด่นชัยวิทยาคาร อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
- จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
- จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์ แต่ได้ลาบวชก่อนที่จะเรียนจบหลักสูตร
- ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ
- พ.ศ. 2506 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
- พ.ศ. 2551 ได้รับการถวายปริญญาบัตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพัฒนาชุมชน) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
การทำงาน
[แก้]ด้านการปกครองสงฆ์
[แก้]- พ.ศ. 2506 ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะอำเภอลอง ให้ไปดูแลฟื้นฟูวัดสะแล่ง
- พ.ศ. 2527 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสะแล่ง
- พ.ศ. 2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลห้วยอ้อ เขต 1 และเลขานุการเจ้าคณะอำเภอลอง
ครูบาสมจิต ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของพระภิกษุ - สามเณร และเยาวชน เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดสะแล่ง จัดตั้งมูลนิธิการศึกษามอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนยากจนที่มีผลการเรียนดี เป็นประจำทุกปี
การฟื้นฟูวัดสะแล่ง
[แก้]ครูบาสมจิต ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะอำเภอลอง ให้ไปดูแลฟื้นฟูวัดสะแล่ง จากเดิมที่มีความชำรุดทรุดโทรมเหมือนกับสถานที่ไร้คุณค่าจนกลายเป็นพระอารามที่มีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา และของจังหวัดแพร่ จากผลงานที่ได้รับมอบหมายและปฏิบัติจนสำเร็จลุล่วง พ.ศ. 2527 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสะแล่ง พ.ศ. 2528 นอกจากนี้ทางเนินเขาด้านหลังวัด (ดอยโป่งมื่น) ยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สวนสมุนไพร และเสนาสนะต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก วัดสะแล่งจึงเป็นทั้งพุทธสถานและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของจังหวัดแพร่[1]
ด้านเผยแผ่ศาสนา และงานสาธารณูปการ
[แก้]ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ครูบาสมจิต ได้ออกปฏิบัติธรรมอบรมสั่งสอน ทั้งในอำเภอลอง ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ครูบาสมจิต ได้ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากครูบาอาจารย์สายวิปัสสนาคอยชี้แนะ จนมีความชำนาญ
นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนช่วยเหลือวัดต่าง ๆ ในจังหวัดแพร่ เช่น สร้างเจดีย์หล่ออนุสาวรีย์ครูบามหาเถร วัดสูงเม่น หาทุนให้วัดศรีดอกสร้างอุโบสถหลังใหม่ สร้างบันไดนาคขึ้นวัดพระธาตุเขาน้อย จังหวัดน่าน สร้างวิหารวัดต้าผามอก บูรณะพระธาตุพระพิมพ์วัดบางสนุก อำเภอวังชิ้น สร้างเจดีย์พระกัปป์ในหมู่บ้านกะเหรี่ยง สร้างอุโบสถวัดแม่ปาน อุโบสถวัดสร่างโศก อุโบสถวัดดอนชัย วัดศรีสุทธาราม วัดปากจอก จังหวัดแพร่ อุโบสถวัดกลาง จังหวัดลำปาง
วัตถุมงคล
[แก้]ท่านยังจัดสร้างวัตถุมงคลในโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้คณะศรัทธาได้สั่งจองเช่าบูชา เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนช่วย เหลือก่อสร้างสาธารณประโยชน์ วัตถุมงคลครูบาสมจิตแต่ละรุ่น ล้วนได้รับความนิยมจากบรรดาเซียนพระเครื่องและนักสะสมนิยมวัตถุมงคล อาทิ เม็ดหยกหัวแหวน พระพุทธรูปหยกห้อยคอ รูปเจ้าแม่กวนอิมหยก ตะกรุดมหานิยม ตะกรุดกันผี เงินท๊อก (เงินตระกูลล้านนา) พระผงรูปเหมือนครูบาสมจิต
วัตถุมงคลของครูบาสมจิต จะมีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังแห่งภาคเหนือ เข้าร่วมพิธีปลุกเสกมากมาย อาทิ ครูบาพรหมมา พฺรหฺมจกฺโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า ครูบาแก้ว อินทจกฺโก วัดเขื่อนคำลือ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ หลวงพ่อกุ วัดศรีชุม จังหวัดแพร่ เป็นต้น ส่งให้วัตถุมงคลของครูบาสมจิต ได้รับความนิยมจากศิษยานุศิษย์ ด้วยมีพุทธคุณโดดเด่น เมตตามหานิยม มหาอุด แคล้วคลาดปลอดภัย รวมถึงเรื่องการสยบสิ่งอัปมงคล[2]
สมณศักดิ์
[แก้]ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรีในราชทินนามที่ “พระครูวิจิตรนวการโกศล”
มรณภาพ
[แก้]ครูบาสมจิต มรณภาพลงเมื่อเวลา 09.52 นาฬิกา วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560 สิริอายุ 75 ปี 295 วัน ปี พรรษา 53 ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร