พรหมมาศ เลื่อมใส
พรหมมาศ เลื่อมใส | |
---|---|
เกิด | มกราคม พ.ศ. 2501 ตำบลเกาะลอย อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 26 มกราคม พ.ศ. 2539 (38 ปี) เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
สาเหตุเสียชีวิต | ประหารชีวิตด้วยการยิง |
ชื่ออื่น | จุ่น |
อาชีพ | ลูกเรือประมง |
มีชื่อเสียงจาก | บุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 8 ปี |
สถานะทางคดี | ถูกประหารชีวิต |
พิพากษาลงโทษฐาน |
|
บทลงโทษ | ประหารชีวิต |
รายละเอียด | |
ระยะเวลาอาชญากรรม | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2528–28 มีนาคม พ.ศ. 2531 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
รัฐ | จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี |
ตำแหน่ง | ร้านขายยาอี้เซ้ง ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ ร้านอาหารโต้รุ่ง ตลาดช่องแสมสาร ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ บ้านเนินไผ่ ตำบลหน้าประดู่ อำเภอพานทอง |
ตาย | สุพจน์ ทองบริสุทธิ์ อายุ 32 ปี สมบูรณ์ พลอยประเสริฐ อายุ 26 ปี พลวิษณุ บุญเผย อายุ 28 ปี |
บาดเจ็บ | เกียรติ สุขประเสริฐ |
อาวุธ | ปืนลูกซองยาว ปืนพกขนาด .38 |
วันที่ถูกจับ | 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 |
จำคุกที่ | เรือนจำกลางบางขวาง |
พรหมมาศ หรือ จุ่น เลื่อมใส (มกราคม พ.ศ. 2501 – 28 มกราคม พ.ศ. 2539) เป็นฆาตกรชาวไทยผู้ก่อเหตุฆาตกรรมคน 3 คนระหว่างปี พ.ศ. 2528–2531 เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากการฆาตกรรมสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ พลเมืองดีระหว่างการปล้นร้านขายยาที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. 2528 และถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2539 เขานับเป็นบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 8 ปี[1] หลังจากการประหารชีวิตสมโภชน์ ชื่นชม, ไพริน ณ วันดี, คำพัน อรรถศรี และสุวรรณ คำภูษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2530[2][3][4]
ประวัติ
[แก้]พรหมมาศเกิดที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 เขาไม่มีที่อยู่อย่างเป็นหลักแหล่ง เขามีนิสัยโหดเหี้ยม และติดการพนันอย่างรุนแรง โดยเขาจดจ่ออยู่กับการพนันได้เป็นวันๆ[5]
การก่อคดี
[แก้]การปล้นร้านขายยาอี้เซ้ง
[แก้]วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2528 พรหมมาศได้พาคนร้ายจำนวน 5 คนนั่งเรือหางยาวมาตามคลองลาดขวางแล้วจอดที่ท่าเรือห่างจากบ้านครอบครัวเจริญสุข 20 เมตร ถัดจากนั้นพรหมมาศและคนร้ายอีก 2 คนซึ่งใส่หมวกไหมพรมคลุมหน้าได้ลงจากเรือพร้อมกับมีด, ปืนขนาด.38 และปืนลูกซองยาว แล้วเดินเข้ามาหานางสาวศิริพร เจริญสุข อายุ 17 ปี ซึ่งกำลังแล้วขายของอยู่หน้าร้าน กลุ่มคนร้ายได้ใช้ปืนขู่ศิริพรเพื่อไม่ให้ขัดขืน ก่อนจะแยกย้ายกันรื้อค้นทรัพย์สิน[6] ระหว่างที่คนร้ายรื้อค้นทรัพย์สิน ศิริพรได้ตะโกนขอความช่วยเหลือ นงนุชแม่ของศิริพรที่กำลังกินข้าวอยู่ในครัวหลังบ้านจึงกระโดดออกจากหน้าต่างแล้ววิ่งหนีไปปีนรั้วหลังบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านและตะโกนว่า"ช่วยด้วย...ช่วยด้วย...ไฟไหม้" ทำให้ปราณีแม่ของศิริพรซึ่งนอนอยู่ชั้นสองได้รีบลงมายังชั้นล่างทำให้เธอถูกหนึ่งในคนร้ายใช้ปืนจ่อศรีษะ ในเวลาเดียวกันนายสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ อายุ 32 ปี ชาวบ้านที่อยู่ห่างจากร้านขายยาเล็กน้อยได้คิดว่าได้เกิดไฟไหม้จริงๆ จึงวิ่งออกจากบ้านเพื่อมาช่วยดับไฟ พรหมมาศซึ่งถือปืนลูกซองและเป็นหัวหน้าสั่งการลูกน้องอยู่จึงใช้ปืนยิงออกจากร้าน ส่งผลให้สุพจน์เสียชีวิตในทันที เมื่อคนร้ายได้ทรัพย์สินมูลค่า 4,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยเข็มขัดเงินน้ำหนัก 14 บาท จำนวน 1 เส้น แว่นตา 1 อัน กลุ่มคนร้ายจึงออกจากร้านไปพร้อมกับแบกเอาตู้เก็บเครื่องสำอางกับตู้ใส่แว่นไปด้วย ระหว่างที่ออกจากร้านกลุ่มคนร้ายได้ใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าจำนวน 5 นัดเพื่อขู่ชาวบ้าน ก่อนจะวิ่งกลับไปที่เรือหางยาวก่อนจะขับหลบหนีไป[7][8]
