ข้ามไปเนื้อหา

พระครูธรรมกิจโกวิท (ยงยุทธ ธมฺมโกสโล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูธรรมกิจโกวิท

(ยงยุทธ ธมฺมโกสโล)
ชื่ออื่นหลวงพ่อยงยุทธ วัดเขาไม้แดง
ส่วนบุคคล
เกิด17 กันยายน พ.ศ. 2470 อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง (74 ปี)
มรณภาพ17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดเขาไม้แดง จังหวัดชลบุรี
อุปสมบทพ.ศ. 2493 (อายุ 23 ปี)
พรรษา52
ตำแหน่งเจ้าอาวาส

พระครูธรรมกิจโกวิท (หลวงพ่อยงยุทธ ธมฺมโกสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาไม้แดง ท่านผู้ริเริ่มสร้างวัดเขาไม้แดง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองชลบุรี มีเมตตาธรรมสูง มักน้อยถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลังอาคมที่แก่กล้า นามของท่านจึงขจรขจายไปไกลทั่วภาคตะวันออก หลวงพ่อยงยุทธสังขารท่านไม่เน่าเปื่อย ทางวัดได้นำสังขารท่านเก็บไว้ในรูปหล่อยืนธุดงค์ เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้สักการะตลอดไป

ประวัติ และสถานะเดิม

[แก้]

พระครูธรรมกิจโกวิท ท่านมีนามเดิมว่า " จำปี " นามสกุล " แก้วไพรำ " เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2470 ตรงกับวันเสาร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 10 ปีเถาะ ในเรือนแพจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง โยมบิดา-มารดาชื่อ นายเชียง และ นางถุงเงิน แก้วรำไพ ครอบครัวมีพี่น้อง 5 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน[1]

เมื่อช่วงวัยเด็ก ตอนอายุได้ 3 ขวบ ได้เรียนหนังสือแถบ ๆ บ้านแพ พ่อกับแม่ได้ไปฝากกับญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ พระครูโกวิทนวการ หรือหลวงปู่โห้ เจ้าอาวาสวัดวงษ์ภาศนาราม จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียน ก่อนได้เข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดมะขาม กระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาต่อที่ โรงเรียนปัทมโรจน์วิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอ่างทอง จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ต่อมาท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็น ยงยุทธ หลังจากนั้นได้เดินทางมาศึกษาต่อที่โรงเรียน (วุฑฒิศึกษา หรือ สตรีวุฑฒิศึกษา) แถวฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ก่อนที่จะทำงานช่วงเช้าที่ วิทยุการบิน แห่งประเทศไทย

อุปสมบท

[แก้]

เมื่อท่านอายุ 23 ปี ได้ลางานพักผ่อน 15 วัน และท่านตัดสินใจบวช เพื่อทดแทนคุณบิดา-มารดา ณ วัดบ้านป่า ตำบลตรีณรงค์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง โดยมี

- พระอุปัชฌาย์ พระครูโกวิทนวการ (หลวงปู่โห้) เจ้าอาวาสวัดวงษ์ภาศนาราม ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
- พระอนุสาวนาจารย์ พระครูวิบูลสังฆกิจ (อดีตเจ้าคณะอำเภอไชโย) วัดไชโยวรวิหาร ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
- พระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการตี๋ เจ้าอาวาสวัดปราสาท ตำบลนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

ท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า " ธมฺมโกสโล "[2]

ครั้นใกล้ครบกำหนดลางาน 15 วัน ปรากฏว่า พระยงยุทธไม่ยอมลาสิกขาบท ตัดสินใจบวชต่อ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย อีกทั้งมุ่งมั่นฝึกฝนกัมมัฏฐาน จนเกิดความสุขสงบทางใจ ท่านได้มีโอกาสศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน จากหลวงปู่ลิ้ม วัดไทรใต้ จังหวัดนครสวรรค์ และครูจาบ สุวรรณ เป็นฆราวาส เชี่ยวชาญด้านกสิณมาก

ในปี พ.ศ. 2502 ท่านได้ออกเดินธุดงค์ผ่านมา จังหวัดชลบุรี พบว่าบริเวณเขาไม้แดงนั้น มีความร่มรื่นอาณาบริเวณเงียบสงบ ท่านตัดสินใจจะสร้างวัดที่เขาไม้แดง เริ่มจากพัฒนาสร้างศาสนสถานชั่วคราว เป็นกุฏิที่พักสงฆ์ หรือศาลาโรงธรรมอื่น ๆ ทำด้วยไม้ และมุงด้วยจาก

เรื่องราวของพระอาจารย์ยงยุทธ ได้ทราบไปถึง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ความสนับสนุนส่งเสริม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งไปตรวจสอบสถานที่และทำรายงานมาเสนอทางราชการ แต่ผ่านไปเพียง 3 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้แผนพัฒนาวัดเขาไม้แดงหยุดชะงักไป

วิทยฐานะ

[แก้]
  • พ.ศ. (ไม่ทราบปี) สอบได้ ป.4 โรงเรียนวัดท่ามะขาม (วิบูลย์อุปถัมภ์) จังหวัดอ่างทอง
  • พ.ศ. (ไม่ทราบปี) สอบได้ ป.7 โรงเรียนปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง
  • พ.ศ. (ไม่ทราบปี) สอบได้ ม.8 โรงเรียนวุฑฒิศึกษา หรือสตรีวุฑฒิศึกษา กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. (ไม่ทราบปี) เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนด้านหนังสือพิมพ์) โดยหลวงพ่อยงยุทธ ท่านเป็นศิษย์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

งานปกครอง

[แก้]
  • พ.ศ. (ไม่ทราบปี) เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาไม้แดง

มรณภาพ

[แก้]

เมื่อหลวงพ่อยงยุทธ เข้าสู่วัยชรา ท่านก็มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบ และโรคหัวใจ หลวงพ่อยงยุทธ ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เวลา 05.45 น. สิริอายุ 75 ปี 2 เดือน พรรษา 52

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประวัติ หลวงพ่อยงยุทธ วัดเขาไม้แดง ชลบุรี - ศูนย์ข่าวชลบุรี[ลิงก์เสีย]
  2. "ประวัติ หลวงพ่อยงยุทธ วัดเขาไม้แดง - โหน่งนคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-03. สืบค้นเมื่อ 2018-04-22.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]