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโพธิ์ทำให้ทราบชื่อผู้ก่อเหตุยิงสุพจน์คือพรหมมาศ เลื่อมใส ตำรวจจึงออกหมายจับพรหมมาศแต่เขาได้หลบหนีไปทำงานเป็นลูกเรือประมง เมื่อไม่ได้ออกเรือเขามักจะไปเล่นพนันตามวงไพ่หรือไฮโล[9]
การฆาตกรรมที่ร้านอาหารโต้รุ่ง ตลาดช่องแสมสาร
[แก้]ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เขาได้ไปกินเหล้าที่ร้านอาหารโต้รุ่งตลาดช่องแสมสาร เขาได้มีปากเสียงกับสมบูรณ์ พลอยประเสริฐและเกียรติ สุขประเสริฐ นายท้ายเรือประมงซึ่งมานั่งดื่มเหล้าที่โต๊ะตรงข้าม เมื่อพบว่าไม่น่าจะสู้ได้ เขาจึงกลับไปเอาปืนลูกซองจากบ้าน ในเวลา 01.00 น. เขากลับมายังร้านอาหารและใช้ปืนลูกซองยิงเกียรติจนได้รับบาดเจ็บสาหัส สมบูรณ์จึงลุกขึ้นมาแย่งปืนลูกซองจากพรหมมาศ เมื่อสมบูรณ์เสียหลักล้มลง เขาจึงใช้ปืนยิงที่ศรีษะของสมบูรณ์จนเสียชีวิตแล้วหลบหนีไป เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิฐานว่าคนร้ายน่าจะเคยมีเรื่องโกรธกันมาก่อน[10] จากการสืบสวนพยานที่เหตุการณ์ทำให้ทราบชื่อของคนร้ายคือพรหมมาศ เลื่อมใส[11]
การฆาตกรรมครั้งสุดท้ายและการจับกุม
[แก้]วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 เวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานทองจำนวน 9 นายได้เข้าจับกุมผู้เล่นพนันรัมมี่ที่บ้านเนินไผ่ อำเภอพานทอง ระหว่างที่พลวิษณุ บุญเผย, สิบตำรวจตรีชาพุมาตร ศรีคุมแก้ว และดาบตำรวจถาวร สวัสดิผล กำลังวิ่งไล่ตามนักพนันจำนวน 3 คน เมื่อพรหมมาศหนึ่งในนักพนันจวนตัว เขาจึงหันกลับมาแล้วใช้ปืนยิงวิษณุจำนวน 2 นัด ทำให้วิษณุเสียชีวิต ถาวรและชาพุมาตรจึงเปลี่ยนจากการติดตามนักพนันคนอื่นมาติดตามเขา เมื่อเขาเห็นถาวรและชาพุมาตรเข้าใกล้จึงยิงใส่ทั้งสอง 2 นัดแต่กระสุนไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชาพุมาตรจึงใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าจำนวน 3 นัด เขาจึงโยนปืนลงคูน้ำและยอมจำนนเนื่องจากกลัวจะถูกวิสามัญฆาตกรรมและไม่มีกระสุนเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวเขามายังสถานีตำรวจภูธรพานทองเพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายและแจ้งข้อหาพกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่, พยามยามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน[12]
การพิจารณาคดี และการประหารชีวิต
[แก้]ในปี พ.ศ. 2531 ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้ตัดสินประหารชีวิตพรหมมาศในความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากคดีฆาตกรรมสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ที่อำเภอบ้านโพธิ์ และย้ายตัวเขาไปยังเรือนจำกลางบางขวาง ส่วนคดีฆาตกรรมที่จังหวัดชลบุรีไม่พบข้อมูลคำตัดสินว่าได้รับโทษอย่างไร เขาได้ใช้สิทธิ์ขอยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืนประหารชีวิต หลังจากนั้นเขาได้ใช้สิทธิ์ขอยื่นฎีกา แต่ศาลฏีกาก็พิพากษายืนประหารชีวิตตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เขาจึงถวายฎีกาทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2536 แต่ฎีกาดังกล่าวได้ถูกกระทรวงมหาดไทยสั่งยกในปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากเขามีพฤติกรรมเป็นอาชญากร ประกอบกับการก่ออาชญากรรมหลายครั้ง ประพฤติตัวเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และไม่มีทางแก้ไขให้กลับตัวเป็นคนดีได้ ต่อมาในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2538 หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวว่าชายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อ กำลังจะถูกประหารชีวิตเพื่อยับยั้งการก่ออาชญกรรม โดยชายคนดังกล่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปล้นทรัพย์และฆาตกรรม 3 ครั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2528 ถึง 2530 จริงๆบุคคลดังกล่าวก็คือพรหมมาศแต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อว่าพรหมมาศคือชายที่กำลังจะถูกประหารชีวิต[13][14]
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2539 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวพรหมมาศออกจากหมวดควบคุมนักโทษประหารแดน 1 อย่างเงียบๆเพื่อไม่ให้นักโทษประหารคนอื่นแตกตื่น เมื่อนำตัวมาถึงหมวดผู้ช่วยเหลือฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้เข้าไปพิมพ์ลายนิ้วมือของเขาและตรวจสอบประวัติอาชญากร เมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือของเขาเสร็จ เวรผู้ใหญ่ได้ทำการอ่านคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้และให้เซ็นลงในคำสั่ง ถัดจากนั้นได้ให้เขาเขียนพินัยกรรมโดยเขาได้เขียนจดหมายถึงแม่ หลังจากเขียนพินัยกรรมและจดหมาย พี่เลี้ยงได้ยกอาหารมื้อสุดท้ายซึ่งประกอบด้วยข้าวเปล่า, น้ำพริกปลาทู และแกงจืดมะระยัดไส้มา เขามีอาการกลัวจนเดินไม่ไหวและเหงื่อออก เขาได้ขอบุหรี่มาสูบเพื่อลดความหวาดกลัว ในเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงนำเขาเข้าไปเพื่อฟังเทศนาธรรมจากพระครูอินทสรานุรักษ์ซึ่งเทศนาเรื่องกฎแห่งกรรม ระหว่างฟังเทศน์เขามีสีหน้าซีดเผือกและหวาดกลัวมาก พระครูอินทสรานุรักษ์เห็นใบหน้าของเขาจึงเทศน์ให้ให้มีสติตั้งมั่นในหลักธรรมคําสอนเรื่อง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นของธรรมดาสุดแต่เวรแต่กรรม มิให้ยึดถือโกรแค้น ทำให้ความหวาดกลัวของเขาลดลงและสงบนิ่งมากขึ้น โดยยังมีน้ำตาคลอหน้าอยู่บ้าง หลังจากการเทศน์ระยะเวลาประมาณ 10 นาที เขาได้ถวายเงินติดกัณฑ์เทศน์ ถัดจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พาเขาไปยังศาลาเย็นใจเพื่อเตรียมการประหารชีวิต โดยระหว่างเดินเขาร้องไห้และคอพับอ่อนจนเดินไม่ไหว[15] เขาถูกนำตัวเข้าสถานที่หมดทุกข์และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อเวลา 18.48 น. โดยเพชฌฆาตเชาวน์เรศน์ จารุบุศย์ ซึ่งเขาเสียชีวิตจากการยิงเพียงชุดเดียว[16] หลังจากการประหารชีวิต 3 นาทีพี่เลี้ยงและแพทย์ได้ตรวจสอบร่างของเขาและยืนยันว่าเขาเสียชีวิตก่อนปลดเขาออกจากหลักประหารแล้วนำศพของเขาคว่ำหน้าไว้ ก่อนนำศพของเขาไปพิมพ์ลายนิ้วมือ ในวันถัดมานักโทษซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานได้ตัดตรวนสองชั้นที่ขาของเขาออกแล้วอาบน้ำกับเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ก่อนบรรจุลงไปในโลงศพ แล้วนำศพออกไปทางประตูเเดงของวัดบางแพรกใต้ ก่อนนำศพไปเก็บที่ช่องเก็บศพนักโทษประหาร แล้วโบกปูนและเขียนชื่อของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตไว้ด้านหน้าของช่องเก็บศพ ในอีกสองวันต่อมาญาติของเขาได้เดินทางมารับศพกลับไปประกอบพิธีกรรมตามศาสนาที่อำเภอพานทอง[17][18][19]
พรหมมาศนับเป็นบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่การประหารชีวิตสมโภชน์ ชื่นชม, ไพริน ณ วันดี, คำพัน อรรถศรี และสุวรรณ คำภูษา ในปี พ.ศ. 2530 และนับเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนที่ 276 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้า[20][21]
ดูเพิ่ม
[แก้]- โทษประหารชีวิตในประเทศไทย
- ธีรศักดิ์ หลงจิ ฆาตกรซึ่งถูกประหารชีวิตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 และเป็นบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 9 ปี หลังจากการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552
- สุดใจ ชนะ บุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า
- ธวัช สุธากุล และ สมศักดิ์ ปาทาน
- บุญมี เชี่ยวบางยาง
- ทอง อ้อจันทึก
- หงี ลิ้มประเสริฐ
- แอ๊ว ชูนาม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Thailand: further information on: fear of imminent execution: Prommas Leamsai
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 หน้าที่ 17 สกู๊ปหน้า 1 ฟื้นโทษยิงเป้า กำราบเดนสังคม
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13887 วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539
- ↑ Informe Sobre El Deute Extern a L'estat Espan หน้าที่319-321
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 เรื่องพรหมมาศ เลื่อมใส โหด...ต้องประหาร
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 28 ฉบับที่ 10024 วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 หน้าที่ 7 เรื่องโจรปล้นฆ่าโหดร้านค้าเมียพตท.
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 28 ฉบับที่ 10024 วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 หน้าที่ 20 เรื่องโจรปล้นฆ่า
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 28 ฉบับที่ 10023 วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2528
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 เรื่องพรหมมาศ เลื่อมใส โหด...ต้องประหาร
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 13,424 วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 หน้าที่ 2
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 เรื่องพรหมมาศ เลื่อมใส โหด...ต้องประหาร
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 14,048 วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 หน้าที่ 2
- ↑ Thailand: Fear of imminent execution: one unnamed prisoner
- ↑ Thailand: Further information on fear of imminent execution: one unnamed prisoner
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2539
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 หน้าที่ 17 สกู๊ปหน้า 1 ฟื้นโทษยิงเป้า กำราบเดนสังคม
- ↑ Human Rights in Transition
- ↑ Thailand: A Human Rights Review Based on the International Covenant on Civil and Political Rights
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 หน้าที่ 1
- ↑ Bangkok revives capital punishment after eight years The Straits Times : Weekly Overseas Edition, 3 February 1996, Page 11
- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13887 วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539
ก่อนหน้า สมโภชน์ ชื่นชม, ไพริน ณ วันดี, คำพัน อรรถศรี และสุวรรณ คำภูษา |
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย พรหมมาศ เลื่อมใส |
ถัดไป บุญโชติ พงศ์พราหมณ์ และ พนม ทวีสุข |